"...จําเลยที่ 3 เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบิน ครั้งที่ 31/2552 , 23/2552 และ 33/2552 ตามที่กรรมการผู้อํานวยการใหญ่มอบหมาย แต่จําเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบความถูกต้องของการนําเสนอขออนุมัติโครงการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าบนอากาศยาน เพียงแต่เข้าร่วมประชุมและตอบข้อถามกรณีมีผู้สอบถามและจําเลยที่ 3 มีข้อสังเกตแจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ในการประชุมครั้งที่ 31/2552 ..."
กรณีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีกล่าวหา นายพฤทธิ์ บุปผาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการบินพาณิชย์ (DN) รักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ (FZ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก จัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าจากบริษัท เซาเทิร์น จำกัด (Southern Air Inc. (SAI)) โดยมิชอบ
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นายพฤทธิ์ บุปผาคำ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 8 ลงโทษ จำคุก 20 ปี , นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 8 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ลงโทษ จำคุก 13 ปี 4 เดือน
และให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับ เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธุ์ จำเลยที่ 3
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด ของ นายพฤทธิ์ บุปผาคำ และพวก มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว
- คุก 20 ปี! อดีตรองกก.ผอ.ใหญ่บินไทย จัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าเอกชนมิชอบ (1)
- พฤติการณ์คุก 20 ปี คดีซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้า 'บินไทย' เสียหาย-ขาดทุนยับ 3.5 พันล. (2)
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งในคดีนี้ ที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอ คือ ทำไมศาลฯ ถึงพิพากษายกฟ้อง เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธุ์ จำเลยที่ 3
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลส่วนนี้มานำเสนอ ณ ที่นี้
ในคำพิพากษาคดีนี้ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ระบุคำวินิจฉัยว่า เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธุ์ จําเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนนายพฤทธิ์ บุปผาคำ จําเลยที่ 1 ในการกระทําความผิดหรือไม่
ศาลฯ เห็นว่า จําเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทั่วไป (DW) มีหน้าที่ในการกลั่นกรองงานจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารบริษัทตามคําสั่งที่ 82/2552 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 และคําสั่งที่ 249/2552 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 และได้รับมอบหมายจากเรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ (DD) ให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบิน (BEM)
แต่จําเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคณะทํางานบริหารเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Freighter Working Team) ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบิน (BEM) ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารบริษัท และไม่ปรากฏความเกี่ยวข้องในการทําสัญญาจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าบนอากาศยานระหว่างบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) กับบริษัทเซาเทิร์นแอร์ จํากัด ตามสัญญาลงวันที่ 5 ตุลาคม 2552
จําเลยที่ 3 เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบิน ครั้งที่ 31/2552 , 23/2552 และ 33/2552 ตามที่กรรมการผู้อํานวยการใหญ่มอบหมาย
แต่จําเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบความถูกต้องของการนําเสนอขออนุมัติโครงการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าบนอากาศยาน เพียงแต่เข้าร่วมประชุมและตอบข้อถามกรณีมีผู้สอบถามและจําเลยที่ 3 มีข้อสังเกตแจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ในการประชุมครั้งที่ 31/2552
จําเลยที่ 3 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอํานาจก่อน ในการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าควรประมาณการว่าจะซื้อจากแหล่งใด ค่าใช้จ่ายเท่าใดตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 หมวด 16 การจัดหาบริการในกิจการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์และฝ่ายบริการลูกค้า กรรมการผู้จัดการสามารถอนุมัติวงเงินจัดซื้อจัดหาได้ไม่เกิน 50,000,000 บาท แต่เพื่อความชัดเจนเนื่องจากไม่มีงบประมาณรองรับควรนําเสนอคณะกรรมการบริหารบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
ขณะที่ในการประชุมครั้งที่ 32/2552 จําเลยที่ 1 ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบินว่าค่าใช้จ่ายมีเพียงเงินมัดจําสัญญาและเงินค่าเครดิตโน้ตวงเงินประมาณ 200,000,000 บาท
จําเลยที่ 3 จึงชี้แจงต่อที่ประชุมว่าจากการคํานวณแล้วคาดว่าโครงการนี้น่าจะมีค่าใช้จ่ายในวงเงินประมาณ 200,000,000 บาท เป็นอํานาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหารบริษัทตามข้อมูลที่จําเลยที่ 1 เสนอในที่ประชุม
เนื่องจากจําเลยที่ 3 ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของการนําเสนอขออนุมัติโครงการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้า
จําเลยที่ 3 ได้ตอบคําถามและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตามระเบียบบริษัทเกี่ยวกับการพัสดุ พ.ศ. 2546 จึงเป็นการตอบคําถามและการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏในการประชุม
ในการเสนอขออนุมัติจัดซื้อปรากฏตามคําให้การขั้นไต่สวนของ นายธงชัย สิงห์กุล ผู้อํานวยการใหญ่ฝ่ายบัญชีการเงินบริษัท ว่าการประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบินครั้งที่ 32/2552 วันที่ 22 กันยายน 2552 และครั้งที่ 33/2552 วันที่ 29 กันยายน 2552 จําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสนอขออนุมัติจัดซื้อระวางพื้นที่บรรทุกสินค้าของบริษัทเซาเทิร์นแอร์ จํากัด ต่อคณะกรรมการกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบินให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารบริษัท
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องการจัดซื้อระวางพื้นที่บรรทุกสินค้า
การกระทําของจําเลยที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จําต้องปรับบทมาตรา 11 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
ศาลฯ จึงพิพากษาว่า จําเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ลงโทษจําคุก 20 ปี
จําเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษจําคุก 13 ปี 4 เดือน
ให้ยกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 3
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เกี่ยวกับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
เท่ากับว่า คดีความในส่วนของ เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธุ์ จำเลยที่ 3 เสร็จสิ้นไปแล้ว
เรืออากาศเอก จรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธุ์ ถือเป็นผู้บริสุทธิ์