“...คำแนะนำของประชาชนในประเทศ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเข้าไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด 2.กลุ่มเสี่ยง 608 จะต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม และ 3.หากมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ให้คัดกรองตนเองด้วย ATK กรณีติดเชื้อโควิดที่มีอาการน้อย สามารถกินยาฟ้าทะลายโจรและยาตามอาการ สังเกตอาการอยู่ที่บ้าน หากมีอาการป่วยปานกลางติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลได้...”
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกจะมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลากหลาย แต่ก็ไม่น่ากลัวเหมืนที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติเหมือนก่อนการระบาดแล้ว
สำหรับประเทศไทย ประกาศให้ ‘โควิด-19’ เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และปรับให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย แต่สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเริ่มชะลอตัวลง โดยยังจะพบการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อนเล็กๆ (Small Wave) แต่ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตและป่วยหนักไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนกระทบต่อระบบสาธารณสุข โดยกลุ่มที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด สูงสุดเป็น กลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มากถึงร้อยละ 95 ทั้งหมดเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน
มาตรการที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกจังหวัดฉีดวัคซีนรวมได้อย่างน้อย 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งในช่วงรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ฉีดไปแล้วกว่า 8 แสนโดส (ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565) และตั้งแต่เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนมา ได้ให้บริการฉีดวัคซีนสะสมกว่า 145 ล้านโดส
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการในช่วงนี้จึงยังต้องเร่งรัดเชิญชวนกลุ่ม 608 หรือผู้ที่รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3-4 เดือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามหลัก ‘4 เข็ม 4 เดือน’ คือรับให้ครบ 4 เข็ม หากเข็มล่าสุดห่างมาแล้ว 4 เดือนก็ให้มารับวัคซีน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่วนมาตรการป้องกันตนเองอย่างสวมหน้ากากยังมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการทางเดินหายใจหรือการอยู่ในที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด
นอกจากนี้ เรายังเฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามและดูแนวโน้มสถานการณ์ เช่น ในโรงพยาบาล ตลาด กลุ่มแรงงานต่างด้าว ชุมชนแออัด เป็นต้น ย้ำว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไล่ดูว่าติดเชื้อกี่คน ซึ่งไม่มีประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้
ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ สธ.จะออกประกาศแจ้งเตือน ดังนั้น หากยังไม่มีประกาศแจ้งเตือนอะไรก็ไม่ต้องวิตกกังวล
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่จะมีกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากนั้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำมาตรการ ได้แก่
-
การฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม โดยจะเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว
-
การรักษาได้ทันเวลา โดยผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมาแล้วเกิน 6 เดือน จะพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-Acting Antibody: LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงก่อนมีอาการป่วย
-
ผู้ที่ไปสถานที่เสี่ยง กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากในช่วง 5 วัน ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับนานเกิน 6 เดือน
-
กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมานานเกิน 6 เดือน ขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกับผู้อื่น หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย
-
สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาลและสถานที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปี 2566 จะพบการระบาดของโรคในลักษณะการระบาดตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับยารักษาและเตียงรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล (ข้อมูลวันที่ 25 ธันวาคม 2565) มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 1.53 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 17.62 ล้านเม็ด ส่วนอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 12.2% โดยเตียงระดับ 3 อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 40.5% ถือว่ายังมีเพียงพอรองรับสถานการณ์
3 ปัจจัยคาดการณ์โควิดปี 66
ส่วนการคาดการณ์โรคโควิด-19 ในปี 2566 นพ.โอภาสกล่าวว่า เราดูจาก 3 ปัจจัย คือ
-
เชื้อโรค
มองว่าคงกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่เป็นการกลายพันธุ์แบบย่อยๆ เล็กน้อย เราอยู่กับโอมิครอนมา 1 ปีแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนเป็นตัวอื่น อย่างไรก็ตาม เรามีการติดตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็จะประกาศให้ทราบ
-
คน
ขณะนี้คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิต การฉีดเข็มกระตุ้นจึงสำคัญ เพราะขณะนี้วัคซีนทุกยี่ห้อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้เหมือนกัน แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้ และภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเน้นกลุ่ม 608 คนที่มีโอกาสสัมผัสผู้คนจำนวนมาก บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า คนทำงานภาคบริการ และ
-
สิ่งแวดล้อม
ช่วงที่ระบาดใหม่ๆ แรกๆ เราควบคุมไม่ให้คนมาพบกัน ลดความเสี่ยงปิดการเดินทาง เมื่อคนมีภูมิคุ้มกันเยอะขึ้น ก็ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติเหมือนกันทั่วโลก แม้จะมีการกลายพันธุ์เยอะคนก็ไม่ค่อยกังวลมาก และระบบเรารองรับได้ ถ้ามียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์ดีขึ้น
“ดังนั้น การระบาดถ้าเทียบกับปีนี้คงไม่แตกต่างกันมาก คาดว่าเชื้อไม่น่าจะกลายพันธุ์ไปมากนัก ยังคงต้องเติมภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเสี่ยง ยังสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยใช้ชีวิตร่วมกับโควิด ส่วนคนที่ยังกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนขอยืนยันว่า เรามีการฉีดมาแล้ว 2 ปี ฉีดกันมากกว่าร้อยละ 80-90 แล้ว ก็ไม่มีอะไรผิดสังเกต” นพ.โอภาสกล่าว
ฉีดเลย! ไม่ต้องรอเจนใหม่ สธ.ย้ำวัคซีนมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สำคัญ แต่ก็มีประชาชนบางส่วนกังวลถึงประสิทธิภาพวัคซีน เนื่องจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 บางคนตั้งคำถามว่า “เราควรรอวัคซีนเจนใหม่หรือไม่?”
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ผลการศึกษาวิจัยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 ของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เมื่อนำวัคซีน mRNA รุ่นใหม่ (bivalent) มาฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีน mRNA รุ่นปัจจุบัน (monovalent) อย่างน้อย 2 เข็ม สามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณร้อยละ 28-56 และมีความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีน mRNA รุ่นปัจจุบัน รวมทั้งคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2565 แนะนำว่า สามารถใช้วัคซีน mRNA ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นทั้งรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบัน อยากเชิญชวนให้ทุกคนได้รับวัคซีน 4 เข็ม โดยนับจำนวนเข็มรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงบริบทของประเทศที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีและคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ กลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข้ารับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ (mRNA bivalent)
“เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และลดความรุนแรงของโรคได้ดีไม่ต่างจากวัคซีนรุ่นใหม่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการติดตามข้อมูลทางวิชาการโดยมีคณะกรรมการกลั่นกรอง และมีการออกคำแนะนำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นระยะๆ” นพ.โสภณ ระบุ
สธ.จ่อชงโชว์ผล 'วัคซีน-ประกัน-ATK' ทุกคนเข้าไทย
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากทางการจีน ยอมผ่อนคลายการมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) และการลดข้อจำกัดด้านการเดินทางเพื่อเตรียมตัวเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
ผู้คนหลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิดในจีนที่อาจจะกลับไปอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ยากอีกครั้ง รวมถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่จากนักท่องเที่ยวจีน บางประเทศมีการออกมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบในนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจีนโดยเฉพาะ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี อินเดีย ไต้หวัน
ส่วนการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยในช่วงต้น ม.ค.2566 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้เชิญ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา และตนเข้าร่วมเพื่อหารือถึงมาตรการรองรับ
ตามที่มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สธ. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย กต.รายงานว่า ก่อนการระบาดโควิด 19 ผู้เดินทางจากจีนเข้าไทยสูงถึงปีละ 10 ล้านคน แต่สถานการณ์โควิดทำให้มีการจำกัดการเดินทาง และล่าสุดเมื่อรัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไข คาดว่า ระยะแรกจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยแบบทยอยเข้ามาในแต่ละเดือน เพราะจะเป็นการเดินทางด้วยตนเอง ไม่ใช่ผ่านทัวร์ท่องเที่ยว จึงมีเวลาตั้งตัว
“ตัวเลขที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ตั้งแต่ ม.ค. - มี.ค.2566 คือ จำนวน 6 หมื่นคน 9 หมื่นคน และ 150,000 คน ตามลำดับ หรือประมาณ 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน” นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ประชากรในจีนได้รับวัคซีนโควิดในเปอร์เซนต์สูง คือ 2 เข็มแล้ว 90% และ 3 เข็ม 58% หากติดเชื้อมักจะป่วยไม่รุนแรง ขณะเดียวกันสายพันธุ์โควิดที่ระบาดในจีน ก็เคยพบในไทย เช่น สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 ที่เคยระบาดในไทยในช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิการยนที่ผ่านมา
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า ปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยเป็น BA.2.75 แล้ว สธ.จะได้นำข้อเสนอในที่ประชุมมาพิจารณาปรับเป็นแนวทางเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ด้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มาตรการที่ สธ.จะเสนอในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 5 ม.ค.2566 ประกอบด้วย
-
ผู้เดินทางเข้าไทยทุกคนจะต้องมีประวัติรับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยคนละ 2 เข็ม
-
ผู้เดินทางทุกสัญชาติที่มีต้นทางมาจากจีน จะต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด ส่วนคนไทยใช้สิทธิรักษาในประเทศได้จาก 3 กองทุน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
-
มีผลการตรวจโควิดอย่างน้อยด้วย ATK ผลเป็นลบก่อนเดินทางถึงไทย 48 ชั่วโมง
-
ขอความร่วมมือผู้เดินทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค DMH คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคจะปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและค้นหาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) ด้วยการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ในผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบินระหว่างประเทศ เฝ้าระวังการติดเชื้อในจังหวัดท่องเที่ยว สถานที่เสี่ยงและกลุ่มนักท่องเที่ยว
“คำแนะนำของประชาชนในประเทศ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเข้าไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด 2.กลุ่มเสี่ยง 608 จะต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม และ 3.หากมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ให้คัดกรองตนเองด้วย ATK กรณีติดเชื้อโควิดที่มีอาการน้อย สามารถกินยาฟ้าทะลายโจรและยาตามอาการ สังเกตอาการอยู่ที่บ้าน หากมีอาการป่วยปานกลางติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลได้” นพ.จักรรัฐกล่าว
ทั้งหมดนี้ ตือภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเรายังคงเน้นมาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือ รวมถึงรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แม้ว่าสถานการณ์ภาพรวมจะดีขึ้น แต่จะต้องติดตามต่อไปว่าไทยจะมีการรับมืออย่างไร ภายหลังจากที่จีนเปิดพรมแดน เพราะนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นั้นอาาจะมาพร้อมกับการระบาดที่ยากจะควบคุมอีกครั้งก็เป็นได้