ผมคิดว่าพวกเขาเตรียมตัวได้ไม่ดี เพราะสิ่งที่เราเห็นจากในฮ่องกง นั่นน่าจะเป็นตัวอย่างของการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ได้ดีที่สุด และสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกงนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นในจีนได้ ซึ่งเมื่อมันเกิด มันก็จะส่งผลทำลายล้างได้พอสมควร
สถานการณ์การประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในประเทศจีน ณ เวลานี้กินเวลามาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ในมณฑลซินเจียงเป็นจำนวน 10 ราย โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสาเหตุของการเสียชีวิตดังกล่าวก็เนื่องจากว่า ผู้เสียชีวิตไม่สามารถจะหลบหนีออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ เนื่องจากติดนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ห้ามออกจากเคหสถาน
นี่จึงเป็นเหตุทำให้เกิดการประท้วงไปในหลายเมืองทั่วประเทศจีน จนเป็นเหตุทำให้ทางการจีนต้องมีการออกประกาศผ่อนปรนนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในหลายๆเมือง
แต่ก็มีความกังวลกันว่าการออกจากโควิดเป็นศูนย์นั้นถ้าหากออกอย่างไม่เป็นระเบียบ ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบทวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องของการออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประเทศจีน ซึ่งเคยถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักข่าว STAT ซึ่งเป็นสำนักข่าวว่าด้วยข้อมูลเชิงลึกของสหรัฐอเมริกามานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังเฝ้าจับตาการประท้วงที่ค่อนข้างจะหาได้ยากในประเทศจีน หลังจากที่ประชาชนในหลายเมืองได้ออกมาประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ทั่วประเทศ ผู้ที่ศึกษานโยบายโควิดเป็นศูนย์มาแล้วเป็นอย่างดีกลับให้ความเห็นว่าสิ่งที่กำลังรอคอยประเทศจีนอยู่เบื้องหน้านั้นอาจเป็นอันตรายมากว่าที่คิด
โดยนโยบายโควิดเป็นศูนย์เป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นสิ่งที่ช่วงทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตของประเทศจีนมีจำนวนที่น้อยมาโดยตลอด ทว่าการมาถึงของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูง ก็ทำให้นโยบายดังกล่าวดูเหมือนว่าจะล้มเหลว
ทว่าดูเหมือนว่าเหล่าบรรดาผู้นำจีนกลับไม่ได้ทำแผนการที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับการออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์เท่าไรนัก ซึ่งนี่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าประเทศจีนอาจจะกำลังเผชิญกับคลื่นสึนามิของผู้ป่วยโควิดในอนาคต อันจะทำให้จำนวนผู้ป่วยนั้นล้นระบบการดูแลสุขภาพของประเทศและทำให้ความพยายามควบคุมโรคของประเทศล่มสลายก็เป็นไปได้
“ผมคิดว่าพวกเขาเตรียมตัวได้ไม่ดี เพราะสิ่งที่เราเห็นจากในฮ่องกง นั่นน่าจะเป็นตัวอย่างของการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ได้ดีที่สุด และสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกงนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นในจีนได้ ซึ่งเมื่อมันเกิด มันก็จะส่งผลทำลายล้างได้พอสมควร” นพ.ฟรองซัวส์ บัลลักซ์ ผู้อํานวยการสถาบันพันธุกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว STAT
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ฮ่องกงเคยใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เพื่อคุมการระบาด และมีการใช้นโยบายทั้งการกักกัน การติดตาม และการทดสอบโรคอย่างเข้มงวดเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเป็นระยะเวลาสองปีกว่าที่นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของฮ่องกงนั้นสามารถป้องกันการเจ็บป่วยของประชากรได้ แต่เมื่อโอไมครอนมาถึงก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในฮ่องกงพุ่งขึ้นสูงมาก
ทางด้านของ นพ.เบน คาวลิ่ง นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่ารูปแบบที่ว่ามานี้ก็สามารถเกิดขึ้นในประเทศจีนได้เช่นกัน โดยถ้าหากไม่มีการหยุดยั้งเราอาจจะเห็นการติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนเป็นการระบาดในหลายๆเมือง ซึ่งนี่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกงมาแล้ว เมื่อประชากรกว่าครึ่งหนึ่งติดเชื้อภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน
ทั้งนี้ นพ.คาวลิ่งได้เคยกล่าวในรายการพอดแคสต์เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่มีผู้อภิปรายให้การสนับสนุนแนวคิดโควิดเป็นศูนย์ โดยผู้อภิปรายรายนั้นระบุว่าการที่จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดนับตั้งแต่เริ่มการระบาดอยู่ที 5,200 รายเท่านั้น อีกทั้งนโยบายดังกล่าวก็ทำให้จีนไม่ต้องมีผู้เสียชีวิตเท่ากับสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดไปแล้วอยู่ที่มากกว่า 1 ล้านราย
โดย นพ.คาวลิ่งกล่าวว่าต้องถามคำถามกลับไปว่าคุณจะยอมจ่ายเท่าไรสำหรับการที่มีโควิดเป็นศูนย์ เพราะราคาของการคงนโยบายนี้นั้นจะมีแต่พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วงหนึ่งปีก่อนหน้านั้นการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และเป็นกลยุทธ์ที่ดูคุ้มค่าสำหรับประเทศจีนเช่นเดียวกับที่เคยคุ้มค่าในประเทศสิงคโปร์ ทว่ามันก็เป็นการยากที่จะคงนโยบายที่ต่อไป และมันก็ต้องมีจุดหนึ่งที่คุณเริ่มคิดว่าค่าใช้จ่ายนั้นดูจะไม่คุ้มค่ากับการคงนโยบายอีกต่อไปแล้ว หรือไม่ก็คือคุณหมดเงินที่จะจ่ายสำหรับนโยบายนี้
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีหลายประเทศ เช่นออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ต่างก็เคยใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เช่นกัน ในช่วงต้นของการระบาด ซึ่งการใช้นโยบายที่ว่านี้ก็มีได้แก่การจำกัดการเข้าออกประเทศ การดำเนินการตรวจหาเชื้อเพื่อให้ได้ผลเป็นลบ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์นั้นเลือกที่จะใช้นโยบายนี้เพียงเพื่อซื้อเวลารอให้มีการพัฒนาและใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งเมื่อประชากรของประเทศเหล่านี้ได้รับการปกป้องเพียงพอแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะดำเนินการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การผ่อนปรนจากนโยบายการควบคุมเข้มข้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดป้องกันการติดเชื้อกำลังควบคุมสถานการณ์การประท้วงในเมืองกว่างโจว (อ้างอิงวิดีโอจาก The Guardian)
ทว่าสำหรับประเทศจีน ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้จะเชื่อว่าสามารถคุมโควิดต่อไปได้โดยไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นถึง 40,000 รายต่อวันในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งติดตามวิถีการระบาดของไวรัสในพื้นที่อื่นๆของโลกต่างแสดงความกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น
โดย พญ.แมเรียน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาและหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์การแพทย์ราสมุสในรอตเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าเธอกังวลว่าการประท้วงในประเทศจีนนั้นอาจทำให้โควิดแพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนมากขึ้นอีก ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจีนจะตอบสนองอย่างไร แต่นี่ก็อาจจะนำไปสู่คลื่นลูกที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากถ้าหากไม่สามารถควบคุมได้ออกต่อไป
พญ.คูปแมนส์กล่าวต่อไปว่าความกังวลที่เธอพูดถึงนั้นหมายถึงสถานะของภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรจีน ซึ่งที่ผ่านมานั้นจีนมีการพัฒนาวัคซีนเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยการพึ่งพาวัคซีนเชื้อตายเป็นหลักเพื่อให้เกิดการกระตุ้นของภูมิคุ้มกัน ซึ่งแม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะดูใช้งานได้ แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับวัคซีน mRNA ที่ประเทศตะวันตกได้ใช้งานเป็นหลัก
ทางด้านของ นพ.คาวลิ่งกล่าวว่าวัคซีนเชื้อตายจำนวนสามโดสที่ผลิตจากบริษัทซิโนแวคหรือว่าบริษัทซิโนฟาร์ม นั้นสามารถมอบภูมิคุ้มกันที่ดีในแง่ของการป้องกับการติดเชื้อรุนแรงหรือว่าการเสียชีวิตได้ แต่ว่าปัจจุบัน ยังคงมีประชากรจำนวนมากในจีนยังคงได้รับวัคซีนแค่สองโดสเท่านั้น ขณะที่ประชากรอีกประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศก็คาดว่าจะได้รับวัคซีนในโดสที่สามไปแล้ว
กรุงปักกิ่งออกมาตรการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อ 4 เดือนก่อน (อ้างอิงวิดีโอจากแชนนอลนิวส์ เอเชีย)
แต่ว่าเมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในประชากรผู้สูงอายุนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำอยู่ อีกทั้งประชากรจำนวนมากที่ได้รับวัคซีนในโดสที่สามนั้นก็ฉีดไปในช่วงระยะเวลานานกว่า 9 เดือน -1 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง นพ.บัลลักซ์กล่าวว่า รัฐบาลจีนควรจะดำเนินนโยบายผลักดันสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะกับประชากรผู้สูงอายุ
โดยความย้อนแย้งของเรื่องนี้ก็คือว่ายิ่งทางการจีนอ้างว่าต้องการจะปกป้องประชาชนจากโควิดเป็นเวลานานเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้พบว่าในหลายประเทศที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศเหล่านี้เริ่มที่จะไม่ตรวจหาเชื้อโควิดเป็นวงกว้างแล้ว นับตั้งแต่ที่ได้มีการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ประชากรเป็นจำนวนมากก็มีสิ่งที่เรียกกันว่าภูมิคุ้มกันแบบผสม ซึ่งก็คือการได้รับวัคซีนไปเป็นจำนวน 3-4 หรือบางทีก็ 5 โดส แล้วต่อมาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ไปเผชิญหน้ากันไวรัสโควิด-19 ทำให้ภูมิคุ้มกันนั้นมีขอบเขตความกว้างขึ้นไปอีก แต่ว่าในประเทศจีน ยังคงมีเพียงไม่กี่คนที่จะมีภูมิคุ้มกันแบบผสมด้วยการฉีดวัคซีนหลายโดสผนวกกับการติดเชื้อทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน
“มันก็ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง ซึ่งกรณีนี้จะไม่เหมือนกับตอนปี 2563 ที่เกิดเหตุระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก” นพ.คาวลิ่งกล่าวถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศจีนถ้าหากไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้และกล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ตาม ภาพที่เราจะเห็นต่อไปก็คือการติดเชื้อด้วยอาการ่ป่วยที่รุนแรงเป็นจำนวนหลายราย และสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือว่าประเทศจีนไม่มีระบบสุขภาพที่มีความเข้มแข็งพอจะจัดการ รับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเป็นจำนวนมหาศาลได้”
และก็มีการคาดกันว่าการที่ไวรัสโควิดได้หมุนเวียนการระบาดผ่านผู้คนจำนวนมาก จะส่งผลกระตุ้นทำให้เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสายพันธุ์ที่ว่านี้จะมีศักยภาพในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆอีก
พญ.คูปแมนส์กล่าวต่อไปว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าโลกเราอาจจะเข้าสู่บทใหม่ ในช่วงเวลาที่การแข่งขันกับไวรัสนั้นมีความผ่อนคลายลง แต่อย่างไรก็ตามการขาดภูมิคุ้มกันในวงกว้างในประเทศจีนนั้นอาจจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา เนื่องจากหนึ่งในตัวกระตุ้นวิวัฒนาการของไวรัสก็คือว่าต้องหาทางหลบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
“ข้อดีประการหนึ่ง ที่เราสามารถมองได้ก็คือว่าถ้าหากไม่มีกำแพงภูมิคุ้มกันที่สูง ดังนั้นก็อาจจะไม่มีความกดดันที่ไวรัสจะต้องวิวัฒนาการตัวเองก็เป็นไปได้ ซึ่งนี่ก็อาจจะได้ผลสำหรับไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆในอนาคต” พญ.คูปแมนส์กล่าว
ส่วน นพ.คาวลิ่งกล่าวว่าปัจจุบันมีไวรัสโควิด-19 ที่หมุนเวียนในที่อื่นๆ ซึ่งทำให้มีโอกาสทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่เช่นกัน
อนึ่งปัญหาเรื่องวิวัฒนาการของไวรัสนั้นไม่ใช่ภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว ถ้าหากนโยบายว่าด้วยโควิดเป็นศูนย์นั้นล้มเหลว หรือมีความล้มเหลวในเรื่องของการดำเนินกลยุทธ์เพื่อออกจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเหมาะสม เพราะปัญหาอีกประการหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือประเด็นเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญในช่วงวิกฤติโรคระบาด ถ้าหากจีนเจอกับคลื่นลูกใหญ่ของโควิด
ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งกำลังมีความท้าทายกับเรื่องอุปทานที่จะมาจากประเทศจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และปัญหาเรื่องโควิดดังกล่าวก็อาจทำให้วิกฤติอุปทานนั้นรุนแรงมากขึ้นไปอีก
โดย นพ.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและนโยบายโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยมินนิโซตาซึ่งมีโปรแกรมที่ผู้เชี่ยวชาญประสานงานกับ บริษัท ต่างๆเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อได้กล่าวว่าในปัจจุบันนั้นประเทศจีนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ไปทำเป็นยารายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งยาที่สำคัญต่างๆที่มีการใช้งานในสหรัฐอเมริกากว่า 150 ชนิดนั้น ก็มาจากวัตถุดิบหรือส่วนผสมทางเภสัชกรรมที่มาจากประเทศจีน
ดังนั้นเขาก็กังวลว่าจีนจะหาทางออกให้กับภาวะที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกของการจะออกจากโควิดเป็นศูนย์นี้อย่างไร ซึ่งสาเหตุของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกดังกล่าวก็อาจจะมาจากการที่ผู้นำจีนนั้นมีความสบายใจมากเกินไปจากการที่ประเทศจีนสามารถจะรับมือกับคลื่นการระบาดของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์เดลต้าได้ดีก่อนหน้านี้
“โควิดสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้าก็เหมือนกับการดับไฟป่าที่มีลักษณะรุนแรงมากกว่า ซึ่งมันเป็นการยาก แต่สามารถทำได้ แต่สำหรับสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว มันเป็นเหมือนกับว่าคุณพยายามจะหยุดสายลม ซึ่งคุณไม่สามารถทำได้ คุณสามารถทำได้แค่หลบเลี่ยงเท่านั้น” นพ.ออสเตอร์โฮล์มกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.statnews.com/2022/11/30/zero-covid-policy-china-no-exit-strategy/