คำพิพากษาศาลฎีกาฯฉบับเต็ม ยกฟ้อง‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’ ยุคนั่ง รมว.มหาดไทย ป.ป.ช.ฟ้องกรณีรับข้อเสนอ‘ณัฐวุฒิ-นปช.’ปี 2557 ขอให้อารยะขัดขืนหากเห็นไม่เป็นธรรม ชี้เหตุการณ์ยังไม่เกิด ไม่ถือละเว้น ไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งคุ้มครองความสะดวกประชาชน ส่วนข้อหาพูดยุยงปลุกปั่น อัยการสั่งไม่ฟ้องก่อนแล้ว ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนซ้ำอีก
2 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย กรณีไม่สั่งการดำเนินการ กรณีได้รับรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา และเดินทางไปกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สรุปให้ฟังเป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปิดล้อมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการนำป้ายผ้าไวนิลที่ปรากฏข้อความในลักษณะแบ่งแยกประเทศไปติดตามท้องที่ต่างๆ ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่านายจารุพงศ์กระทําความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิ ตามที่โจทก์ฟ้อง (ข่าวเกี่ยวข้อง:'จารุพงศ์'รอด! ศาลฎีกานักการเมืองฯ ยกฟ้องคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปราศรัยแบ่งแยกปท.)
รายละเอียดข้อเท็จจริงในคดี ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษามารายงานอย่างละเอียด
ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เปิดคำฟ้อง –เหตุเกิดจากวัน นปช.ชุมนุมที่สนามกีฬา โคราช
โจทก์ฟ้องว่า จําเลยดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จําเลยยังคงรักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอํานาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย และรับผิดชอบในการกําหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวง ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกําหนดหรืออนุมัติและมีอํานาจสั่งราชการและบังคับบัญชา เพื่อให้เป็นไปตามอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 20 และจําเลยมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการบําบัดทุกข์บํารุง สุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอํานวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และ การพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือ ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 30 เมื่อระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกัน จําเลยกระทําความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 นายธงชัย แสงประทุม เจ้าพนักงานปกครองจังหวัดชํานาญการ สังกัดปกครองจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 จึงจัดทําบันทึกรายงานสถานการณ์ดังกล่าวโดยมีนายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ลงนาม บันทึกข่าววิทยุในราชการกรมการปกครองถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเสนอแนวทาง ปฏิบัติจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองติดตามความเคลื่อนไหวและแจ้งตํารวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จัดเจ้าพนักงานตํารวจดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อเสนอให้จําเลยทราบโดยจัดส่งไปยังจําเลยทางโทรสาร ซึ่งจําเลยทราบหรือควรจะได้ทราบแล้วว่าจะมีการชุมนุม จําเลยย่อมต้องใช้กลไกของระบบราชการ หรือข้อสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้อํานาจไว้ เพื่อกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามอํานาจหน้าที่ แต่จําเลยไม่ได้มีข้อสั่งการอย่างไร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ช่วงบ่ายจําเลยเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งได้มีการ ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่องเอเชียอัพเดทไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ แกนนําการชุมนุมกล่าวปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศ และสั่งให้มีการรวมตัวกันเพื่อไปปิดล้อมองค์กรอิสระต่าง ๆ จําเลยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยได้รับรู้ถึงการกระทําของแกนนําและกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด ทั้งยอมรับข้อเสนอ ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้แจ้งต่อผู้ชุมนุม จําเลยกลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยกล่าว ปราศรัยสนับสนุนการชุมนุมและยอมรับข้อเสนอที่ตรงข้ามซึ่งเป็นการขัดหรือแย้งกับหน้าที่และอํานาจของตน มีข้อความว่า
“…วันนี้กลุ่มผู้นําทั้งหลายได้ออกมาเสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่คุณณัฐวุฒิได้สรุปให้ฟังนั้น ผมในนามของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลก็จะขอน้อมรับเอาข้อเสนอทุกข้อของท่านไปดําเนินการต่อร่วมกับพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดงหมดทุก ๆ คน ของ นปช. ครับ เราต่อสู้ ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งอํานาจอธิปไตย....ทุกคนในที่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นแกนนํา ถ้าท่านใช้การแตกเซลล์จาก หนึ่งคนหาให้ได้สิบคน สิบคนหาให้ได้ร้อยคน ร้อยคนหาให้ได้พันคน พันคนหาได้หมื่นคน หมื่นคนหาได้ แสนคน แสนคนหาได้ล้านคน ทําได้ไหมครับพี่น้องครับ ผมเชื่อมั่นว่าท่านทําได้นะครับในฐานะผมเป็น นายทะเบียนอาวุธปืนนะครับ ....คนไทยเนี่ยมีอาวุธปืนอยู่ในประเทศสิบล้านกระบอกนะครับพี่น้องครับ เป็นอาวุธปืนที่ใช้สําหรับป้องกันตัวเอง เพราะฉะนั้นใครที่จะดูถูกอํานาจพลังของประชาชนก็ให้มันรู้ไป ผมเชื่อมั่นว่าพวกเราทุกคนก็ต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่าง เพื่อเข้าสู่สถานการณ์แตกหัก และก็ยืนยันกับท่านได้นะครับว่ารัฐบาลก็จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ผมในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในคณะรัฐบาล เรารัฐบาลนี้มุ่งมั่นทํางานเพื่อพี่น้องประชาชน และจะทํางานต่อไปโดยไม่หวั่นไหว และจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด...”
ขึ้นเวทีปราศรัยยุยง-รับข้อเสนอไม่ให้นายกฯลาออก เดินหน้าจำนำข้าว เร่งจับกุมสุเทพ
ขณะที่จําเลยปราศรัยมีเจ้าพนักงานปกครองหรือหน่วยงานในบังคับบัญชาของจําเลยได้ร่วมสังเกตการณ์หรืออยู่ในสถานการณ์การชุมนุมด้วย จําเลยยังปราศรัย ในลักษณะยุงยงส่งเสริมเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีมูลเหตุจูงใจให้กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. หรือผู้ที่ได้รับชมการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่องเอเชียอัพเดทไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลงเชื่อคล้อยตามออกมาร่วมกันกระทําการตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช. อันเป็นการ ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เกิดความกระด้างกระเดื่อง ต่อระบบการปกครอง และเกิดความไม่สงบในประเทศ ทั้งที่จําเลยทราบดีอยู่แล้วว่าบ้านเมืองเกิดปัญหา ความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติจนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาและประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัด ปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จําเลยมีหน้าที่สั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อระงับ ยับยั้งมิให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่จําเลยกลับกระทําการเป็นปฏิปักษ์กับอํานาจหน้าที่ของจําเลย เพื่อสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นรัฐบาลต่อไปและเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จําเลยเป็นหัวหน้าพรรค จําเลยรับทราบข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม มีเนื้อหาสรุปว่าขอให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องลาออก ให้เร่งแก้ไขปัญหาโครงการรับจํานําข้าว ให้เร่งจับกุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนํา นายกรัฐมนตรีไม่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้เปิดเผยรายชื่อบริษัทหรือผู้สนับสนุน คณะกรรมการ ประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อจะได้ดําเนินการต่อต้านสินค้า หากมีสถานการณ์รุนแรงให้ประกาศชัตดาวน์ องค์กรอิสระทุกองค์กร ให้จัดตั้งองค์กรเงา เช่น กสม.เงา และอธิการบดีเงา ให้มวลชนเตรียมพร้อม ตลอดเวลา แต่ยังไม่ได้นัดหมายการเคลื่อนไหว แต่จําเลยกลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพิกเฉยไม่สั่งการเพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมือง จนเป็นเหตุให้มีกลุ่ม ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาชุมนุมเรียกร้องยังพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปิดล้อมสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้าราชการ และลูกจ้าง ปฏิบัติงานได้ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช. และได้มีการนําป้ายผ้าไวนิลที่ปรากฏข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ไปติดไว้บริเวณสะพานลอยข้ามถนนสาย พิษณุโลก - นครสวรรค์ บริเวณหน้าวัดจูงนาง หมู่ที่ 4 ตําบลท่าทอง อําเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณสะพานลอย ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาเชียงราย ตําบลเวียง อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ฝั่งขาเข้าจังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานลอย หน้าตลาดสด ป่าก่อดํา หมู่ที่ 10 ตําบลป่าก่อดํา อําเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ตลอดจนมีการติด ป้ายไวนิลว่า
“อยู่ด้วยกันด้วยความสามัคคีไม่ได้ ... ก็แบ่งแยกกันอยู่ ถึงกับกูแยกแผ่นดินกันไปเลย”
บนสะพานลอยย่านอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้สนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร การกระทําของจําเลยเป็นการใช้อํานาจหน้าที่ในตําแหน่งโดยมิชอบ และจําเลยยังไปกล่าวปราศรัยเพื่อยุยงส่งเสริมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศในหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชน ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องเข้าควบคุมอํานาจในการปกครองประเทศ การกระทําของจําเลยเป็นผลโดยตรงให้เกิดผลกระทบต่อความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะการขึ้นปราศรัยของจําเลยเป็นการกล่าวยุยงเพื่อให้เกิดความไม่สงบ จึงเป็นการกระทําให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ทั้งเป็นการสนับสนุนให้การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ลุกลามขยายตัวอย่างกว้างขวางจนเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบขึ้นในบ้านเมืองได้ ดังจะเห็นได้จากการที่จําเลยกล่าวปราศรัยที่จังหวัดอุดรธานี ในชื่องาน “นปช. ลั่นกลองรบ ครั้งที่ 2” จําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการป้องกันมิให้ เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองอันเป็นหน้าที่โดยตรงของจําเลยในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จําเลยรับทราบแนวทางข้อเสนอของกลุ่ม นปช. แล้วละเว้น ไม่ดําเนินการสั่งการ ตรวจสอบ หรือดําเนินการใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจึงมีมูลความผิด เหตุเกิดที่ตําบลปรุใหญ่ อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ต่อเนื่องเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 116 (2) (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบมาตรา 30 และ 192
ออกหมายจับจำเลย ไม่มาศาล
ศาลส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้ว จําเลยไม่มาศาล และได้ออกหมายจับแล้ว แต่ไม่สามารถจับตัวได้ภายในกําหนด จึงพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทํา ต่อหน้าจําเลย และจําเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 33 วรรคสาม แต่จําเลยตั้งทนายความ มาดําเนินการแทน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 วรรคสอง
พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประกอบกับสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้ง คําแถลงปิดคดีของโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้มีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในแกนนําจัดการ ชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นที่มีจําเลยเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยการเคลื่อนไหวและชุมนุมมีการปิดการจราจรในถนนสําคัญ บุกรุกและ ยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ไล่ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากสถานที่ราชการ เอาโซ่คล้องประตูเพื่อไม่ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทํางาน โดยกระทรวงมหาดไทย ถูกปิดยึดพื้นที่ทําให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นระยะเวลา นานประมาณ 6 เดือน ต้องไปใช้สถานที่ชั่วคราวภายนอกหลายแห่ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มีผลทําให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตําแหน่ง แต่ต้องอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 181 ขณะเกิดเหตุจําเลย รักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จําเลยจึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ทั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา วันที่ 21 มกราคม 2557 ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต ท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557 ตามเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 469 และแผ่นที่ 470 จําเลยซึ่งรักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงเป็นรองประธานในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 6 ตามเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 371 ถึงแผ่นที่ 379 นายกรัฐมนตรีได้มีคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ตามเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 473 ถึงแผ่นที่ 475วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 นายธงชัยจัดทําบันทึกข่าววิทยุในราชการกรมการปกครอง เรื่อง รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า
1. สถานการณ์ ด้วยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 09.00 - 17.00 น. กลุ่ม นปช. จะจัด ประชุมแกนนํา นปช. และสมาชิกทั่วประเทศในชื่องาน “ นปช. ลั่นกลองรบ” ณ อาคาร ลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะมีสมาชิกมาร่วมประชุมประมาณ 4,000 คน 2. การปฏิบัติ จัดเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองติดตามความเคลื่อนไหว และแจ้งตํารวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาจัดเจ้าพนักงานตํารวจ ดูแลความสงบเรียบร้อย จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ โดยนายชยาวุธเป็นผู้ลงนามตามเอกสารหมาย จ.11 และส่งทางโทรสารไปตามลําดับสายงานและการบังคับบัญชาเพื่อเสนอต่อจําเลย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557ได้มีการชุมนุมดังกล่าวโดยมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่องเอเชียอัพเดทไปทั่วประเทศ ในเวลา 17.06 นาฬิกา นายณัฐวุฒิได้กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่ม นปช. ต่อจากนั้นจําเลยได้กล่าวปราศรัยมีข้อความตามฟ้องปรากฏตามคําถอดแถบบันทึกเสียงเอกสาร หมาย จ.12 แผ่นที่ 390 ถึงแผ่นที่ 391 หลังจากนั้นนายธงชัยจัดทําบันทึกข่าววิทยุในราชการ กรมการปกครองฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ตามเอกสารหมาย จ.13 เสนอต่อจําเลย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง แต่จําเลยไม่ได้มีข้อสั่งการอย่างใด ต่อมามีกลุ่ม คนนําป้ายผ้าไวนิลปรากฏข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ไปติด ไว้บริเวณสะพานลอยข้ามถนนสายพิษณุโลก-นครสวรรค์ บริเวณหน้าวัดจูงนาง หมู่ที่ 4 ตําบลท่าทอง อําเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณสะพานลอย ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า สาขาเชียงราย ตําบลเวียง อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ฝั่งขาเข้าจังหวัด เชียงราย บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดสด ป่าก่อดํา หมู่ที่ 10 ตําบลป่าก่อดํา อําเภอแม่ลาว จังหวัด เชียงราย ตามเอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 425 ถึงแผ่นที่ 429 และข้อความว่า “อยู่ด้วยกันด้วย ความสามัคคีไม่ได้ ก็แบ่งแยกกันอยู่ ถึงกับกูแยกแผ่นดินกันไปเลย” ไปติดบนสะพานลอยย่าน อนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้สนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 483 วันที่ 18 มีนาคม 2557 ได้มีประกาศเรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 ตามเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 498 และแผ่นที่ 499 และได้มีคําสั่งกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ 110/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อํานวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ตามเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 500 และแผ่นที่ 501 วันที่ 19 มีนาคม 2557 มีกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวทางโทรทัศน์ช่องเอเชียอัพเดท ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลเวิลด์ลาดพร้าว ชักชวน กลุ่มมวลชนมาชุมนุมและปิดล้อมสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้าราชการ และลูกจ้างปฏิบัติงานได้ ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2557 ได้มีผู้ชุมนุมปิดล้อมสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอํานาจในการปกครองประเทศ เป็นเหตุให้จําเลยพ้นจากการรักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องจําเลย อัยการสูงสุด เห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่โจทก์ส่งให้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดําเนินคดีได้ จึงมีการตั้ง คณะกรรมการร่วมระหว่างผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดและผู้แทนฝ่ายโจทก์เพื่อดําเนินการรวบรวม พยานหลักฐาน แต่คณะกรรมการร่วมดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดําเนินการฟ้องคดีได้ ตามเอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 364 ถึงแผ่นที่ 367 โจทก์จึงฟ้องคดีเองตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 77 วรรคสาม ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นคดีนี้
วินิจฉัย รมว.มหาดไทยมีอำนาจกำกับสั่งการ-รักษาความสงบเรียบร้อย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า จําเลยกระทําความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่
เห็นสมควรวินิจฉัยข้ออ้างของจําเลยตามคําร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาด เบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายฉบับลงวันที่ 6 มกราคม 2565 เสียก่อน ซึ่งจําเลยยกข้อต่อสู้ว่า จําเลยไม่มีอํานาจหน้าที่ตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงตามฟ้องเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของจําเลย หรือจําเลยมิได้ใช้อํานาจหน้าที่ในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น
เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยยังคงรักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอํานาจหน้าที่เป็น ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย และรับผิดชอบในการกําหนดนโยบาย เป้าหมาย และ ผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวง ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือ ที่คณะรัฐมนตรีกําหนดหรืออนุมัติ และมีอํานาจสั่งราชการและบังคับบัญชาเพื่อให้เป็นไปตามอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา 20 และจําเลยมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการบําบัดทุกข์บํารุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอํานวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมือง การปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 30 อันเป็นหน้าที่ทั่วไปของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการกํากับดูแลการปฏิบัติราชการหรือสั่งการ ฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการบริหารงานที่รับผิดชอบซึ่งในคดีนี้คือการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ใช้อํานาจเข้าไปสั่งการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ดังปรากฏจากคําเบิกความของนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ พยานโจทก์ซึ่งดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย (ในขณะเกิดเหตุ) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (จําเลย) เคยมีข้อสั่งการในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 5/2556 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2556 สั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ชุมนุม ตามเอกสารหมาย จ.61 ดังนี้
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจหน้าที่ โดยตรงในการกํากับดูแลและสั่งการให้พนักงานฝ่ายปกครองดําเนินการให้มีผลสอดคล้องกับนโยบาย หรือแนวทางที่จําเลยกําหนดในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อขณะเกิดเหตุจําเลยรักษาการ ในตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จําเลยต้องปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จําเป็นตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มาตรา 181 อันรวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ตนด้วย ดังนั้น จําเลยจึงมีอํานาจ หน้าที่ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การที่จะถือว่าจําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นความผิดฐานนี้ ต้องเป็นกรณีที่มีหน้าที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย มิใช่ว่าจําเลยจะต้องมีข้อสั่งการหรือต้องดําเนินการในทุกครั้งทุกเรื่องเสมอไปจึงจะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งการที่จะพิจารณาว่าจําเลยต้องดําเนินการใดให้เป็นไปตามอํานาจหน้าที่ใน การรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป
ยังไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งการเพื่อคุ้มครองความสะดวกประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
กรณีจึงมีข้อต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า พยานหลักฐาน จากการไต่สวนได้ความว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 นายธงชัยได้จัดทําบันทึกรายงานสถานการณ์ ข่าวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายชยาวุธเป็นผู้ลงนามในบันทึก ข่าววิทยุในราชการกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ นม 00182/192 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง โดยเสนอการปฏิบัติว่าให้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองติดตามความเคลื่อนไหว และแจ้งตํารวจภูธร จังหวัดนครราชสีมาจัดเจ้าพนักงานตํารวจดูแลความสงบเรียบร้อย จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ตามเอกสารหมาย จ.11
จากข้อความในบันทึกข่าววิทยุฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดบ่งชี้ว่าการนัดชุมนุมนั้นจะมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งปรากฏว่าเป็นการนัดชุมนุมภายในอาคารลิปตพัลลภฮอลล์เพียงชั่วคราว นายธงชัยและนายชยาวุธ ก็ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเพียงว่าให้ติดตามความเคลื่อนไหวและดูแลความสงบเรียบร้อยเท่านั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จําเลยจะต้องสั่งการเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และยังไม่มีเหตุที่จําเลยจะต้องสั่งการเพื่อให้ใช้มาตรการจํากัดเสรีภาพ ในการชุมนุมเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย หรือการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แม้ต่อมาจําเลยจะเดินทางไปร่วมการชุมนุมและกล่าวปราศรัยในที่เกิดเหตุอันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจําเลยทราบถึงการชุมนุมดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลา ตั้งแต่มีการรายงานข่าววิทยุจนถึงวันชุมนุมเป็นเวลาเพียง 2 วัน ทั้งก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยได้รับทราบ บันทึกรายงานข่าววิทยุฉบับดังกล่าวด้วยตนเองหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายวิบูลย์เบิกความว่า กระทรวงมหาดไทยถูกปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นเวลา ประมาณ 6 เดือน ดังนี้ กรณีจึงไม่แน่ว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจําเลยจะมีข้อมูลครบถ้วนและ มีเวลาเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างรอบคอบเพียงใด
ก่อนหน้านี้ ปี 2556 เคยทำหนังสือสั่งการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมบ้างแล้ว
นอกจากนี้ยังได้ความจากนายวิบูลย์อีกว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยมีข้อสั่งการ ในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 6/2553 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2553 สั่งการขอให้ ทุกจังหวัดดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ราชการ จัดประชุมผู้บริหารองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นการกระตุ้นเตือนให้ระวังการดําเนินคดีต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจว่าการกระทําความผิดต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ตามเอกสารหมาย จ.60 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 5/2556 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2556 สั่งการเรื่องการแก้ไข ปัญหากลุ่มผู้ชุมนุม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดําเนินการ 1) จัดทําแผนเผชิญเหตุกรณีเหตุการณ์ ชุมนุม โดยกําหนดขั้นตอน/ผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในเรื่องการข่าว การประชาสัมพันธ์ การทําความเข้าใจกับผู้ชุมนุมและประชาชนในพื้นที่ การดูแลความปลอดภัย การดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ ให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2) จัดแผนเผชิญเหตุเป็นการเฉพาะ เช่น แผนเผชิญเหตุกลุ่มผู้ชุมนุม ยางพารา/ปาล์มน้ำมัน แผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ เป็นต้น 3) ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการเคลื่อนย้ายอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ พร้อมทั้งดูแลและทําความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเป็นการระงับยับยั้ง การเคลื่อนย้ายสู่ส่วนกลาง/พื้นที่อื่นๆ ตามเอกสารหมาย จ.61 ซึ่งแสดงว่าจําเลยเองเคยมีข้อสั่งการ ไว้บ้างแล้ว การที่นายธงชัยและนายชยาวุธเสนอบันทึกข่าววิทยุฉบับดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าเป็นการ รายงานเพื่อให้ทราบว่าจะดําเนินการไปตามข้อสั่งการที่มีอยู่เดิมเท่านั้น มิได้มีข้อเสนอใดเพื่อให้จําเลยมีข้อสั่งการ และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจังหวัดนครราชสีมาได้จัดทําแผนเผชิญเหตุเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ และได้จัดตั้งศูนย์อํานวยการแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงขึ้น ตามเอกสารหมาย จ.25 และ จ.26 อีกทั้งสถานีตํารวจภูธรโพธิ์กลางได้มี การจัดเจ้าพนักงานตํารวจไปดูแลความสงบเรียบร้อย ตามเอกสารหมาย จ.27 ดังนั้น พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ดูแลสถานการณ์การชุมนุมตามหน้าที่อยู่แล้ว กรณีไม่จําต้องรอให้จําเลยมีข้อสั่งการเสียก่อนแต่อย่างใด
นอกจากนั้น นายวิบูลย์ เบิกความต่อไปว่า พยานได้เน้นย้ำให้ทางจังหวัดปฏิบัติหน้าที่คือรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ส่วนการดําเนินการตามแผนเผชิญเหตุหรือเรื่องที่ผิดกฎหมายจังหวัดต้องดําเนินการ อันเป็นการสั่งการตามหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองที่กฎหมายให้มีอํานาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 2 (16) และ (17) (ก) เช่นนี้ จําเลยจึงหาจําต้องมีข้อสั่งการในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกไม่ ยิ่งกว่านั้น ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ได้แสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับการกระทําของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลแล้วก็ได้ยุติการชุมนุมเองเมื่อเวลา 18.40 นาฬิกา โดยไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดความเสียหายในบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งตามบันทึกรายงานข่าววิทยุฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 เอกสารหมาย จ.13 ก็มิได้รายงานแนวโน้มว่าจะเกิดความรุนแรงแต่อย่างใด ส่วนการที่จะต้องมีข้อสั่งการเป็นพิเศษตามคําเบิกความของนายวิบูลย์นั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีเหตุการณ์พิเศษ เกิดขึ้น ซึ่งย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จําเลยจะคาดหมายและสั่งการล่วงหน้าทั้งหมดได้ ดังจะเห็นได้จากทาง ไต่สวนไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันชัดเจนว่า จําเลยควรจะต้องมีข้อสั่งการอย่างใดจึงจะถือ ได้ว่าเป็นการบริหารจัดการที่มีขอบเขตและกําหนดระยะเวลาเหมาะสมไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย การกระทําของจําเลยส่วนนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต
ขึ้นเวทีรับข้อเสนอ‘ณัฐวุฒิ’ให้อารยะขัดขืนหากเห็นว่าไม่เป็นธรรม เป็นเหตุการณ์ในอนาคต
ส่วนข้อที่จําเลยกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอของกลุ่ม นปช. โดยจําเลยมิได้สั่งการ ตรวจสอบ หรือดําเนินการใด เพื่อระงับยับยั้งมิให้มีการ ดําเนินการตามข้อเสนอของกลุ่ม นปช. นั้น เห็นว่า จําเลยเดินทางมาร่วมชุมนุมในช่วงท้ายของการ ชุมนุมเวลาประมาณ 17 ถึง 18 นาฬิกา โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยได้รับทราบเนื้อหาคําปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศของแกนนําคนอื่นก่อนหน้านั้น คงปรากฏเพียงว่าก่อนที่จําเลยกล่าวปราศรัยนั้น นายณัฐวุฒิได้กล่าวปราศรัยแจ้งแนวทางและข้อเสนอของกลุ่ม นปช. ต่อผู้ชุมนุมรวมทั้งจําเลย แล้วจําเลยได้กล่าวปราศรัยรับข้อเสนอที่นายณัฐวุฒิสรุปให้ฟัง ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วมี เนื้อหาสรุปว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีการวินิจฉัยกรณีใด ๆ จากองค์กรอิสระขัดกับหลักยุติธรรมขาดความชอบธรรมให้รัฐบาล ให้นายกรัฐมนตรีแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับการใช้อํานาจอันอยุติธรรมขององค์กรอิสระ ให้รัฐบาลพิจารณาสถานที่และเตรียมความพร้อมหากจําเป็นต้องตั้งที่ทําการรัฐบาลในภาคเหนือหรือภาคอีสาน ให้รัฐบาลดําเนินการ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ถ้ามีการนัดหมายชุมนุมใหญ่หรือเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพมหานคร ให้ นปช. เคลื่อนไหวอย่างเสรีได้เต็มที่แบบที่ กปปส. ทํา อยากล้อมบ้านใครก็ล้อม อยากปิดหน่วยงานไหนก็ปิด อยากประกาศตั้งกองกําลังไล่ล่าใครก็ตั้ง อยากจะปิดถนนสายก็ปิดได้ อยากจะทําอะไรแบบที่นายสุเทพ กับพวกทําขอให้ทําตามสบายเพราะคําพิพากษาได้คุ้มครองไว้ ถ้าถึงเวลาเข้ากรุงเทพ เหตุการณ์คับขัน สถานการณ์ได้เสีย ประกาศชัตดาวน์องค์กรอิสระทุกหน่วยงานทุกองค์กร ไม่น่ามีปัญหา เพราะ กปปส. ทําได้ เราก็ทําได้ หลังจากวันนี้ดูทีวีติดตามการแถลงข่าวแล้วให้ท่านเตรียมความพร้อมอาจจะมี การวอร์มอัพกันที่ต่างจังหวัดก่อน ซึ่งเห็นได้ว่าข้อเสนอเหล่านี้มิได้มีการกําหนดวันเวลาและสถานที่ที่จะ เคลื่อนไหวให้เป็นที่แน่นอน โดยให้ผู้ชุมนุมรอการแถลงข่าวก่อน ข้อเสนอดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการเสนอวิธีการสําหรับเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในขั้นตอนหารือตระเตรียมการของผู้ชุมนุมซึ่งย่อมจะมีความคิดเห็นได้ แต่หาใช่เป็นเหตุ อันกําลังจะเกิดขึ้นจริงที่จําเลยจะต้องเร่งสั่งการเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย
ข้อเสนอ นปช. รมว.มหาดไทย ไม่มีอำนาจ
นอกจากนั้น การที่จําเลยกล่าวปราศรัยว่าจําเลยในนามของรัฐบาลก็จะขอน้อมรับข้อเสนอทุกข้อของกลุ่มชุมนุมนั้น ก็มิได้เป็นการใช้ตําแหน่งหรือใช้อํานาจในหน้าที่สั่งการแก่เจ้าพนักงานปกครองหรือหน่วยงานในบังคับบัญชาของจําเลยที่อยู่ในที่ชุมนุม โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานก็มิได้มีผู้ใดถือเอาคําปราศรัยของจําเลย ในขณะเกิดเหตุมาเป็นข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการแต่อย่างใด ประกอบกับข้อเสนอดังกล่าวแต่ละข้อ ก็หาใช่เรื่องที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จําเลยจะสามารถรับมาดําเนินการตามหน้าที่จนบรรลุผลสําเร็จได้ดังคํารับข้อเสนอของจําเลย อีกทั้งการที่จะให้จําเลยสั่งการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีข้อสั่งการ ในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 6/2553 และครั้งที่ 5/2556 กําหนดไว้ก่อนแล้ว ส่วนการที่จะกําหนดแนวทางเพิ่มเติมเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัตินั้นก็มิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อเท็จจริง ปรากฏตามฟ้องว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นเกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของ ชนในชาติจนถึงขั้นที่ต้องมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 และต่อมาได้มีประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557
ยังไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ นปช.-พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอรับฟังว่าละเว้นหน้าที่
นอกจากนั้น ยังได้ความจากนายวิบูลย์อีกว่า ในส่วนการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่งที่ปิดล้อมสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยนั้นจําเลยก็มิได้มีข้อสั่งการใดเช่นกัน
จากพฤติการณ์ทั้งหมดที่วินิจฉัย มาแล้วข้างต้น แม้ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมอาจเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคเพื่อไทยที่จําเลย เป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อข้อเสนอดังกล่าวมิได้มีการดําเนินการใดอย่างจริงจัง การที่จําเลยมิได้สั่งการตรวจสอบหรือดําเนินการใดเพื่อระงับยับยั้งมิให้มีการดําเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวนั้น กรณียังถือ ไม่ได้ว่าจําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันพึงคาดหมายได้จากจําเลยในฐานะรักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในภาวะเช่นนั้น พยานหลักฐานตามการไต่สวนไม่มีน้ำหนัก ที่จะรับฟังได้ว่า จําเลยกระทําความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้อง
ข้อหายุยงปลุกปั่น ปชช. อัยการสั่งไม่ฟ้องก่อนแล้ว ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนซ้ำ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จําเลยกระทําความผิดฐานกระทําให้ปรากฏ แก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิด กฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) ตามฟ้อง หรือไม่
สําหรับความผิด ข้อหานี้เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องสําหรับความผิดข้อหานี้หรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษา มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า เดิมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติให้อํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แม้จะเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการก็ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 28 ประกอบมาตรา 30 เพิ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริง ข้อหาความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยได้ด้วย ซึ่งสําหรับคดีนี้ก็คือข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) นั่นเอง แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ก็กําหนดเงื่อนไขไว้ในมาตรา 55 (2) ว่า ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีการดําเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดําเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม เว้นแต่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งและ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อ ได้ความว่ามีผู้กล่าวโทษจําเลยจากการกระทําตามฟ้องโจทก์ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 113, 114, 116 และ 119 ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 และพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจําเลย ตามเอกสารหมาย จ.33 แผ่นที่ 971 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 บัญญัติว่า “เมื่อมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่อง เดียวกันนั้นอีก...” ดังนั้น คําสั่งของพนักงานอัยการจึงเป็นคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลเท่ากับว่าได้มีการดําเนินการต่อจําเลยในการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อสํานวนการไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏว่าการดําเนินการของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่ชอบ หรือมีกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา 55 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่มีอํานาจรับหรือยกเรื่องเกี่ยวกับการกระทําของจําเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 116 (2) (3) ขึ้นไต่สวนอีก จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอํานาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอํานาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม กรณีไม่ต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานอีกต่อไป
พิพากษายกฟ้อง
(คดีหมายเลขแดงที่ อม.19/2565)