"...นโยบายของภาครัฐในการพัฒนาระบบราชการมุ่งไปสู่รัฐบาลดิจิทัล และนโยบายภาครัฐระบบเปิด ช่วยป้องกันการทุจริต และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในหน่วยงานราชการอย่างแน่นอน เพราะระบบดิจิทัลเมื่อถูกนำมาใช้งานบริหารราชการ หรือใช้บริการประชาชน จะตอบโจทย์ในการทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความโปร่งใส ภาระรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม..."
ปัญหาการทุจริต เป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งเป็นปัญหา ที่ทุกประเทศต้องการขจัดให้หมดไป แต่เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำได้เพียงแต่ป้องกัน และปราบปรามให้น้อยลงเท่านั้น
นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ ที่หน่วยงานรัฐของไทย จะมีแนวทางป้องกัน เฝ้าระวัง ปราบปรามและลดโอกาสเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างไร
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการทุจริต (หน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระด้านการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชน) ภายใต้โครงการพัฒนาการป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center) ผสานพลังเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ทุจริตอย่างรวดเร็ว (TaC Team for Corruption Monitoring and Rapid Appraisal)
โดยมีนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด และอภิปรายร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หัวข้อเรื่อง 'ผสานพลังเฝ้าระวัง ป้องปรามการทุจริตทั่วประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล' มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
นโยบายรัฐบาลดิจิทัล และภาครัฐระบบเปิด ช่วยป้องกันการทุจริต และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในหน่วยงานราชการ
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐในการพัฒนาระบบราชการมุ่งไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Goverment) และนโยบายภาครัฐระบบเปิด (Open Goverment) 2 หลักการนี้ ช่วยป้องกันการทุจริต และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในหน่วยงานราชการอย่างแน่นอน เพราะระบบดิจิทัลเมื่อถูกนำมาใช้งานบริหารราชการ หรือใช้บริการประชาชน จะตอบโจทย์ในการทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความโปร่งใส ภาระรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม เป็นต้น
นางอารีย์พันธ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เกิดสิ่งแรกที่ทำให้ระบบภาครัฐโปร่งใสขึ้น คือ ประชาชนสามารถเห็นขั้นตอนเวลาติดต่อราชการได้ว่า ใช้ระยะเวลากี่วัน ใช้ค่าธรรมเนียมเท่าไร มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไรบ้าง และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของภาครัฐไปอีกมากทีเดียว และช่วยส่งเสริมให้กระบวนการต่าง ๆ โปร่งใสอย่างแน่นอน เพราะในส่วนของตัวกฎหมายจะมีส่วนให้ประชาชนสามารถติดตามเรื่องราวหรือสถานะได้ เป็นต้น และล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงาน ก.พ.ร. มีการผลักดันนำเรื่องให้มีการปรับปรุงระยะเวลา และขั้นตอนในคู่มือประชาชนให้ลดลง 30-50% เข้าสู่ ครม.
นางอารีย์พันธ์ กล่าวย้ำอีกว่า นโยบายภาครัฐระบบเปิด (Open Goverment) จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มจากการ Open data เพราะทำให้หน่วยงานราชการเชื่อมโยงข้อมูลกัน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้
"หน่วยงานราชการจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยต้องให้ความสำคัญและตอบสนองต่อประชาชน ดังนั้นถ้าหน่วยงานราชการสามารถตอบสนองต่อความคิดเห็นของประชาชนได้ ในวันข้างหน้าต่อไป ประชาชนจะเป็นแรงช่วยในการสอดส่อง เฝ้าระวังในการป้องกันการทุจริต" นางอารีย์พันธ์ ระบุ
ระบบการปฎิบัติราชการที่ดี จำเป็นต้องตรวจสอบได้
นายธนพล โกมารกุล ณ นคร รองผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ระบบราชการต่อไปนี้ จะอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันทุจริต อยู่ในหลักการที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ เมื่อมีระบบการปฎิบัติราชการที่ดี จำเป็นต้องตรวจสอบได้ และการตรวจสอบที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามรัฐธรรมนูญ ยกให้องค์กรอิสระที่เรียกว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ ในกิจกรรมที่มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ ที่จะถูกนำไปสู่การพัฒนาประเทศ หรือจัดทำบริการสาธารณะ ถ้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเข้าไม่ถึงในการตรวจสอบการใช้จ่ายเหล่านั้น อาจส่งผลให้ประเทศไม่ได้รับการพัฒนา
นายธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีลักษณะให้การตรวจเงินแผ่นดิน เป็นการป้องกันการทุจริตมากขึ้น เห็นได้จาก อำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอแนะกับหน่วยงานของรัฐ ในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เช่น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อมีการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว เห็นว่า อาจจะมีความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น ก็ให้เสนอการยับยั้งแก้ไข ซึ่งจะต้องเสนอ แล้วให้พิจารณาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตที่เป็นพันธมิตรร่วมกัน จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันละกัน เช่น ในกรณีที่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่าการดำเนินการนั้น อำนาจและหน้าที่อยู่ในองค์กรอื่น ก็ต้องส่งเรื่องกลับไปให้องค์กรนั้น แต่ถ้าภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้องกัน จะต้องมาหารือร่วมกันแล้วว่่าในภารกิจดังกล่าว องค์กรใดควรรับผิดชอบ" นายธนพล ระบุ
การป้องกันและลดโอกาสเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในปัจจุบัน เรามีการเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการทุจริต กล่าวคือ ไม่ปล่อยให้เกิดการทุจริตและเกิดความเสียหายขึ้น โดยจะเข้าไประงับยับยั้งไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำความเสี่ยงต่อการทำทุจริต โดยให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาทำการทุจริต
ส่วนนายกฤษณ์ กระแสเวส ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทาง ป.ป.ท.ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานที่เน้นไปถึงการป้องกันและลดโอกาสเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต
นายกฤษณ์ กล่าวข้อเสนอแนะว่า การลดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินตลอด อีกทั้งยังเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรมีช่องทางศูนย์กลางในการรับเรื่องข้อมูลทุจริต ที่ปิดบังข้อมูลส่วนตัวของผู้ส่ง เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ส่งด้วย
ประเทศไทยเป็นแหล่งสวรรค์ของผู้กระทำความผิด จึงต้องมี พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปราม การฟอกเงิน
และนายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 ปปง. กล่าวว่า การฟอกเงิน อยู่ใกล้ตัวเรามาก สาเหตุุที่ประเทศไทยต้องตรา พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ขึ้นมา เนื่องจาก องค์กรระหว่างประเทศ เขากำหนดว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งสวรรค์ของผู้กระทำความผิด และนำทรัพย์สินมาซุกซ่อนไว้ ซึ่งทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เรียกได้ว่าเป็นการฟอกเงิน ดังนั้น การตรา พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปราม การฟอกเงินนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมไม่ให้ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดนั้น ๆ ไปต่อยอดในการกระทำความผิดอืน ๆ หรือใช้ทรัพย์สินเสวยสุข
"ในอดีตเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ออกจากคุกมาก็กลับมาใช้เงิน ดังนั้นกฎหมายการฟอกเงินจึงถูกตราขึ้นมาว่าทรัพย์สินใดบ้าง ที่ต้องถูกดำเนินการยึดหรืออายัด ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เป็นความผิดสำคัญ คือ ความผิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ" นายปิยะ ระบุ
นายปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการตรวจเส้นทางการเงิน ของ ปปง.ที่เกี่ยวกับการทุจริต องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะอุดช่องว่างต่าง ๆ เพราะ สิ่งสำคัญของการทุจริตคือต้องการผลประโยชน์ ในเมื่อเขาทำไปเพื่อผลประโยชน์ เราต้องทำไงให้เขาเห็นว่าความเสี่ยงที่เขาจะทุจริตมันส่งผลเสียมากมาย