“...มูลค่าความเสียหายจากความรุนแรงของไทย อยู่ลำดับที่ 135 โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรงมูลค่า 88,331.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าความเสียหาย 52,692.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อคน คือ 761.6 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP)...”
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลายมิติและหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกาย เพศ จิตใจ และทางสังคม ทั้งในความรุนแรงที่ปรากฎเด่นชัดต่อสาธารณะ เช่น การฆ่าตัวตาย การก่ออาชญากรรมการปล้น ฆ่า การสังหารหมู่ การทะเลาะตีกันของวัยรุ่นที่พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้และซึมซับความรุนแรง
สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมเป็นอย่างมาก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว สิ่งแวดล้อม และการใช้สารกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ สารเสพติด
จากการจัดอันดับประเทศที่มีความสงบสุขของโลกในปี 2565 ดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) พบว่า ประเทศไทยฃอยู่ในลำดับที่ 103 จากจำนวน 163 ประเทศ และเป็นประเทศที่มีความรุนแรงในลำดับที่ 47 จากจำนวน 163 ประเทศ
สถิติการก่อการร้ายทั่วโลกในปี 2565 โดยดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index) พบว่า ไทยถูกจัดให้มีสถิติการก่อการร้ายอยู่ในลำดับที่ 22 ของโลก
ข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารสุข เปิดเผยว่า เมื่อปี 2561 พบว่าเด็กนักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน ปีละประมาณ 6 แสนคน หรือมีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึง 40%
นอกจากนี้ สังคมไทยยังประสบปัญหาการก่อความไม่สงบ ตลอดจนการฆ่าตัวตายที่พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 32 โดยมีอัตราการการฆ่าตัวตายต่อประชากรแสนคน คือ 14.4% สูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์
แต่ทั้งนี้ ยังมีความรุนแรงที่ไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็ก สตรี คนชรา และจากผลสำรวจอัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยเกิดขึ้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 เหตุการณ์ และความรุนแรงต่อผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น หากแต่เป็นตัวเลขมืด (dark figure) ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคม เนื่องจากผู้สูงอายุทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยถูกกระทำความรุนแรงจากบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว
และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ความรุนแรงในครอบครัว มีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และห้ามออกจากสถานที่อยู่อาศัย ในปี 2563 มีผู้ที่ต้องตกเป็นผู้ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวจำนวนกว่า 243 ล้านคนทั่วโลก และเด็ก 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ประสบกับการถูกใช้ความรุนแรง ส่วนประเทศไทย พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เนื่องจากความเครียด
ข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 - 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance : IS) ใน โรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี คิดเป็น 15% โดย วิธีการถูกทำร้ายมากที่สุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย คิดเป็น 60% และสถานที่ถูกทำร้ายเป็นบริเวณบ้าน คิดเป็น 63.4% ซึ่งเป็นบ้านผู้บ้านเจ็บเองกว่า คิดเป็น 79.7% และมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็น 11.3%
สำหรับความรุนแรงทางเพศ พบว่า ผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด คิดเป็น 31.4% สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้าน คิดเป็น 62% เป็นบ้านตนเอง คิดเป็น 45.8% และเป็นบ้านคู่กรณี คิดเป็น 23.7% ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 - 20.59 น. และมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็น 8%
โดยประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การถูกทำร้ายในเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบสาเหตุจากการถูกทำร้ายแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น 34.8% จากสาเหตุการถูกทำร้ายที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เฝ้าระวัง การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย คิดเป็น 32.9% และการถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม คิดเป็น 10.4%
ภาคีเครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา
GDP ไทยเสียหายถึง 4% จากเหตุความรุนแรง
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยในปี 2561 มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงมีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 14.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (trillion) โดยมีมูลค่า 11.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (world gross domestic product : GDP ) โดยมีมูลค่าความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงเท่ากับ 1,853 ดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยต่อคน
ในขณะที่มูลค่าความเสียหายจากความรุนแรงของไทย อยู่ลำดับที่ 135 โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรงมูลค่า 88,331.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าความเสียหาย 52,692.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อคน คือ 761.6 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP)
นอกจากนี้ ความรุนแรงยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมอีกด้วย เนื่องจากผู้ที่เสียชีวิตจากความรุนแรงทั่วโลกส่วนใหญ่มีอายุ ระหว่าง 15 – 29 ปี ซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของโลก รวมทั้งความรุนแรงยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
แก้ความรุนแรง ต้องเริ่มตั้งแต่รากความคิด-วัฒนธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือทิศทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ ‘การป้องกันและลดปัญหาของอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทย’ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ นำเสนอผลการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง และเพื่อร่วมหาแนวทางการป้องกันและลดปัญหาของอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
การแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม จำเป็นจะต้องอาศัยการแก้ที่รากเหง้าของความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมของสังคมที่มีต่อเด็ก สตรี และคนชรา และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยต้องมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม อันจะนำไปสู่แนวทางในการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงแนวทางการลดความรุนแรงในสังคมไทย
รวมถึงแนวทางการป้องกันอาชญากรรมและขัดเกลาเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานในการขจัดความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ในสังคมไทย รวมทั้งแนวทางในการป้องกันและช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงอย่างแท้จริง
ยาเสพติด ต้นเหตุหรือสารกระตุ้นความรุนแรง?
สำหรับปัญหายาเสพติด เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนคงสงสัยว่า ยาเสพติดเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมหรือไม่ และยังสงสัยว่ายาเสพติด คือ ต้นเหตุที่นำไปสู่การกระทำความผิดจริงหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า เป็นการยากที่จะระบุว่า ยาเสพติด คือ สาเหตุของการก่ออาชญากรรมอย่างแท้จริง เพราะเท็จจริงแล้วผู้ที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน แต่ที่แน่ชัดคือ ยาเสพติดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของอาชญากร กล่าวคือ ภายหลังจากติดยาเสพติดแล้วผู้ติดยามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่ยาเสพติดมีอำนาจครอบงำจิตใจของผู้เสพได้
เนื่องจากยาเสพติดมีสารเคมีที่เข้าทำลายระบบประสาท ทั้งความทรงจำ การควบคุมตัวเอง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดความหวาดระแวงว่าคนจะมาทำร้าย นอกจากนี้ ยาเสพติดยังได้ทำลายระบบการรับรู้ ความอดทนอดกลั้นต่อความละอาย และเกรงกลัวต่อการกระทำผิด จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้กระทำผิดหลายคนประกอบอาชญากรรม
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงที่โคราชถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู สร้างความตื่นตระหนกความสลดหดหู่ใจที่มาจากการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธร้ายแรงบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากผู้กระทำบ่มเพาะความรุนแรง ความคับข้องใจจนกลายเป็นความคับแค้นใจ และคลุ้มคลั่ง ฆ่าฟัน ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยอาวุธและยาเสพติด การขาดสติที่เกิดขึ้นได้ง่าย อาวุธร้ายแรงที่หาได้ไม่ ยาก เหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่า
ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องสร้างความตระหนักและร่วมหาแนวทางด้านส่งเสริมสังคมสันติสุข กิจกรรมที่เอื้อต่อครอบครัว สังคม การศึกษาที่ปรึกษาและสถานบำบัดทางจิตใจ มากกว่าที่มุ่งสนับสนุนให้ซื้อหาอาวุธได้ง่าย หรือปล่อยปละละเลย จนยาเสพติดสิ่งมึนเมา สถานเริงรมย์ กระจายอยู่ทั่วไป
จึงถึงเวลาแล้ว ที่สังคมไทยควรจะถอดบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้แล้วเพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด หากแต่เกิดขึ้นแล้วก็อาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะฉะนั้นจะต้องมีแนวทางป้องกันและมาตรการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น
ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาหลอนยาเสพติดก่อเหตุยิงนักเรียนเสียชีวิต 3 ศพ
UN วางแนวทางสร้างสังคมโลกไร้ความรุนแรง
โดยแนวทางการป้องกันและลดความรุนแรงตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย โปรแกรมที่ใช้ในลดความรุนแรงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs องค์การสหประชาชาติได้กำหนดวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The 2030 Agenda for Sustainable Development) โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี
สำหรับหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อการลดความรุนแรงของสังคม ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางไว้ คือ การบูรณาการระหว่างแนวทางด้านศาสนา ปรัชญา กฎหมาย และชุมชน
แนวทางที่สำคัญในการลดความรุนแรงในสังคม ประกอบด้วย 7 แนวทางหลัก ได้แก่
-
การพัฒนา สร้างความมั่นคง หรือ เสถียรภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่ หรือ ผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก
-
การพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตต่อเด็กและเยาวชน
-
การลดการใช้สุรา หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-
ลดการใช้อาวุธ ปืน มีด หรือ ยาฆ่าแมลง
-
การส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง
-
การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมต่อการใช้ความรุนแรง
-
การจัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือต่อเหยื่ออาชญากรรม 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The 2030 Agenda for Sustainable Development : SDGs)
แนวทางในการลดความรุนแรงของโลกให้ลดลง 50% ประกอบด้วย
-
การจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เป็นปัญหามากที่สุดเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางและต่ำ โดยการค้นหาเมืองที่มีการใช้ความรุนแรงมากที่สุด และการกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง
-
การหยุดวงจรที่ส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงซ้ำ : การเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการลดความรุนแรงในสังคม รวมทั้งการปรับแนวทางดังกล่าวให้เหมาะสม และการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโลก
-
การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการลดความรุนแรง : การพัฒนาขอบเขตของฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
-
การปกป้องกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดที่จะตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง : การให้ความสำคัญต่อเด็ก เยาวชน และสตรี
-
การมีส่วนร่วมของสถาบันต่าง ๆ ในการลดความรุนแรง : การพัฒนาความเป็นผู้นำการบริหารงาน และการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดความรุนแรง
-
การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดความรุนแรงให้แก่สังคม
คสช.ตั้งสมัชชาสุขภาพถกแก้ปัญหาความรุนแรง-ดันเข้าวาระเร่งด่วนแห่งชาติ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 6/2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน มีมติรับทราบแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่อง การป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงจากอาวุธปืนและอื่นๆ และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนเครือข่ายใช้กระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนานโยบายดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอที่ สช. และภาคีเครือข่าย ได้ประชุมปรึกษาหารือและมีข้อเสนอเบื้องต้นเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงของสังคมไทย ดังนี้
-
การกำหนดนโยบายวาระเร่งด่วนแห่งชาติ (National Policy Agenda) ในการลดความรุนแรงเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาความรุนแรงและทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยอย่างแท้จริง
-
การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสังคมไทย ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ได้แก่ สธ. พม. ก.ยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อนำฐานข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ
-
การกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีด้วยแนวทางการเคารพต่อความเท่าเทียมกัน (Respect Woman) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ WHO และ UN ได้เสนอกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว และกำหนดนโยบายในการควบคุมอาวุธปืนในสังคมไทยโดยเฉพาะอาวุธปืนที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง
-
การป้องกันการใช้ความรุนแรง (prevention) ได้แก่ กำรตัดวงจรความรุนแรงด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงหลักธรรมของศาสนาให้แก่เด็กปฐมวัยและประชาชน การร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในการลดความรุนแรง รวมทั้งกำรสร้างพื้นที่หรือเมืองต้นแบบไร้ความรุนแรง เป็นต้น
-
การคุ้มครอง (protection) ได้แก่ การจัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือต่อผู้ถูกใช้ความรุนแรง เพื่อตัดวัฏจักรของการผลิตซ้ำความรุนแรง หรือ การจัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือผู้ถูกใช้ความรุนแรงที่ต้องกลำยเป็นผู้กระทำผิดในกำรใช้ความรุนแรง เป็นต้น
-
การดำเนินคดี (prosecution) ควรมีการจำแนกระหว่างผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะใช้ความรุนแรงซ้ำด้วยการกำหนดบทลงโทษที่มีความรุนแรง และ การดำเนินคดีต่อผู้ใช้ความรุนแรงที่เหมาะสมให้มีโอกาสในการใช้ความรุนแรงให้ได้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันวงจรในการผลิตซ้ำ ในการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในครอบครัว รวมทั้ง การส่งเสริมยุติธรรมทางเลือก ยุติธรรมชุมชน เพื่อนำมาใช้จัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ในชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม เป็นต้น
-
การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) ด้วยการส่งเสริมเครือข่ายควบคุมการดื่มสุรา ยาเสพติดในการลดความรุนแรง การสร้างและส่งเสริมเครือข่ายควบคุมอาวุธปืนในสังคมและชุมชน เพื่อควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรง การส่งเสริมเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ในการลดความรุนแรงในสังคม ส่งเสริมให้เครือข่ายสื่อตระหนักต่อบทบาทของการนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงรวมทั้งแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม
โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
ซึ่ง ‘สมัชชาสุขภาพ’ จะเป็นกระบวนการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งสามารถดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรง เป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวมากและมีอยู่ทุกระดับสังคม เริ่มตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน จนไปถึงภาพใหญ่ เช่น การก่อการร้าย จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก และองค์การสหประชาชาติ รวมถึงทุกประเทศต่างได้ให้ความสำคัญและต้องการป้องกันแก้ไขเพื่อเป็นการสร้างความสงบสุขให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง
สำหรับแนวทางป้องกันและลดความรุนแรงนั้น สามารถเริ่มต้นได้ทันที ตั้งแต่ระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของตนเองและคนรอบข้าง เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง และถ้าทุกคนในสังคมร่วมมือกัน ก็จะนำโลกไปสู่สังคมไร้ความรุนแรงได้ในที่สุด