"...กรณีนี้ นายฟาริก กระทำการเพียงคนเดียว หรือทำเป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องรายอื่นร่วมด้วยอีกหรือไม่? การสอบสวนเชิงลึกเพื่อขยายผลของเจ้าหน้าที่ ต่อจากนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด ..."
นายฟาริก ยังให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า รับเงินดังกล่าวไว้จริง แต่คิดว่า ไม่ได้เป็นการกระทำความผิด
คือ ความคืบหน้าล่าสุดกรณีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองกำกับการ 6 (บก.ปปป.) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. วางแผนเพื่อทำการจับกุม นายฟาริก ศรีดนุเดช ข้าราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี ในคดีเรียกรับเงินค่ารังวัดที่ดินเป็นจำนวนเงินสูงถึง 120,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการอนุมัติขอแบ่งแยกโฉนดที่ดิน (จากที่ดินเดิม 1 โฉนด)
หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายว่า ได้จัดสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรร มิตรภาพบ่อทอง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยได้ดำเนินการขอรังวัดเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดิน เพื่อประกอบการขายให้เป็นไปตามระเบียบ ต่อมาผู้เสียหายได้รับการติดต่อเจ้าพนักงานทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี เพื่อขอค่าดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินจำนวน 8 แปลง ๆ ละ 15,000 บาท คิดเป็นเงิน 120,000 บาท และนัดให้ผู้เสียหายนำเงินมามอบให้
เจ้าหน้าที่จึงได้วางแผนเข้าจับกุม โดยประสานไปยังผู้เสียหายเพื่อวางแผนในการจับกุม พร้อมนำเงินสดจำนวน 120,000 บาท ที่มีการเรียงเลขธนบัตร นำไปมอบให้กับ นายฟาริก ตามที่มีการนัดหมายไว้ในเวลา 10.10 น.ของวันที่ 29 ก.ย.65 ที่บริเวณห้องรับประทานอาหารของสำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการซุ้มกำลังอยู่บริเวณโดยรอบ จนกระทั่งเมื่อมีการส่งมอบเงินเป็นที่เรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
คำถามที่น่าสนใจ สำหรับกรณีนี้ คือ แท้จริงแล้ว ค่ารังวัดที่ดิน ที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับรัฐ ในการขอดำเนินการแบ่งแยกโฉนด ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงานที่ดินปัตตานี พบว่ามีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดิน แบ่งแยกโฉนด และขั้นตอนปฏิบัติ อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักมาตรฐานและส่งเสริมการรังวัด ไว้ดังนี้
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรังวัดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และโฉนดที่ดิน
1. ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ แปลงละ 30 บาท
- ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน( เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่) ไร่ละ 2 บาท
2. ค่าธรรมเนียมการพิสูจน์สอบสวนหรือตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ 30 บาท
- ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ 30 บาท
- ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท
3. ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ แปลงละ 50 บาท
- ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน( เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่ ) ไร่ละ 2 บาท
4. ค่าธรรมเนียมรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
- ถ้าเรียกเป็นรายแปลง แปลงละ 40 บาท
- ถ้าเรียกเป็นรายวัน วันละ 40 บาท
- ค่าคัดหรือจำลองแผนที่ แปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่หรือสอบแส แปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท
5. ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
- ค่าคำขอ แปลงละ 5 บาท
- ค่ามอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท
- ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ปิดประกาศ แปลงละ 10 บาท
- ค่าพยานให้แก่พยาน คนละ 10 บาท
- ค่าหลักเขต หลักละ 15 บาท
6. ค่าใช้จ่ายการรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือพิสูจน์สอบสวน หรือตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
• ค่าพาหนะเดินทางให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ และคนงานจ้างไปทำการรังวัด ให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายตามระเบียบ
• กระทรวงมหาดไทยด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
• ค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าจ้างคนงานที่จ้างไปทำการรังวัด ให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายตามระเบียบ
• กระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
• ค่าป่ายการให้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ หรือผู้แทนที่ไปในการรังวัด ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
• ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการรังวัดให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เรื่องละ 100 บาท
การคิดค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดิน
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินที่ผู้ขอจะต้อชำระตามกฎหมาย (กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 และ 48 ออกตามความในพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) มีดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมรังวัด
- เกี่ยวกับโฉนดที่ดิน แปลง/วัน/ละ 40 บาท
- เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แปลง/วัน/ละ 30 บาท
2. ค่าหลักเขตที่ดิน หลักละ 15 บาท (ตามที่ใช้จริง)
3. ค่าใช้จ่ายในการรังวัดลักษณะเหมาจ่าย ดังนี้
3.1 ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าส่งหมายข้างเคียงทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 200 บาท
3.2 ค่าป่วยการเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.3 ค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด วันละไม่เกิน 1,600 บาท
3.4 ค่าคนงานรังวัด คน/วัน 420 บาท (ตามเขตจังหวัดที่กระทรวงการคลังกำหนด)
ทั้งนี้ การกำหนดวันทำการรังวัดตามข้อ 3.3 และ 3.4 กำหนดตามจำนวนเนื้อที่ ดังนี้
การรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
1. เนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่ 3,480 บาท
2. เนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 6,760 บาท
3. เนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ เวลาทำการ 3 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 10,040 บาท
4. เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 4 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 13,320 บาท
การรังวัดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
• เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 2,640 บาท
• เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 5,080 บาท
หมายเหตุ
- กรณีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ทุก 50 ไร่ หรือเศษเกินกว่า 25 ไร่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา ฯลฯ หรือเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง หรือที่สวนเป็นไม้ ยืนต้น เช่น สวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยาง ฯลฯ เป็นต้น ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีการรังวัดต้องคำนวณจำกัดเนื้อที่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีการรังวัดมีที่ดินข้างเคียงมากแปลง ทุกๆข้างเคียง 30 แปลง หรือเศษเกินกว่า 15 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีการรังวัดแบ่งแยกจัดสรร ทุกๆ 8 แปลง หรือเศษเกินกว่า 4 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัด 1 วัน
- กรณีมีเหตุข้อ1 และ 2 รวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน ให้เพิ่มวันทำการรังวัดได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ระบุไว้ดังนี้
ยื่นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ คือ โฉนดที่ดิน ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ที่ดินนั้น ตั้งอยู่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เว้นแต่ ได้มีการยกเลิกอำนาจนายอำเภอ ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
หลักฐานประกอบการขอรังวัด แบ่งแยก หรือสอบเขตโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ประกอบไปด้วย
• บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)
• โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
• หลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
• บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
• โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้
( 1 ) ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน เว้นแต่ โฉนดแผนที่ กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้
( 2 ) ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
( 3 ) ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน
ขณะที่ขั้นตอนการรังวัด แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน กำหนดไว้ว่า
1. รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
2. รับคำขอสอบสวน ชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
3. ส่งฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด กำหนดเงินมัดจำรังวัด
4. ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง และพิมพ์หนังสือแจ้งข้างเคียง
5. รับหนังสือแจ้งข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัด รับหลักเขตที่ดิน
6. ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันที่กำหนดไว้
7. คำนวณเนื้อที่ และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
8. ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน เรียกผู้ขอมาจดทะเบียน
9. สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
10. ตรวจอายัด
11. ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน และค่าโฉนด
12. แก้รายการทะเบียน และจดทะเบียนแบ่งแยก
13. สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก
14. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
15. แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก
โดยขั้นตอนการขอแบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่ และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์
1. เจ้าของที่ดินนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นคำขอ
2. ให้ถ้อยคำในการนัดรังวัด เพื่อ - กำหนดวันทำการรังวัด
- กำหนดค่าใช้จ่ายในการรังวัด
- กำหนดเจ้าหน้าที่และสถานที่นัดพบ
3. รับเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดและปักหลัก จนเสร็จการ
4. ลงนามในเอกสารต่าง ๆ
5. รอรับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการจดทะเบียน ฯลฯ
ทั้งหมดเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดิน แบ่งแยกโฉนด และขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์กรมที่ดิน
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในข่าวเกี่ยวกับโครงการหมู่บ้านจัดสรร มิตรภาพบ่อทอง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จุดเกิดเหตุ มิได้มีการระบุจำนวนเนื้อที่ไว้ชัดเจน
จึงทำให้ยังไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้ชัดเจนว่า ค่าดำเนินการ นายฟาริก เรียกเก็บ จำนวน 8 แปลง ๆ ละ 15,000 บาท คิดเป็นเงิน 120,000 บาท สูงเกินความเป็นจริงไปมากน้อยเพียงไหน?
สำคัญที่สุด กรณีนี้ นายฟาริก กระทำการเพียงคนเดียว หรือทำเป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องรายอื่นร่วมด้วยอีกหรือไม่?
การสอบสวนเชิงลึกเพื่อขยายผลของเจ้าหน้าที่ ต่อจากนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร
ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี คดีนี้ปัจจุบันศาลยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฟาริก จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านข่าวในหมวดเดียวกันประกอบ
- เรียกค่ารังวัด 1.2 แสน! จับสดจนท.ฝ่ายทะเบียนสนง.ที่ดินปัตตานี-พร้อมเงินของกลาง(มีคลิป)
- ยังให้การปฏิเสธ! จนท.ที่ดินปัตตานีเรียกรับ 1.2 แสน อ้างค่ารังวัดแยกโฉนด