“...การพัฒนาในไทยโดยรวม การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และในกรณีของไทย ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เราได้วางนโยบายและกฎหมายที่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่า มีปัญหา...”
สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในปริมาณที่มากและรวดเร็วเกินความพอเพียง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็นปัญหาตามมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าได้ จึงนำมาสู่การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่ายในการร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงความเสียหาย มีการป้องกันปัญหาที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อม หรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของประชากรในประเทศด้วย
การพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบายการบริหารงานประเทศ อย่างยั่งยืนไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
จึงนับเป็นประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบันที่ไม่ควรถูกโดยเด็ดขาด
นายสว่าง มีแสง อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ประเทศไทย เริ่มต้นการพัฒนาควบคู่กับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2504 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยในช่วงแรกมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก
ต่อมาเมื่อเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการพัฒนา จึงเริ่มมีการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ปี 2535-2539เป็นต้นมา ไทยเริ่มสนใจการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่การอนุรักษฺ์สิ่งแวดล้อมและสังคม หรือเรียกว่า ‘การพัฒนาที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม’
นายสว่าง กล่าวว่า ในยุคที่ผ่านมา ถือว่าไทยมีนโยาบายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้า โดยเริ่มมีนโนบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2518 ที่จะกำหนดว่า การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นที่มาของกฎหมายที่ระบุว่า จะต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) ก่อนที่จะมีการดำเนินการสร้างหรือพัฒนาโครงการ
เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs)
สำหรับ แผนกฎหมายว่าเรื่องด้านสิ่งแวดล้อมฉบับล่าสุด หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 27 ก 19 เมษายน 2561 ได้ระบุว่า
มาตรา 3 ให้แก้ไขคําว่า ‘รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ในพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็น ‘รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ทุกแห่ง ดังนั้น ต่อไปนี้ ‘ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ จะเป็น ‘ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม’
‘การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
‘อนุญาต’ หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐยินยอมให้บุคคลใดกระทำการใด ที่มีกฎหมายกําหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทำการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตรด้วย
‘ผู้ดำเนินการ’ หมายความว่า เจ้าของโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 และให้หมายความรวมถึงผู้จัดการของ นิติบุคคลอาคารชุดสำหรับทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และผู้จัดสรรที่ดินหรือ คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรสำหรับสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วย การจัดสรรที่ดินด้วย
“การพัฒนาในไทยโดยรวม การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และในกรณีของไทย ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เราได้วางนโยบายและกฎหมายที่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่า มีปัญหา” นายสว่าง ระบุ
นายสว่าง กล่าวด้วยว่า รัฐไทยพยายามแก้ปัญหาประเด็นต่างๆ รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือสุขภาพ โดยนำเข้ามาอยู่ในเป้าหมายการวางนโยบาย
“เราจะเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ระบุว่า โครงการพัฒนาที่ไม่ทำการประเมินสิ่งแวดล้อม (EIA) อาจจะถูกลงโทษปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท”
“ถ้าพูดในเชิงกฎหมาย กฎหมายของไทย ค่อนข้างดี ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติ เรามีช่องโหว่ทางกฎหมายเยอะ ทำให้มีช่องทางซิกแซกหลีกเลี่ยง แม้ว่ากฎหมายจะระบุว่าต้องจัดทำ EIA แต่ EIA จัดทำโดยเจ้าของโครงการ ซึ่งก็คือเจ้าของโครงการไปจ้างนักวิชาการมาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่ได้รับการว่าจ้างในการประเมิน ก็มักจะรีบร้อนทำรายงานเพื่อเสนอต่อเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติของไทย” นายสว่าง กล่าว
นายสว่าง กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าภาครัฐพยายามปรับตัว มีการกำหนดให้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เพิ่มขึ้น และมีระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โดยจะมองไปยังต้นต่อหรือต้นทางการพัฒนาเลยว่า พื้นที่นั้นมีศักยภาพในการพัฒนาหรือไม่ เช่น พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพพอที่จะสร้างเขื่อนหรือไม่ และมีจุดคุ้มทุนพอหรือไม่
แต่เนื่องจาก SEA ยังเป็นแนวคิดใหม่ ปัจจุบันจึงถือว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน EIA มาสู่ SEA ทำให้อาจจะมีปัญหาและช่องโหว่ อีกทั้งในทางปฏิบัติเดิมเองก็มีช่องโหว่ อยู่แล้ว จึงอาจเป็นสาเหตุให้เจ้าของโครงการอาจจะทำ EIA หรือ SEA ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายของแนวคิดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร
“ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงอย่างสูงในการพัฒนา แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาได้ จริงๆ แล้วเป้าประสงค์ของการประเมิน SEA หรือ EIA คือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ต้องไปด้วยกัน สิ่งนี้เป็นโจทย์ยาก ของทั้งรัฐบาล และภาคประชาสังคมนำพื้นที่เอง ว่าจะสมดุล (Balance) ทั้ง 3 ด้านนี้อย่างไร” นายสว่าง กล่าว
กลุ่มรักษ์เชียงของ ชูป้ายต้านระเบิดแก่งกลางลำน้ำโขง
ส่วน นายจิรศักดิ์ อินทยศ ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามของกลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ว่า เราจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของโครงการและการปฏิบัติกับทั้งพื้นที่และชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ จะต้องมีความชัดเจนว่า จะต้องทำอย่างไร
แต่ที่ผ่านมา เจ้าของโครงการส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านเท่าที่ควร มุ่งเน้นแต่การลงทุน และหากมีการเรียกร้องจากกลุ่มชาวบ้าน ก็จะมีการชดเชยให้ แต่ไม่ใช่ชดใช้ ซึ่งมันจะทำให้ไม่เหมาะสมในส่วนของที่ต้องสูญเสียหรือได้รับผลกระทบ เช่น ด้านวิถีชีวิต ในน้ำไม่มีปลา ป่าที่เคยขึ้นไปหาของดำรงชีวิตก็หายไป
นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรณี บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นล่วงหน้า แต่ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ การมีส่วนร่วมของชาวบ้านค่อนข้างน้อย หรือการรับฟังหรือรับรู้ต้องอาศัยความเข้าใจในองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจมากนัก จึงควรมีการจัดอธิบายให้เข้าใจและรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา มีแค่วางโครงการและชี้แจ้งให้รับรู้เท่านั้น แต่ก็ไม่เคยได้ทบทวนสิ่งที่ทำมาก่อนหน้านี้หรือบทเรียนในอดีตว่า ก่อประโยชน์ หรือส่งผลกระทบด้านใดบ้าง และจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยิ่งเลวร้าย เพราะเอื้อให้กลุ่มทุน ในส่วนของประชาชนก็ถูกละเลย และได้รับผลกระทบหนักขึ้นๆ และเมื่อวันหนึ่งชาวบ้านคิดว่า มันไม่ได้แล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ต้องมีการพูดคุยด้านความรู้ เพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสต่อสู้ในเวที แต่ที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาข้ามพรมแดน การมีส่วนร่วมของประชาชนก็ยิ่งน้อยขึ้นไปอีก เช่น ในภูมิภาค อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่อีกประเทศ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นที่อีกประเทศ มีปัญหาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านก็ต้องพยายามอย่างหนักขึ้นเพื่อให้ได้รับการตอบสนอง
นายจิรศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านสิ่งแวดล้อมว่า อยากให้คนในเมืองหรือพื้นที่อื่นๆ มีส่วนร่วม รับรู้ปัญหา แม้ว่าทุกวันนี้เราต้องการพลังงาน และใช้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ ยังมีพลังงานทางเลือกอื่นมากๆมาย แต่กลับไม่พูดถึง แต่จะพูดถึงประโยชน์เฉพาะการพลังงานในด้านนั้นๆ ตามแผนที่จะสร้างเท่านั้น
ส่วนที่มีปัญหาอยู่ก็ จะพยายามเลี่ยงตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ใช้พลังงานน้ำ หรือการสร้างกังหัน พลังงานลม ทำไมต้องสร้างในป่า เหมือนกับว่า ตอนนี้เทคโนโลยีเก่าแม้ว่าจะล่าสมัย และมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า แต่ก็ไม่สารถทิ้งได้ เพราะลงทุนไปแล้ว ซึ่งถ้าหากว่าเป็นการตัดสินใจในการพัฒนาจริง ควใรจะอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง
“ฉะนั้นแผนพัฒนาใดๆ ควรวางแผนให้รอบคอบ เพราะสิ่งที่เสียไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือวิถีชีวิตไม่สามารถเรียกร้องหรือย้อนกลับคืนมาได้” นายจิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้ คือ การสะท้อนปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยผ่านมุมมองนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติติงานในภาคสนาม จะต้องติดตามต่อไปว่า รัฐจะมีแนวทางการแก้ไขหรืออุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะการพัฒนาจะต้องควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม และเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต สังคม รวมถึงสุขภาพของประชาชนในประเทศด้วยเช่นกัน