"...ต้องรอดูกันว่าท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบการแบ่งเขตแบบใด ที่พรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเห็นพ้องด้วย และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่จะใช้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น..."
ภายหลังจากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ฉบับที่ 2) 2566 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง(ฉบับที่ 2) 2566
การนับหนึ่งเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็เริ่มต้นเป็นทางการ
โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ กกต.จะต้องดำเนินการแบ่งจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละจังหวัด
@ นายสำราญ ตันพานิช
ล่าสุด นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศเรื่องรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยหน้าที่และอำนาจตามประกาศ กกต. เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2566
จึงประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง รวม 5 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ
ทั้งนี้ พรรคการเมือง และประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 ก.พ.2566 ถึงวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.2566 ตามช่องทางต่าง ๆ ที่สะดวก ดังนี้
1.แสดงความคิดเห็นด้วยตนเองที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์หมายเลข 0 2141 8066 ระหว่างเวลา 8.30 น. - 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
2.แสดงความคิดเห็นทางโทรสารหมายเลข 0 2143 8530 ภายในเวลา 24.00 น. ของวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.2566
3.แสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร 120 หมู่ที่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10210 โดยถือตราประทับไปรษณีย์ต้นทางอย่างช้าภายในวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.2566 เป็นสำคัญ
4.แสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ Email: [email protected] ภายในเวลา 24.00 น. ของวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.2566
5.กรอบระยะเวลาในการแสดงความคิดเห็นภายใน 10 วันนับแต่วันปิดประกาศฉบับนี้
สำหรับรูปแบบการแบ่งเขต 5 รูปแบบ (ดูภาพประกอบ) หลักการคร่าว ๆ คือ เอาประชากร กทม.หารด้วยจำนวน ส.ส. แล้ว กกต.กทม.ต้องขีดเส้นแบ่งเขตให้จำนวนคนแต่ละเขตใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย
อย่างไรก็ดี การแบ่งเขตรูปแบบนี้ กำลังถูกติงว่า แบ่งแล้วจำนวนประชากรห่างจากค่าเฉลี่ยมาก เห็นได้จากความเห็นของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า กกต. กทม. โชว์แบ่งเขต 33 เขต ถึง 5 รูปแบบ มีข้อสังเกตอะไรบ้าง ซึ่งค่าเฉลี่ยราษฎรต่อเขตของ กทม. คือ 166,513 คน การแบ่งเขตที่ดีควรเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 โดย กกต.กทม.โชว์ผลงานแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เป็น 33 เขตแล้ว
เป็นการดำเนินการก่อนกำหนดที่ กกต.กลางระบุคือเริ่มประกาศพรุ่งนี้ ถือเป็นผลงานที่ทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่น เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ แต่มีออกมาถึง 5 รูปแบบ
แต่เมื่อพิจารณาดูเนื้อในของทั้ง 5 รูปแบบ พบว่า กกต. กทม.จะใช้การรวมพื้นที่ระดับเขตเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการฉีกบางแขวงออก ทำให้จำนวนความแตกต่างของราษฎรระหว่างเขต แตกต่างกันมหาศาล มีผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. หนึ่งคนคิดเป็นร้อยละ เกินกว่าที่จะรับได้
ตัวอย่างเช่น แบบที่ 1 เขต 11 สายไหม มีราษฎร 208,928 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.47 เขต 26 ทุ่งครุ มีราษฎร 123,761 คน ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.67 เท่ากับห่างกันถึง 85,167 คน
ส่วนแบบที่ 2 เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 22 สวนหลวง มีราษฎร 122,676 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.33 เท่ากับห่างกันถึง 86,444 คน
ขณะที่แบบที่ 3 เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 25.59 เขตที่ 10 หลักสี่ ดอนเมือง(เฉพาะแขวงสนามบิน) ราษฎร 122,411 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.49 เท่ากับห่างกันถึง 86,709 คน
แบบที่ 4 เขต 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 6 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกัน 89,689 คน
ส่วนแบบที่ 5 เขต 22 สวนหลวง ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) 217,818 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30.81 เขต 10 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกันถึง 98,387 คน
"สรุปทั้ง 5 แบบที่นำเสนอ มีราษฎรแตกต่างระหว่างเขตสูงสุด กับเขตน้อยสุด ตั้งแต่ 85,167 ถึง 98,387 คน จากค่าเฉลี่ยที่มี คือ 166,513 คน แบ่งแบบนี้จะไหวหรือครับ ฝากท่าน กกต.กลาง ที่มีความรู้ด้านสถิติดีช่วยแนะนำด้วยแก้ใหม่ยังทัน" นายสมชัยระบุ
@ รูปแบบการแบ่งเขต 5 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1
รูปแบบที่ 2
รูปแบบที่ 3
รูปแบบที่ 4
รูปแบบที่ 5
ดังนั้น คงต้องรอดูกันว่าท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบการแบ่งเขตแบบใด ที่พรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเห็นพ้องด้วย และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่จะใช้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่