"...ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ระบุด้วยว่า ไม่เห็นพ้องด้วยกับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยเห็นว่า การกระทําของผู้ฟ้องคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นการกระทําโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือเพื่อช่วยเหลือ ให้ผู้เสนอราคารายใดมีสิทธิเข้าทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกัน ผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่องค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะแต่อย่างใด..."
ทำไมศาลปกครองสูงสุด ถึงวินิจฉัยว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว
คือ คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบเป็นทางการ ต่อ กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ให้ นายทรงชัย นกขมิ้น พ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น หลังวินิจฉัยเห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว
หลังจากนายทรงชัย ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งปลดของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ก่อนที่ในวันที่ 18 พ.ค.65 ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีที่ให้นายทรงชัย พ้นจากตำแหน่งนายก อบต.ราชาเทวะ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่งผลให้นายทรงชัย กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.ราชาเทวะ ต่อไป
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น พร้อมขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น และระงับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินคดีนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการ ดังนี้
หนึ่ง.
ในคำพิพากษาคดีนี้ ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุอันสมควร ที่ศาลปกครองจะมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วน ตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกําหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีไม่ว่าจะมีคําร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอํานาจกําหนด มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคําสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและวรรคสอง บัญญัติว่า การกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้คํานึงถึง ความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 72 วรรคสาม กําหนดว่า ในกรณีที่ศาลเห็นว่า กฎหรือคําสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
- คําสั่งทุเลาต้องเข้าเงื่อนไข 3 ประการ
ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคําสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรค แก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ศาลมีอํานาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือ คําสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งเห็นได้ว่า การที่ศาลปกครองจะมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้สามประการประกอบกัน คือ
ประการแรก คําสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่สอง การให้คําสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทําให้เกิดความเสียหาย
อย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
และประการที่สาม การทุเลาการบังคับ ตามคําสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
ทั้งนี้ หากไม่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งที่กําหนดไว้ดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจมีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตาม คําสั่งทางปกครองตามคําขอของผู้ฟ้องคดีได้
สอง.
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบล ราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โดยในปี พ.ศ. 2555 องค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะได้จัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยกระเช้าหอน้ำ พร้อมบันไดจากบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จํากัด ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 4/2555 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555
ต่อมามีผู้ร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาดําเนินการ ซึ่งหลังจากทําการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ
- มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้รายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะตามที่คณะกรรมการกําหนดคุณลักษณะเฉพาะเสนอ เป็นผลให้การเสนอราคา จัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยกระเช้าหอน้ำพร้อมบันไดในครั้งนี้ ไม่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ราคาอย่างเป็นธรรม และมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้ค้าบางราย
โดยผู้ฟ้องคดีควรรู้ว่าการเสนอราคา มีการกระทําความผิด แต่ละเว้นไม่ดําเนินการให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา และเห็นชอบให้ดําเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จํากัด โดยลงนามทําสัญญาซื้อขาย กับบริษัทดังกล่าวและได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินไปตามสัญญา
เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะได้รับความเสียหาย
การกระทําของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 151 และมาตรา157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบมาตรา 192 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และมีมูลความผิดฐานจงใจทอดทิ้งหรือ ละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือ ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 90/1 แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ.2537แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีหนังสือสํานักงาน ป.ป.ช. ลับ ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 มีมติไม่ทบทวน และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีหนังสือจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ส่งเรื่องให้นายอําเภอบางพลีดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจ โดยให้ พิจารณาตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยใช้สํานวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นสํานวนการสอบสวน แล้วทําความเห็น และรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาและสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป
- นายอําเภอบางพลี รับลูกสั่งพ้นตำแหน่ง
ต่อมานายอําเภอบางพลี ได้มีหนังสืออําเภอบางพลี ลับ ด่วนที่สุด ที่ สป 0023.9/59 ลงวันที่ 7 เมษายน 2565 รายงาน
ผลการพิจารณา โดยเห็นพ้องตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่าควรมีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่ง
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้อาศัยอํานาจตาม มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ ในขณะผู้ฟ้องคดี ดํารงตําแหน่งดังกล่าว สมัยวาระ 2564-2568
- ทรงชัย ค้านคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคําสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้เพิกถอนคําสั่งดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อคําสั่งอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมมีสิทธิขอให้ศาลมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองดังกล่าว อันจะมีผลเป็นการชะลอหรือระงับการบังคับตามผลของคําสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหากศาลมีคําพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดีในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลปกครองจะมีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองดังกล่าวได้นั้น ย่อมต้องครบ เงื่อนไขทั้งสามประการตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้างต้น
สาม.
คดีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คําสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดี แล้วส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อให้ดําเนินการตามหน้าที่ และอํานาจต่อไป นั้น เป็นไปตามมาตรา 98วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติว่า สําหรับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทําความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจ แต่งตั้งถอดถอนเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป ซึ่งมิใช่กรณีการพิจารณาโทษทางวินัย โดยมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติว่า เมื่อผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น พิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ สอบสวนวินัยอีก
โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสํานวนการไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสํานวนการ สอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี แต่อย่างใด
ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 98วรรคหนึ่ง ดังกล่าว เห็นได้ว่า เป็ฺนบทบัญญัติที่บัญญัติยกเว้นไว้เฉพาะการพิจารณาโทษทางวินัยเท่านั้น ที่ให้ถือว่าสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสํานวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย หาได้บัญญัติให้รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นและรองผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย โดยให้ผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณา โทษตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก และให้ถือว่าสํานวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นสํานวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างในคําอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่
ดังนั้น เมื่อฐาน ความผิดของผู้ฟ้องคดีกรณีกระทําการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติชี้มูล และประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อให้ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป นั้น เป็นความผิด ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีมีกรณีถูกกล่าวหา ซึ่งมาตรา 90/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตําบลและ องค์การบริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับต่อมาในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับแจ้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บัญญัติว่า เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควร ต่อนายอําเภอว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล ประธานสภา องค์การบริหารส่วนตําบล หรือรองประธานองค์การบริหารส่วนตําบลผู้ใด จงใจทอดทิ้งหรือ ไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการ ไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคําสั่งของนายอําเภอ ที่สั่งการตามมาตรา 90 วรรคสาม ให้นายอําเภอดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลันและให้คณะกรรมการสอบสวนดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายอําเภอบางพลีจึงต้อง ดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทําการสอบสวนตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดีก่อนที่จะรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาและมีคําสั่งต่อไป
- กระบวนการนายอําเภอบางพลี ไม่เป็นไปตามขั้นตอน
ดังนั้น การที่ นายอําเภอบางพลีได้พิจารณาโทษของผู้ฟ้องคดีตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติโดยไม่ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทําการสอบสวนผู้ฟ้องคดีและใช้สํานวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นสํานวนการสอบสวน จึงไม่เป็นตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญในการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งตาม พระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดอันเป็นพฤติการณ์ การกระทําในวาระการดํารงตําแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555และผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากวาระการ ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไปแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมไม่มีอํานาจตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติ สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2546 ในการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะได้อีก และแม้ว่าคดีนี้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้กล่าวอ้างว่า คําสั่ง ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่พิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นทําการสอบสวนผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากวาระการดํารงตําแหน่งดังกล่าว ไปแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งได้ก็ตาม แต่โดยที่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหาร ส่วนตําบลราชาเทวะ ซึ่งเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องพิจารณารูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสําคัญ ตามที่กฎหมายบัญญัติในการออกคําสั่งทางปกครอง ตลอดจนเนื้อหาของคําสั่งทางปกครองว่าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจภายในขอบเขตแห่งเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อํานาจออกคําสั่งทางปกครอง หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลปกครองสูงสุด ย่อมมีอํานาจหยิบยกเรื่องอํานาจในการออกคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีขึ้นวินิจฉัย แล้วพิพากษา หรือมีคําสั่งได้ตามนัยข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 อีกทั้งตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ตามผลการไต่สวน และมติชี้มูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น
- ผู้ว่าฯ ค้านผลสอบ ป.ป.ช. ทรงชัย ไม่ได้ทำผิด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ระบุด้วยว่า ไม่เห็นพ้องด้วยกับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยเห็นว่า การกระทําของผู้ฟ้องคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นการกระทําโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือเพื่อช่วยเหลือ ให้ผู้เสนอราคารายใดมีสิทธิเข้าทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกัน ผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่องค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีข้อจํากัดด้านกฎหมายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติได้ จึงต้องมี คําสั่งดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทําความผิดตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติชี้มูลแต่อย่างใด
ดังนั้น คําสั่งพิพาท จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
สี่.
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การให้คําสั่งพิพาทดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปหรือไม่ จะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาท โดยกล่าวอ้างว่า หากต่อมา ศาลมีคําพิพากษาให้เพิกถอนคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจกลับเข้าดํารงตําแหน่งนายกองค์การ บริหารส่วนตําบลราชาเทวะได้อีก
โดยผู้ฟ้องคดีหาได้มีความประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นกรณีที่สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างในคําอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ และเมื่อการให้คําสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปย่อมส่งผลให้ ต้องมีการเลือกตั้งแทนตําแหน่งผู้ฟ้องคดี
แต่ผู้ฟ้องคดีถูกตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว ตามมาตรา 50 (25) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และเมื่อได้ดําเนินการให้มีการเลือกตั้งแทนตําแหน่งผู้ฟ้องคดีแล้ว แม้ต่อมาศาลจะได้ พิจารณาและมีคําพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี ผลแห่งคําพิพากษาดังกล่าวก็ไม่อาจทําให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลเทวะราชาได้ดังเดิม
การให้คําสั่งที่ พิพาทมีผลบังคับต่อไปจึงทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและยากแก่การเยียวยาในภายหลัง
ห้า.
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาประการสุดท้ายว่า การทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาทพิจารณา เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ หรือไม่
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ชี้แจงต่อศาลปกครองชั้นต้นว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตําบล ราชาเทวะและได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานราชการ จึงไม่ขัดข้องหากศาลจะมีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองที่พิพาท
ดังนั้น การทุเลา การบังคับตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน2565 ซึ่งมีผลให้ผู้ฟ้องคดีสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะต่อไปได้ จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
ประกอบกับคําสั่งพิพาทซึ่งเป็นคําสั่งทางปกครองนั้น นอกจากจะถูกเพิกถอนได้ด้วยเหตุดุลพินิจในการออกคําสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังอาจถูกเพิกถอนได้ด้วยเหตุที่การออกคําสั่งดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการ อันเป็นสาระสําคัญตามที่กฎหมายกําหนดไว้ได้ด้วย อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองถือเป็นมาตรการทางกฎหมายในการช่วยบรรเทาหรือยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แก่ผู้ฟ้องคดีที่หากแม้ต่อมาศาลปกครองจะมีคําพิพากษาว่าคําสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นการยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่ง ให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองดังกล่าว จึงเป็นเพียงวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเท่านั้น จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ทําให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารงานและวิกฤติศรัทธาต่อองค์กรซึ่งจะส่งผล กระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ให้มีประสิทธิภาพและอาจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลทั่วไป
อันเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างในคําอุทธรณ์
กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองจะมีคําสั่ง ทุเลาการบังคับตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน2565 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
คําสั่งของศาลปกครองชั้นต้นจึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 แล้ว
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้อํานวยการ การเลือกตั้งประจําองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีประกาศ เรื่อง งดการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยอ้างว่า ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งพิพาท ซึ่งทําให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย จากการชําระค่าธรรมเนียมการสมัครจํานวน 2,500 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง นั้น
ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมาย ของคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้นในกรณีนี้แต่อย่างใด
คําร้องอุทธรณ์คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ร้อง ฟังไม่ขึ้น
- ผู้ว่าฯ ยื่นคำร้องอุทธรณ์ทางไปรษณีย์เกินเวลา
ส่วนกรณีคําร้องอุทธรณ์คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 และได้ยื่นคําร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองชั้นต้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 73 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคําร้องอุทธรณ์ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้พิจารณาได้
ห้า.
สําหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคําสั่งระงับคําสั่ง ทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ นั้น
เห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า คําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดจะมี คําสั่งระงับคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้นตามคําขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น นั้น
ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
จึงมีคําสั่งยืนตามคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และให้ยกคําขอให้ระงับคําสั่งทุเลา การบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์
******************
**อนึ่งสำหรับ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในคดีนี้ คือ นายวันชัย คงเกษม ปัจจุบันถูกโยกย้ายให้ไปดำรงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีแล้ว