พอมาถึงที่กรุงเทพฯ พวกเขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลด้วยข้อหาว่าข้ามพรมแดนไปยังเมียนมาโดยผิดกฎหมาย และต้องถูกกักตัวอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน จนกว่าที่พวกเขาจะได้รับตั๋วเครื่องบินมุ่งตรงสู่กรุงไนโรบี ซึ่งตั๋วนี้ถูกจัดหามาให้ด้วยความพยายามขององค์กร HAART Kenya ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ในเคนยา
ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.israews.org) ได้นำเสนอรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ กลุ่มมิจฉาชีพที่ได้หลอกชาวต่างชาติหลายประเทศว่าจะมีงานพร้อมค่าตอบแทนสูงที่ประเทศไทย ก่อนที่ในเวลาต่อมา ขบวนการมิจฉาชีพจะพาตัวผู้ถูกหลอกเหล่านี้ไปทำงานฉ้อโกงในประเทศเมียนมา พร้อมด้วยการทรมานสารพัด ถ้าหากผู้ถูกหลอกไม่ยอมให้ความร่วมมือทำตามคำสั่งแต่โดยดี
โดยเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพนั้นมาจากหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย ไต้หวันเป็นต้
และล่าสุดก็มีรายงานข่าวของหญิงชาวเคนยาจำนวนสามคน ที่ถูกหลอกว่าจะได้รับอนาคตที่ดีกว่า กับงานในประเทศไทย
แต่แล้วในที่สุดพวกเธอทั้งสามก็ถูกหลอกไปคุมขังและถูกบังคับให้ทำงานฉ้อโกงในพื้นที่ของกลุ่มกบฎในประเทศเมียนมา
โดยเรื่องราวของพวกเธอนั้นมีดังต่อไปนี้
สิ่งที่นางดามาริส อาคูมุ หญิงสาวในวัย 29 ปี จากภูมิภาค Migori County ต้องการที่ที่สุดก็คือการที่เธอและลูกๆของเธอจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นเธอจึงไม่ลังเลเลยว่าจะใช้เงินเก็บที่มีเพื่อคว้าโอกาสที่ดีในชีวิต
“ฉันได้พยายามหางานทำ แต่ไม่มีใครติดต่อกลับมาเลย ดังนั้นฉันจึงจ่ายเงินให้กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ตัวเป็นนายหน้าคิดเป็นเงินกว่า 1.5แสนชิลลิงเคนยา (42,212 บาท) สำหรับค่าเดินทาง และฉันก็ต้องไปยืมเงินคนอื่นอีก 100,000 ชิลลิงฯ (28,142 บาท) เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินและใช้จ่ายส่วนตัว หลังจากยืมเงินได้ ฉันก็เดินทางออกจากเคนยาในวันที่ 4 ส.ค.” นางอาคุมุกล่าว
โดยนางอาคุมุได้เดินทางไปในวันเดียวกับนางมาร์ลีน นดูตา กิโต หญิงเคนยาวัย 26 ปี ซึ่งนางนดูตานั้นได้รับข้อเสนองานผ่านญาติคนหนึ่งในช่วงที่เธอไปงานศพผู้ใหญ่ในครอบครัวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
หญิงสาวชาวเคนยาผู้ที่ถูกหลอกให้ไปทำงานที่ประเทศไทย ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังเมียนมา ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของเธอ (อ้างอิงวิดีโอจาก Nation Africa)
ญาติของนางนดูตาได้บอกนางนดูตาว่าเธอมีโอกาสหางานทำที่ประเทศไทยได้ และนั่นทำให้นางนดูตาเริ่มคิดถึงอนาคตของเธอที่จะได้ทำงานในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว
“ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค. ญาติคนนี้ได้มาติดต่อฉัน ฉันก็เลยส่งเงินไปให้ 1.4 แสนชิลลิงฯ (39,367 บาท) สำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน แล้วก็ต้องไปยืมเงินจากย่าผสมกับใช้เงินเก็บอีกประมาณ 1.5 แสนชิลลิงฯ เพื่อจะเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและใช้จ่ายฉุกเฉิน” นางนดูตากล่าว
หลังจากนั้นนางอาคุมิและนางนดูตาก็ถูกเพิ่มเข้าไปในกลุ่มช่องผู้ใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ซึ่งกลุ่มนี้จะมีชาวเคนยาที่ถูกระบุว่าเป็นหัวหน้าทัวร์ทำหน้าที่เป็นแอดมินกลุ่ม และจะมีรายชื่อคนติดต่อเป็นคนจีนเอาไว้เพื่อติดต่อตอนที่อยู่ที่ประเทศไทย
“กฎก็คือว่า เราต้องส่งรูปว่าเราอยู่ที่ไหน ในทุกๆจุดหมายที่เราได้แวะ เพื่อที่ว่าเราจะได้รับคำแนะนำต่อไปว่าให้ไปไหนต่อ” นางนดูตากล่าว
“เมื่อเราไปถึงกรุงเทพ คนที่อยู่ในรายชื่อติดต่อก็พาเราไปที่โรงแรมใน อ.แม่สอด ซึ่งเราพักที่นั่นอยู่คืนหนึ่ง และเช้าวันต่อมา เราก็พบว่ามีรถกระทบสองคันรอที่จะพาเราไปยังออฟฟิศที่ทำงาน ซึ่งเขาบอกว่าเราจะได้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับที่นั่น”
ขณะที่นางลิเลียน มุนยาซี ก็เจอกับเหตุการณ์ที่คล้ายๆกัน โดยหญิงสาวเคนยาวัย 29 ปีคนนี้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกหัดสำหรับโรงเรียนมัธยม แต่ว่าเธอยังไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการครู
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เธอได้ยินว่ามีงานเกี่ยวกับการสอนและการต้อนรับใประเทศไทย เธอจึงคิดถึงโอกาสี่จะทำงานในต่างประเทศ
โดยหลังจากที่เธอจ่ายเงินค่าวีซ่าและค่าตั๋วเครื่องบิน เธอก็ถูกเพิ่มเข้าไปในกลุ่ม WhatsApp โดยมีชาวเคนยาและชาวไทยซึ่งเป็นแอดมินในกลุ่มเป็นผู้สัมภาษณ์งานเธอ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการส่งตั๋วเครื่องบินและรายละเอียดโรงแรมที่พักอาศัยมาให้
นางมุนยาซีจึงเดินทางออกจากเคนยาในวันที่ 8 ส.ค. และต่อมาเธอก็ถูกพาตัวขึ้นรถบรรทุกแบบสองห้องโดยสารซึ่งบนรถคันนั้นมีชาวเคนยาอยู่เต็มคันรถ เพื่อที่จะพาตัวไปยังสถานที่ทำงานของพวกเขา
“ในระหว่างการเดินทาง เราต้องผ่านสถานที่ที่มีลักษณะเหมือนกับไร่ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก่อนที่เราจะถูกพาขึ้นเรือล่องข้ามแม่น้ำ ซึ่งเมื่อข้ามมาแล้ว เราก็เจอกับกลุ่มชายติดอาวุธด้วยมีดดาบกำลังรอเราอยู่ ซึ่ง ณ จุดนั้นเห็นได้ชัดเลยว่ามีบางอย่างผิดปกติอย่างร้ายแรง” นางมุนยาซีกล่าว
โดยผู้หญิงทั้งสามคนนั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถูกพาตัวมาถึงบริเวณที่มีชายติดอาวุธในเครื่องแบบสีเขียว
“เมื่อฉันถามว่าออฟฟิศที่จะต้องทำงานอยู่ที่ไหน เขาบอกฉันว่าจะให้ดูสถานที่ทำงานในตอนเช้า” นางมุนยาซีกล่าว
พอถึงเช้าวันถัดมา กลุ่มชายติดอาวุธบอกว่างานของพวกหญิงสาวที่ถูกพาตัวมานั้นก็คือการต้องหลอกลวงผู้ชายจากประเทศอื่นๆ ด้วยการปลอมตัวเป็นคนอื่น
“เราได้รับคำสั่งให้ดาวน์โหลดภาพผู้หญิงสวยๆจากโซเชียลมีเดียและใช้บุคลิกของพวกเขาเพื่อหลอกล่อให้ผู้ชายที่ดูเหมือนว่าจะร่ำรวยให้มาพูดคุยใกล้ชดกับเรา” หญิงคนหนึ่งกล่าวและกล่าวต่อว่า
“จากนั้นพอเราได้พูดคุยแล้ว เราก็ต้องคุยต่อไปจนทำให้พวกเขาตกหลุมรักเรา หลังจากนั้นเราก็จะแชร์ข้อมูลติดต่อไปให้ พร้อมกับแนะนำให้เขารู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลหหรือคริปโตที่เข้ารหัส ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ฉันก็เลยส่งตำแหน่งของตัวเองที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอคอพิวเตอร์ไปให้กับน้องชายและยืนยันข้อมูลว่าฉันอยู่ที่ประเทศอื่น”
โดยสถานที่ซึ่งกักขังพวกเขานั้นพบว่ามีผู้หญิงอีกหลายคนที่ถูกหลอกพาตัวมายังเมียนมา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปทั้งสามคนก็ได้เป็นเพื่อนกันและพบกับชาวเคนยาคนอื่นๆที่ทำงาน ณ ที่เดียวกัน
“เราถูกกำหนดเป้าหมายเอาไว้ ว่าต้องทำให้ได้เท่าไร และถ้าหากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่พวกเขากำหนดได้ เราจะถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ถูกทำโทษต่างๆนาๆ หรือไม่ก็ถูกทุบตี” นางอาคุมุกล่าว
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ก็มีผู้หญิงที่ไปได้ยินเรื่องว่ามีคนงานบางคนหายตัวไปและอวัยวะของพวกเขาถูกนำไปขาย
“เรื่องที่เล่ากันโดยทั่วไปก็คือว่ากลุ่มกบฏเหล่านี้จะทำการเก็บอวัยวะเอาไว้และจะทิ้งศพลงแม่น้ำ” นางอาคุมุกล่าว
โดยสิ่งที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจว่าต้องหาทางกลับบ้านอย่างเร่งด่วนก็คือว่ามีชาวเคนยาคนหนึ่งที่ทำงานในศูนย์ฉ้อโกงนี้ล้มป่วยและเสียชีวิต
“การตายของหญิงสาวที่ชือว่าเกรซ เอ็นโจกิ มาตะ ทำให้เราต้องคิดหนัก คือเธอสามารถจะมีชีวิตรอดไปได้ ถ้าหากเธอได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ แต่ว่าเธอกลับถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลโดยนายจ้างที่หลอกจ้างเธอมา เมื่ออาการป่วยของเธอรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากที่เธอได้จากไป โดยตอนนี้ครอบครัวของเธอก็กำลังระดมทุนเพื่อจะนำเอาร่างของเธอกลับมาฝังยังบ้านเกิด” นางนดูตากล่าว
ข่าวการเสียชีวิตของเกรซ เอ็นโจกิ มาตะ
ในที่สุดในช่วงสิ้นเดือน ส.ค. ด้วยความช่วยเหลือขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถานทูตเคนยาในประเทศไทย นางอากูมู, นางนดูตา และนางมุนยาซี ก็สามารถหาทางหลบหนีออกจากเมียนมาได้เป็นผลสำเร็จ
“เมื่อวันที่ 30 ส.ค. กลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ได้นำแผ่นภาพมาแปะไว้ที่กำแพงของสถานที่ทำงาน และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเรา ซึ่งกลุ่มกบฏก็ได้หยิบภาพโปสเตอร์ขึ้นมาและถามว่าเราเป็นใครบ้าง และพวกเขาก็ปล่อยตัวเราให้กับทหารไทย ซึ่งได้พาเราไปยังกรุงเทพในเวลาต่อมา” นางอาคูมุกล่าว
“มีผู้หญิงบางคนที่กลับเกินกว่าจะออกไป พวกเขาคิดว่าพวกเขาจะต้องถูกฆ่า ดังนั้นจึงเลือกที่จะอยู่ต่อ บางคนก็เลือกที่จะอยู่ เพราะกลัวว่าจะต้องกลับไปไม่มีงานทำอีก”นางอาคุมุกล่าวต่อ
พอมาถึงที่กรุงเทพฯ พวกเขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลด้วยข้อหาว่าข้ามพรมแดนไปยังเมียนมาโดยผิดกฎหมาย และต้องถูกกักตัวอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน จนกว่าที่พวกเขาจะได้รับตั๋วเครื่องบินมุ่งตรงสู่กรุงไนโรบี ซึ่งตั๋วนี้ถูกจัดหามาให้ด้วยความพยายามขององค์กร HAART Kenya ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ในเคนยา
โดยในปัจจุบันนั้นนางมุนยาซีได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยคาคูมะ
“ฉันยังเสียใจอยู่ที่ได้ตอบตกลงรับข้อเสนองานนั้นไป ฉันต้องเสียเงินไปกว่า 2.5 แสนชิลลิงฯ (70,267 บาท) สำหรับค่าวีซ่า ค่าโรงแรม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และตอนนี้ฉันก็กำลังจ่ายเงินที่ยืมมาเหล่านี้” นางมุนยาซีกล่าว
“ฉันได้เริ่มช่อง Youtube ของตัวเองที่ชื่อว่า Lilly Munyasi Diary เพื่อจะลงเนื้อหาของตัวเองและเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงกลุ่มนายหน้าที่ไร้จิตสำนึกเหล่านี้ และฉันยังได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งความด้วย โดยในขณะนี้คดีกำลังอยู่ในชั้นศาล” นางมุนยาซีกล่าว
ขณะที่นางนดูตาและนางอาคูมุ ปัจจุบันพวกเธอก็กลับมาหาเลี้ยงชีพที่บ้านเกิดแล้ว และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างหางานทำอยู่ โดยระหว่างนี้พวกเธอก็ได้คอยเตือนไม่ให้คนอื่นหลงเชื่อประกาศหางานทำที่ประเทศไทย ซึ่งหลอกลวงให้ไปทำงานที่ไม่มีอยู่จริงอยู่เป็นระยะๆ
ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สถานทูตเคนยาประจำประเทศไทย,องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือ IOM และองค์กร HAART ประเทศเคนยาได้มีการช่วยเหลือเหยื่อชาวที่ถูกหลอกจำนวน 76 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวอูกันดาจำนวน 10 คน และชาวบุรุนดีหนึ่งคน
ทว่าสถานทูตได้ออกมายืนยันว่ามีบางคนนั้นปฏิเสธที่จะกลับมายังประเทศต้นทางของตัวเองส่งผลทำให้ชีวิตของพวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้น ในพื้นที่ซึ่งมีการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์โดยกลุ่มกบฏซึ่งติดอาวุธ
“ชาวเคนยากลุ่มนี้กำลังถูกค้ามนุษย์ในพื้นที่สงครามและในเขตอาชญากรรม ซึ่งนี่เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของเคนยาเป็นอย่างยิ่ง”แถลงการณ์ระบุ
เรียบเรียงจาก:https://nation.africa/kenya/news/i-paid-sh250-000-to-get-a-job-in-thailand-i-found-myself-working-for-myanmar-rebels-4044336