“…จะเห็นได้ว่าการปรับเพิ่มค่าป่วยการให้แก่ อสม. ในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 13,081 ล้านบาท/ปี นั้น เมื่อรวมกับงบเดิมที่ต้องจ่ายอยู่แล้วที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี จะทำให้วงเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. (ค่าป่วยการ อสม.และอสส.) เพิ่มเป็นกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท/ปี ในปีงบ 2567...”
.....................................
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการประกาศ ‘ยุบสภา’ อย่างเป็นทางการ
แต่ทว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ได้ทยอยประกาศนโยบายหาเสียงกันแต่เนิ่นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ต่างก็ใช้จังหวะนี้ผลักดันมาตรการที่จับต้องได้ หวัง ‘ซื้อใจ’ ฐานเสียงกลุ่มใหญ่ เช่น การประกาศปรับขึ้นค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่ม ‘ค่าป่วยการ’ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) รวม 1.09 ล้านคน (อสม. 1,075,163 คน และ อสส. 15,000 คน) เป็นเดือนละ 2,000 บาท จากเดิมเดือนละ 2,000 บาท
โดยให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่าการปรับเพิ่มค่าป่วยการดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 13,081 ล้านบาท/ปี
“กระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความเสียสละของพี่น้อง อสม. และ อสส. กว่า 1.09 ล้านคน ที่นอกจากจะให้เวลาเพื่อส่วนรวมแล้ว หลายครั้งยังต้องแบกรับในค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามภารกิจ และปัจจุบันนี้ค่าครองชีพต่างๆ ก็สูงขึ้นด้วย จึงเห็นควรเสนอให้ปรับเพิ่มค่าป่วยการขึ้นเป็น 2,000 บาทต่อเดือน
เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนต่อไป” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยกับสื่อหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566
(อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว 'อนุทิน ชาญวีรกูล' โดยระบุว่า 'พูดแล้วทำจริง' หลัง ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาท เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ที่มา : เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของ อนุทิน ชาญวีรกูล)
@เพิ่ม‘ค่าป่วยการ’ให้ ‘อสม.’ 2 ครั้งเป็นเดือนละ 2 พัน จาก 600 บาท
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 46 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2520 กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่ม ‘โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ โดยทดลองนำร่องใน 20 จังหวัด ก่อนขยายไปทั่วประเทศ และในเวลาต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2536 อนุมัติให้วันที่ 20 มี.ค.ของทุกปี เป็น ‘วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ’
อย่างไรก็ดี การจ่ายค่าป่วยการให้กับ อสม. ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ หลังจาก ครม. มีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2552 เห็นชอบตามยุทธศาสตร์และแผนงานเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม ‘โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก’
โดยโครงการดังกล่าวได้เพิ่มบทบาทของ อสม. เชิงรุก ในการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและ ชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วย และเฝ้าระวังโรคในชุมชน เป็นต้น
และเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบรรดา อสม. รัฐบาลจึงให้ อสม. สามารถเบิกค่าป่วยการในอัตราเดือนละ 600 บาท โดยการเบิกค่าป่วยการดังกล่าว ให้เป็นไประเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน (อสม.) พ.ศ.2552
ในระยะแรก ครม.ได้จัดสรรงบเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ให้แก่กระทรวงมหาดไทย 3,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าป่วยการให้ อสม. 987,019 คน ในอัตราเดือนละ 600 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.2552) ก่อนที่ต่อมา ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2554 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีให้ ‘โครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก’
จากนั้นในอีก 9 ปีต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 เห็นชอบการปรับเพิ่มค่าป่วยการให้กับ อสม. เป็นเดือนละ 1,000 บาท จากเดิมเดือนละ 600 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 เป็นต้นไป (ปีงบ 2562) กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มค่าป่วยการให้ อสม. เพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท จากเดิม 1,000 บาท
@ส่องงบ‘อสม.’ เริ่มจาก 7 พันล้าน ก่อนเพิ่มเป็นปีละ 2.5 หมื่นล.
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบ 2553-2566 รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. หรือเงินค่าป่วยการ อสม. โดยได้จัดสรรไว้ในงบอุดหนุน ประเภทงบอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (เฉพาะปีงบ 2562) ได้แก่
ค่าป่วยการในอัตรา 600 บาท/เดือน
ปีงบ 2553 วงเงินอุดหนุน 7,029.67 ล้านบาท
ปีงบ 2554 วงเงินอุดหนุน 7,240.56 ล้านบาท
ปีงบ 2555 วงเงินอุดหนุน 7,370.64 ล้านบาท
ปีงบ 2556 วงเงินอุดหนุน 7,488.00 ล้านบาท
ปีงบ 2557 วงเงินอุดหนุน 7,544.16 ล้านบาท
ปีงบ 2558 วงเงินอุดหนุน 7,544.16 ล้านบาท
ปีงบ 2559 วงเงินอุดหนุน 7,544.16 ล้านบาท
ปีงบ 2560 วงเงินอุดหนุน 7,486.05 ล้านบาท
ปีงบ 2561 วงเงินอุดหนุน 7,486.05 ล้านบาท
ค่าป่วยการในอัตรา 1,000 บาท/เดือน
ปีงบ 2562 วงเงินอุดหนุน 11,644.97 ล้านบาท (วงเงินอุดหนุน (ปีงบ 62) 7,486.05 ล้านบาท และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2562 วงเงิน 4,158.92 ล้านบาท)
ปีงบ 2563 วงเงินอุดหนุน 12,474.66 ล้านบาท
ปีงบ 2564 วงเงินอุดหนุน 12,476.29 ล้านบาท (อสม. 1,039,691 คน)
อย่างไรก็ดี ในปีงบ 2565-2566 ได้มีการถอดรายการเงินอุดหนุนเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. (ค่าป่วยการ อสม.) ออกจากงบอุดหนุน ประเภทงบอุดหนุนทั่วไปของ อปท. และให้ไปตั้งงบประมาณไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) โดยมีการจัดสรรวงเงินอุดหนุน ได้แก่
ปีงบ 2565 วงเงินอุดหนุน 12,476.75 ล้านบาท
ปีงบ 2566 วงเงินอุดหนุน 12,476.75 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าการปรับเพิ่มค่าป่วยการให้แก่ อสม. ในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 13,081 ล้านบาท/ปี นั้น เมื่อรวมกับงบเดิมที่ต้องจ่ายอยู่แล้วที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี จะทำให้วงเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. (ค่าป่วยการ อสม.และ อสส.) เพิ่มเป็นกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท/ปี ในปีงบ 2567
ขณะที่ปัจจุบันภารกิจของ อสม. แบ่งออกเป็น 9 งานหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมสุขภาพ 2.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต่างๆในชุมชน 3.การฟื้นฟูสุขภาพ 4.การคุ้มครองผู้บริโภค 5.การจัดการสุขภาพชุมชนและการมีส่วนร่วมในแผนสุขภาพตำบล 6.การสนับสนุนอาสาสมัครประจำครอบครัว
7.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล 8.การเข้าร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชน และ9.กิจกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากมีภารกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ อสม. ต้องเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติงานจากเดิมอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ หรือรวม 4 วัน/เดือน เป็นอย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ หรือรวม 8 วัน/เดือน
@อนุมัติ‘งบกลางฯ-เงินกู้’ จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ 1.6 หมื่นล.
นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครม.มีมติอนุมัติใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้ อสม.และ อสส. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ รวมเป็นเงิน 16,225.99 ล้านบาท ได้แก่
29 ก.ค.2563 ครม.อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 3,622.31 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ ‘เบี้ยเสี่ยงภัย’ ให้ อสม. ในอัตรา 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 7 เดือน (มี.ค.-ก.ย.2563)
22 ก.ย.2563 ครม.อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 6,301.84 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในอัตรา 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 1 ปี (ต.ค.2563-ก.ย.2564)
8 ก.พ.2565 ครม.อนุมัติงบกลางฯ 3,150.92 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ ให้ อสม. ในอัตรา 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน (ต.ค.2564-มี.ค.2565)
30 ส.ค.2565 ครม.อนุมัติงบกลางฯ 1,050.31 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ ให้ อสม. ในอัตรา 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (เม.ย.2565-พ.ค.2565)
27 ก.ย.2565 ครม.อนุมัติงบกลางฯ 2,100.61 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้ อสม. ในอัตรา 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน (มิ.ย.2565-ก.ย.2565)
เหล่านี้เป็นภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายของ อสม. และ อสส. ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ท่ามกลาง ‘ศึกเลือกตั้งใหญ่’ ปี 2566
อ่านประกอบ :
ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการ อสม.-อสส.เป็น 2 พันบาทต่อเดือน รวม 1.09 ล้านคน