“…ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพลเรือนที่ครอบครองปืนแบบถูกกฎหมาย ต้องมีมาตรการอื่นมาควบคุมดูแลหลังจากที่ได้ใบรับอนุญาตให้มีอาวุธปืนแล้วด้วย เช่น บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ยกตัวอย่าง ขับรถปาดไปปาดมาบนท้องถนน ลงมาชักปืน ต้องตรวจสอบว่าคนนี้มีใบอนุญาตให้ถือครองอาวุธปืนไหม ถ้าใช่ พฤติกรรมนี้ก้าวร้าว เสี่ยงนำปืนไปใช้แบบไม่ถูกต้อง รุนแรง ควรจะเพิกถอนใบอนุญาต…”
นับตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงที่ห้างเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์กราดยิงเพชรบุรี
สังคมไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ ‘กราดยิง’ นับไม่ถ้วนต่อเนื่อง 2-3 ปีติด
สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์กราดยิงในแต่ละครั้งนั้นผู้ก่อเหตุเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร-ตำรวจ ทั้งสิ้น
เเน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น จนสังคมเกิดคำถามมากมายทั้งสาเหตุ อะไรกันแน่ทำให้ผู้ก่อเหตุสามารถพกพา ‘อาวุธปืน’ และนำมาก่อเหตุได้ง่ายดายขนาดนี้ เเละวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุกราดยิงซ้ำรอยขึ้นอีก
หลายคนตั้งคำถามว่า ภาครัฐมีมาตรการอะไรรับมือกับเหตุกราดยิงอย่างไร ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยมีความจริงใจที่แก้ไขปัญหา หรือแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนให้ทันต่อสถานการณ์บ้างหรือไม่
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยสั่งการทบทวนหลักเกณฑ์การครอบครองอาวุธปืน-ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ในส่วนของมาตรการอาวุธปืนสรุปได้ดังนี้
- กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา
- ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน
- สำหรับในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
- เพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
- กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง
- ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย
ส่วนความคืบหน้ามาตรการเร่งด่วนในส่วนของการควบคุมอาวุธปืน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย หรือส่งมอบคืนภายใน 180 วัน โดยไม่ต้องรับโทษ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า ภาครัฐจะออกมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไขปัญหากราดยิงแล้ว แต่ดูเหมือนว่ามาตรการเร่งด่วนดังกล่าวยังคงไม่ทำงาน ไม่ครอบคลุม และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะหลังจากออกมาตรการดังกล่าวไปแล้ว 5 เดือน เหตุการณ์กราดยิงยังเกิดขึ้นซ้ำอีก
หากพิจารณาตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ดังกล่าว อาจช่วยลดจำนวนปืนเถื่อน และความเสี่ยงอันตรายจากอาวุธปืนได้ แต่ถ้าหากกรณีที่อาวุธนั้นถูกกฎหมาย และอยู่ในมือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทหาร-ตำรวจนั้น ภาครัฐยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะมีมาตรการออกมาควบคุมอย่างไร
ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาเเละการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า อาจจะต้องมาดูในแต่ละประเด็นที่มีนโยบายออกมาหลังเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู ประเด็นแรก พูดถึงกรณีการให้มีตรวจสุขภาพจิตตำรวจ เท่าที่ทราบว่าทางตำรวจแห่งชาติมีการสั่งการเรื่องนี้ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ออกไปว่าหากใครมีปัญหาความเครียดต่าง ๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของโรงพยาบาลตำรวจได้ แต่อาจจะต้องมาดูว่ามีตำรวจติดต่อมาจริง ๆ กี่คน เท่าที่ทราบตัวเลขไม่เยอะ ต้องมาดูต่อว่ามาตรการในเชิงรุก เช่น การเข้าไปหาตำรวจกับสายตำรวจเลย หรือการโทรหาตำรวจแบบสุ่ม ที่ทำงานสายปฏิบัติ สายสืบ สายจราจร สายตรวจ ว่ามีความเครียดยังไง มีการทำงานยังไง น่าจะต้องมีมาตรการพวกนี้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจิตแพทย์ประเทศไทยในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับประชากร จะพบว่าสัดส่วนถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ขณะที่ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจ การเมือง ปัญหาสังคม และปัญหาความเครียดต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามา ส่งผลให้คนมีความเครียดมากขึ้น แต่สวนทางกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษามีไม่เพียงพอรศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู มีการพูดถึงกฎหมายให้ผู้ถือครองอาวุธปืนแบบผิดกฎหมายเอามาคืนรัฐได้จะไม่มีความผิด กฎหมายตัวนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดีเหมือนในอังกฤษ และมีในหลาย ๆ ประเทศที่มีแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ผ่านเพราะไม่ทันเนื่องจากยุบสภาก่อน จึงทำให้อาวุธปืนเถื่อนที่จะมาคืนกับรัฐโดยไม่ผิดกฎหมายยังมีอยู่ ขณะเดียวกันการลักลอบขายอาวุธปืนเถื่อนบนดิน ใต้ดิน ออนไลน์ก็ยังมีอยู่
“ตรงนี้ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะเลย ทำการสืบสวน จับกุม เกี่ยวกับเรื่องอาวุธปืน ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ใต้ดิน บนดิน รวมทั้งต้องมีการมาตรการการดำเนินการที่จริงจัง เด็ดขาด ไม่เกรงใจกัน” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ
พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพลเรือนที่ครอบครองปืนแบบถูกกฎหมาย ต้องมีมาตรการอื่นมาควบคุมดูแลหลังจากที่ได้ใบรับอนุญาตให้มีอาวุธปืนแล้วด้วย เช่น บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ยกตัวอย่าง ขับรถปาดไปปาดมาบนท้องถนน ลงมาชักปืน ต้องตรวจสอบว่าคนนี้มีใบอนุญาตให้ถือครองอาวุธปืนไหม ถ้าใช่ พฤติกรรมนี้ก้าวร้าว เสี่ยงนำปืนไปใช้แบบไม่ถูกต้อง รุนแรง ควรจะเพิกถอนใบอนุญาต
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
“ภาครัฐต้องมีมาตรการต่อว่าจะยึดหรือทำอย่างไร ให้มีกฎหมายออกมารองรับตรงนี้ด้วย ถ้าดำเนินการตามขั้นตอนปกติ อาจจะใช้เวลาพอสมควรเลย” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ย้ำ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ พฤติกรรมการแสดงออกที่สะท้อน อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น การโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ โพสต์ท้าทาย คนที่มีอาวุธปืนแบบถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดเหตุการณ์กราดยิงที่เพชรบุรี เท่าที่ทราบมาอาวุธปืนแบบถูกกฎหมายอยู่ แต่เอาขวดไปปาบ้านคู่กรณี ยิงปืนขึ้นฟ้า สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมบ่งชี้แล้วว่าน่าจะนำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรงโดยการใช้ปืน เพราะฉะนั้นควรมีมาตรการการเพิกถอนใบอนุญาต คือนายทะเบียนต้องมามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย
ประการต่อมา คือ ครอบครัว ต่อไปน่าจะต้องมีมาตรการว่า ใครก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง ครอบครัวต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย
“ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ผมไปญี่ปุ่นมา เขาบอกว่าก่อนหน้ามีเหตุคนฆ่าตัวตายเยอะมาก โดยการกระโดดใส่รถไฟพุ่งชน ทำให้เวลาพุ่งชนที รถไฟจะต้องหยุดเป็นชั่วโมง กระทบกับคนหลายคน รัฐเลยมีมาตรการว่าครอบครัวที่มีคนฆ่าตัวตาย โดยมีการมาทำลักษณะแบบนี้ ทางครอบครับต้องรับผิดชอบด้วย เรื่องการถูกฟ้องร้อง การจ่ายทรัพย์สินให้กับรัฐ ทำให้สถิติการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นลดลงไปเยอะ”
“ทั้งนี้ มาตรการในเชิงรุกต้องมีการถูกนำมาใช้ ตอนนี้พบว่าไทยทำงานแบบตั้งรับกันเยอะ เช่น เกิดเหตุแล้วค่อยไป เกิดเหตุแล้วค่อยมาดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร เกิดเหตุแล้วค่อยมาถอดบทเรียน เป็นต้น” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวย้ำ
เมื่อถามว่ามาตรการดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ควรจะต้องทำหลายมาตรการควบคู่กันไป ถ้าเกิดแก้แค่เรื่องอาวุธปืน อาจจะต้องมองปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดด้วย เช่น ตำรวจมีความเครียดมากกว่าอาชีพอื่นที่เปรียบเทียบกับคนทำงานในออฟฟิศประมาณ 2 เท่า ไม่ใช่แค่ตำรวจไทยเท่านั้นแต่เป็นตำรวจทั่วโลก ความเครียดที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก ความคิด การตัดสินใจ ต่อมาหากเกิดมีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย หรือมีการดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องยาวนาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิด ความเป็นเหตุเป็นผล ทั้งหมดที่กล่าวมามีข้อมูลทางการแพทย์รองรับ
“หลังจากนี้ ต้องมาดูว่ามีวิธีการใดที่ทำให้ตำรวจเครียดน้อยลง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา หากไม่เพียงพอ อาจจะต้องวางแผนมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และต้องมีผู้เชี่ยวชาญจิตแพทย์ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น เพราะส่วนใหญ่จะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่แค่ส่วนกลาง แต่ผู้เชี่ยวชาญระดับชุมชนนี่แหละที่จะสามารถเข้าถึงได้”
“อีกทั้ง สายบังคับบัญชาของตำรวจปัจจุบันเป็นเหมือนระบบทหาร ความเข้มข้นต่าง ๆ เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตำรวจเกิดความเครียด แน่นอนอย่างที่เรารับทราบตรงกัน ส.ส.บางท่านมีการนำข้อมูลไปพูดในสภา ในกรณีมีผู้บังคับบัญชาสายตำรวจ ทหาร หลักธรรมาภิบาล การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ตั๋วช้าง เรื่องดังกล่าว ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจริง แล้วข้อมูลของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในหลาย ๆ ชุดก่อนหน้านี้ก็ออกมายอมรับว่า ตำรวจมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายไม่เป็นธรรม ถูกแทรกแซงจากผู้บัญชาและจากบุคคลภายนอกเรื่องการทำงาน จุดนี้อาจทำให้ตำรวจเกิดความเครียด”
“ดังนั้นเราต้องพยายามอย่าปิดบังปัญหา เราต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา ก็จะปิดบังปัญหา ว่าไม่ใช่ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุนี้ อันนี้มีปัจจัยมากกว่า ประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การเกิดเหตุครั้งต่อ ๆ ไปก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่นอนสำหรับสังคมไทยในเรื่องการใช้ความรุนแรง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอในเรื่องนี้ นั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า สุดท้ายเห็นมีพูดถึงเรื่องมาตรการบำบัดป้องกันแก้ไขยาเสพติด ความสำเร็จต้องมาดูว่า แนวคิดตามกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ บอกว่าให้มีการบำบัดยาเสพติด ผู้เสพคือผู้ป่วย เน้นจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ ดูพฤติการณ์เป็นหลัก แต่ปัญหาขณะนี้ คือผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในระดับชุมชนยังไม่มีสถานที่ และไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจน กลายเป็นผลักภาระให้ตำรวจอีก ดังนั้นสาธารณสุขจะต้องเป็นหน่วยงานที่บำบัดผู้เสพยาเสพติด แต่สาธารณสุขบอกว่ามีแค่โรงพยาบาล แต่สถานบำบัดไม่มี ต่อมามีการพูดคุยว่าเป็นวัดหรือโรงเรียนได้ไหม ตรงนี้เป็นปัญหาอยู่ ส่วนคนใช้สารเสพติดยังบำบัดไม่หาย เราจะบำบัดเขาที่ไหน ในเมื่อระดับชุมชนยังไม่มี กรณีมีข้อเสนอว่าในบำบัดในแคมป์ค่ายทหาร (Boot Camp) แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ บำบัดไม่เกิดผล มีงานวิจัยรองรับ
“ความสำเร็จของการบำบัดผู้เสพยาเสพติดต้องเกิดจากชุมชน ผมว่าบ้านเราเป็นระบบราชการรวมศูนย์ โดยทุกอย่างต้องอยู่ส่วนกลางหมด สั่งการก็ต้องสั่งจากส่วนกลาง เราให้ความสำคัญกับพื้นที่ระดับชุมชนน้อยมาก ตรงนี้ต้องกลับมาทบทวนมาตรการพวกนี้ เพราะถ้าเราให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาระดับชุมชนมากขึ้น ปัญหาระดับชุมชนพื้นที่ทั่วประเทศก็จะเบาบางน้อยลง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาด้านพฤติกรรมและจิตวิทยา และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นแค่แนวคิด มีทั้งเริ่มปฏิบัติแล้ว แต่เจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจถี่ถ้วน ยกตัวอย่าง มาตรการอาวุธปืน ประชาชนทั่วไป อายุ 21 เป็นต้นไป ไม่มีคดี ไม่มีประวัติ สามารถขอครองครอบอาวุธปืนได้
"ทั้งนี้ ในตอนแรกผู้ที่มีอำนาจสามารถให้ใบอนุญาตครอบครองไปซื้ออาวุธปืนคือ ตำรวจ แต่ตอนนี้โอนย้ายมาเป็นฝ่ายปกครองจะเป็นคนออกใบอนุญาตแทน จุดสำคัญเลยฝ่ายปกครองไม่สามารถเข้าถึงกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมได้ ซึ่งตำรวจสามารถเข้าได้ ดังนั้นฝ่ายปกครองที่เป็นอำเภอหรือเขตจะออกใบอนุญาตได้ จะไม่ทราบว่าบุคคลที่มาขอใบอนุญาตนี้มีคดีไหม ดังนั้นแค่คุณเข้ามาหาขอ เขาก็จะแค่ตรวจว่าอายุถึง 21 ไหม ไม่เคยกระทำความผิด เขาก็จะออกใบอนุญาตให้ได้ ตรงนี้เป็นหนึ่งจุดที่ด้อยมาก ๆ" ดร.ตฤณห์ กล่าว
ดร.ตฤณห์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วน เรื่อง พ.ร.บ.อาวุธ ที่เปิดโอกาสขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายหรือส่งมอบคืน 180 วัน นั้น ดร.ตฤณห์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้ คนที่มีปืนเถื่อนหมายความว่าเขาต้องการนำปืนไปใช้โดยไม่ผ่านมาตรการที่ถูกต้องของรัฐ ดังนั้นคุณจะเปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนแบบถูกกฎหมาย แต่คนที่ใช้ปืนเถื่อนเขาจะมาขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายหรือ ถ้าเขาอยากให้ปืนมันถูกกฎหมาย เขาก็ไปซื้อแบบถูกกฎหมายตั้งแต่แรกแล้ว คนที่มีปืนเถื่อนก็คือคนที่ตั้งใจจะไปใช้แบบไม่ถูกต้อง ดังนั้นคุณมีให้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย ไม่มีใครมาขึ้นหรอก ไม่งั้นเขาไม่ซื้อปืนเถื่อนตั้งแต่แรกทำไม อันนี้ไม่ตอบโจทย์เลย
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา
มันจะตอบโจทย์ก็ต่อเมื่อ ปืนมรดกที่ตกทอดกันมา แล้วไม่รู้จะทำยังไงกับมรดกชิ้นนี้ อันนี้เป็นไปได้ที่เขาจะนำปืนไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง
ส่วนกรณีปืนผิดมือ คือปืนมีใบครอบครองถูกต้อง มีเจ้าของถูกต้อง แต่ตัวเจ้าของเองนำไปขายต่อ เอาไปให้คนอื่นครอบครอง บทลงโทษมันน้อย ปืนที่มีใบถูกต้องก็จะโดนปรับ การลงโทษไม่ได้จริงจัง ไม่น่ากลัว และไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้สังคม
“อีกทั้งปืนเถื่อนการลงโทษเรื่องปืนแต่ละศาลก็ลงโทษไม่เท่ากัน ไม่ได้มีแนวทางการลงโทษที่เด็ดขาด และเป็นมาตรฐาน บางศาลก็ตัดสินให้ปรับ บางศาลก็ตัดสินให้จำคุก บางศาลก็ตัดสินให้ผิดจริงแต่รอลงอาญา เพราะฉะนั้นมันไม่แน่นอนเลยว่าถ้าเรามีอาวุธปืนผิดมือ เราจะโดนอะไรบ้าง”
“ตำรวจที่มีปืนสวัสดิการก็จะซื้อปืนได้ในราคาถูก แต่เขาก็จะมีสัญญาว่าต้องครอบครองปืนโดยไม่เปลี่ยนมือให้คนอื่น และไม่สามารถโอนจ่ายแจกได้ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี แต่พอพ้นเวลาแล้ว ตำรวจก็จะเอาปืนสวัสดิการไปขาย จุดนี้ก็เป็นปัญหาว่า เราจะได้รู้ได้อย่างไร เมื่อฝ่ายที่ต้องตามจับกุม คนที่ทำผิดคือตำรวจ และฝ่ายที่ออกใบอนุญาตให้คือฝ่ายปกครอง ไม่ได้ตรวจสอบเลยว่าบุคคลหนึ่งที่มาขอปืน มีปืนในครอบครองกี่กระบอก แล้วจำนวนกระบอกที่มีได้อัปเดตให้ตำรวจได้ทราบไหม”
“การที่ฝ่ายปกครองกับตำรวจไม่ร่วมมือกัน มันเลยแก้ไขปัญหาไม่ได้ ฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตอย่างเดียวโดยไม่เข้ามาตรวจสอบ แต่ถ้ามีสุ่มตรวจก็จะดี” ดร.ตฤณห์ กล่าว
อีกทั้งร้านขายอาวุธปืน อาจจะมีการตัดบัญชีก็แต่งบัญชีได้เหมือนกันว่าคุณขายอาวุธปืน ขายลูกกระสุนไปเท่าไร ตรงนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง
“อีกประเด็นที่ผมอยากแนะนำคือ ลูกกระสุนซ้อมที่สนามยิงปืน ถึงมันจะไม่ใช่ลูกตะกั่ว ทำจากทองแดง แต่ประสิทธิภาพก็ร้ายแรงพอที่จะฆ่าคนตายได้ สังหารได้ ลูกกระสุนซ้อมไปซื้อที่สนามยิงปืน คุณไม่ยิงกระสุนหมดก็ได้ เอากลับบ้านได้ อันนี้ก็ไม่มีคนควบคุม” ดร.ตฤณห์ ระบุ
ทั้งนี้สำหรับขอเสนอแนะสำหรับเรื่องนี้ ดร.ตฤณห์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ต่างประเทศ ปืนจะเป็นสมบัติของรัฐ ปืนจะใช้ได้ในเวลาทำงาน พอนอกเหนือเวลาทำงานต้องคืน แล้วคนที่โดนพักการทำงานหรือโดนลงโทษ เจ้าหน้าที่จะโดนยึดตราและยึดปืน แต่ในประเทศไทย ปืนสวัสดิการไม่ได้แปลว่ารัฐแจกให้ ต้องซื้อเอง แต่ซื้อในราคาที่ถูก แล้วก็กลายเป็นปืนส่วนตัว ดังนั้นจะไปยึดปืนส่วนตัวได้อย่างไร มันไม่มีกฎหมายควบคุมจุดนี้อย่างชัดเจน ตำรวจที่เกษียณก็ยังพกปืนได้ ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องออกกฎควบคุม และการผลิตอาวุธปืน
“กรมสรรพาวุธมีหน้าที่ควบคุม ต้องตรวจสอบว่าอาวุธปืน กระสุนปืน หรือระเบิดมีจำนวนเท่าไร มีการอัปเดตไหม จำนวนตัวเลขในกรมทหารมันตรงกับข้อมูลจริงไหม ดังนั้นต้องลองเข้าไปสุ่มตรวจ เพราะบางทีเขาแจ้งจำนวนอาวุธในคลังมันก็ไม่ตรงกับความจริง รัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทุกขั้นตอนมีปัญหา ผู้ที่มีประวัติยาเสพติด หรือใช้ยาเสพติดแต่ไม่มีประวัติแล้วไปขอครอบครองอาวุธปืน ถ้าหลักฐานครบ ฝ่ายปกครองก็ออกใบอนุญาตให้ ยิ่งถ้ามีปัญหาสุขภาพจิตแล้วไปขออาวุธปืน มันไม่ควรจะขอได้ ล่าสุดที่กราดยิงที่เพชรบุรี ผู้ก่อเหตุยิงคู่อริ อันนี้ทางผู้ใหญ่ไม่ออกใบให้ผู้ก่อเหตุ แต่ผู้ก่อเหตุไปขอแม่ที่เป็นข้าราชการเซ็นให้ เขาก็ครอบครองได้ แล้วคุณแก้ปัญหาที่ตรงไหน? ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ต้องทำงานร่วมกัน” ดร.ตฤณห์ กล่าว
เหล่านี้คือ ข้อเสนอแนะมาตรการถือครอบครอง ควบคุมอาวุธปืน ของภาครัฐ ที่ดูเหมือนจะเป็นการทำงานแบบตั้งรับอยู่ ดังนั้นไทยต้องเร่งออกมาตรการและทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์กราดยิงเกิดซ้ำรอยขึ้นอีก
หากหน่วยงานรัฐเร่งรับจัดการแก้ไขปัญหานี้ จะเป็นการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ ไม่ให้มีเหตุการณ์สูญเสียผู้บริสุทธิ์เกิดซ้ำรอยขึ้นได้อีก
รูปปกจาก TCIJ