"...หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติยื่นฎีกาคำพิพากษา ก็จะต้องรอการพิจารณาในชั้นศาลฎีกาว่า ท้ายที่สุดแล้วบทสรุปของคดีระหว่างนายสุรพล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจบลงอย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และผลพ่วงจากเรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการทำหน้าที่ ของ กกต.สืบเนื่องต่อไปในอนาคต หรือไม่..."
สืบเนื่องจากกรณีศาลจังหวัดฮอด อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีแพ่งหมายเลขดำ พ.164/2562 (คดีแดง พ.23/2565) ระหว่าง นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 พรรคเพื่อไทย ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 1 กับพวกรวม 14 คน เป็นจำเลย
โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ลดค่าเสียหายจาก 70 ล้านบาท เหลือ 56.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
กรณีดังกล่าวทำให้สังคมตั้งคำถามในหลายประเด็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว(ใบส้ม) ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นคำวินิจฉัย กกต. พบว่า เรื่องดังกล่าวตั้งต้นมาจาก คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 31/2562 เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุรายละเอียดว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.2562 นั้น
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า นายสุรพล เกียรติไซยากร ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลข 8 พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) กล่าวคือ ผู้ถูกกล่าวหา ให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชนเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานการไต่สวนตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว เห็นว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีการจัดงานทำบุญทอตผ้าป่าสามัคคี ที่บ้านกู่ฮ้อ หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสมทบทุนจัดซื้อเครื่องแบบชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ช.ร.บ.) ณ หอประชุม บ้านกู่ฮ้อสามัคคี หลังพิธีการทางสงฆ์เสร็จสิ้น เวลาประมาณ 15.30 น. ผู้ถูกกล่าวหาได้ถวายเงิน จำนวน 2,000 บาท และนาฬิกาให้แก่พระสงฆ์
ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา (นายสุรพล) ยอมรับว่าในวันดังกล่าวได้ไปร่วมงานเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา และได้ถวายเงินจำนวน 2,000 บาท พร้อมนาฬิกาให้แก่พระสงฆ์ แต่เป็นการถวายให้แก่พระสงฆ์โดยตรงไม่เกี่ยวข้องกับกรทอดผ้าป่าสามัคคีแต่อย่างใด หลังจากนั้นพระสงฆ์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมอบแก่กองผ้าป่าเพื่อสมทบทุนในการจัดซื้อเครื่องแบบชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ช.ร.บ.) ของบ้านกู่ฮ้อสามัคคี และรับว่าภาพถ่ายที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนให้ดูนั้นเป็นภาพถ่ายขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาถวายซองปัจจัยให้แก่พระสงฆ์พร้อมนาฬิกาที่บรรจุอยู่ในกล่อง แต่ข้อความที่ ระบุว่า "ท่าน ส.ส. สุรพล 2,000 บาท” ตามที่ปรากฎบนซองในภาพถ่ายนั้นผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้เขียน
@ สุรพล เกียรติไชยากร
แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าได้ถวาย เงินและนาฬิกาแก่พระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์มีการนำไปสมทบเข้ากองผ้าป่าสามัคคีและตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทอดผ้าป่าสามัคคีก็ตาม แต่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าการถวายปัจจัยให้แก่พระสงฆ์ในงานทอดผ้าป่าสามัคคีที่มีประชาซนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 8 มาร่วมงาน ย่อมส่งผลต่อคะแนนนิยมของผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง และข้อความหน้าซองว่า "ท่าน ส.ส. สุรพล 2,000 บาท” ย่อมเป็นการสื่อให้ขาวบ้านเข้าใจได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้บริจาคเงินสมทบให้กับกองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน ประกอบกับตามที่ปรากฏภาพถ่ายของผู้ถูกกล่าวหาที่กำลังถือไมโครโฟนพูดภายในงาน โดยมีพยานยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาได้พูดฝากเนื้อฝากตัวและทักทายชาวบ้าน อันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) ตามข้อกล่าวหา อันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมีได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล เกียรติไขยากร ผู้ถูกกล่าวหา ไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี และให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของผู้ถูกกล่าวหา ยกเลิกการเลือกตั้ง
และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ใหม่ และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 วรรคหนึ่ง(2) ประกอบมาตรา 158 วรรคหนึ่ง
หลังจากนั้น คระกรรมการการเลือกตั้ง ได้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล แต่ปรากฏว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยกคำร้อง โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพูดของผู้คัดค้าน(นายสุรพล)ไม่ใช่การหาเสียง มีลักษณะเป็นการพูดขอฝากเนื้อฝากตัวอย่างไร จึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าผู้คัดค้านไปที่หอประชุมบ้านคู่ฮ้อสามัคคี โดยมีเจตนาเพื่อหาเสียงเป็นสำคัญ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านถวายเงินจำนวน 2,000 บาทแด่พระครู เพื่อเป็นการสื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านได้บริจาคเงินสมทบให้แก่กองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการให้เงิน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน อันจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) ตามคำร้อง
เมื่อฟังว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทำความผิดตามคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ตามคำร้อง พิพากษาให้ยกคำร้อง
ต่อมาภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิพากษายกคำร้องในคดีดังกล่าว นายสุรพล ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดฮอด ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. 164/2562 ดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดฮอด ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 64,144,683.77 บาท พร้อมดอกเบี้ย
และเมื่อ กกต.อุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์จึงมีพิพากษา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 แก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 56,792,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามระยะเวลาและจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด
@ อิทธิพร บุญประคอง
ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ได้รับทราบคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว และเคารพคำพิพากษา ส่วนในรายละเอียดหลักปฏิบัติในการทำงาน ทางสำนักงานกกต. จะไปศึกษารายละเอียด และคัดคำพิพากษา เพื่อศึกษาแนะนำมาแจ้งต่อที่ประชุมกกต.ทราบ ในสัปดาห์หน้า และอาจจะเสนอแนวทางการพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งการยื่นฎีกาคำพิพากษา ซึ่งคาดว่าจะมีมติที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด
หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติยื่นฎีกาคำพิพากษา ก็จะต้องรอการพิจารณาในชั้นศาลฎีกาว่า ท้ายที่สุดแล้วบทสรุปของคดีระหว่างนายสุรพล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจบลงอย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และผลพ่วงจากเรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการทำหน้าที่ ของ กกต.สืบเนื่องต่อไปในอนาคต หรือไม่
ต้องจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด