"..กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า แม้ผู้รับจ้างจะทํางานจ้างตามโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านขนุน 2 ล่าช้ากว่ากําหนดเวลาตามสัญญาจ้าง และยังมีการเบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงิน 5,839,291 บาท แต่ก็ได้ความว่าผู้รับจ้างได้ส่งคืนเงินดังกล่าวแก่ทางราชการแล้ว และได้ทํางานก่อสร้างตามสัญญาจ้างจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้น จึงทําการเบิกจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและชําระค่าปรับตามสัญญาที่ส่งมอบงานล่าช้า นอกจากนั้นผลงานที่ผู้รับจ้างได้ทําการก่อสร้างจนแล้วเสร็จนั้นก็ได้เป็นประโยชน์แก่ราชการและประชาชนในพื้นที่การกระทําของจําเลยทั้งหก จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากนัก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก..."
จำเลยทั้ง 6 ราย รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
คงจำคุก นายวีระเดช อินทร์ประสิทธิ์ นายช่างชลประทานอาวุโส จำเลยที่ 1 นายรองฤทธิ์ สมหวัง จำเลยที่ 2 นายอมรศักดิ์ สุขแสวง จำเลยที่ 3 นายจริมเทพ ศรีจำปา จำเลยที่ 4 นายสุรชัย วันศรี จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 29,992.50 บาท
จำคุก นางสาวทิพย์วิภา สิงห์สมบัติเตชะ จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 12 เดือน และปรับ 19,995 บาท
โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ตัดสินคดีกล่าวหาข้าราชการเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ จำนวน 6 ราย กรณีตรวจรับงานโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านขนุน 2 ตำบลขนุน อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า ถูกต้องควบถ้วนและเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างทั้งที่งานก่อสร้างไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา
ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 และ 90 ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากตัวแทนจำเลยในคดีนี้ เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า ข้าราชการเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ จำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน ที่ถูกตัดสินในคดีนี้ ไม่ได้เจตนาทุจริตในขั้นตอนการดำเนินงานแต่อย่างใด เพียงแต่ดำเนินการผิดขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น
"ส่วนสาเหตุในการการกระทำความผิดกรณีนี้ ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชน ให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการฯ นี้โดยเร็ว ขณะที่ราชการก็ไม่เสียหายอะไรด้วย เนื่องจากมีการเรียกเงินคืนจากผู้รับจ้างกลับมา และสั่งปรับเงินผู้รับจ้างตามสัญญาในภายหลังด้วย
"ปัจจุบันคดีนี้ ไม่มีการยื่นอุทธรณ์ของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย คดีจึงถือว่ายุติไปแล้ว ซึ่งในความจริงเราสามารถที่จะอุทธรณ์ฎีกาต่อสู้คดีได้ เพราะกรณีนี้ไม่มีเรื่องทุจริต เป็นการปฏิบัติผิดขั้นตอนเท่านั้น แต่พวกเราไม่อยากจะต่อสู้อะไรอีก เลยรับสารภาพ เพื่อความรวดเร็วในการต่อสู้คดี"
"ที่ออกมาชี้แจงครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการจะแก้ตัวอะไร แต่ต้องการชี้แจงความจริงอีกด้าน ให้สังคมรับทราบ ว่าเราไม่ได้มีเจตนาทุจริตอะไร ตามข้อกล่าวหาของหน่วยงานตรวจสอบบางแห่ง ความผิดที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องการปฏิบัติผิดขั้นตอนเท่านั้นเอง " ตัวแทนจำเลยในคดีนี้ระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการติดต่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าว ตัวแทนจำเลยในคดีนี้ ได้ส่งมอบสำเนาคำพิพากษาคดีนี้ ให้สำนักข่าวอิศรา รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วย
โดยคำพิพากษาศาลฯ ระบุผลวินิจฉัยคดี ที่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย ทั้ง 6 ราย ว่า พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบคํารับสารภาพของจําเลย รายงานการสืบเสาะและพินิจจําเลยทั้ง 6 ประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
เห็นว่า จําเลยทั้งหกเพิ่งกระทําความผิดครั้งแรก และได้ความจากเอกสารว่า หลังจากโครงการชลประทานศรีสะเกษได้ทําการตรวจรับงานจ้างเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างเต็มวงเงินตามสัญญา จํานวน 11,614,291 บาท
ปรากฏว่าสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสํานักตรวจสอบพิเศษภาค 5 ได้เข้าตรวจสอบงานจ้างเหมาสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านขนุน 2 แล้วพบว่า งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจํานวน 4 รายการ รวมเป็นเงินค่างานจํานวน 5,839,291 บาท และแจ้งให้ผู้รับจ้างส่งคืนเงินดังกล่าว
โดยผู้รับจ้างได้ส่งคืนเงินจํานวนดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559
หลังจากนั้นผู้รับจ้างได้ดําเนินการก่อสร้างงานที่ยังไม่แล้วเสร็จจํานวน 9 รายการต่อจนแล้ว
เสร็จและโครงการชลประทานศรีสะเกษได้ตรวจรับการจ้างและเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างแล้ว จํานวน 5,839,291 บาท เนื่องจากเป็นการทํางานล่าช้าเกินกว่าที่กําหนดไว้ในสัญญาเป็นเวลา 51 วัน
โครงการชลประทานศรีสะเกษได้ดําเนินการปรับผู้รับจ้างตามเงื่อนไขของสัญญาข้อที่ 17 ในอัตราวันละ 11,614.29 รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 592,328.75 บาท และผู้รับจ้างได้ชําระค่าปรับครบถ้วนแล้ว
และได้ความจากเอกสารแนบท้ายคําร้องของจําเลย ว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 โครงการชลประทานศรีสะเกษได้ส่งมอบและถ่ายโอนภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านขนุน 2 ให้แก่องค์การบริหารส่วนตําบลขนุนทําหน้าที่ดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นต่อไป
และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 องค์การบริหารส่วนตําบลขนุน มีหนังสือขอบคุณและแจ้งว่าโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านขนุน 2 เป็นประโยชน์แก่ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์สําหรับใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และทางการเกษตร
กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า แม้ผู้รับจ้างจะทํางานจ้างตามโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านขนุน 2 ล่าช้ากว่ากําหนดเวลาตามสัญญาจ้าง และยังมีการเบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงิน 5,839,291 บาท
แต่ก็ได้ความว่าผู้รับจ้างได้ส่งคืนเงินดังกล่าวแก่ทางราชการแล้ว และได้ทํางานก่อสร้างตามสัญญาจ้างจนแล้วเสร็จ
หลังจากนั้น จึงทําการเบิกจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและชําระค่าปรับตามสัญญาที่ส่งมอบงานล่าช้า
นอกจากนั้นผลงานที่ผู้รับจ้างได้ทําการก่อสร้างจนแล้วเสร็จนั้นก็ได้เป็นประโยชน์แก่ราชการและประชาชนในพื้นที่
การกระทําของจําเลยทั้งหก จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากนัก
พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก
เมื่อพิจารณาประวัติโดยรวมของจําเลยทั้งหกแล้วไม่มีข้อเสียหายร้ายแรงเชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยแก้ไขปรับปรุงตนเองได้
ประกอบกับจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้รับโทษทางวินัยถูกไล่ออกจากราชการย่อมได้รับความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัวอยู่แล้วและไม่มีโอกาสหวนกลับไปกระทําความผิดซ้ำได้อีก
ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งหกเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อนและสังคมอยู่ในช่วงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 จึงเห็นควรให้โอกาสจําเลยทั้งหกได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง น่าจะเป็นผลดีแก่จําเลยทั้งหกและสังคมส่วนรวมมากกว่าที่จะจําคุกจําเลยทั้งหกไปเสียเลยทีเดียว
จึงมีเหตุอันควรปราณีให้รอการลงโทษจําคุกแก่จําเลยทั้งหก โดยเห็นควรให้รอการลงโทษจําคุกไว้มีกําหนดคนละ 3 ปี และคุมความประพฤติไว้มีกําหนดคนละ 2 ปี
แต่เพื่อให้หลาบจําเห็นควรวางโทษปรับในสถานหนักและกําหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติแก่จําเลยทั้งหกด้วย
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 83 การกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กระทําความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ลงโทษจําคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 19,995 บาท รวม 3 กระทง
เป็นจําคุก คนละ 3 ปี และปรับคนละ 59,985 บาท
จําเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86
การกระทําของจําเลยที่ 6 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
จําเลยที่ 6 กระทําความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจําคุก 8 เดือน และปรับ 13,330 บาท รวม 3 กระทง เป็นจําคุก 24 เดือน และปรับ 39,990 บาท
จําเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงลงโทษจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จําคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 29,992,50 บาท และลงโทษจําเลยที่ 6 จําคุก 12 เดือน และปรับ 19,995 บาท
โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนดคนละ 3 ปี ให้คุมความประพฤติจําเลยทั้งหกไว้มีกําหนดคนละ 2 ปี
โดยให้จําเลยทั้งหกไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 3 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติ ให้จําเลยทั้งหกละเว้นการประพฤติใดอันอาจนําไปสู่การกระทําความผิดในทํานองเดียวกันอีก และให้จําเลยทั้งหกทํางาน บริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จําเลยทั้งหกและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
หากจําเลยทั้งหกไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
ทั้งหมดนี่ เป็นคำชี้แจงข้อมูลอีกด้านของฝ่ายจำเลย รวมถึงรายละเอียดคำพิพากษาของศาลฯ ที่วินิจฉัยตัดสินคดีนี้ไปแล้ว
แต่ไม่ว่าผลจะออกเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง บทเรียนสำคัญ ในปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเจ้าหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี อีกหนึ่งกรณี