"...นับตั้งแต่ปี 2561 - 2565 มีอดีตข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโดยมิชอบไปแล้ว จำนวน 5 ราย พฤติการณ์การกระทำความผิด มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรโดยมิชอบ /ทำหลักฐานเบิกจ่ายเงินย้อนหลังอันเป็นเท็จ 2. กรณีเบียดบังเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินค่าอาหารกลางวันไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง 3. ฮั้วกับเอกชนในการจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวัน 4. บทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี 4 เดือนขึ้นไป บางรายโดนโทษมากสุด 192 ปี 6 เดือน แต่ลงโทษได้จริง 50 ปี .. ไม่มีจำเลยรายใด ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุกแม้แต่รายเดียว ..."
นายธีรภัฏ เพิ่มไกรศรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองสะแก ตำบลหนองบัว อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
เป็นอดีตข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่รัฐรายล่าสุด ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโดยมิชอบ ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ
คดีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาในคดีกล่าวหา นายธีรภัฏ เพิ่มไกรศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองสะแก ตำบลหนองบัว อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากทางราชการ เงินบริจาค และเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ในปีงบประมาณ 2549 - 2556 โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151 และมาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาว่า นายธีรภัฏ จำเลยมีความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปรวม 3 กระทง การกระทำของจำเลยแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม มาตรา 147 ,151 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษ ตามมาตรา 147 เพียงบทเดียว
ลงโทษจำคุก กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข่าวคำพิพากษาศาลตัดสินลงโทษจำเลยในคดีเกี่ยวกับเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนไปแล้วหลายราย ดังนี้
รายแรก
นางสาวโรซียะห์ เบ็นดือราแม หรือหลานหมาด อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสุมุ ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ข้อกล่าวหา เป็นกรณีเบียดบังเงินทุนสนับสนุนการศึกษาเพื่อดำเนินการโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 ตาม พ.ร.ป. ปปช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561
โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 มีคำพิพากษาโทษให้จำคุก 5 ปี และคืนเงิน 200,000 บาท แก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุ
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 ศาลอุธรณ์ พิพากษาแก้โทษ ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลฎีกา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ นางสาวโรซียะห์ เบ็นดือราแม หรือหลานหมาด จำเลยฎีกาคดีนี้ ให้ยกคำร้องไม่รับฎีกา เนื่องจากเห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย เพราะไม่เป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา และไม่เป็นกรณีที่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เท่ากับ นางสาวโรซียะห์ ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
- คุก 5 ปี คืนเงิน 2 แสน! อดีตผอ.รร.บ้านโคกสุมุ นราธิวาส ทุจริตทุนโครงการอาหารกลางวันเด็ก
- พฤติการณ์ 'อดีตผอ.รร.บ้านโคกสุมุนราธิวาส' คดีทุจริตขอทุนอาหารกลางวันเด็ก - คุก 3 ปี 4ด.
- ไม่รับฎีกา! อดีตผอ.รร.บ้านโคกสุมุนราธิวาส ติดคุก 3 ปี 4ด. คดีทุจริตอาหารกลางวันเด็ก
รายสอง
นายอำนาจ นามแสง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดงมะกรูด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ข้อกล่าวหา เป็นกรณีเบียดบังเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินค่าอาหารกลางวันไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 161 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562
โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาว่า นายอำนาจ นามแสง จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147 , 161 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต จำคุก กระทงละ 5 ปี รวม 39 กระทง เป็นจำคุก 195 ปี
ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการปลอมเอกสาร จำคุก กระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 80 ปี 234 เดือน
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปี กับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 735,524.67 บาท แก่ โรงเรียนบ้านดงมะกรูด ผู้เสียหาย
รายสาม
นายจันทร์ วงค์คำมา อดีตปลัดเทศบาลตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ข้อกล่าวหา เป็นกรณีเสนอให้เงินแก่ผู้ซื้อเอกสารสอบราคาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันสำหรับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านโป่ง เพื่อมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาว่า นายจันทร์ วงค์คำมา มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการอนุมัติเกี่ยวข้องกับการเสนอราคา รู้หรือมีพฤติการณ์แจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคามีการกระทำความผิด ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 อีกหนึ่งบทด้วย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.90
ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญาเช่นกัน
รายสี่
นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
ข้อกล่าวหา กรณีทุจริตอาหารกลางวันเด็กอนุบาล ซึ่งมีการแชร์คลิปเด็กกินขนมจีนราดน้ำปลา เป็นอาหารกลางวัน ในช่วงปี 2562 พฤติการณ์การเบิกจ่ายเงินการสั่งการให้มีการทำหลักฐานเบิกจ่ายเงินย้อนหลังอันเป็นเท็จ
เมื่อวันที่ 7ก.ค.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษาว่า นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ จำเลยมีความผิดให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และการกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 77 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี
นายสมเชาว์ จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 192 ปี 6 เดือน
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
- ยืนยัน! ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ผอ.ขนมจีนน้ำปลา 192 ปี แต่ติดจริง 50
- เปิดคำพิพากษา 'ผอ.ขนมจีนน้ำปลา' ติดคุกจริง 50 ปี พฤติการณ์ร้ายแรง-ศาลไม่ปราณี
จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. นับตั้งแต่ปี 2561 - 2565 มีอดีตข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนโดยมิชอบไปแล้ว จำนวน 5 ราย
2. พฤติการณ์การกระทำความผิด มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรโดยมิชอบ /ทำหลักฐานเบิกจ่ายเงินย้อนหลังอันเป็นเท็จ 2. กรณีเบียดบังเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินค่าอาหารกลางวันไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง 3. ฮั้วกับเอกชนในการจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวัน
3. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151 ,157 , 161 , 162 (1) (4) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 (กรณี ฮั้วกับเอกชนในการจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวัน)
4. บทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี 4 เดือนขึ้นไป บางรายโดนโทษมากสุด 192 ปี 6 เดือน แต่ลงโทษได้จริง 50 ปี
5. ไม่มีจำเลยรายใด ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุกแม้แต่รายเดียว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียน ของจำเลยทั้ง 5 รายนี้ ปัจจุบันมี นางสาวโรซียะห์ เบ็นดือราแม หรือหลานหมาด อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสุมุ ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพียงคนเดียวที่ผ่านกระบวนการตัดสินในชั้นศาลฎีกาแล้ว
ส่วนจำเลยอีก 4 ราย คือ นายธีรภัฏ เพิ่มไกรศรี , นายจันทร์ วงค์คำมา, นายอำนาจ นามแสง และนายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ คดียังไม่สิ้นสุดมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีเบิกจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็กถึงประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) ของสถานศึกษาในทุกสังกัด จำนวน 51,637 โรงเรียน จากปัจจุบันได้รับในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น โดยการจัดอาหารให้กับนักเรียนในแต่ละมื้อ ต้องคำนึงถึงคุณภาพตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ที่นักเรียนควรได้รับ และในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เด็ก ๆ นักเรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิสภาพ
แต่น่าสังเกตว่าข้อมูลการแถลงข่าวดังกล่าว มิได้ระบุถึงแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้แต่อย่างใด?
ปัญหาการทุจริตอาหารกลางวันของนักเรียน ภายใต้การอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารใหม่ ที่ใช้วงเงินงบประมาณสูงกว่า 3.5 พันล้าน จะยังคงมีให้เห็นต่อไปหรือไม่?
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญ ที่คนในสังคมไทยต้องช่วยกันติดตาม-จับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด