"...‘สุนทร’ ได้รับความเคารพนับถือจากบรรดา ส.ส.ซุ้มปากน้ำเป็นอย่างมาก ด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิมีสูง ที่สำคัญทำงานการเมืองท้องถิ่นกับ ‘บ้านใหญ่’ มายาวนาน และเคยขึ้นมาช่วยงานเป็นเลขานุการ ‘เอ๋’ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ทายาทการเมือง ‘วัฒนา’ เมื่อครั้งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ กระทั่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด ‘สุนทร’ ขึ้นรองนายก อบจ. โดยมี ‘ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย’ อดีตภริยา ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ เป็นนายก อบจ...."
เข้าสู่โค้งสุดท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างเต็มตัว
พลันที่ ‘2 ป.’ เตรียมแยกกันสร้างดาวคนละดวง ‘ป.ป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปักหลักบ้านหลังเดิมบัญชาการเกมในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วน ‘ป.ประยุทธ์’ มีกระแสข่าวโยกย้ายไปล่มหัวจมท้ายกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่เซ็ตอัพทีมงานเตรียมไว้หมดแล้ว
แต่มีเรื่องเซอร์ไพรส์อยู่บ้าง เพราะเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่โปรดเกล้าฯตำแหน่งรัฐมนตรี 3 ราย ได้แก่ ธนกร วังบุญคงชนะ นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุนทร ปานแสงทอง นั่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนริศ ขำนุรักษ์ นั่ง รมช.มหาดไทย
การปรับรัฐมนตรีครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 โควตา ได้แก่
โควตา ‘ประยุทธ์’ คือ ‘แด๊ก ธนกร วังบุญคงชนะ’
โควตา ‘ประวิตร’ คือ สุนทร ปานแสงทอง
โควตาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ นริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย แทนที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ที่ขอลาออกไปต่อสู้คดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง 2 คัน 50 ล้านบาท
คอนเนกชั่น ที่มาที่ไปของทั้ง 3 คนเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้ทราบ ดังนี้
@ ธนกร วังบุญคงชนะ
เริ่มที่ ธนกร วังบุญคงชนะ หรือ ‘แด๊ก’ นักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ปีทอง’ ของเขาก็ว่าได้ เพราะได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.สมัยแรก ไม่ทันไร ก็ขยับขึ้นชั้นเป็น ‘เสนาบดี’ ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปีเดียวกัน
‘แด๊ก’ เริ่มต้นเข้าสู่วงการเมืองด้วยการล่มหัวจมท้ายกับ ‘กลุ่มมัชฌิมา’ นำโดย ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ โดยปี 2553 เคยนั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สาธารณสุข (เป็นผู้ช่วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข น้องสาว สมศักดิ์ เทพสุทิน) สมัยรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เมื่อปี 2553
บทบาทของ ‘แด๊ก’ เงียบหายไปเมื่อรัฐบาลผลัดใบเข้าสู่ยุค ‘นารีขี่ม้าขาว’ ก่อนจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยกลับมานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษารองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 (พีระศักดิ์ พอจิต) กระทั่งช่วงปี 2561 มีการฟอร์มทีมของ ‘กลุ่มสามมิตร’ นำโดย ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ก่อร่างสร้างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
‘แด๊ก’ ลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 27 พร้อมกับถูกดึงมาช่วยงานในโควตาของ ‘4 กุมาร’ นั่งเป็นเลขานุการ รมว.คลัง (อุตตม สาวนายน) เริ่มมีบทบาทผ่านสื่อ กระทั่ง ‘สมคิด+4 กุมาร’ ถูกพิษการเมืองภายในจนต้องลาออกจาก พปชร.ไป ‘แด๊ก’ ถูกดึงกลับมาอยู่ใน ‘กลุ่มมัชฌิมา’ อีกครั้ง โดยคราวนี้นั่งเก้าอี้เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย)
บทบาทของ ‘ธนกร’ ถูกผลักดันอย่างมากในช่วงเวลานี้ ก่อนจะขยับมานั่งเก้าอี้ ‘โทรโข่งรัฐบาล’ ในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2564 ฟาดฟันกับ ‘ศัตรูทางการเมือง’ ของ พปชร.อย่างแข็งขัน ในฐานะ ‘องค์รักษ์พิทักษ์นายกฯ’ อย่างเต็มตัว
สุดท้ายความฝันก็เป็นจริงเมื่อ ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค ไขก๊อก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พปชร. หลังจากขัดแย้งกันกับ ‘ผู้บริหาร’ ในพรรค ทำให้ ‘แด๊ก’ ถูกขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แทนช่วงกลางปี 2565 แม้บทบาทช่วงนี้จะพ้นหน้าที่โฆษกรัฐบาลไปแล้ว แต่ยังคงออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องนายกฯอย่างต่อเนื่อง
กระทั่ง ‘บุญหล่นทับ’ ชีวิตขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองเมื่อ 30 พ.ย. 2565 ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ เคียงข้าง ‘เสี่ยแฮงค์’ อนุชา นาคาศัย แกนนำ ‘กลุ่มสามมิตร’ รมต.ประจำสำนักนายกฯอีกคนหนึ่ง
ด้านชีวิตส่วนตัวของ ‘ธนกร’ มีกระแสข่าวว่ากำลังคบหากับ ‘ทายาท’ แห่งอาณาจักร ‘มาลีนนท์’
@ สุนทร ปานแสงทอง
ถัดมาโควตาของ ‘ประวิตร’ คือ ‘สุนทร ปานแสงทอง’ ว่ากันว่าเป็น ‘มือขวา’ ของตระกูล ‘อัศวเหม’ บ้านใหญ่ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ โดยเป็นมือไม้คอยทำงานต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัย ‘วัฒนา อัศวเหม’ เป็น ส.ส.และรัฐมนตรียุครัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’
‘สุนทร’ ได้รับความเคารพนับถือจากบรรดา ส.ส.ซุ้มปากน้ำเป็นอย่างมาก ด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิมีสูง ที่สำคัญทำงานการเมืองท้องถิ่นกับ ‘บ้านใหญ่’ มายาวนาน และเคยขึ้นมาช่วยงานเป็นเลขานุการ ‘เอ๋’ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ทายาทการเมือง ‘วัฒนา’ เมื่อครั้งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ กระทั่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด ‘สุนทร’ ขึ้นรองนายก อบจ. โดยมี ‘ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย’ อดีตภริยา ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ เป็นนายก อบจ.
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมาแล้วว่า ซุ้มปากน้ำหักกับ ‘อนุพงษ์ เผ่าจินดา’ รมว.มหาดไทย และ ‘เสี่ยเฮ้ง’ สุชาติ ชมกลิ่น ที่เข้ามายุ่มย่ามจัดตัว ส.ส.ในสมุทรปราการ ส่งผลให้ 7 ส.ส.บ้านใหญ่ปากน้ำ โหวตคว่ำทั้ง 2 รายมาแล้ว ก่อนที่ ‘ประวิตร’ เข้าไปเจรจาต่อรอง พร้อมกับการันตีให้โควตาเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ที่นั่ง สุดท้าย ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ เลือกส่ง ‘สุนทร’ เป็นตัวแทนปากน้ำไปเป็น ‘เสนาบดี’ ชุดนี้
มุมธุรกิจ ‘สุนทร’ เคยเป็นหุ้นส่วนใน หจก.กรรณกิจธุรกิจกฎหมาย ปัจจุบันถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่าร้าง เมื่อ 14 มี.ค. 2554 โดยวัตถุประสงค์การทำธุรกิจก่อนร้างคือ ประกอบกิจการค้ายางดิบ ยางแผ่น หรือยางชนิดอื่นอันผลิตขึ้นหรือได้มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางพารา
@ นริศ ขำนุรักษ์
สุดท้ายโควตา ‘ปชป.’ คือ ‘นริศ ขำนุรักษ์’ ส.ส.ลายคราม 5 สมัยแห่ง จ.พัทลุง ก่อนหน้านี้เคยขับเคี่ยวเบียดโควตารัฐมนตรีในพรรคมาแล้ว เมื่อครั้ง ‘ถาวร เสนเนียม’ พ้นเก้าอี้ รมช.คมนาคม จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทว่าคราวนั้นพ่ายแพ้แก่ ‘สีนิตย์ เลิศไกร’ ส.ส.สุราษฎร์ธานีรุ่นเก๋า ที่ได้รับการตอบแทน เนื่องจากเป็นจังหวัดเดียวที่ ปชป.กวาดได้ครบทุกเขต พร้อมกับมีการสลับเก้าอี้รัฐมนตรีกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรค ปชป.
ทว่า ‘นริศ’ ก็ฝันเป็นจริงเมื่อ ‘นิพนธ์’ ลาออก ทำให้ถูกผลักดันขึ้นเป็น ‘มท.3’ โดยพลัน ว่ากันว่าไม่ใช่แค่เรื่องวัยวุฒิหรือคุณวุฒิเท่านั้น แต่ ปชป.เห็นว่า ‘นริศ’ ตอบโจทย์การนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน และ ปภ. เพราะก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยนั่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดินฯ ในสภามาแล้ว
นอกจากนี้ ‘นริศ’ ยังถือเป็นอีกหนึ่งขุนพลภาคใต้ที่ ‘จุรินทร์ ลักษวิศิษฎ์-เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ 2 แกนนำ ‘ค่ายสีฟ้า’ ไว้วางใจ พร้อมวางเดิมพันอนาคตทางการเมืองไว้กับการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
ในมุมทรัพย์สิน ‘นริศ’ แจ้ง ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.พัทลุง เมื่อปี 2562 ระบุว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 15,120,911.11 บาท หนี้สินทั้งสิ้น 544,358.54 บาท
ทั้งหมดคือข้อมูล-คอนเนกชั่นของ 3 รัฐมนตรีป้ายแดง ที่คาดกันว่าจะเป็นรัฐมนตรี 3 คนสุดท้ายช่วงปลายรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างเป็นทางการ
สุดท้ายจะตอบโจทย์แก้ปัญหาทางการเมือง-เศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ตอนนี้หรือไม่
ต้องรอดูผลงานกันต่อไป