“จีนอ้างมาเสมอว่าเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ใช่สหรัฐฯ ดังนั้นการมีประธานาธิบดีสหรัฐฯมา แต่ไม่มีตัวแทระดับสูงของจีนมา อาจทำให้ดูเหมือนว่าปักกิ่งขาดหายไปจากที่ประชุมก็เป็นได้” นายชงกล่าวและกล่าวเสริมว่าถ้าหากมีการวางแผนที่ดีเพียงพอ การประชุมสุดยอดทั้งสามทั้งที่กัมพูชา ที่อินโดนีเซีย และที่ไทย นั้นสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันและอำนวยความสะดวกในการสนทนาเพื่อแก้ปัญหาความซับซ้อนอันมากมายที่ภูมิภาคและโลกนี้กำลังเผชิญอยู่ได้
วาระสำคัญสำหรับประเทศไทยในเดือนนี้นั้นคงจะหนีไม่พ้นกรณีการประชุมเอเปค ณ วันที่ 16-18 พ.ย. ที่กรุงเทพ ซึ่งการประชุมดังกล่าวนั้นมีความพิเศษเพราะเป็นการประชุมถัดจากการประชุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนที่กรุงพนมเปญ วันที่ 10-13 พ.ย. และถัดจากการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พ.ย.
จึงมีบทวิเคราะห์จากทางสำนักข่าวเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ของฮ่องกงที่วิเคราะห์กันว่าการประชุมทั้งสามนั้นควรจะหารือในประเด็นอะไรบ้างเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้ง โด
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนกับทางกรุงปักกิ่งในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ นั้นดูเหมือว่าจะกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ควบคู่ไปกับประเด็นเรื่องความรุนแรงของกองทัพภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารเมียนมา และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนก็กลับมาอีกเช่นกัน ในช่วงเวลาที่ตัวแทนจากสิบประเทศสมาชิกอาเซียนเตรียมที่จะเข้าประชุมหารือกันที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อจัดการประชุมสุดยอดผู้นำประจำปี ซึ่งคาดว่าการประชุมนี้จะดึงดูดผู้นำโลกเข้าร่วมการประชุมด้วย
โดยการประชุมมักจะเป็นศูนย์กลางของข้อถกเถียงทางการทูตในช่วงปลายปีสำหรับอาเซียน ทว่าในการประชุมครั้งนี่กลับมีความพิเศษตรงที่ว่ามีการประชุมอื่นๆ อันเป็นที่สนใจประกอบกันด้วยได้แก่การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ G20 และการประชุมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่บาหลีและกรุงเทพตามลำดับ
สิ่งที่ประชาคมโลกเฝ้าจับตาก็คือการเผชิญหน้ากันแบบเห็นตัวเป็นๆระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญของการประชุมต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเก้าวัน
มีการคาดการณ์กันว่าประเด็นเรื่องเมียนมาที่อยู่ในภาวะยุ่งเหยิงและโกลาหลนับตั้งแต่กองทัพได้ยึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 จะเป็นวาระสำคัญในการประการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 10 พ.ย.
“เริ่มมีบางประเทศนั้นกำลังจะหมดความอดทนกับเมียนมาแล้ว” นายดีแลน โลห์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ประเทศสิงคโปร์กล่าว
ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย. 2564 กลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการบรรลุสิ่งที่เรียกว่าฉันทามติ 5 ข้อกับ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะลดความรุนแรงในประเทศ ทว่าความสำเร็จของฉันทามติดังกล่าวนั้นกลับจำกัดมาก
โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก็คือว่าจะต้องมีการหยุดความรุนแรงโดยทันที และจะต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการหารือสำหรับทุกฝ่าย
ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น หลายประเทศกลับแสดงความผิดหวังอย่างมาก ต่อการขาดความคืบหน้าของข้อตกลงสันติภาพ และในการประชุมพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการตกลงกันว่าเมียนมาควรจะต้องมีกรอบเวลาที่เป็นรูปธรรมเพื่อที่จะยุติปัญหาความรุนแรงในประเทศ
นายโลห์กล่าวต่อไปว่าการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ว่าจะทำให้อาเซียนใช้เวทีประชุมเพื่อจะดำเนินการคว่ำบาตรผู้ปกครองทหารของเมียนมาต่อไป โดยอาจจะเริ่มจากการห้ามไม่ให้มีการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลทหารในการประชุมในระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น แทนที่จะเป็นการห้ามแค่รัฐมนตรีมาประชุม
โดยก่อนหน้านี้ กัมพูชา ประเทศเจ้าภาพได้ยืนยันแล้วว่า พล.อ.มิน อ่อง ลายนั้นไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม เช่นเดียวกับในปีก่อนหน้านี้
“สิ่งที่จะต้องดูต่อไปก็คือว่า พวกเขาจะผลักดันให้มีการระงับการมีส่วนร่วมของเมียนมาได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับผมคิดว่าแม้แต่จะเริ่มกดปุ่ม พวกเขายังไม่อยากเลย” นายโลห์กล่าว
ทางด้านของนายชง จา เอียน (Chong Ja Ian) รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ก็ได้กล่าวว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการเรียกร้องจากหน่วยงานต่างๆรวมไปถึงฮิวแมนไรท์วอชท์ (Human Rights Watch) ให้อาเซียนดำเนินการระงับสมาชิกภาพของเมียนมาทั้งหมด ซึ่งตัวเขาก็เห็นพ้องว่าการจำกัดการมีส่วนร่วมของเมียนมาในการประชุมถัดจากนี้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทว่าอาเซียนกลับขาดอำนาจและทรัพยากรทั้งในการดึงดูดหรือกดดันให้รัฐบาลทหารยุติปฏิบัติการทางทหารและเริ่มต้นการเจรจา
ย้อนไปเมื่อเดือน ต.ค. มีรายงานว่ากองทัพอากาศเมียนมาได้โจมตีทางอากาศใส่งานคอนเสิร์ตของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50-60 ราย ส่วนกลุ่มเฝ้าระวังท้องถิ่นประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,300 ราย จากการสลายการชุมนุมของกองทัพในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ข่าวการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีร่า)
นายชงกล่าวต่อไปอาจเป็นไปได้ว่าหลักพื้นฐานของอาเซียนที่ต้องการนำเอารัฐบาลต่างๆมารวมกันนั้นไม่พอเพียงที่จะจัดการกับสถานการณ์ของเมียนมาที่มีทั้งความซับซ้อนและกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นข้อจำกัดที่สุดแล้วที่อาเซียนสามารถจะทำได้
โดยการประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของเมียนมาด้วยคำสั่งรัฐบาลทหารนั้น ทำให้เกิดเสียงประณามอย่างยิ่งทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
นายโลห์กล่าวว่าแม้เขาจะไม่มองโลกในแง่ดีว่าอาเซียนจะสามารถนำเอากองทัพเมียนมากลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แต่อย่างน้อยประชาคมในระดับภูมิภาคจะต้องไม่อยู่เฉย
“ผลลัพธ์ที่ได้มาอาจจะไม่ดี่สุด แต่อย่างน้อยต้องมีการทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ถูกมองว่าเป็นการทำงานเชิงรุก นี่อาจจะเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดที่อาเซียนกำลังเผชิญในช่วงไม่กี่ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งนี่จะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมาก” นายโลห์กล่าว
ทางด้านของนายชงกล่าวว่านอกเหนือจากวิกฤติในเมียนมาแล้ว บรรดาผู้นำอาเซียนยังถูกคาดหวังให้มีท่าทีกังวลกับการแข่งขันที่วีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของเสถียรภาพในภูมิภาค,เช่นเดียวกับห่วงโซ่อุปทาน,เทคโนโลยีและการค้า
โดยอีกหัวข้อหนึ่งที่จะมีการอภิปรายกันนั้นก็คือเรื่องข้อพิพาทเรื่องดินแดนในภูมิภาคกับปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศจีนได้อ้างสิทธิ์ในน่านน้ำที่มีข้อพิพาททั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของการค้าทางทะเล โดยจีนนั้นได้อ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์กับ 4 ประเทศคู่พิพาทในอาเซียนได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบรูไน ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิในน่านน้ำเช่นกัน
ข่าวประเทศจีน,ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ร่วมกันส่งเรือยามฝั่งเพื่อขับไล่เรือจากจีนออกจากน่านน้ำ (อ้างอิงวิดีโอจาก US Military)
นายชงกล่าวต่อว่านอกเหนือจากความมั่นคงแล้ว ประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็อาจจะมีความสำคัญเช่นกัน เพราะว่าอัตราเรื่องเงินเฟ้อก็ถือว่าเป็นความกังวลต่อทุกฝ่ายในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกนำเข้าสู่การหารือ
ส่วนนายโลห์กล่าวว่าเขาคาดหวังว่าเหล่าบรรดาผู้นำจะให้ความสำคัญกับประเด็นระดับโลกอื่นๆ อาทิ สงครามของรัสเซียในยูเครน,ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่องแคบไต้หวัน และการทดสอบขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของเกาหลีเหนือ
ทางด้านของนางชารอน เชียห์ ผู้อาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์กล่าวว่าอาเซียนน่าจะทราบดีว่าการประชุมสุดยอดในปีนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเป็นการประชุมที่ถูกจัดขึ้นท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความเข้มข้น
“วาระของอาเซียนมักจะมีเรื่องเข้ามาเต็มเสมอ” นางเชียห์กล่าว
ทั้งนี้มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้นอาจจะถูกบดบังด้วยการประชุมอื่นๆจะจัดขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน
ทว่านางเชียห์กล่าวว่าการประชุมสุดยอดอาจเป็นโอกาสสำหรับองค์กรระดับภูมิภาคในการแสดงอำนาจในที่ประชุมและการจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการเจรจาโดยสร้างสรรค์
นางเชียห์กล่าวว่าประธานาธิบดีไบเดนได้เคยยืนยันไปแล้วว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งการประชุมนี้ถือว่าเป็นการประชุมเวทีกว้างที่จัดขึ้นระหว่างรัฐในอาเซียนและคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
“นี่หมายความว่าจะมีโอกาสมากมาย สำหรับผู้เข้าร่วมจากทั้งวอชิงตันและปักกิ่งจะได้ดำเนินการหารือร่วมกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ทวีความตึงเครียดอย่างรวดเร็วระหว่างสองมหาอำนาจโลก และก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งด้วยผู้นำทั้งสามจะช่วยปลดชนวนความตึงเครียดที่เกิดขึ้น” นางเชียห์กล่าวถึงผู้นำทั้งสามในการประชุมโดยไม่ได้บอกว่าเป็นใครบ้าง
ส่วนนายชงกล่าวว่าแม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ว่าจีนจะต้องส่งคณะผู้แทนมาสักคน ซึ่งคนที่ว่านี้จะเป็นคนที่มีบารมีแข็งแกร่งพอที่จะทำให้รู้สึกได้
“จีนอ้างมาเสมอว่าเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ใช่สหรัฐฯ ดังนั้นการมีประธานาธิบดีสหรัฐฯมา แต่ไม่มีตัวแทระดับสูงของจีนมา อาจทำให้ดูเหมือนว่าปักกิ่งขาดหายไปจากที่ประชุมก็เป็นได้” นายชงกล่าวและกล่าวเสริมว่าถ้าหากมีการวางแผนที่ดีเพียงพอ การประชุมสุดยอดทั้งสามทั้งที่กัมพูชา ที่อินโดนีเซีย และที่ไทย นั้นสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันและอำนวยความสะดวกในการสนทนาเพื่อแก้ปัญหาความซับซ้อนอันมากมายที่ภูมิภาคและโลกนี้กำลังเผชิญอยู่ได้
“ความเสี่ยงสำคัญก็คือว่าการประชุมสุดยอดนั้นอาจจะไปไม่ได้ดี และทำให้เกิดทางตัน หรือความอึดอัดใจ อาจจะสร้างอุปสรรคในระยะยาวในการทำงานร่วมกันหรือแม้แต่เจรจาได้”นายชงกล่าว
*หมายเหตุ:การประชุมเอเปคที่กรุงเทพนั้นทางกระทรวงต่างประเทศของประเทศไทยได้ให้คำยืนยันแล้วว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีนนั้นจะเข้าร่วมในการประชุม