“…แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามเผา แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบ ไม่ได้ผล จากการที่ตนได้ลงพื้นที่สำรวจไร่อ้อย ก็พบว่ายังมีการลักลอบเผา แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตามจับได้เพราะขาดหลักฐาน และมีผู้ลักลอบเผาเป็นจำนวนมาก จึงสรุปได้ว่าการควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control) คือปัญหาอุปสรรค ฉะนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นมาตรการการจูงใจเข้ามาแทน…”
‘อากาศสะอาด’ ไม่เพียงเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นความต้องการพื้นฐานของสุขภาพ และความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ แต่หาก ‘มลพิษทางอากาศ’ ยังคงเป็นภัยสำคัญที่คุกคามสุขภาพอีกด้วย เป็นวิกฤติการณ์ที่กำลังทวีความร้ายแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะฝุ่นควัน
สำหรับสาเหตุจุดเริ่มต้นของ ‘ฝุ่นควัน’ หลายคนต่างพุ่งเป้าไปที่การเผาผลผลิตทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ที่ประชากรในจังหวัดภาคเหนือของไทยต่างประสบปัญหานี้
เมื่อเร็วๆ นี้ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ได้เปิดตัวรายงาน ‘เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย’ ในงาน ‘อาเซียนร่วมใจ: ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร?’ (ASEAN: One Vision, Shared Pollution)
จากผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ระหว่างปี 2558 - 2563 ของกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ภูมิภาค เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศจากการเผา
โดยมีข้อค้นพบ คือ พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 1 ใน 3 ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา และภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี พื้นที่ป่าจำนวน 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด สันนิษฐานว่า เป็นข้าวโพดประเภทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ
ส่งผลให้ 20 ปี ที่ผ่านมา ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ขณะเดียวกัน พื้นที่ลาดชันเนินเขา ทำให้การใช้รถไถเป็นไปด้วยความยากลำบาก กลายเป็นว่า สิ่งที่ง่ายที่สุด คือ จุดไฟเผา ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว แต่สร้างปัญหาฝุ่นควัน
และจากการสืบค้นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกันระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พบว่า การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา และนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น คืออิทธิพลสำคัญที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถสืบสานไปหาต้นตอผู้ปลูกและบริษัทรับซื้อที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อสร้างกลไกเอาผิดและภาระรับผิดชอบของภาคธุรกิจผู้ได้ผลประโยชน์จากการทำลายป่าและมลพิษข้ามพรมแดน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงภาพรวมปัญมลพิษทางอาศและฝุ่นควันของประเทศไทย ว่า เมื่อพูดถึงฝุ่นควัน แบ่ง 2 ปัจจัย คือ ปัญหาฝุ่นควันในประเทศ โดยมีมากมายหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง จากการใช้รถ การเผาซากผลผลิตทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง และจากภาคอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยนอกประเทศ หรือมลพิษข้ามแดน จากการเผาในที่โล่งแจ้งของประเทศเพื่อนบ้าน
จากสถิติเมื่อปี 2564 พบว่า ประเทศมีการเผาในที่โล่งแจ้งรวมแล้ว ประมาณ 35 ล้านไร่ แบ่งเป็น จากการทำนาข้าว (นาปรัง/นาปี) 20 ล้านไร่ คิดเป็น 58% การเผาบนพื้นที่ป่าไม้ 9.7 ล้านไร่ คิดเป็น 28% จากการทำไร่อ้อย 2.7 ล้านไร่ คิดเป็น 9% และจากการทำไร่ข้าวโพด 1.9 ล้านไร่ คิดเป็น 5%
รศ.ดร.วิษณุ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อเจาะจงถึงเฉพาะการปลูกข้าวโพด จะพบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้นิยามและกำหนดพื้นที่ของการปลูกข้าวโพดแตกต่างกัน
โดย กษ.จะรายงานเฉพาะไร่ข้าวโพดที่มีการปลูกนอกพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ป่าไม้ ที่มีการรายงานว่ามีการเผาจากสถิติเกือบ 10 ล้านไร่ เป็นการรวมถึงไร่ข้าวโพดในพื้นที่ป่าไม้ด้วย ฉะนั้น จึงไม่มีตัวเลขชัดเจน จากการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในป่าไม้
“ทุกการเผาซากผลผลิตอ้อย 1 ไร่ จะส่งผลกระทบต่อสังคมประมาณ 1.2 หมื่นบาท หรือทุก 1 ตัน จะส่งผลกระทบประมาณ 1,300 บาทต่อตัน โดยต้นทุนในการทำไร่อ้อยทั้งประเทศ ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้ อ้อยและข้าวโพด ถือว่าถือเป็นสัดส่วนที่น้อยในภาคเกษตร แต่ว่าตัวตั้งตัวตีหลักที่มีการเผามากที่สุด คือ ข้าวนาปรัง นาปี” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามเผา แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบ ไม่ได้ผล จากการที่ตนได้ลงพื้นที่สำรวจไร่อ้อย ก็พบว่ายังมีการลักลอบเผา แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตามจับได้เพราะขาดหลักฐาน และมีผู้ลักลอบเผาเป็นจำนวนมาก จึงสรุปได้ว่าการควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control) คือปัญหาอุปสรรค ฉะนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นมาตรการการจูงใจเข้ามาแทน
ที่ผ่านรัฐบาลได้ให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย ค่าตัดสด 120 บาทต่อไร่ โดยจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดกว่า 8.3 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเยอะมาก โดยปีที่แล้วใช้ไปราว 5 พันล้านบาท คำถามคือ การเผาอ้อยจะหมดหรือไม่ คำตอบคือไม่หมด เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ตามมา คือภาระงบประมาณภาครัฐจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
“แม้ว่ามาตรการดังกล่าว จะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาให้เกิดผลในระยะสั้น แต่เมื่อถามว่า การที่รัฐให้เงินนี้ ทำให้เกษตรกรยกระดับการผลิต คำตอบ คือไม่ใช่ เพราะสิ่งที่รัฐทำอยู่ เรียกว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้เปล่า ซึ่งไม่เป็นผลดีในอนาคต แทนที่รัฐจะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนด้านพื้นฐานในการเกษตร ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต แต่รัฐเอาเงินมาเยียวยา สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ ขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าเกษตรของประเทศไทย เพื่อรัฐไม่ได้นำเงินไปกระตุ้นผลผลิตต่อไร่ หรือพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มมีฤดูใหม่ คือ ฤดูฝุ่นควัน โดยจุดเผาไหม้ในช่วงฤดูฝุ่นควัน เดืนอธันวาคม - เมษายน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถือเป็นช่วงพีคที่สุด และไม่ใช่แค่ไทย แต่ยังรวมถึงเวียดนาม ลาว เมียนมา อีกด้วย สถิติจำนวนจุดไฟไหม้ 2564 – 2565 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์
จากการวิเคราะห์บทเรียนสถานการณ์วิกฤติฝุ่นควัน PM 2.5 พบว่า ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำการเผา แต่เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคมนาคมขนส่ง โรงงาน พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลผลกระทบพื้นที่ป่า ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต
อีกทั้ง ส่งผลกระทบสุขภาพ มีคนเสียชีวิตเนื่องจากฝุ่นควัน 4 หมื่นคนต่อปี เศรษฐกิจสูญเสีย 1 แสนล้านบาท จากปัญหาฝุ่นควัน 5 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงที่จะมาเที่ยวภาคเหนือ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านมักถูกเป็นจำเลยทำให้โลกร้อน
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซับซ้อน เชื่อมหลายเรื่องหลายหน่วย ต้องมองทั้งระบบ คำสั่งแบบบนลงล่างแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องเป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน สร้างการมีส่วนร่วม ไม่โทษกันไปมา ต้องลุกขึ้นมาจับมือกันแก้ปัญหา มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ต้องหาทางออกแบบ Win-Win แก้ทั้งระบบในระดับท้องถิ่น ประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยให้ความสำคัญกับชุมชน และท้องถิ่นสำคัญที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่กับดินน้ำป่า คนในเมืองคิดดีแค่ไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้ หากชุมชนท้องถิ่นไม่ลุกขึ้นมา” นายชัชวาล กล่าว
นายชัชวาลย์ กล่าวว่า จากที่รัฐใช้นโยบายห้ามเผาเด็ดขาด แต่หลังจากนั้นทำให้เกิดเหตุไฟไหม้หาต้นตอไม่ได้ เพราะทำให้การเผาไปอยู่ใต้ดิน ทำให้ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ได้นำร่องการทำงาน ผ่านกลไกระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ‘ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน รัฐธุรกิจวิชาการภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายหนุน’ มีคณะกรรมการทุกพื้นที่ระดับตำบล และตัวแทนจากทุกหมู่บ้านเข้ามาร่วม แบ่งการเผาที่จำเป็นและไม่จำเป็น
“แต่เดิมเราใช้กฎหมายห้ามเผาเด็ดขาด ดังนั้น กลายเป็นว่าต้องไปไล่จับ และกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่วิธีนี้ทำให้ทุกคนหันหน้ามาหากัน ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา โดยพื้นที่เชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่อง ดำเนินการมากว่า 2 ปี” นายชัชวาลย์ กล่าว
นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเบาลง เกิดความรู้มากขึ้นจากระบบแอปพลิชัน ระบบบริหารจัดการ ประชาชนเข้าใจว่าอะไรจำเป็น ไม่จำเป็น รู้ค่าฝุ่นละออง กระแสลม ต้องใช้ข้อมูลในการพิจารณาทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการผลักดันให้ครอบคลุมภาคเหนือตอนบนต่อไป
ภาพจาก: MFU Photoclub
น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวถึงปัญหามลพิษในประเทศไทย ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศก็รุนแรงมาโดยตลอดไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่เนื่องด้วยปีนี้ที่มีเรื่องฝนฤดูกาล จึงดูเหมือนว่า ยังไม่พีค โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามลพิษทางอากาศมากับกิจกรรมหลายๆ ส่วน ไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่น PM 2.5 อย่างเดียวที่อันตราย แต่เพราะอากาศเป็นเรื่องที่เกี่ยวถึงสภาวะของแต่ละบุคคลในมิติสุขภาพ จึงถือว่าเป็นสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก
เมื่อมองภาพรวมมลพิษทางอากาศ สามารถแบ่งแหล่งกำเนิดได้เป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมของประชาชนชุมชนในมิติวิถีชีวิตที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางอาจจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศบางส่วน ซึ่งบางคนก็จะพูดในเรื่องว่าเครื่องครัวเรือนที่ก็ใช้ถ่านหินในการประกอบอาชีพในการประกอบอาหาร หรือการใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์เดินทาง เป็นต้น
ส่วนที่ 2 คือ การใช้การเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในมิติที่เป็นภาพใหญ่พัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้น จึงเป็นจุดสำคัญที่เราน่าจะจับตา เพราะการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ไทยมีกฎหมายระบุว่า จะต้องให้รับอนุญาตและต้องมีมาตรการทางกฎหมายในการกำกับเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งกลไกในการควบคุมดูแล
โดยกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เมื่อกฎหมายกำหนด แปลว่า อาจจะก่อให้เกิดมลพิษกี่จำนวนที่อาจเป็นอันตราย จึงต้องมีมาตรการ เช่น ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ก่อน และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่จะต้องควบคุมก่อน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องจับตามองถึงผลกระทบที่จะส่งผลในวงกว้าง นอกจากนี้ เราจำเป็นจะต้องจับตาและตั้งคำถามถึงมาตรการที่มีอยู่ในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมว่ามีเพียงพอหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่การที่จะกำกับไม่ให้ก่อให้เกิดมลพิษที่มากระทบประชาชน
“ช่วงหลังมาจากมลพิษสิ่งสำคัญที่ต้องจับตา คือ แหล่งกำเนิด ซึ่งในปัจจุบันกลไกในมิติกฎหมายหรือว่าการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเราเพียงพอในที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงแล้วหรือยัง? และรัฐเองอย่ากำกับควบคุมกับกิจการที่มันก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน” น.ส.สุภาภรณ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมของปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ที่เราต่างพบเจอมาโดยตลอด และเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า ฤดูฝุ่นควัน ต้องติดตามต่อไปว่า รัฐจะมีแนวทางหรือมาตรการการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวอย่างไร เพราะ ‘อากาศสะอาด’ เป็นความต้องการพื้นฐานของสุขภาพ และเป็นตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของประชากรในประเทศอีกด้วย