"..ในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้นเคยไม่เข้าร่วมการประชุมเอเปกในปี 2556 และส่งนายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นมาแทน ทว่าในภายหลังนายโอบามาออกมายอมรับว่า “การที่ผมไม่ไปประชุมเอเปกนั้นถือเป็นการไม่สมควร เพราะการทำเช่นนั้นเปรียบเสมือนว่าผมไม่ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้สำหรับตัวผมเอง” ..."
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาจะไม่เข้าร่วมการประชุม แต่จะส่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสเข้าร่วมประชุมเอเปกแทน
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักข่าว Diplomat ซึ่งเป็นสำนักข่าวจากสหรัฐอเมริกาที่เขียนบทความเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้จัดทำบทวิเคราะห์ว่าการที่ประธานาธิบดีไบเดน ไม่เข้าร่วมประชุมนั้น ผลเสียจะตกอยู่กับสหรัฐฯ และต่อตัวประธานาธิบดีเสียเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หลักนิยมสำหรับการต่อสู้ทางการทูตของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นก็คือ ความสำเร็จประมาณร้อยละ 80 ของในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นได้จากการ "แสดงตัว" ของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปีที่ผู้นำอาเซียนเป็นเจ้าภาม อันจะส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ทำเนียบขาวเลิกใช้หลักนิยมดั้งเดิมนี้โดยประกาศว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะไม่เข้าร่วมหนึ่งในสามการประชุมสำคัญที่จะจัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปก ที่กรุงเทพมหานคร
ในขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนจะยังคงเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีเพื่อพบกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาคทั้งในการประชุมสุดยอดอาเซียนและ G-20 ในกัมพูชาและอินโดนีเซีย ส่วนรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมเอเปกแทน
ทว่านั่นคือความผิดพลาด
จากข้อมูลของทำเนียบขาว เหตุผลที่ประธานาธิบดีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปกก็เพื่อที่เขาจะได้เข้าร่วมงานแต่งงานของหลานสาว ซึ่งเป็นเหตุผลดังกล่าวนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปีนี้มีความรู้สึกว่าตัวเองถูกเย้ยหยัน ทั้งๆที่เป็นหนึ่งในสองประเทศที่มีข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ของสหรัฐฯได้รับมอบหมายให้อธิบายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงของประเทศไทยคนอื่นๆ ว่าทำไมประธานาธิบดีไบเดนถึงไม่สามารถมาร่วมประชุมเอเปกได้
โดยนายโกเดคและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯคนอื่นนั้นถูกถามคำถามยากๆและต้องอธิบายเหตุผลกับทางประเทศไทยว่าการที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่มาร่วมประชุมนั้นหมายความว่าอย่างไร ต่อประเด็นเรื่องความมุ่งมั่นทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯมีต่อไทยและต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ในทางกลับกัน ผู้นำโลกจากประเทศอื่นๆ อาทิ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากจีน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะจากญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส จากออสเตรเลีย ต่างก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับประมุขแห่งรัฐในการที่จะต้องนำคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคประจำปี ซึ่งนี่ก็ทำให้ภาพของการที่ประธานาธิบดีไบเดนเลี่ยงจากการประชุมนั้นดูจะเป็นปัญหามากขึ้น เพราะ ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนยันข้อมูลแล้วว่ามี 18 ผู้นำระดับสูงของประเทศสมาชิกเอเปก จากทั้งหมด 21 ประเทศสมาชิก ที่จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ (อ่านรายละเอียดได้ที่ท้ายบทความ)
ทั้งนี้แม้ว่าการประชุมเอเปกจะไม่ใช่การประชุมที่เน้นอาเซียนเป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว ทว่าการที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่อยู่ แต่ประธานาธิบดีสีกลับอยู่ในที่ประชุม นี่จะกลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นการตอกย้ำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้รับรู้ว่าสหรัฐฯได้ลดระดับการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคน้อยลงไปกว่าแต่ก่อน
โดยเมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ ได้เผยผลสำรวจประจำปีชื่อว่า State of Southeast Asia ซึ่งในผลสำรวจระบุว่าประมาณ 76.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นเชื่อว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอาเซียน และในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างอาเซียน-จีนเติบโตขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปีต่อปี และปริมาณการค้าทวิภาคีโดยรวมมีมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สิ่งที่น่าฉงนยิ่งกว่าเกี่ยวกับการขาดประชุมของประธานาธิบดีไบเดน ก็คือว่าในเดือน ต.ค. 2566 สหรัฐฯมีกำหนดการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯได้เป็นเจ้าภาพนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงหนึ่งวันก่อนที่ทำเนียบขาวจะประกาศว่าประธานาธิบดีไบเดนจะไม่มาประชุมเอเปกในปีนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้มีการประกาศแผนงานการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปี 2566 แล้ว โดยจะให้เมืองดีทรอยต์,ปาล์มสปริงส์,โฮโนลูลู และซีแอตเทิลเป็นสถานที่จัดการประชุมระดับสูงของฟอรัมระดับสูงในปีหน้า
สหรัฐฯแสดงความมุ่งมั่นว่าจะจัดเอเปกที่เมืองซีแอตเทิลในปี 2566 (อ้างอิงวิดีโอจาก Gov. Jay Inslee)
โดยการตัดสินใจของสหรัฐฯที่จะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกในปี 2566 นั้นเป็นไปตามคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีไบเดน เพื่อให้มีส่วนร่วมทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคในอินโดแปซิฟิกได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากจีนนั้นกำลังแผ่อิทธิพลางเศรษฐกิจด้วยอัตราเติบโตขึ้นจนน่าตกใจ
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ไม่นานนี้ว่าการที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่เข้าร่วมเอเปกนั้นจะตอกย้ำว่าสหรัฐฯทำตัวยุ่งเกินไป และห่างไกลเกินไปกับการจะมีส่วนร่วมร่วมกับประเทศไทยและกับภูมิภาคนี้เป็นวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือว่าทางอื่นๆ
โดยนับตั้งแต่ที่ดำรงตำแหน่งเป็นต้นมา ประธานาธิบดีไบเดนเคยมาเยือนภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแค่ประมาณสามถึงสี่ครั้งเท่านั้น ได้แก่การเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เมื่อเดือน พ.ค. 2565 และการเยือนกัมพูชาและอินโดนีเซียในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประชุมกลุ่มประเทศ G 20
แต่ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีไบเดนได้เคยไปเยือนยุโรปถึงห้าครั้งด้วยกัน คิดเป็นประเทศทั้งหมดเก้าประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการไปเยือนสหราชอาณาจักรถึงห้าครั้ง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่เข้าใจได้ก็คือการจัดลำดับความสำคัญให้กับประเด็นสงครามรัสเซียและยูเครน จึงทำให้ต้องมุ่งเน้นความสำคัญกับยุโรปเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงก่อนสงครามจะปะทุขึ้น ก็พบว่าประธานาธิบดีไบเดนเลือกที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลมาร่วมการประชุมต่างๆในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แทนที่จะมาร่วมประชุมแบบตัวต่อตัว
อาทิ ในปี 2564 ทำเนียบขาวส่งรองประธานาธิบดีแฮร์ริสไปยังประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม ส่ง พล.อ.ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไปยังประเทศฟิลิปปินส์,สิงคโปร์และเวียดนาม และส่งนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯไปยังประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย
และล่าสุดย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้เชิญเหล่าบรรดาผู้นำอาเซียนไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี เพราะร่วมการประชุมพิเศษระหว่าง สหรัฐฯ-อาเซียน ซึ่งการเชิญดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผู้นำอาเซียนในบางประเทศที่ได้ไปเยือนทำเนียบขาว
แต่ไม่ว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายอย่างไร จะเชิญใครไปหา หรือว่าส่งใครไปร่วมประชุมก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็คงจะเทียบไม่ได้เลยกับการที่ผู้นำสหรัฐฯจะมาปรากฎตัวในการประชุมระดับพหุภาคีด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าการปรากฏตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นก็คงจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนในอาเซียน
โดยในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้นเคยไม่เข้าร่วมการประชุมเอเปกในปี 2556 และส่งนายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นมาแทน ทว่าในภายหลังนายโอบามาออกมายอมรับว่า “การที่ผมไม่ไปประชุมเอเปกนั้นถือเป็นการไม่สมควร เพราะการทำเช่นนั้นเปรียบเสมือนว่าผมไม่ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้สำหรับตัวผมเอง”
ข่าวอดีตประธานาธิบดีโอบามาไม่มาประชุมเอเปก
ดังนั้นการที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่ยอมมาร่วมประชุมเอเปกในปีนี้ ควบคู่ไปกับการที่หลายประเทศในอาเซียนเริ่มจะคิดว่าทีมบริหารของประธานาธิบดีนั้นให้ความสำคัญกับทวีปยุโรปมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีนได้แสดงอำนาจ
ยกตัวอย่างเช่นในเดือน พ.ย. 2563 เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทางกรุงปักกิ่งก็ฉวยโอกาสนี้สรุปรายละเอียดข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และแสดงความตั้งใจว่าจะเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่สหรัฐฯได้ถอนตัวไป
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดของอดีตประธานาธิบดี ประธานาธิบดีไบเดนจึงควรที่จะทบทวนการตัดสินใจเข้าร่วมประชุมในปี 2565 นี้เสียใหม่
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2022/11/the-cost-of-bidens-apec-absence/
อนึ่ง ในการประชุมเอเปกที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 -19 พ.ย.นั้นเป็นที่สรุปแล้วว่าจะมีตัวแทนจากต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมได้แก่
1. นายกรัฐมนตรี นายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) จากออสเตรเลีย
2.สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 และนายกรัฐมนตรีสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah Ibni Al-Marhum Sultan Haji Omar ‘Ali Saifuddien Sa’adul Khairi Waddien) จาก บรูไนดารุสซาลาม
3.นายกรัฐมนตรี นายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) จากแคนาดา
4.ประธานาธิบดี นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ (H.E. Mr. Gabriel Boric Font) จากชิลี
5. ประธานาธิบดี นายสี จิ้นผิง (H.E. Mr. Xi Jinping) จากจีน
6.นายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honourable John Lee Ka-Chiu ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
7.ประธานาธิบดี นายโจโก วีโดโด (H.E. Mr. Joko Widodo) จาก อินโดนีเซีย
8.นายกรัฐมนตรี นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio) จาก ญี่ปุ่น
9.นายกรัฐมนตรี นายฮัน ด็อก-ซู (H.E. Mr. Han Duck-soo) จาก เกาหลีใต้
10.เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี (Tan Sri Dato’ Seri Mohd Zuki Ali)
11. เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย นายเบร์นาโด กอร์โดบา เตโย (H.E. Mr. Bernardo Córdova Tello)
12.นายกรัฐมนตรี นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น (The Right Honourable Jacinda Ardern MP)จากนิวซีแลนด์
13.นายกรัฐมนตรี นายเจมส์ มาราเป (The Honourable James Marape MP) จากปาปัวนิวกินี
14. รองประธานาธิบดี คนที่ 1 นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) จากเปรู
15.ประธานาธิบดี นายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (H.E. Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.) จากฟิลิปปินส์
16.รองนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย คนที่ 1 นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ (H.E. Mr. Andrey Belousov) จากรัสเซีย
17. นายกรัฐมนตรี นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) จากสิงคโปร์
18. นายมอร์ริส จาง (นายจาง จงโหมว) (Mr. Morris Chang) ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC)) เป็นผู้แทนจากไต้หวัน
19. รองประธานาธิบดี นางคามาลา แฮร์ริส (The Honorable Kamala Harris) จากสหรัฐอเมริกา
20. ประธานาธิบดี นายเหวียน ซวน ฟุก (H.E. Mr. Nguyen Xuan Phuc) จากเวียดนาม
ส่วนแขกรับเชิญพิเศษประกอบด้วย
1.นายกรัฐมนตรี สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN) จากกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตามคาดกันว่าสมเด็จฮุน เซนไม่สามารถมาร่วมงานได้เนื่องจากติดโควิด-19
2. ประธานาธิบดี นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) จากฝรั่งเศส
3.มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) จากซาอุดีอาระเบีย