"...หากนำงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งในปี 2566 และการเลือกตั้งในปี 2562 มาเทียบกัน จะเห็นได้ว่า ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมากถึง 1,724,375,930 บาท โดยส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง เหตุผลเป็นเพราะอะไรคงต้องรอคำชี้แจงจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง ..."
กำลังเป็นที่จับตามอง!
ถึงสัญญาณการเริ่มต้นยุบสภาฯ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่กำลังจะมาถึง
หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เสนอ ในวงเงินประมาณจำนวน 5,945,161,000 บาท
แบ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 5,104,546,750 บาท และรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 10 หน่วยงาน วงเงิน 840,614,250 บาท
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกระบุว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ปี 2562 กกต. ใช้งบประมาณไปประมาณ 4,200 ล้านบาท สาเหตุที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่าเดิม เนื่องจากเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจาก 350 เขตเลือกตั้งเป็น 400 เขตเลือกตั้ง และต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมทั้งจำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากหน่วยละ 5 คน เป็นหน่วยละ 9 คน เป็นต้น
น่าสนใจว่า การจัดงบเลือกตั้ง ครั้งใหม่ 5,945,161,000 บาท มากหรือน้อย กว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อนไปตรวจสอบข้อมูลการใช้งบในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด คือ การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 28 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน
พบว่าการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 มีการตั้งวงเงินในการจัดการเลือกตั้งประมาณ 4,220,785,070 บาท แบ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 3,534,873,980 บาท และรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 685,911,090 บาท
เมื่อดูไส้ในแยกย่อยในรายละเอียด ในส่วนรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง จำนวน 3,534,873,980 บาท ถูกนำไปใช้ใน 13 ภารกิจ ประกอบด้วย
ภารกิจจัดการเลือกตั้ง ส.ส. 1,814,353,400 บาท
ภารกิจตรวจสอบการปฏิบัติงานเลือกตั้งและการกระทำความผิดกฎหมายโดยผู้ตรวจการเลือกตั้ง 351,468,000 บาท
ภารกิจติดตามการเลือกตั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเลือกตั้งทั้งในและนอกราชอาณาจักร 38,126,100 บาท
ภารกิจเตรียมความพร้อมของบุคลากร วิทยากร และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง 99,041,070 บาท
ภารกิจสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง 515,783,900 บาท
ภารกิจส่งเสริมการมีส่วนร่วม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ 313,282,790 ล้านบาท
ภารกิจตรวจสอบการเลือกตั้งโดยองค์กรเอกชน 97,650,350 บาท
ภารกิจในการควบคุม สอดส่อง สืบสวนสอบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาด และดำเนินคดีในศาล 169,653,250 บาท
ภารกิจติดตามประเมินผลการจัดการเลือกตั้ง 5,464,500 บาท
ภารกิจอำนวยการสนับสนุนการเลือกตั้ง 41,320,000 บาท
ภารกิจสังเกตการณ์การเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศในราชอาณาจักร 2,785,000 บาท
ภารกิจรับรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง 10,679,620 บาท
ภารกิจจัดการเลือกตั้งกรณี กกต.สั่งให้เลือกตั้งใหม่ 75,266,000 บาท
ส่วนรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง จำนวน 685,911,090 บาท จะจ่ายอุดหนุนไปยังหน่วยสนับสนุนต่างๆ รวม 14 ภารกิจ ประกอบด้วย
ภารกิจลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิจ่ายให้สำนักบริหารการทะเบียน 146,821,090 บาท
ภารกิจเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการควบคุมการจัดการเลือกตั้ง จ่ายให้สำนักบริหารการปกครองท้องที่ 10,088,400 บาท
ภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย จ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 95,000,000 บาท
ภารกิจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ่ายให้ ศอ.บต. 2,500,000 บาท
ภารกิจรณรงค์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง จ่ายให้กระทรวงศึกษาธิการ 88,682,600 บาท
ภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จ่ายให้กระทรวงการต่างประเทศ 50,000,000 บาท
ภารกิจสนับสนุนศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งและสำนักงานเขต จ่ายให้ กทม. 30,000,000 บาท
ภารกิจประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสด บันทึกเทป ทำสปอต เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ 3 ช่อง 18,000,000 บาท
ภารกิจประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสด บันทึกเทป ทำสปอต เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยกรมประชาสัมพันธ์ 8,000,000 บาท
ภารกิจเฝ้าระวังไฟฟ้าในภูมิภาค 22,000,000 บาท
ภารกิจเฝ้าระวังไฟฟ้าในเขตนครหลวง 3,000,000 บาท
ภารกิจสื่อสารคมนาคม 51,024,000 บาท
ภารกิจขนส่งหีบบัตรเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง จ่ายให้บริษัทไปรษณีย์ไทย 160,000,000 บาท
ภารกิจปรับปรุงระบบรายงานผลคะแนน จ่ายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 800,000 บาท
ทั้งนี้ หากนำงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งในปี 2566 และการเลือกตั้งในปี 2562 มาเทียบกัน จะเห็นได้ว่า ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมากถึง 1,724,375,930 บาท
โดยส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง
เหตุผลเป็นเพราะอะไรคงต้องรอคำชี้แจงจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปตรวจสอบสถิติการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งย้อนหลังตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นเกือบทุกครั้งไล่ตั้งแต่ การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท, การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท, การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ใช้งบประมาณ 2,159 ล้านบาท, การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ใช้งบประมาณ 2,521 ล้านบาท, การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ใช้งบประมาณ 3,300 ล้านบาท, การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ใช้งบประมาณ 3,885 ล้านบาท
งบประมาณการเลือกตั้งครั้งใหม่ วงเงิน 5,945,161,000 บาท จึงนับว่าเป็นตัวเลขที่มากที่สุด
ส่วนวงเงินที่ตั้งไว้สูงดังกล่าว จะมีประสิทธิภาพคุ้มค่าในทางปฏิบัติหรือไม่
เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องคอยติดตามตรวจสอบกันต่อไป