"...สาเหตุที่กำหนดให้มีที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ เนื่องจากกรมฯระบุว่า เป็นองค์ประกอบตามมาตรฐานการก่อสวร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นจุดแวะพักให้ผู้ใช้ทางพักผ่อนจากความเหนื่อยล้าในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางด้วย..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 กรมทางหลวง (ทล.) จัดงานสัมมนารับฟังความเห็นเอกชน (Market Sounding) ร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด วงเงินรวม 1,801 ล้านบาท แบ่งเป็นศรีราชา 1,107 ล้านบาท และบางละมุง 784 ล้านบาท
โดยวางรูปแบบโครงการในลักษณะเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net Cost) ระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี และดำเนินงาน-บำรุงรักษา 30 ปี) วางแผนจะเปิดขายซอง TOR ได้ในช่วงเดือน พ.ค. 2566 หลังจากนั้นประมาณเดือน ก.ย. 2566 จะให้เอกชนที่ซื้อซองยื่นข้อเสนอ ก่อนที่ช่วงปลายปี 2566 คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาข้อเสนอ และสรุปผลการคัดเลือก และท้ายที่สุดน่าจะลงนามในสัญญาได้ประมาณ พ.ค. 2567 โดยที่พักริมทางทั้ง 2 แห่ง จะเปิดให้บริการในปี 2569
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปโครงการฯ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้
@ที่มาแผน Rest Area บนมอเตอร์เวย์ชลบุรี - มาบตาพุด
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นเพิ่มเติมจากผลการศึกษา PPP โดยกรมทางหลวง (ทล.) สาเหตุที่กำหนดให้มีที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ เนื่องจากกรมฯระบุว่า เป็นองค์ประกอบตามมาตรฐานการก่อสวร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นจุดแวะพักให้ผู้ใช้ทางพักผ่อนจากความเหนื่อยล้าในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางด้วย
โดยบนมอเตอร์เวย์สาย 7 สายกรุงเทพฯ - ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 149 กม. กำหนดให้มีที่พักริมทาง 7 แห่ง ได้แก่ ลาดกระบัง, บางปะกง, หนองรี, บางปะกงใหม่, ศรีราชา, มาบประชัน และบางละมุง ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 3 แห่งคือ ลาดกะบัง, หนองรี และบางปะกง และเพื่อให้การลงทุนและการดูแลบริหารมีประสิทธิภาพ จึงมีแนวคิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และได้นำโครงการพัฒนาที่พักริมทางไปบรรจุในแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนช่วง พ.ศ. 2563 -2570 ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562
อีก 4 แห่งที่รอดำเนินการ ได้แก่ บางปะกงใหม่, ศรีราชา, มาบประชัน และบางละมุง พื้นที่ที่มีความพร้อมคือ ศรีราชา และ บางละมุง
สำหรับพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ตามรายงานผลการศึกษาระบุว่า ได้ศึกษาความเหมาะสมและดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีส่วนร่วมกับประชาชนเรียบร้อยแล้ว โดยที่ดินที่ใช้พัฒนาที่พักริมทาง เป็นพื้นที่ที่เวนคืนไว้ตั้งแต่การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุดเมื่อปี 2558 แล้ว ขณะที่ความพร้อมด้านการจัดทำรูปแบบการลงทุน คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 (แก้ไขปี 2563)
แผนพัฒนา Rest Area บนมอเตอร์เวย์สาย 7 ทั้งหมด ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)
@สแกนพื้นที่ ‘ศรีราชา - บางละมุง’
ในพื้นที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center) มีพื้นที่รวม 121 ไร่ แบ่ง 2 ฝั่งคือ ฝั่งขาออกไปพัทยา พื้นที่ 62 ไร่ และฝั่งขาเข้าไปชลบุรี โครงการตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 93+500 ของมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยพื้นที่นี้มีข้อจำกัด 5 ข้อคือ
1.มีสายไฟแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พาดในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง 2.แนวท่อก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. อยู่ในพื้นที่ฝั่งขาออก 3.ถนนคู่ขนาน (Local Road) ด้านหลังของพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งไม่อนุญาตคนจาก Local Road เข้าพื้นที่ Rest Area 4.อาคารบริการจ่ายน้ำประปาของ บจ.อีสต์วอเตอร์ อยู่ในฝั่งพื้นที่ขาเข้า และ 5. โครงการก่อสร้างอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งขาเข้าและขาออก พร้อมสะพานทางเดินเหนือช่องจราจรสำหรับเจ้าหน้าที่ ณ ปลายพื้นที่ด้านทิศเหนือของที่ตั้งโครงการที่จะสร้างในอนาคต
พื้นที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center) ที่มา: กรมทางหลวง (ทล.)
ส่วนสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (Bang Lamung Service Area) มีพื้นที่รวม 77 ไร่ แบ่ง 2 ฝั่ง โดยฝั่งขาออกมุ่งหน้ามาบตาพุดมีพื้นที่ 38.5 ไร่ และฝั่งขาเข้าไปพัทยามีพื้นที่ 38.5 ไร่ ไม่มีพ้นที่จำกัด มีเพียงสิ่งปลูกสร้างเดิม ได้แก่ ถนนคู่ขนานหลังพื้นที่ทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งไม่อนุญาตคนจาก Local Road เข้าพื้นที่ Rest Area และ 2. สะพานทางเดินเหนือช่องจราจร
พื้นที่สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (Bang Lamung Service Area) ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)
@สิ่งที่ต้องมี-ต้องห้ามใน Rest Area
ทั้ง 2 พื้นที่กำหนดไว้ว่า จะต้องก่อสร้างสิ่งปลุกสร้าง 2 ส่วนประกอบด้วย 1. สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับรถยนต์และบริการที่ต้องการความรวดเร็วบนพื้นราบ และ 2. อาคารยกระดับคร่อมเหนือช่องจราจร ที่ต้องรองรับผู้ใช้บริการ Rest Area ที่ตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งขาเข้า-ขาออก
สิ่งปลูกสร้างที่ต้องมีบนพื้นราบประกอบด้วย พื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 5 % ของพื้นที่ทั้งหมด, ร้านค้าไม่เกิน 15% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ สถานบริการซ่อมบำรุงรถยนต์เบื้องต้น โดยไม่รวมปั๊มน้ำมัน และต้องจัดให้มีร้านค้า OTOP ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200-300 ตร.ม.ด้วย, ห้องน้ำ, ที่นั่งเล่น, ที่ชาร์จรถยนต์ EV, ลานจอดรถไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด และปั๊มน้ำมัน นอกจากนั้น จะต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์สาธารณะและตู้ ATM
ส่วนกิจกรรมที่ไม่อนุญาตให้มีในพื้นที่คือ สินค้าและบริการผิดกฎหมาย, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิด, การพนันและยาเสพติด, กิจกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี, กิจกรรมแข่งรถในทาง และกิจกรรมที่อันตรายต่อผู้ใช้ทาง
ขณะที่สิ่งปลูกสร้างบนอาคารคร่อมเหนือช่องจราจรจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร อาคารต้องสูงไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ภายในอาคารเป็นระบบปรับอากาศทั้งหมด มีลิฟต์หรือบันไดเลื่อน และห้ามติดตั้งกระจกสะท้อนแสงเป็นผนังของอาคารเด็ดขาด เพราะจะกระทบกับผู้ใช้ทางด้านล่าง สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่อนุญาตให้มีคือ ร้านค้าและห้องน้ำ
ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)
ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)
@เงื่อนไข เอกชน-รัฐ ในการทำ PPP
รายงานผลการศึกษา PPP ระบุถึงเงื่อนไขในการร่วมลงทุนไว้ว่า โครงการทั้ง 2 แห่งมีระยะเวลาโครงการ 32 ปี แบ่ง 2 ระยะ คือ ระยะที่ออกแบบก่อสร้าง ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่เริ่มงาน และระยะดำเนินงานและบำรุงรักษาอีก 30 ปี นับแต่วันที่ระบุในหนังสือรับรองการเปิดให้บริการ
โดยฝั่งรัฐบาล ประกอบด้วยกรมทางหลวง (ทล.) และผู้แทน มีหน้าที่ส่งมอบพื้นที๋โครงการ กำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินงาน ให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ และสนับสนุนในการขออนุญาตต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อเข้าสู่ระยะดำเนินงานและบำรุงรักษา จะต้องกำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินงาน พิจารณาให้ความเห็นและรับผลงาน และพิจารณาอนุมัติรายชื่อผู้ค้าที่ได้รับสิทธิ์จำหน่ายสินค้า OTOP
ขณะที่เอกชนที่จะเข้ามาลงทุน เบื้องต้น เปิดกว้างให้เข้ามาทั้งนิติบุคคลรายเดียว หรือรวมกลุ่มในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture) แต่ไม่อนุญาตให้มีนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาร่วมลงทุนเด็ดขาด กำหนดให้เป็นโครงการตามแนวนโยบาย Thai First ขอบเขตที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง จะต้องสำรวจพื้นที่ ประเมินทรัพย์สิน ออกแบบรายละเอียด พร้อมส่งสำเนาแบบก่อสร้างจริงให้กรมทางหลวง (ทล.), รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด, การขออนุญาตต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนด และการจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายงาน EIA
ช่วงที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา จะต้องเปิดให้บริการ 24 ชม.ทุกวัน และรับผิดชอบการบริหารพื้นที่, จ่ายค่าตอบแทนตามเงื่อนไขที่กำหนด ค่าปรับ กรณีทำตามสัญญาไม่ได้, บริหาร ดูแล บำรุงรักษา และบูรณะทรัพย์สิน และส่งมอบทรัพย์สินของโครงการทั้งหมดเมื่อหมดสัญญา
ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)
ทั้งนี้ กรมฯได้กำหนดให้มีระยะเวลาในการเปิดให้บริการพื้นที่ Rest Area 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่เร่งด่วนที่ 1 (หลังเริ่มงานก่อสร้าง 1 ปี) จะต้องมีทางเข้า-ออกโครงการ, ห้องน้ำต้องมี 1 จุด, ลานจอดรถในศรีราชาต้องมีแล้ว 40 คัน ส่วนบางละมุงต้องมี 25 จุด
ระยะเร่งด่วนที่ 2 (เดือนที่ 18 ของการก่อสร้าง) ห้องน้ำบนพื้นราบต้องเสร็จทั้งหมด, ทางเดินรถภายในและลานจอดรถทั้งหมดต้องเสร็จ และพื้นที่จำหน่ายสินค้าและบริการต้องมีแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง
และการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ (ปีที่ 2 ของโครงการ) ทุกงานต้องเสร็จ
@ไทม์ไลน์โครงการ
ส่วนไทม์ไลน์ของโครงการที่วางไว้ ทั้ง 2 พื้นที่จะเสนอไปพร้อมๆกัน แยกเป็นพื้นที่ละ 1 สัญญา หลังจากทำ Market Sounding แล้ว จะประกาศเชิญชวนและขายซอง TOR ในเดือน พ.ค. 2566 จากนั้นช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. 2566 จะเปิดให้เอกชนเตรียมข้อเสนอ Site Visit และรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ในเดือน ก.ย. 2566 จะเปิดให้ยื่นซองประมูล หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกจะใช้เวลาประเมินข้อเสนอ ร่างสัญญา และสรุปผลอีก 3-6 เดือน และลงนาในสัญญาได้ประมาณ พ.ค. 2567
หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูกันว่า พื้นที่พัฒนา 2 แห่ง มูลค่าเกือบ 1,800 ล้านบาท บิ๊กโปรเจกต์ กระทรวงคมนาคม ก่อนสิ้นยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
เอกชนรายใดจะเข้ามาลงทุนบ้าน อีกไม่นานคงได้รู้คำตอบกัน