“…สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาและควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องจัดการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ การลดการระบายไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษจากกระบานการผลิต การควบคุมการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และการเผาขยะในพื้นที่…”
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาซ้ำซากทุกปี และเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพกรุงเทพมหานคร และพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ
จากรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปี 2022 ของกรุงเทพฯ โดย Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า
ในปี 2565 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2564 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี ซึ่งมากกว่าปี 2564 ที่มีจำนวน 202 วัน
ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2564 ที่มี 61 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่มีถึง 12 วัน
จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดในปี 2565 คือเมษายน โดยมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง 3 วัน และเป็นเพียงเดือนเดียวที่มีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงสูงสุด
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2563 และ 2564 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด คือเดือนมกราคม ขณะที่ปี 2564 กลับเป็นเดือนเมษายน
สำหรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ (Environmental Engineering and Management) คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (School of Environmental, Resources and Development) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง
โดยมีงานวิจัยที่พบฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ในปอด กระแสเลือด สมอง และอวัยวะต่างๆ โดยผลกระทบต่อสุขภาพนอกจากจะมาจากการสะสมของฝุ่นขนาดเล็กในอวัยวะต่างๆ ยังมาจากสารพิษที่อยู่ในฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ฝุ่นขนาดเล็กยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม ในปีนี้คาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นขนาดเล็กจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะจะนำความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนะนำว่าควรเตรียมรับมือและป้องกันตนเองในวันที่มีความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กสูงด้วยการลดเวลาในการทำกิจกรรมภายนอกอาคาร และสวมใส่หน้ากากกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร พยายามอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทและเปิดเครื่องกรองอากาศอยู่เสมอ
“สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาและควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องจัดการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ การลดการระบายไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษจากกระบวนการผลิต การควบคุมการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และการเผาขยะในพื้นที่ เป็นต้น” รศ.ดร.เอกบดินทร์ ระบุ
ไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพิษ PM2.5 หลายประเทศทั่วโลกก็ประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมแนวทางจัดการกับมลพิษทางอากาศที่น่าสนใจ มีรายละเอียดดังนี้
การแก้ไขปัญหาฝุ่น นอกจากการขอความร่วมมือ การใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมอย่างเข้มข้นและเป็นระบบก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน
ภาคการควบคุมยานยนต์และขนส่ง
ภาคการควบคุมยานยนต์และขนส่ง เป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศ การบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการจำกัดพื้นที่ จึงเป็นแรวทางที่หลายประเทศเลือกใช้
ตั้งแต่ปี 2557 สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ (Euro Standard) ได้แก่ ไฮโดรคาร์บอน (HC) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO) ฝุ่นละออง (Particulate Matter: PM) และจำนวนอนุภาคของฝุ่นละออง (Particulate Number: PN) ควบคุมสารองค์ประกอบหลักของน้ำมัน 6 ชนิด ได้แก่ กำมะถัน อะโรมาติก โอเลฟิน เบนซีน (Benzene) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนและกำมะถัน
ขณะที่แอฟริกาใต้ เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หากรถยนต์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ 120 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป โดยสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยอัตราของภาษีสิ่งแวดล้อมจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1) จำนวนผู้โดยสารที่รถยนต์สามารถรองรับได้ และ 2) ส่วนต่างของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ปล่อยเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้ มาตรการกำหนดเขตควบคุมการปล่อยมลพิษในตัวเมืองหรือเขตมลภาวะต่ำ (Low Emission Zone: LEZ) ยังเป็นมาตรการที่ใช้ในหลายเมืองของยุโรป เขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง หากผู้ใช้รถต้องการนำรถผ่านเข้าไปในเขต LEZ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่แปรผันตามมลพิษที่ปล่อยออกมา ระหว่างปี 2562-2563 มีพื้นที่ซึ่งกำหนดเขตเพิ่มขึ้น 40 % จาก 228 พื้นที่เป็น 320 พื้นที่
โดยอิตาลีเป็นประเทศที่ประกาศเขตควบคุมฯ มากที่สุด 172 แห่ง ตามด้วยเยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ทั้งนี้สเปนเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลประกาศเขตควบคุมในหลายเมือง เช่น กรุงมาดริด หรือ บาร์เซโลน่า มาตรการแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เช่น จำกัดการเข้าของยนต์ดีเซล หรือรถยนต์รุ่นเก่าด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม
ขณะที่ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรนับว่าเป็นเมืองที่มีมาตรการนี้เข้มงวดที่สุด โดยมีเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด (Ultra-Low Emission Zone: ULEZ) ครอบคลุมพื้นที่บริเวณใจกลางกรุงลอนดอนทั้งหมด และปี 2566 ชาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เตรียมจะออกมาตรการขยายให้เขต ULEZ ครอบคลุมพื้นที่กรุงลอนดอนทั้งหมดแต่ยังมีเสียงคัดค้านจากชาวลอนดอน บางประเทศเช่น ฝรั่งเศส และสเปน มีกฎหมายที่บังคับให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คน (ประมาณ 42 เมือง) ต้องมีมาตรการกำหนดเขตควบคุมฯ
ส่วนสิงคโปร์ ใช้การเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion Charge: CC) โดยเก็บค่าธรรมเนียมภายใต้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) เป็นซุ้ม (Gantry System) กระจายอยู่ตามถนนรอบเมือง เมื่อผู้ใช้รถขับผ่าน ระบบ ERP จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยอัตโนมัติด้วยการรับส่งข้อมูลผ่านเซนเซอร์ตัวรับสัญญาณที่รัฐบาลบังคับให้ผู้ใช้รถติดตั้ง
สำหรับประเทศไทย มีแผนในการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 มิลลิลิตรต่อลูกบาศก์เมตร (ppm) (มีกำมะถันน้อยกว่า 5 เท่า) มาใช้ หรือการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2024
โดยปัจจุบัน ในช่วงที่ยังไม่มีการใช้บังคับ ภาครัฐใช้วิธีขอความร่วมมือกับผู้จำหน่ายน้ำมันให้นำน้ำมันกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 มาจำหน่ายก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า
และอีกส่วนหนึ่งก็คือการออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา และมาตรการการตรวจควันดำ
ส่วนประเด็นเขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง กรุงเทพมหานครเคยมีทีท่าว่าจะใช้มาตรการนี้กับรถบรรทุกในปี 2563 ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 เข้าขั้นวิกฤตแต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนการใช้มาตรการออกไป
ภาคอุตสาหกรรม
และอีกหนึ่งสาเหตุหลัก เมื่อเราพูดถึงปัญหามลพิษ ส่วนใหญ่มักจะคิดถึงภาคอุตสาหกรรม ว่าเป็นต้นต่อของปัญหาส่วนใหญ่ โดยประเทศญี่ปุ่นพัฒนาระบบการติดตามและเฝ้าระวัง ปรับปรุงโมเดลพยากรณ์อากาศ ปรับปรุงฐานข้อมูลและรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษ มาตรการระดับพื้นที่เพิ่มการติดตาม กำกับ และควบคุม การปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปล่อยเขม่าไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) กฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR)
ในปี 2541 ประเด็นสำคัญของกฎหมายอยู่ที่เมื่อภาคเอกชนปลดปล่อยหรือมีการเคลื่อนย้ายสารอันตรายที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่กฎหมายควบคุมจะต้องรายงานปริมาณและชื่อสารเคมีนั้นๆ ให้หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจฯ ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม รับทราบและรวบรวมเป็นฐานข้อมูลของประเทศ ข้อมูลจากรายงานเหล่านี้ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะบนเว็บไซต์ของทั้งสองกระทรวง และประชาชนสามารถขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยเผยข้อมูลที่ต้องการได้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษด้วย
ขณะที่ประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ที่ให้โรงงานประเภทต่างๆ ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 จากเดิมที่ใช้บังคับเฉพาะโรงงานในวงจำกัด เป็นครอบคลุมโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศ สั่งติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องฯ แบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง
แต่จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะพบว่า กรุงเทพฯ มีโรงงานอุตสาหกรรม 260 โรงงาน แต่ปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลการตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย (CEMS) เพียง 4 โรงงาน 15 ปล่อง เท่านั้น
ภาคเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหามลพิษไม่สามารถระบุเจาะจงหรือโทษหาคนผิได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น เพราะทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกันยหมด ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรกรรม
ประเทศไทยมีแนวนโยบายในการจัดการฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่การเกษตรมีความชัดเจนเพียงแค่การเผาอ้อย ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ คือ นาข้าว มีเพียงการประกาศห้ามเผา แต่จากข้อมูลจุดความร้อนในเดือนเมษายน 2565 ที่พบจุดความร้อนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายพื้นที่ก็พบว่ามาจากการเผานาข้าว และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ช่วงเวลาเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศห้ามเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 แต่กลับพบจุดความร้อนสูงขึ้น
อีกทั้งมาตรการในพื้นที่ป่าของประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน มีเพียงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อนให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตเรื่องจุดความร้อนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันจะพบว่ามาตรการในพื้นที่ป่าไม้นั้น แม้จะมีการใช้งบประมาณ ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำแนวพื้นที่กันไฟ แต่แนวนโยบายดังกล่าวก็ยังขาดความโปร่งใสในการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายและการใช้งบประมาณ
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายบังคับให้เกษตรกรอธิบายความจำเป็นในการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ด้านการเกษตร และมีระบบขออนุญาตการเผา เพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติ เกษตรกรต้องขอใบอนุญาตความปลอดภัยการเผาจากหน่วยงานในท้องถิ่น เกษตรกรต้องผ่านการอบรมซึ่งทบทวนทุก 5 ปี หลังเผาเสร็จต้องรายงาน ในบางรัฐ เช่น รัฐไอดาโฮ เก็บค่าธรรมเนียมในการเผาด้วย โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่ ขณะที่สหภาพยุโรปมีกฎหมายห้ามการเผาในที่โล่งแจ้งโดยเด็ดขาด เว้นแต่กรณีเพื่อสุขอนามัยพืช ตามระเบียบสหภาพยุโรป 1306/2013 โดยแนวทางในสหรัฐฯ ก็สอดคล้องกับแนวความคิดการลงทะเบียนเพื่อจัดการบริหารเชื้อเพลิงที่หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เสนอไว้
ส่วนด้านไฟป่า สหรัฐอเมริกามีแนวทางการจัดการไฟป่าด้วยการเผาตามกำหนด (prescribed burning) มีหน่วยงานเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในการจัดการพื้นที่ป่า มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศ และทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนพื้นที่ การกำหนดวันและเวลาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย การทำงานร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่ป่า โดยในปี 2564 มีเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแก่เจ้าหน้าที่ด้วย
ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมุ่งมั่นแก้ไขอย่างจริงจัง โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นปัญหานี้ก็จะเหมือนกับฝันร้ายที่วนเวียนกลับหลอกหลอนและทำลายสุขภาพของพวเราซ้ำๆ