“…ในการจัดซื้อจัดจ้างหลายกรณีพบว่า การตีความของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯมีปัญหา เช่น การจ้างต่อเรือของกรมแห่งหนึ่ง ซึ่งการต่อเรือจะดูแลโดยวิศวกรเครื่องกล แต่ปรากฏว่าข้อเสนอของเอกชนรายหนึ่งถูกตีตกไป เนื่องจากโถส้วมไม่ประหยัดน้ำ 6 ลิตร จึงกลายเป็นว่าเรื่องโถส้วมทำให้ข้อเสนอของเอกชนถูกตีตก และมาจากการตีความของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ…”
.......................................
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ปรับกฎหมายจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย” มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘กรรมการสภาวิศวกร’เปิดข้อบกพร่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
ไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร กล่าวบนเวทีเสวนา เรื่อง “ปรับกฎหมายจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า แม้ว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 64 ได้เขียนไว้ว่า ผู้ที่จะยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องแสดงหลักฐานที่แสดงถึงขีดความสามารถและผลประกอบการของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งบ่งชี้ถึงการควบคุมคุณภาพของผู้ที่จะเข้ามารับงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา วิศวกร หรือสถาปนิกก็ตาม
แต่ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า มีการล็อกสเปคตั้งแต่กระบะยันผู้รับเหมา มีการลดคุณสมบัติของผู้รับเหมา เช่น งานมาตรฐานสูงก็ไปลดคุณสมบัติผู้รับเหมา ทำให้บริษัทที่มีคุณภาพไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ หรือมีการใช้วิธีพิเศษ คือ จ้างตรงเลย โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในมหาวิทยาลัยที่ใช้วิธีนี้กันมาก ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชี ที่มาที่ไป และคุณภาพงาน อีกทั้งมีการกำหนดวิธีการคัดเลือกผู้ชนะประมูลที่อาจไม่ถูกต้อง
“ยกตัวอย่างการสร้างโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่ง ซึ่งใหญ่มาก มีวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท เขาไปกำหนดให้ใช้วิธี price performance (การประเมินประสิทธิภาพต่อราคา) ทั้งๆที่วิธีการที่ถูกต้อง น่าจะเป็นลักษณะมี shot list ซึ่งมีผู้รับเหมาประมาณ 10 เจ้าที่เคยทำงานโรงพยาบาล แล้วให้เลือกจาก shot list ไปประมูล เพราะการก่อสร้างแบบนี้มีแบบก่อสร้างและรายละเอียดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธี price performance” ไกร กล่าว
ไกร กล่าวต่อว่า บางหน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจ มีการใช้วิธีคัดเลือกที่ว่า เมื่อประเมินเทคนิคผ่านแล้ว มีการนำข้อเสนอด้านราคามาบวกเพิ่มเป็นคะแนนเทคนิคด้วย เช่น หากราคาถูกกว่าก็ได้คะแนนเทคนิคเพิ่ม ทั้งๆที่ความจริงแล้ว เมื่อประเมินคะแนนเทคนิคผ่านแล้ว ก็ไปเจรจาต่อรองราคากันได้เลย หรือมีอีกตัวอย่าง คือ การจัดซื้อท่อ SDPE มีหน่วยงานรัฐไปกำหนดว่า ให้ผู้ออกแบบที่ซื้อท่อ SDPE ต้องมีวิศวกรเครื่องกลลงนามรับรองมาด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย
(ไกร ตั้งสง่า)
ไกร ระบุว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างหลายกรณีพบว่า การตีความของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯมีปัญหา เช่น การจ้างต่อเรือของกรมแห่งหนึ่ง ซึ่งการต่อเรือจะดูแลโดยวิศวกรเครื่องกล แต่ปรากฏว่าข้อเสนอของเอกชนรายหนึ่งถูกตีตกไป เนื่องจากโถส้วมไม่ประหยัดน้ำ 6 ลิตร จึงกลายเป็นว่าเรื่องโถส้วมทำให้ข้อเสนอของเอกชนถูกตีตก และมาจากการตีความของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ หรือการก่อสร้างทางด่วน ที่นำผลงานอื่นๆ เช่น การสร้างกำแพงกันดินมาคิดด้วย
“หรืออย่างเรื่องรถไฟทางคู่ การตีความของคณะกรรมการฯก็มีปัญหา คือ มีบริษัทไทยไปเอาบริษัทข้ามชาติเข้ามา แต่บริษัทที่เข้ามานั้น เป็นบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อสร้างรถไฟทางคู่ แต่ปรากฏว่าเขาให้คิดเฉพาะผลงานบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทแม่เท่านั้น หรือแม้แต่การซ่อม guardrail (ราวเหล็กกั้นถนน) คณะกรรมการฯบอกว่า เอาผลงานสร้างถนนมาใช้ไม่ได้ ทั้งๆที่การสร้างถนนจะประกอบด้วย ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า และ guardrail อยู่แล้ว” ไกร ระบุ
@‘คอร์รัปชั่น-รัฐเน้นซื้อของราคาถูก’ ต้นตอผู้รับเหมาทิ้งงาน
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้างฯ คือ ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน เพราะภาครัฐมองว่าต้องซื้อของราคาถูก ซึ่งทำให้เกิดการทิ้งงานสูงมาก อย่างไรก็ดี การทิ้งงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นการรวบสัญญาก่อสร้าง เช่น สร้างโรงพัก และมีหลายคดีที่เป็นคดีอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่มีผู้รวบตัวกันเพื่อจงใจประมูลงานรัฐแล้วทิ้งงาน
มานะ ยังระบุว่า แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีการส่งเสริมการจัดซื้อสินค้าของ SME สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้านวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ และถูกเบียดเบียนจากดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเมื่อมีการคอร์รัปชั่นแทรกตัวเข้ามา ทำให้กลไกที่วางไว้เสียหายไป เพราะถูกกลบไปด้วยผลประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเขียนกลไกการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเหล่านี้อย่างชัดเจน
(มานะ นิมิตรมงคล)
@ชี้ต้นเหตุกำหนด ‘ราคากลาง’ งานรัฐ ‘สูง-ต่ำ’ เกินความเป็นจริง
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า การมีกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกำหนดเรื่องการมี shot list ผู้รับเหมา หรือการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นผู้รับจ้างนั้น ตนเห็นว่าภาครัฐเดินทางถูกทางแล้ว เพราะเป็นเรื่องเหล่านี้จะตะแกรงขั้นแรกที่ทำให้ได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ และประสิทธิภาพเข้ามารับงานภาครัฐ เพียงแต่การกำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้างนั้นจะให้สอดคล้องกับประเภทงาน ซึ่งทราบว่าขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังดำเนินการอยู่
“เราเห็นอยู่ว่า การมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ก็เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐ ผู้ว่าจ้าง ต้องการได้ผู้รับจ้างที่มีประสิทธิภาพ และมั่นใจว่าทำงานได้ ซึ่งตอนอยู่ที่จุฬาฯ มีสิ่งที่อยากทำ คือ ถ้า TOR ของเรา ไม่ต้องระบุเวลาก่อสร้าง แต่ให้ผู้รับจ้างเสนอเวลามาเองได้ ตรงนี้จะเป็นตัวเลือกในการแข่ง ถ้าผู้รับจ้างมีความสามารถทางเทคนิคที่ดีก็สร้างได้เร็ว ถ้าเสร็จเร็ว ประโยชน์ที่ได้ก็มากขึ้น
โดยเฉพาะงานของกรุงเทพฯ หลายๆโครงการเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ มีผลกระทบต่อการจราจร หากเอาเรื่องเวลาการก่อสร้างมาเป็นปัจจัยในการคัดเลือกด้วย ก็น่าจะทำให้สาธารณะได้ประโยชน์ ซึ่งระเบียบปัจจุบันก็เปิดให้ทำได้ในลักษณะที่เป็น price performance แต่เข้าใจว่า การคัดเลือกของเรา ถ้าคณะกรรมการฯคัดเลือกป้องกันตัวเองไว้ก่อน ก็จะคัดเลือกราคาที่ต่ำสุด เพราะง่ายสุดในการไม่ถูกครหา แต่คิดว่าเราน่าจะปรับปรุงได้” วิศณุ กล่าว
วิศณุ ยังสะท้อนถึงปัญหาในกำหนด ‘ราคากลาง’ งานภาครัฐ ว่า นอกจากปัญหาเรื่องการปรับปรุงราคากลางที่ไม่ค่อยปรับปรุงกันบ่อยๆแล้ว จะพบว่าวิธีคิดการราคากลางบางกรณีมีปัญหา เนื่องจากในการคำนวณราคากลางนั้น สินค้าบางรายการยังไม่มีการกำหนดราคากลางเอาไว้ จึงเป็นช่องโหว่ว่า รายการสินค้าที่ยังไม่มีราคากลางดังกล่าว ทำให้การตั้งราคากลางไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งทำให้เกิดการล็อกสเปค หรือทำให้ราคากลางสูงเกินความเป็นจริงได้
(วิศณุ ทรัพย์สมพล)
@ผลักดันเรียกเก็บ ‘ค่าธรรมเนียม’ การอุทธรณ์จัดซื้อจัดจ้างฯ
สุธิษา จารุเมธาวิทย์ ผู้อำนวยการกองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้มีการพูดถึงเรื่องประโยชน์สาธารณะเอาไว้ เช่น กรณีการแก้ไขสัญญา ซึ่งต้องไม่ใช่แค่คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญด้วย และแม้ว่ากฎหมายไม่มีการระบุว่า ต้องทำเพื่อประโยชน์หน่วยงานรัฐ และต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่นัยยะของกฎหมายฉบับนี้ ก็คือทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
สุธิษา ระบุด้วยว่า แต่ละปีมีการยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างฯเข้ามายังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการเล่นเกม เช่น ในปีงบ 2565 มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา 2,031 เรื่อง และเป็นการอุทธรณ์ฟังขึ้นเพียง 415 เรื่อง หรือคิดเป็น 20.43% หรือ 1 ใน 5 ของเรื่องที่ยื่นอุทธรณ์ทั้งหมด ทำให้กรมบัญชีกลางต้องทำงานหนักมาก ดังนั้น กรมบัญชีกลางจึงอยู่ระหว่างการผลักดันการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอุทธรณ์ฯ
“พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เราเปิดให้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์เพื่อความโปร่งใส ใครที่ไม่เห็นด้วย หรืออาจมองว่าถูกกลั่นแกล้ง ประวิงเวลา เราก็เปิดให้สิทธิ์ ทำให้จำนวนเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาก็มาก และในตัวกฎหมายกำหนดว่า ถ้ามีการอุทธรณ์จะไม่สามารถลงนามสัญญาได้ ดังนั้น การเสียเวลากับการอุทธรณ์ที่ไม่สุจริต ไม่เป็นสาระ ทำให้หน่วยงานลงนามสัญญาล่าช้า ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าไปด้วย” สุธิษา กล่าว
ด้าน ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ถือว่าเป็นตัวที่ช่วยออกแบบว่าเราอยากเห็นการจัดซื้อจัดจ้างของไทยเป็นแบบใด เช่น ได้ผู้รับเหมาที่ทำงานเร็ว ทำงานดีขึ้น ทำงานรับผิดชอบ หรือรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่การเปิดช่องให้มีการใช้วิจารณญาณ หรือเปิดให้ออกความคิดแบบเปิดกว้าง บางครั้งก็เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ แต่ถ้าเราขีดเส้นให้ชัดก็จะแก้ปัญหานี้ได้
"ถ้าเราใช้หลักการที่ชัดเจน มีมาตรฐาน เป็นธรรม ก็จะช่วยลดการใช้ดุลพินิจได้แน่นอน" ปิยะดิษฐ์ กล่าว
@TDRI เสนอ 5 แนวทางปรับปรุงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ
ทั้งนี้ ในการเสวนาสาธารณะครั้งนี้ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และคณะ ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “ปรับกฎหมายจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ปัจจุบันการก่อสร้างของภาครัฐมีมูลค่าประมาณ 60% ของการก่อสร้างทั้งหมด จึงมีผลอย่างมากต่อทิศทางของอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย แต่จากการศึกษาปัญหาที่พบ คือ กฎระเบียบและแนวทางการจัดจ้างก่อสร้างของภาครัฐที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“แนวทางการจัดจ้างก่อสร้างของภาครัฐที่เป็นอยู่ ไม่ค่อยทำให้เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร แปลว่ามีความสูญเสียค่อนข้างเยอะ ไม่เอื้อต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มใหม่ๆมากมาย การจัดจ้างก่อสร้างเน้นของถูกอย่างเดียว และการจัดซื้อเน้นของถูกอย่างเดียว ซึ่งไม่ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ” สมเกียรติ กล่าว
สมเกียรติ ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากนัก เป็นเพราะ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี 2560 เพื่อให้มีความโปร่งใสเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีปัญหาอยู่ และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง และปีนี้เป็นปีที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มา 5 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องมีการทบทวนตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
“การปรับปรุงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐ ประเด็นใหญ่ๆที่เป็น pain point ซึ่งต้องปรับปรุง คือ การทำให้การเบิกจ่ายตรงเวลามากขึ้น และลดเวลาการหยุดชะงักของงานลงให้ได้ ซึ่งถ้าทำ 2 เรื่องนี้ได้ ก็ช่วยทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้มากกว่า 0.5%” สมเกียรติ กล่าว
สำหรับแนวทางการปรับปรุง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอใน 5 ประเด็น คือ 1.การปรับแนวคิดในกฎหมายจากที่เน้น ‘ประโยชน์หน่วยงานของภาครัฐ’ ไปสู่การเน้นเรื่อง ‘ประโยชน์สาธารณะ’ เพราะประโยชน์สาธารณะ ก็คือประโยชน์ของประเทศ รวมกับประโยชน์หน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้ใช้บริการ แต่บางครั้งการที่กฎหมายสะท้อนว่าให้เน้นประโยชน์หน่วยงานภาครัฐเป็นหลักนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์สาธารณะ
2.ปรับแบบสัญญาจัดจ้างก่อสร้างให้เป็นธรรม สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติสากล โดยยึดตามแบบสัญญามาตรฐานของ FIDIC (The International Federation of Consulting Engineers) 3.ปรับกลไกการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบและค่าแรงได้เพิ่มขึ้นมาก ภาครัฐจึงต้องปรับราคากลางให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะได้งานที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีการทิ้งงาน
4.กำหนดเงื่อนไขการจัดจ้างที่โปร่งใส ไม่สร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็น และไม่สอดคล้องกับพัฒนาของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างในโลกยุคใหม่หลังโควิด-19 จะเน้นในเรื่อง ‘Asset Light’ คือ การประกอบธุรกิจต่างๆไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินทางกายภาพมากนัก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับตัว
และ 5.สร้างกลไกในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (public consultation) อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การร่างกฎกติกาที่กำกับก่อสร้างโดยรวม ไปจนถึงการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ TOR ในโครงการต่างๆ ซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างของไทยมีโปร่งใส มีประสิทธิภาพมาก และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย
(สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ซ้าย) และ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ (ขวา))
@ชงปรับ 6 เงื่อนไข คัดเลือกผู้รับเหมา-เพิ่มประสิทธิภาพงาน
ด้าน ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ TDRI หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกผู้รับเหมาให้โปร่งใส และส่งเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงาน นั้น คณะผู้วิจัยฯเสนอว่า 1.ให้เพิ่มระยะเวลาการรับฟังร่าง TOR จัดซื้อจัดจัดจ้างตามมูลค่างาน จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าให้รับฟังไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อลดข้อสงสัยเกี่ยวกับการล็อกสเปค โดยต้องกำหนดระยะเวลารับฟัง TOR ให้สอดคล้องกับความซับซ้อนและมูลค่าของงาน
เช่น หากเป็นงานที่มีมูลค่า 5 แสนถึง 5 ล้านบาท ควรมีระยะเวลารับฟัง TOR ไม่น้อยกว่า 5 วัน ,หากเป็นงานที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท ควรมีระยะเวลารับฟัง TOR ไม่น้อยกว่า 10 วัน หรือหากเป็นงานที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ควรมีระยะเวลารับฟัง TOR ไม่น้อยกว่า 20 วัน เป็นต้น
2.ควรต้องกำหนดให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องชี้แจงเหตุผล กรณีไม่ปรับแก้ TOR ตามข้อคิดเห็นจากการรับฟังสาธารณะ และภาคเอกชน ว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง 3.ลดข้อกำหนดที่เพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น เช่น ควรยกเลิกเกณฑ์ ‘จำนวนเครื่องจักรและอุปกรณ์ขั้นต่ำ’ ในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจของเอกชนที่ปรับไปสู่ ‘Asset Light’ หรือเปลี่ยนจากการซื้ออุปกรณ์มาเป็นเช่าเครื่องจักร
4.เพิ่มหลักเกณฑ์การจัดชั้นที่ส่งเสริมคุณภาพ เช่น ผู้รับเหมาในโครงการขนาดใหญ่ต้องมีใบรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยแรงงาน และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม 5.ให้มีการจ้างช่วงได้เป็นหลักโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเดิมที่ต้องขออนุญาตทุกกรณี เพื่อลดต้นทุนเครื่องจักรและได้เครื่องจักรที่คุณภาพดีขึ้น ได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาทำงานที่ซับซ้อน และก่อสร้างทำได้เร็วขึ้น และ 6.กำหนดข้อยกเว้นอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับกรณีการจ้างช่วงที่ต้องขออนุญาตก่อน
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ปรับกฎหมายจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย” และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘กรมบัญชีกลาง’ จะเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นไปในทิศทางใด หลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มากว่า 5 ปีแล้ว