“...การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ประเทศร่ำรวยชดเชยให้กับประเทศที่ได้รับความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อชดเชยและเยียวยาผลจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ และสามารถช่วยเหลือได้จริงหรือไม่...”
ปิดฉากไปแล้ว สำหรับเวทีการประชุมสำคัญเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP27’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565
ถึงแม้กระแสจะเงียบกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในห้วงเวลา ณ ขณะนั้นพอดี และ COP27 ดูเหมือนว่าจะไม่มีหมัดฮุกที่สร้างแรงกระเพื่อมในด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเท่าไหร่หนัก
แต่การประชุมนี้ ก็ยังถือว่าเป็นเวทีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ที่น่าจับตา เพราะนั่นจะเป็นการปูทางไปสู่ข้อตกลงใหญ่ในการประชุมครั้งต่อไปอยู่ โดยการประชุมที่ผ่านมานี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์ และภาคประชาสังคม
สาระสำคัญในการประชุม COP27 มีรายละเอียด ดังนี้
-
เน้นย้ำถึงการทำตามคำสัญญารัฐภาคีให้ไว้เมื่อ COP26 ว่าต้องระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มกองทุนเพื่อการปรับตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2568 โดยที่ผ่านมาแนวทางนี้ ถูกต่อต้านจากประเทศร่ำรวยหลายประเทศ
การเกิดขึ้นของกองทุนนี้ เป็นผลมาฐานจากคิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงต่างเคยทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาในอดีต
-
เน้นย้ำเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (Glasgow Climate Pact) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นต้นตอของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาแต่ละปี แต่กระนั่น ก็ไม่ได้มีการเรียกร้องให้หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดตามคำเรียกร้องของประเทศอินเดียและสหภาพยุโรป
-
กลุ่มประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศคิริบาตี รวันดา มาลาวี กาบูเวร์ดี ซูรินามี บาร์เบโดส และปาเลา เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนสำหรับชดเชยจากความสูญเสียและเสียหาย ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสหประชาชาติ ในการเรียกร้องให้มีการสร้าง ‘ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นด้านสภาพอากาศ’ ฉบับใหม่ ซึ่งประเทศร่ำรวย จะต้องช่วยสนับสนุนประเทศยากจนด้านการเงิน เพราะสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าประเทศร่ำรวย แต่กลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก
-
เน้นย้ำถึงความพยายามในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2643
แต่จากข้อมูลที่สหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า จากทั้งหมด 193 ประเทศ ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุม COP26 มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้น ที่ได้ส่งแผนกลับไปยังสหประชาชาติแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการประชุม COP27 อื่น ๆ อีก เช่น
-
เปิดตัวรายงานฉบับแรกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐ หรือ ‘High-Level Expert Group on the Net-Zero Emissions Commitments of Non-State Entities’ ซึ่งเนื้อหาสาระได้โจมตีถึง ‘Greenwashing’ ที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนว่าบริษัทหรือหน่วยงานหนึ่งกำลังดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่
-
สหประชาชาติได้ประกาศ ‘แผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก’ มูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2566 ถึง 2570 หลังพบว่าประชากรในแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง รวมถึงผู้อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศมากถึง 15 เท่า
-
นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary-General) นำเสนอบัญชีรายการอิสระใหม่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดทำโดย Climate TRACE Coalition ซึ่งรวมข้อมูลดาวเทียมและปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโรงงานกว่า 70,000 แห่งทั่วโลก
-
ประธานาธิบดีอียิปต์ ได้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อเร่งการลดคาร์บอนจาก 5 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคพลังงาน การขนส่งทางถนน เหล็ก ไฮโดรเจน และการเกษตร
-
ผู้นำอียิปต์ประกาศเปิดตัวโครงการริเริ่มด้านอาหารและการเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Food and Agriculture for Sustainable Transformation initiative : FAST) เพื่อปรับปรุงปริมาณและคุณภาพของการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพอากาศเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรและอาหารภายในปี 2573
ไทยแถลงจุดยืน มุ่งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
ในส่วนของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ได้มีการลงนามเห็นชอบข้อตกลงด้านภูมิอากาศ ที่เรียกว่า ‘Glasgow Climate Pact’ ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา และได้ปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy, LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ
-
เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดจากเดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ.2568) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี
-
เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน จากเดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็นภายใน ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 15 ปี
-
เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จากเดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็นภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 35 ปี
สำหรับท่าทีของไทยในการประชุม COP27 รัฐบาลได้กำหนดกรอบ โดยหลักการการเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม คำนึงถึงขีดความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละภาคี การพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน การไม่เลือกปฏิบัติ และเน้นย้ำว่าประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลง ‘วิสัยทัศน์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา’ ในที่ประชุม COP 27 ว่า
ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608
รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 40% ภายในปี 2573 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน
ตลอดจนส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างจริงจัง และในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปีนี้ เชื่อว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำ APEC เพื่อช่วยบูรณาการความร่วมมือไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการของเสีย
“เราต้องเริ่มดำเนินการในทุกด้านเดี๋ยวนี้ มากกว่าแค่การพูด เพราะเราเป็นผู้กำหนดอนาคตของเราเอง "การร่วมมือร่วมใจ จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้” นายวราวุธ กล่าวเน้นย้ำ
จ่ายเงินรับผิดชอบความเสียหายจากการกระทำในอดีต ใช้ได้จริงหรือ?
ทางด้าน รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในกล่าวในงานเสวนา หัวข้อ ‘จากกลาสโกว์ถึงอียิปต์ นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก’ ว่า ในที่ประชุม COP27 ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่พูดคุยกันในวงกว้าง คือ การจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ประเทศร่ำรวย ต้องบริจาคเงินเข้ากองทุน ให้กับประเทศที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งกล่าวกันว่ามีต้นเหตุจากประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาวะโลกรวนจากอุตสาหกรรมในยุคแรก
เป็นคำถามว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ประเทศร่ำรวยชดเชยให้กับประเทศที่ได้รับความสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage) เพื่อชดเชยและเยียวยาผลจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ และสามารถช่วยเหลือได้จริงหรือไม่ เพราะนอกจากโลกร้อน ภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวนยังส่งผลถึงผู้คนในมิติอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรให้ทางออกนี้ไปพบเจอกันที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา
รศ.ดร.เสรี กล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ค่าชดเชยจึงกลายเป็นข้อเรียกร้องของประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็น กลุ่มประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกว่าครึ่งโลก นับตั้งแต่มีการปล่อยคาร์บอน
ประเทศร่ำรวยตามนิยามของสหประชาชาติ (the United Nations: UN) คือ 23 ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก ต้องร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอีกกว่า 150 ประเทศ ต้องร่วมกันรับผิดชอบคาร์บอนอีกครึ่งที่เหลือ
หากดูตัวเลขโดยประมาณจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2573 คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 290 – 580 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยสัญญาว่า จะมอบเงินปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว โดยทาง UN ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่า 1 ใน 5 ของเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเสียอีก
สำหรับประเด็น Loss and Damage นั้น ก็ยังมีข้อชวนตั้งคำถามอีกว่า หากบางเกาะ หรือบางประเทศไม่ได้ก่อมลพิษขึ้นมา จะสามารถเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเยียวยาอย่างไรได้บ้าง และในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้ มีหลายกองทุนอยู่แล้ว เช่น กองทุนเพื่อการปรับตัวสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่จะตั้งขึ้นมาใหม่อีกนั้นจะพิจารณาจากอะไร ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ ใครต้องจ่ายเพิ่มมากน้อยแค่ไหน
น.ส.วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand กล่าวว่า ความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นในเวที COP27 ปีนี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนใหม่ ที่ในการเจรจาครั้งนี้เห็นความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พยายามที่ทำลายระบบการจ่ายเงิน
หมายความว่า กองทุน Climate Finance ที่จะเกิดขึ้นในเวที COP27 ถูกดึงเวลาออกไป เหลือเป็นเพียงแค่การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการกำกับดูแลกองทุน ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้มีส่วนอย่างมากที่สุดต่อการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
“เงินในวันนี้จากประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่เงินบริจาค แต่คือการจ่ายหนี้ที่เกิดจากการก่อกิจกรรมในอดีตเพราะคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ซึ่งก่อเป็นภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งกับผู้หญิง สัตว์ การเกษตร ซึ่งเป็นมิติทางเศรษฐกิจที่ต้องการการลงมือที่จริงใจกว่านี้ หากต้องการจะแก้ไขและรับผิดชอบ” น.ส.วนัน ระบุ
ขณะที่ น.ส.นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ในด้านของการจัดการกองทุน ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็ได้มีการจัดทำกองทุนประเภทนี้มาแล้ว เช่น กองทุนสีเขียวโลก (Green Climate Fund) ซึ่งไทยได้ทุน 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเหนือ-กลาง และเมื่อพูดถึงในแง่ของกระบวนการเยียวยา ยังไม่สัมฤทธิ์ผลมากนัก ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมที่ปากีสถาน เงินในการเยียวยาซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Loss and Damage ก็ถือว่าคำนวณได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า ความพยายามเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังจากการประชุม COP27 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จที่ได้วางร่วมกันไว้ เพราะเรามีโลกที่เปรียบเสมือนกับบ้านหลังใหญ่นี้เพียงใบเดียวเท่านั้น