ขณะที่ พญ.เรากล่าวว่ามีความเหมือนกันระหว่างเด็กที่ป่วยด้วยโควิด-19 ที่มีอาการป่วยรุนแรง,ป่วยเรื้อรัง เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยผลการวิจัยของเธอนั้นระบุว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เองก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีภาวะเป็นลองโควิด ซึ่งปัจจัยนั้นก็มาจากทั้งการที่พ่อแม่พาเด็กไปพบแพทย์ในช่วงที่มีการระบาดหรือปัจจัยด้านสรีรวิทยาในกลุ่มอายุเป็นต้น
แม้ว่าปัญหาโควิด-19 จะดูเหมือนคลี่คลายลง เนื่องจากไวรัสที่กลายพันธุ์รวมไปถึงการฉีดวัคซีนส่งผลทำให้อาการไม่รุนแรง จนกระทั่งมีคำพูดกันว่าโควิดนั้นก็เริ่มจะมีอาการไม่แตกต่างจากไข้หวัด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาและถือว่าเป็นเรื่องลึกลับก็คือกรณีอาการของลองโควิดหรือที่เรียกว่าโควิดระยะยาว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนว่ามาจากอะไรกันแน่
และหนึ่งในกลุ่มที่อาจจะมีอาการลองโควิด ก็คือกลุ่มเด็กที่ร่างกายนั้นยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เทียบเท่ากับผู้ใหญ่เต็มวัย อีกทั้งการฉีดวัคซีนก็ยังไม่มีการครอบคลุมทั้งในเรื่องของจำนวนการฉีดและการบูสเตอร์เท่ากับประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด ก็อาจจะมีการตอบสนองของร่างกายที่แตกต่างไปก็เป็นไปได้
ล่าสุดเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกได้ทำรายงานเกี่ยวกับอาการลองโควิดในเด็กในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ดช.โอเว่น ในวัย 11 ปี นั้นถือว่าเป็นคนสุดท้ายของครอบครัวที่ติดโควิด-19 โดยคนอื่นๆในครอบครัวนั้นเมื่อติดโควิดแล้วก็มักจะหายจากโรคภายในเวลาสองสัปดาห์ แต่ว่าอาการของโอเว่นนั้นกลับอยู่นานกว่าคนอื่น โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการติดโควิด การมองเห็นของเขาก็เริ่มพร่ามัว ผิวของเขาซีดลง โอเว่นเริ่มลืมสิ่งต่างๆ และทุกคืนเขาจะมีอาการเจ็บที่หน้าอกและหน้าท้อง
จากการตรวจตา การเอ็กซ์เรย์ทรวงอก และการตรวจหัวใจที่เรียกว่าการเอคโค่หัวใจหรือ echocardiogram ผลตรวจก็ออกมาว่าปกติ แพทย์ผู้ทำการวินิจฉัยยืนยันว่าไม่พบอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่หาได้ยาก แต่มักจะเกี่ยวข้องกับโควิด
และหลังจากที่มีอาการดังกล่าว เพื่อนของแม่ของโอเว่นก็ได้ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าโอเว่นนั้นอาจจะมีอาการของลองโควิด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทางกุมารแพทย์ผู้ทำการวินิจฉัยโอเว่นไม่ได้เคยพูดถึงมาก่อนเลย โดยอาการของลองโควิดที่ว่ามานี้นั้นที่ผ่านมามักจะเคยถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นอาการที่มาจากการที่ร่างกายต้องรับมือกับโควิด19 เป็นระยะเวลานาน
ในรายงานเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น อาการลองโควิดเป็นสิ่งที่พบได้น้อยมากในเด็กเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่ก็มีนักวิจัยพยายามจะทำความเข้าใจกับโควิดที่เกิดในเด็กมากขึ้น เพื่อจะประเมินว่าใครบ้างที่อาจมีความเสี่ยงในภาวะที่โรคระบาดนี้ยังดำเนินอยู่
ทางด้านของ พญ. ลอร่า มาโลน นักประสาทวิทยาในเด็กที่คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังโควิด-19 ของสถาบันเคนเนดี ครีเกอร์ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ กล่าวว่าในช่วงต้นของการระบาดครั้งใหญ่นั้น เคยมีความคิดกันว่าเด็กๆมีภูมิต้านทานต่อโควิด-19 แต่คาวมคิดนั้นก็ได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับการมาถึงของสายพันธุ์โอไมครอน
“ตอนนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามีเด็กจำนวนมากนั้นติดเชื้อโควิดและก็หายดีหลังจากการติดโควิด แต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ และต้องระลึกว่ายังมีเด็กบางกลุ่มที่มีปัญหาอยู่บ้าง” พญ.มาโลนกล่าว
รายงานข่าวเด็กจำนวนอย่างน้อยหนึ่งในสี่ที่ติดเชื้อมีอาการลองโควิด (อ้างอิงวิดีโอจาก Global News)
ย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. โอเว่นเคยเป็นเด็กที่กระฉับกระเฉงก่อนที่จะติดโควิด แต่พอเมื่อติดโควิดแล้ว การจะเดินแม้เป็นระยะสั้นๆก็ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับเขา โดยแม่ของโอเว่นกล่าวว่าแทนที่จะเรียนเต็มเวลา โอเว่นเลือกที่จะเรียนครึ่งวันแทน แต่ว่ามีปัญหาเรื่องอาการความเจ็บปวดและความอ่อนแอ การพักอยู่ที่บ้านก็ดูจะเป็นทางเลือกเดียวสำหรับโอเว่น
ทั้งนี้ในกรณีลองโควิดส่วนใหญ่ อาการอาจหายไปภายในระยะเวลา 1-5 เดือน แต่ว่าในเด็กบางคน อาการอาจจะอยู่ได้นานกว่านั้น
@ลองโควิดในเด็กเป็นอย่างไร
ผลการศึกษาหลายชิ้นระยุว่าอาการของโควิด-19 ที่พบในเด็กบ่อยที่สุดได้แก่อาการปวดศรีษะ เหนื่อยล้า อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการจดจ่อ นอนไม่หลับ และปวดท้อง
พญ.เบทซี่ เฮโรลด์ แพทย์โรคติดเชื้อในเด็กที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในนครนิวยอร์กกล่าวว่ามันอาจเป็นที่รวมๆรวมของหลายอาการได้มากมาย และเราก็ยังไม่รู้ว่าที่เราเรียกว่าเป็นอาการลองโควิดนั้นมันจะมีนิยามที่เหมือนกันหรือไม่
ทั้งนี้อาการในเด็กนั้นอาจจะวินิจฉัยได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่อายุน้อยมาก และน้อยเกินว่าจะบรรยายอาการที่เกิดกับตัวเองได้ ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่มีความซับซ้อนนี้ถือเป็นความยากลำบากในการแยกแยะว่าจะเป็นอาการที่เชื่อมโยงกับการติดเชื้อโควิด หรืออาการอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ต้องใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่มีภาวการณ์ระบาดครั้งใหญ่,การไปโรงเรียนแบบครึ่งๆกลางๆ,การแยกดาวน์ และการต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การเว้นระยะห่างทางสังคม
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือว่าซีดีซีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิดทั้งในแง่จำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิต จึงได้มีการเปรียบเทียบเด็กจำนวนกว่า 7.8 แสนรายที่ติดเชื้อโควิดกับผู้ป่วยโควิดมากกว่า 2.3 ล้านราย โดยเน้นไปที่การระบุอาการที่มีความเชื่อมโยงกับไวรัสเพียงอย่างเดียว
พบข้อมูลในรายงานว่าแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องปกติ แต่อาการของการสูญเสียการรับรู้กลิ่นและรสชาติ,ปัญหาของระบบไหลเวียนโลหิต,ความเหนื่อยล้า,ความเจ็บปวด อาการเหล่านี้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาตั้งแต่ 31 วันไปจนถึง 365 วัน หลังจากการติดเชื้อ
และอาการได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ,เบาหวานชนิดที่ 1 ,ลิ่มเลือดในเส้นเลือด และไตวาย แม้ว่าอาการเหล่านี้จะพบได้ยาก แต่ก็มีโอกาสพบสูงขึ้นในกลุ่มผู้หายจากโควิด
@เชื้อโควิดในเด็กนั้นจะระบาดได้นานเพียงใด
ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 นักวิทยาศาสตร์ได้มีการทบทวนการศึกษากรณีการเกิดลองโควิดในผู้ป่วย 21 รายด้วยกัน และพบข้อมูลว่ากว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของเด็กและวัยรุ่นเกือบ 80,000 คน ที่ติดเชื้อโควิด มีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการหรือมากกว่านั้น คิดเป็นเวลานานกว่า 28 วันหลังจากการติดเชื้อ และในกลุ่มเด็กผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นพบว่ามีโอกาส 29 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีอาการลองโควิด
อย่างไรก็ตาม การศึกษาในที่อื่นๆ กลับให้ข้อมูลตัวเลขเด็กที่มีภาวะลองโควิดที่ต่ำกว่า อาทิ ผลการศึกษาในหลายประเทศในเดือน ก.ค. 2565 ในหัวข้อการศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่ติดโควิดจำนวนเกือบ 1,900 คน พบว่าอัตราการมีอาการลองโควิดเป็นระยะเวลานาน 90 วันหลังจากการติดเชื้อนั้นอยู่ที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์ และในกลุ่มที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่ามีอัตราการเป็นลองโควิดอยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์
รายงานอีกฉบับที่ได้อ้างอิงข้อมูลบันทึกด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลเด็ก 9 แห่งในสหรัฐอเมริกาก็ระบุว่า พบว่ามีอาการของลองโควิดในกลุ่มผู้ป่วยอยู่ที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ โดย พญ.สุจิตรา เรา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลเด็กโคโลราโดและหัวหน้าผู้เขียนรายงานกล่าวว่า รายงานนี้ทำให้อุ่นใจได้บ้างเพราะว่ามันไม่เยอะอย่างที่เราคิดในตอนแรก ซึ่งการศึกษาอื่นๆก็ทำให้เราเห็นเช่นนั้น
ส่วน นพ.โรแลนด์ เอลลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กจากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์กในเยอรมนี กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว ลองโควิดกลับพบได้น้อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาผลิตระดับแอนติบอดีที่สูงขึ้นซึ่งคงอยู่ได้นานขึ้นและสามารถกำจัดไวรัสได้เร็วกว่า
ทว่าปัญหาก็คือว่าระยะเวลาในการติดตามผลหลังจากการติดโควิด-19 นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้เป็นการยากต่อการเปรียบเทียบการศึกษาที่ประเมินภาระอันเกิดจากโรค นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอีกประการหนึ่งว่าไม่มีการติดตามอาการโควิดในเด็กดีเท่ากับที่มีการศึกษาในผู้ใหญ่
ทางด้านของ นพ.โจชัว มิลเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันในเด็กที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเออร์วิงในนครนิวยอร์กกล่าวว่าการเก็บตัวอย่างเลือด และการศึกษาที่ทำในผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ทำยากมากกว่าเมื่อต้องทำกับเด็ก
ขณะที่ พญ.เรากล่าวว่ามีความเหมือนกันระหว่างเด็กที่ป่วยด้วยโควิด-19 ที่มีอาการป่วยรุนแรง,ป่วยเรื้อรัง เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยผลการวิจัยของเธอนั้นระบุว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เองก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีภาวะเป็นลองโควิด ซึ่งปัจจัยนั้นก็มาจากทั้งการที่พ่อแม่พาเด็กไปพบแพทย์ในช่วงที่มีการระบาดหรือปัจจัยด้านสรีรวิทยาในกลุ่มอายุเป็นต้น
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาหลายรายการจนถึงบัดนี้ระบุว่ากลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงนั้นก็มีรายงานของอาการที่เรื้อรังเช่นกัน
แพทย์จากแคนาดาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีว่าจะมีอาการโควิด เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนน้อย (อ้างอิงวิดีโอตาก The National)
@การทดลองทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง
ส่วน นพ.เทอร์เรนซ์ สเตปเฟนสัน กุมารแพทย์จากวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรได้มีการทำแบบสำรวจออนไลน์ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 เพื่อติดตามวัยรุ่น 30,000 คน โดยครึ่งหนึ่งติดโควิด-19 ในช่วงเวลา 3,6,12 และ 24 เดือน หลังจากที่ได้มีการตรวจวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการ พบข้อมูลว่าผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่มีอาการเรื้อรังได้แก่อาการเหนื่อยล้าและหายใจถี่จะฟื้นตัวภายใน 6 เดือน
แต่ก็มีกลุ่มอื่นๆที่มีอาการเหล่านี้ หลังจากที่มีการติดตามอาการไปแล้ว 6 เดือน โดยวัยรุ่นกลุ่มนี้นั้นจะหายจากอาการลองโควิดเมื่อเวลาผ่านไป 12 เดือน เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นการยากที่จะอธิบาย แต่นี่ก็อาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำได้เช่นกัน
โดยขณะนี้ทีมของ นพ.สเตปเฟนสันกำลังติดตามและศึกษาข้อมูลจากกลุ่มทดลองเพิ่ม และจะมีการดำเนินการทดลองเพิ่มเติมอีกอาทิ การสแกนสมองและหัวใจ การทดสอบด้วยการออกกำลังกายในกลุ่มย่อยที่มีอาการลองโควิด เพื่อที่จะค้นหาว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นบ้าง
กลับมาที่กรณีของโอเว่น ย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แม่ของโอเว่นได้ขอความช่วยเหลือจากสถาบัน Kennedy Krieger ซึ่งแพทย์ที่นั่นได้ช่วยเหลือโอเว่นด้วยการวางแผนควบคุมอาหารเพื่อลดอาการอักเสบและใช้กายภาพบำบัดควบคู่กันไปเพื่อให้โอเว่นฟื้นตัว
ล่าสุดโอเว่นก็มีอาการดีขึ้นมากแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันเขายังต้องเผชิญกับอาการเหนื่อยล้า และหายใจไม่เต็มที่อยู่บ้าง แต่อาการเจ็บหน้าอก เจ็บหน้าท้อง การมองเห็นไม่ชัด และปัญหาด้านความจำนั้นก็บรรเทาลงอย่างมาก โดยเขาสามารถกลับมาเรียนได้เต็มเวลาแล้ว แต่ว่ายังคงต้องหยุดพักจากการเล่นฟุตบอลไปอย่างน้อยประมาณหนึ่งปี ซึ่งในช่วงนี้เขาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำแทน