"...ต้องให้ความหวังกับคนรุ่นใหม่ ให้เขามีความหวังว่าเขาจะมีอนาคตที่ดี แล้วเราต้องฝากความหวังในการร่วมกันพัฒนา เขาจะเป็นคนที่ดูแลประเทศชาติต่อไป ต้องทำงานร่วมกับเขา ประคับประคองเขาให้มีความเข้มแข็งในการทำงานต่อไป ทั้งหมดนี้พูดถึงการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อให้คนทำผิดทำผิดยากขึ้น ลงโทษให้มากขึ้น คนที่ทำผิดเห็นคนถูกลงโทษแล้วเกรงกลัวมากขึ้น การป้องปรามก็จะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สำหรับท่านที่มีเจตจำนงค์มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทุจริต..."
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงาน 12 ปี สำนักข่าวอิศรา Investigative News of Thailand ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ 'สังคายนานโยบายปราบคอร์รัปชัน ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่' มีผู้เข้าร่วมได้แก่
1. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
2. นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
3. นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
4. ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
สถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทย
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ประเด็นการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ ปัญหาคนให้(ประชาชน) คนรับ(เจ้าหน้าที่รัฐ) ใครเกิดก่อนกัน คิดว่าเกิดมาพร้อมกันพร้อมกับกิเลสของมนุษย์ ที่ต้องการเงิน ต้องการผลประโยชน์ ทำให้มีการซื้อตัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงาน ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาทั้งสองฝั่ง เราอาจจะมองแค่มุมเจ้าหน้าที่รัฐทำความผิด แต่เราควรกลับมามองมุมของผู้ให้โดยเฉพาะภาคธุรกิจเป็นตัวการสำคัญที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ แล้วมีการไปแสวงหาผลประโยชน์แล้วก็ไปมีหน้าที่ในการบริหาร อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก อีกกรณีหนึ่งคือเจ้าหน้าทีรัฐที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ตามตำแหน่งหน้าที่ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหานี้ต้องหาแนวทางแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐระดับทั่วไปเราเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้
"หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก สำหรับกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป ณ วันนี้ต้องยอมรับว่า การปราบปรามการทุจริตต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชนด้วยที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน"
ปัจจุบันมีสื่อที่นำเสนอข่าวสืบสวนน้อยลง ซึ่งแตกต่างจากสมัยอดีตที่ตนยังเป็นเด็ก หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์มีพยามยามหาข้อมูลนำเสนอข่าวสืบสวนในประเด็นต่าง ๆ ขอชื่นชมสำนักข่าวอิศราที่ยืนหยัดทำข่าวสืบสวน
"ในคดีทุจริตเขาทำกันอยู่ข้างใต้พรม เรื่องวิ่งราวทรัพย์มีกล้องตรวจจับได้คนกระทำอุกฉกรรจ์ไม่คำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่าบ้านนี้จะมีตำรวจดูแลอะไรไหมไม่สนใจ เพราะเป็นความต้องการ แต่ทุจริต ทำโดยคนที่มีความรู้ คนที่ใส่สูทเพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำไม่มีใครรู้ รู้แค่ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ เขาเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่จะไปเอาข้อมูล ภายในของเขามา ไม่ใช่เรื่องง่าย"
การลงทุนการปราบปรามทุจจริตในภาครัฐยังสนับสนุนน้อย นโยบายของรัฐบาลสำคัญที่สุดในการปราบปรามการทุจริตคือการเอาจริงเอาจัง และประชาชนต้องกล้าหาญกว่าที่เคยเป็น แต่ประชาชนต้องกล้าเมื่อรู้สึกว่ามีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพร้อมที่จะออกมาให้ข้อมูลการทุจริต อีกทั้งประชาชนยังใส่ใจเรื่องปากท้องเศรษฐกิจมากกว่า จึงไม่มีความคิดจะแกว่งเท้าหาเสี้ยน ดังนั้นต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงความร้ายแรงของการทุจริต และผลประโยชน์ของประชาชนที่เสียไปจากการทุจริต ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ทนต่อการทุจริตในหน่วยงานรัฐคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า เงินของภาครัฐจากส่วนต่าง ๆ รวมทั้งหมดประมาณ 10 ล้านล้านต่อ 1 ปี งานวิจัยบอกว่าจะมีเงินหายไปกับการทุจริตประมาณ 3 แสนล้านต่อ 1 ปี แต่ยังไม่รวมกับทรัพย์สินของรัฐที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ เช่น เหมืองแร่ เป็นต้น บทบาทของ สตง. คือ ดูเงินของประชาชนตั้งแต่ออกจากกระเป๋าของประชาชนไปเป็นเงินภาษี ปีหนึ่งประมาณ 2.7 - 2.8 ล้านล้านบาท สตง.ก็เข้าไปดูแลส่วนข้างต้น แต่ก่อนข้าราชการ สตง. มีอำนาจที่จะประเมินการจัดเก็บภาษี แต่ปัจจุบันไม่ได้มีอำนาจมากเท่าเดิม
อีกทั้งปัจจุบันยังมีการกู้เงินงบประมาณของรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ โดยงบประมาณ 100% แบ่งเป็นงบประมาณส่วนต่าง ๆ เช่น งบของบุคลากร งบของการลงทุน เป็นต้น อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจเข้าไปดู จะทำอย่างไรให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโปร่งใส สตง.ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ก็ส่งผลให้ระบบติดขัด ปัจจุบันกำลังหาวิธีใหม่ที่ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างรวดเร็ว โปร่งใสขึ้น ไม่ยากลำบากกับคนที่ทำงาน
"แต่ในส่วนของกระบวนการที่ทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้วไม่ทุจริตเป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริม ผมพยายามบอกหัวหน้าส่วนราชการส่วนต่าง ๆ เวลามีสัมนาต่าง ๆ งบประมาณทั้งหมดข้างต้น คนที่เป็นพระเอกยที่ดูแลเงินคือหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมด ถามว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีกี่แสนคนกี่ล้านคน ผมคิดว่ามีคนดีมากกว่าคนไม่ดี ทำไมเราไม่ไปให้ความสะดวก ส่งเสริมคนเหล่านั้นให้ทำงานอย่างโปร่งใส ต้องช่วยกันปิดพื้นที่ของคนที่จะใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาทำการทุจริต พยายามเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้มีความโปร่งใส คนทั้งประเทศช่วยกันดูจะทำให้คนที่จะทุจริตน้อยลง "
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประชาชนคนไทย ผู้ที่ทำงานในทุกภาคส่วนต้องไม่ทิ้งความหวัง แต่ขณะเดียวกันต้องไม่หวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ต้องมีความเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ การสมรู้ในการเบียดเบียนประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประชาชนโดยภาคต่าง ๆ พื้นฐานมากจากอำนาจทางการเงิน โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนที่มุ่งหวังผลประโยชน์โดยขาดความรับผิดชอบกับด้านการเมืองหรือราชการ ก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่สร้างปัญหาให้ประชาชนและสังคมไทย
สถานการณ์การทุจริตไม่ดีขึ้นเพราะ ขนาดของปัญหาที่มีความซับซ้อนใหญ่กว่าทรัพยากรที่มี ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทาน การใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ แต่ยังมีการเบียดเบียนทรัพยากรของชาติ ทำให้การแก้ปัญหายากมาก จนเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่มั่นใจว่าองค์กรที่มีพันธกิจเพื่อแก้ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยพลังของประชาชนทุกคน จากทุกภาคส่วน เพราะการทุจริตมีผลกระทบกับชีวิตของประชาชนทุกคนทั้งในด้านการดำเนินชีวิตทุกด้าน เช่น การศึกษา ความปลอดภัย เป็นต้น
"เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนทุกคนต้องตระหนักรู้ ประชาชนต้องมีบทบาทในการช่วยกันไม่ยินยอม ช่วยกันเฝ้าระวัง ช่วยกันแจ้งเหตุ นี่เป็นสาเหตุที่ผมคิดว่ายังมีความหวัง อีกทั้งสื่อมวลชนอย่างสำนักข่าวอิศรามีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้เห็นปัญหาเหล่านั้นและตระหนักรู้ในปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น"
ขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็มีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น STRONG หมาเฝ้าบ้าน ต้องแฉ เป็นต้น ที่มีแพลตฟอร์มสำหรับให้ประชาชนรายงานเรื่องการทุจริจต่าง ๆ เป็นกลไกในการเข้าถึงข้อมูและการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกกรณีหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มีข้อตกลงคุณธรรมในจัดซื้อจัดจ้างที่ให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นทางการจึงเป็นกลไกที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
"เรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนในสังคมปัจจุบันจะไม่ยอมรับมากขึ้น ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในสังคมที่อาจจะไม่ค่อยเคยชินเช่นเดียวกับรุ่นของพวกผม ไม่ยอมรับเรื่องนี้ ถ้าเราประคับประคองเขาได้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า คนเหล่านี้เขายังมีความเข้มแข็งหรือมีความเข้มแข็งมากขึ้น เขาจะเป็นคนที่ไม่ยอมรับ เขาจะเข้ามาเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการบริการจัดการ แน่นอนว่าก็จะเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งถัดไป"
ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 3 เรื่องที่น่าสนใจและเกี่ยวกับค่า CPI (Corruption Perceptions Index: CPI) หรือดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ดังนี้
1. ถ้าดูค่า CPI ย้อนหลัง 20 ปี คะแนนจะอยู่คงที่ประมาณ 30-40 คะแนนตลอด แต่อันดับกลับตกลงเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่มีวิธีใหม่ วิธีการคอร์รัปชันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แทบเป็นไปไม่ได้ที่ 20 ปี ที่ผ่านมาวิธีการคอร์รัปชันยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นสรุปได้ว่าความเข้าใจของคนในสังคมไทยต่อการคอร์รัปชันไม่ได้เปลี่ยนแปลงจาก 20 ปี จึงนำมาสู่การต่อสู้กับคอร์รัปชันที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง
2. ต้นทุนการต่อสู้กับคอร์รัปชันของไทยสูงมาก การต่อสู้กับการคอร์รัปชันที่ราคาถูกที่สุด ได้แก่
1. ต้องพัฒนากลไกการต่อสู้
2. ต้อง Call to action หรือการตระหนักรู้และตัดสินใจลงมือทำของประชาชน ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ตนเคยถามนักศึกษาว่าถ้าเจอคนให้สินบนจะต้องทำอย่างไร นักศึกษาตอบว่าจะไปหาสื่อ ไม่ใช่ว่านักศึกษาไม่เชื่อในหน่วยงานการต่อต้านการทุจริตของภาครัฐ แต่เพราะนักศึกษาไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ
เพราะฉะนั้นการตระหนักรู้และตัดสินใจลงมือทำจึงไม่เกิด ต้นทุนจึงไปฝากกับหน่วยงานปราบปรามมการทุจริตแทนอย่างมหาศาล ถ้ามีประชาชนช่วยในกระบวนการเหล่านี้จะราคาถูกลง ในการพัฒนากลไกเพื่อตรวจสอบการทุจริต ในระยะแรกจะมีต้นทุนสูงได้แต่ต้นทุนในระยะยาวต้องลดลง แต่ของไทยต้นทุนการต่อสู้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่ามีคนโกงมากขึ้น และไทยลงทุนกับระบบที่มีประสิทธิภาพและลงทุนกับการตระหนักรู้และตัดสินใจลงมือทำของประชาชนน้อยเกินไป
"เพราะว่าคนที่เจตนาทำผิดไม่ได้โง่ เขามีความฉลาด มีความเชี่ยวชาญ เขารู้ เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ปราบปรามจะใช้พลังเยอะ"
3. สังคมหลักของคนไทยมีความเชื่อใจ คนโกงได้เพราะเชื่อใจ สิ่งนี้คือความท้าทายเป็นอย่างมาก ต้องมีระบบที่โปร่งใสตรวจสอบได้
"เขาไว้เนื้อเชื่อใจคนของเขาที่อยู่ในหลายบทบาทและร่วมมือกัน แต่คนต่อต้านมีหลายส่วนและไม่รู้จะร่วมมือกันอย่างไร แปลว่าการโกงสะท้อนความไว้วางใจระหว่างกัน ยิ่งโกงมากเท่าไรก็ยิ่งสื่อสารถึงความไว้วางใจของคนในกลุ่มมากขึ้น ความยากคือการแก้ปัญหา"
ดังนั้นทางแก้ระบบคอร์รัปชันคือความโปร่งใสที่คนเห็นปลายทางได้ ต้องมีระบบที่คาดการณ์ได้ มีหน่วยงานที่คนคาดการณ์ได้ การพัฒนากลไกอาจช่วยได้ ซึ่งจะกลับมาที่พื้นฐานของวัฒนธรรมไทยที่ตนคิดว่าท้าทายมากที่สุด
ความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองกับการคอร์รัปชันของประเทศไทย
สำหรับประเด็นเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองกับการคอร์รัปชันของประเทศไทย นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า การเมืองส่งผลต่อการคอร์รัปชันอาจจะเกิน 100% ต้องยอมรับว่าระบบการเมืองของไทยไปผูกกับระบบการขับเคลื่อนของภาครัฐ สังเกตจากเรื่องของอธิบดีกรมป่าไม้ หรือเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เพราะดูจากงบประมาณของแต่ละกระทรวง ถึงมีข่าวอธิบดีรับเงินจากเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่เอาเงินมาจากที่ใด คำตอบคือก็เอามาจากเงินงบประมาณของกระทรวง เช่น เรื่องฝาย ที่มีการปลูกฝายเป็นหมื่น ๆ บนภูเขา ฝายละ 2000 บาท ใครจะไปนับ ฉะนั้นก็ย้อนกลับมาที่งบประมาณว่าใครเป็นเจ้าของโครงการ ดังนั้นต้องแต่งตั้งคนที่ไว้ใจเข้าไปเพื่อให้สั่งการได้ อีกทั้งนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินในการดำเนินการ
"พอ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจเขาก็บอกว่าผมต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ประชาชนชื่นชมว่าเขาทำตามที่พูด ก็ต้องปล่อยไป ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตัลเกือบหมด ถ้าใช้เงินดิจิตัล (การใช้เงินผ่านแอพพลิเคชันธนาคาร) มากขึ้น ธุรกรรมการเงินเช่นนี้ จะสามารถตามเส้นทางเงินได้ ก็สามารถป้องกันและติดตามการทุจจริตได้ มีหลายมุมมองที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน"
ส่วนนายประจักษ์ กล่าวว่า มองในฐานะประชนต้องมองที่มาของเขา ก่อนที่เขาจะมาเป็นนักการเมืองเขามาจากไหน นี่เป็นระบบอุปถัมภ์ พอเขาเป็นนักการเมืองก็ต้องตอบแทน สิ่งที่พวกเขาใช้อุปถัมภ์กันและกันมาจากไหน ก็มาจากทรัพยากรของประเทศ การอุปถัมภ์กันและกันจนกลายเป็นเครือข่ายที่ทำลายยากมาก พอเปลี่ยนรัฐบาลไปก็เปลี่ยนเป็นเครือข่ายใหม่
"ผมอยู่มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติ ไม่ปฏิวัติ มีอะไรเปลี่ยนไหม คำตอบของผมก็คือไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ ผมเคยมีความหวังว่า ทุจริตมาก ๆ พอปฏิวัติสักทีแล้วจะมีความหวัง จะปฏิรูปให้เกิดความโปร่งใสขึ้นมาได้ แต่ 8 ปีก็ยังไม่เห็นปฏิรูปอะไรสำเร็จ ใครตอบผมได้บ้างปฏรูปอะไรสำเร็จบ้าง แล้วอย่างที่มีข่าวในปัจจุบันที่เราเห็นกัน ข่าวของตำรวจ นี่ต้องปฏิรูปก่อนเพื่อนเลย แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเพราะยังมีคนรุ่นใหม่"
นายวิเชียร กล่าวว่า การแฉคนที่ทุจริตยังไม่เพียงพอ ต้องมีการจัดการเป็นระบบ ตนอยู่มาทั้งรัฐบาลที่เลือกตั้ง รัฐบาลที่ปฏิวัติ มาหลายรอบ จนกระทั่งก็มาเป็นสภาพอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่เราขาด คือ สำนึกที่ดีของคนที่เข้าสู่อำนาจ สำนึกที่ดีของคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงิน ที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง
"มาลองวิเคราะห์ดู คิดว่ารางวัลของคนทำไม่ดี คือ อำนาจและผลประโยชน์ เมื่อนำมาเทียบกับการถูกลงโทษก็ยังสูงกว่ามาก การแก้ไขในเอกชนก็มีแนวคิดต่าง ๆ ที่มาใช้แก้ปัญหาการทุจริต แต่กลายเป็นว่าการแก้ปัญหานั้นให้น้ำหนักของภาพลักษณ์รูปแบบมากกว่าวิธีการ พอแบบนั้นก็เหมือนกับเป็นการส่งเสริมให้ทำไม่ดี ยิ่งเป็นโทษ"
การแก้ไขคือการให้รางวัลและลงโทษต้องมาจากประชาชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อาศัยประชาชนในการขับเคลื่อน ถ้าประชาชนทำแบบนี้กับภาคธุรกิจจะมีพลังมหาศาล จะเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจได้ ถ้าไม่มีคนมาทำงานกับเขา ไม่ซื้อสินค้าของเขา นี่เป็นบทลงโทษที่ร้ายแรง เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ต้องเลือกคนที่ต้านทุจริตจริง ถ้าเราเลือกเหมือนเดิม ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ส่วนการลงโทษนักการเมืองประชาชนต้องมีส่วนร่วม
ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างจากอิตาลีเพราะเรียนจบจากอิตาลี อีกทั้งการเมืองอิตาลีคล้ายการเมืองไทย ประเด็นแรก คือ คำว่าคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นคำทางการเมือง มีประโยชน์ทางการเมือง เช่น ถ้ามีการจับพรรคการเมืองหนึ่งที่คอร์รัปชันจะมีคนทั้งเชียร์และด่า ทั้งที่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาพื้นฐานไม่เกี่ยวกับการเมือง
"เพราะคอร์รัปชันกลายเป็นคำทางการเมือง พอกลายเป็นคำทางการเมือง เป็นเหตุผลใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้ความร่วมมือของประชาชนในการต่อต้านการคอร์รัปชันไม่ได้ผล"
ประเด็นที่สอง คือ ต้องมองว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นกลุ่มที่ต้องร่วมมือกับองค์กรที่หลากหลาย ไม่ใช่สิ่งที่ทำคนเดียวได้ ในไทยจะมีตัวละครพิเศษ คือ เจ้าพ่อท้องถิ่น หรือนักการเมืองท้องถิ่น บุคคลนี้เป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าดูทั้งกระบวนการทั้งหมดในการคอร์รัปชันจะเห็นว่าคนที่เป็นเจ้าพ่อท้องถิ่นไม่ได้กุมแค่ฐานคะแนนเสียงหรือความนิยมของ ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ทำหน้าที่ในการกระจายผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันสู่ข้างล่างผ่านความชอบที่ไม่ใช่การซื้อเสียงแบบดั้งเดิม ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถตัดอิทธิพลของกลุ่มนี้ได้ ก็อาจจะช่วยได้
"นอกเหนือจากผลได้ของการคอร์รัปชันและต้นทุนที่เขาถูกลงโทษแล้ว เมื่อเปรียบเทียบคนโกงกับคนไม่โกง ตอนนี้กลายเป็นว่าคนโกงได้ผลประโยชน์มากกว่าคนไม่โกง เหมือนการทำความดีไม่มีผลประโยชน์เท่าการโกง แต่ตอนนี้ช่วงการโกงช่วงห่างกันมาก ๆ ฉะนั้นกลายเป็นแรงจูงใจให้คนจำนวนหนึ่งในทุกสาขาอาชีพกล้าเสี่ยงและกล้าท้าทาย เข้าสู่กระบวนการนี้ ฉะนั้นพอเราไม่ได้ปรับที่ระบบเลยกลายเป็นเมื่อคนเข้าสุ่กลไกอำนาจ เขาเปลี่ยนตัวเอง เพราะแรงจูงใจมันเปลี่ยน ดังนั้นเลยกลายเป็นว่าการไล่จับคนเลยไม่จบสิ้น"
ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า ต้องการผู้นำที่จะมาเปลี่ยนแปลง ขอพูดตามตรงว่าคนที่มาทำงานทางการเมืองมาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งซึ่งสำคัญมาก หน่วยงานสำคัญคือการสกัด
"ทำยังไงจึงจะได้คนดี สกัดคนไม่ดี ถ้าได้คนดีมา ป.ป.ช.แทบไม่มีหน้าที่ เพราะผู้นำเขาจะเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ งานของ ป.ป.ช. เป็นงานของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจทั่วไปเท่านั้นเอง แต่วันนี้ที่ต้องมี ป.ป.ช. เพราะพนักงานสอบสวนทั่วไปทำไม่ได้ เพราะมีนักการเมืองที่มีอิทธิพล โดยเฉพาะคนในพื้นที่ด้วยกัน ถึงต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเยอะแยะเต็มไปหมด เหมือนกับการคานอำนาจเป็นอำนาจที่ 4"
ฉะนั้นความจริงใจในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะระบบการขับเคลื่อนข้าราชการ ที่เป็นกลไกการแต่งตั้งโดยเฉพาะปลัดกระทรวงที่ต้องหาทางแก้ไขเพื่อให้ได้คนที่ดี เบื้องต้นได้นักการเมืองที่ดี ได้ผู้นำที่ดีมาก่อน ต่อมาคือระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องหาวิธีเลือกหัวหน้าส่วนราชการที่ดีมาให้ได้ ถ้าสองส่วนนี้ทำได้ทุกอย่างก็ทำได้
นายประจักษ์ กล่าวว่า การตรวจเงินแผ่นดินในทั่วโลกมองไปถึงเงินของประชาชน มองว่าจะมีส่วนร่วมในการรักษาเงินของแผ่นดินอย่างไร จึงนำเรื่องไปปรึกษากับสถาบันพระปกเกล้า ออกมาเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนส่งข้อมูลเข้ามาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งโครงการนี้ได้มาจากการผลงานการประกวดวิธีการดูแลเงินของแผ่นดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยนักศึกษา ในปี 2567 หวังว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้โครงการนี้ผ่าน
"หวังว่าโครงการนี้จะผ่านการพิจารณาของระดับท็อปที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบโดยนักศึกษา ออกแบบโดยประชาชนที่คิดว่าอยากมีส่วนร่วมด้วยอย่างไร"
นายวิเชียร กล่าวว่า คำแนะนำถึงผู้ที่จะมีอำนาจเข้ามาบริหารประเทศแบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทที่หนึ่งคนที่อยากเข้าไปเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ เข้าไปโกงกินเหมือนเดิม ขอแนะนำว่าท่านต้องคิดให้ดี อนาคตของท่านจะดีเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตหรือไม่ที่หลุดรอดไปได้ ท่านมั่นใจหรือไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่รอดไปได้ในอนาคต หรือจะไปรับโทษในวัยชรา หรือจะส่งภาระต่อให้ลูกหลานของท่านที่จะให้สังคมสาปแช่งต่อไป ท่านก็ต้องพิจารณาให้ดี ประเภทที่สองคนที่อยากเข้ามาบริหารประเทศแล้วหลับตาลงข้างหนึ่งไม่สนใจการทุจริต ท่านจะกลายเป็นลูกไล่ของเขา เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านไม่อยากเลือกแบบนั้น แม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิมถ้าหากท่านยังคงยินยอมต่อไป ประเภทที่สามคนที่จะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างจริงจัง เข้ามาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่โจทย์นี้ยากมากเพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลากหลาย พูดถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อน คือ นโยบาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ที่ต้องพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้น และการบังคับใช้กฎระเบียบกับคนที่มีพฤติกรรมเคยทุจริตมาก่อนต้องอาศัยประชาชนในทุกภาคส่วนในการให้รางวัลและลงโทษ
"ต้องให้ความหวังกับคนรุ่นใหม่ ให้เขามีความหวังว่าเขาจะมีอนาคตที่ดี แล้วเราต้องฝากความหวังในการร่วมกันพัฒนา เขาจะเป็นคนที่ดูแลประเทศชาติต่อไป ต้องทำงานร่วมกับเขา ประคับประคองเขาให้มีความเข้มแข็งในการทำงานต่อไป ทั้งหมดนี้พูดถึงการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อให้คนทำผิดทำผิดยากขึ้น ลงโทษให้มากขึ้น คนที่ทำผิดเห็นคนถูกลงโทษแล้วเกรงกลัวมากขึ้น การป้องปรามก็จะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สำหรับท่านที่มีเจตจำนงค์มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทุจริต"
ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า ถึงรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ จุดเริ่มต้นที่ดี คือ การยกระดับ CPI นักเศรษฐศาสตร์มองว่าค่า CPI มีผลต่อการลงทุน ในประเทศไทยการลงทุนลดลงเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าเรามีอำนาจต่อรองในการดึงเงินลงทุนน้อยลง การยกระดับ CPI จึงเป็นเรื่องสำคัญ
"การยกระดับ CPI เป็นเรื่องสำคัญ และการยกระดับ CPI จะทำให้คนทั้งประเทศได้ผลประโยชน์โดยตรงในระยะสั้นผ่านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเร็วกว่าการตรวจสอบและยึดทรัพย์จาก ป.ป.ช. ที่ใช้เวลานานและเห็นรูปธรรมไม่ชัดเจน"