ศาลฎีกานักการเมืองฯ พิพากษายกฟ้อง 'จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ' คดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปราศรัยแบ่งแยกประเทศ-ม็อบหน้า ป.ป.ช. ระบุอัยการชี้ขาดไปแล้ว ไร้อำนาจฟ้องแต่แรก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์คำพิพากษาตัดสิน ยกฟ้อง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีไปกล่าวปราศรัยงานชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ยอมรับข้อเสนอของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย) เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามา กทม. และปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. มีการนำผ้าไวนิล ปรากฏข้อความลักษณะแบ่งแยกประเทศไทยไปติดตามท้องที่ต่าง ๆ
ข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 10/2564 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณจำเลย โดยจำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานสถนการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา แต่จำเลยไม่ได้มีข้อสั่งการอย่างไร จำเลยกลับเดินทางไปกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สรุปให้ฟัง เป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปิดล้อมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการนำป้ายผ้าไวนิลที่ปรากฏข้อความในลักษณะแบ่งแยกประเทศไปติดตามท้องที่ต่าง ๆ
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 116 (2) (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบมาตรา 30 และ 192
จำเลยไม่มาศาลและศาลได้ออกหมายจับจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถจับได้ จึงพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย และถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 30 ทางปฏิบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ใช้อำนาจเข้าไปสั่งการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลและสั่งการให้พนักงานฝ่ายปกครองดำเนินการให้มีผลสอดคล้องกับนโยบายหรือแนวทางที่จำเลยกำหนดในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่การที่จะถือว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นความผิดจะต้องเป็นกรณีที่มีหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นโดยตรง ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงแต่ละกรณี
ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า พนักงานปกครองจัดทำบันทึกรายงานสถานการณ์ข่าวการชุมนุมเสนอจำเลย แต่ขณะนั้นยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดบ่งชี้ว่าจะมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งเป็นการนัดชุมนุมภายในอาคารเพียงชั่วคราว นายธงชัยและนายชยาวุธเสนอเพียงว่าให้ติดตามความเคลื่อนไหวและดูแลความสงบเรียบร้อย เมื่อระยะเวลาตั้งแต่มีการรายงานข่าวจนถึงวันชุมนุมเป็นเวลาเพียง 2 วัน
@ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบบันทึกรายงานข่าววิทยุด้วยตนเองหรือไม่
ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบบันทึกรายงานข่าววิทยุด้วยตนเองหรือไม่ เมื่อใด
ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยถูกปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน กรณีไม่แน่ว่าในช่วงเกิดเหตุจำเลยจะมีข้อมูลครบถ้วนและมีเวลาเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างรอบคอบเพียงใด
นอกจากนี้จำเลยมีข้อสั่งการในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 5/2556 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ไว้แล้ว นายธงชัยและนายชยาวุธมิได้มีข้อเสนอใดเพื่อให้จำเลยมีข้อสั่งการอีก พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจได้ดูแลสถานการณ์การชุมนุมตามหน้าที่อยู่แล้ว นายวิบูลย์เน้นย้ำให้ทางจังหวัดรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง อันเป็นการสั่งการตามหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16) และ(17) (ก)
จำเลยจึงหาจำต้องมีข้อสั่งการในเรื่องเดียวกันซ้ำอีก กลุ่ม นปช. ได้แสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับการกระทำของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลแล้วก็ได้ยุติการชุมนุมเองไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าจำเลยควรจะต้องมีข้อสั่งการอย่างใดจึงจะถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการที่มีขอบเขตและกำหนดระยะเวลาเหมาะสมไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอของกลุ่มนปช. นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบเนื้อหาคำปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศของแกนนำคนอื่นส่วนข้อเสนอข้ออื่นก็มิได้มีการกำหนดวันเวลาและสถานที่ที่จะเคลื่อนไหวให้เป็นที่แน่นอน โดยให้ผู้ชุมนุมรอการแถลงข่าวก่อน
จึงมีลักษณะเป็นการเสนอวิธีการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งยังไม่ทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
กรณีหาใช่เป็นเหตุอันกำลังจะเกิดขึ้นจริงที่จำเลยจะต้องเร่งสั่งการ เจ้าพนักงานก็มิได้มีผู้ใดถือเอาคำปราศรัยของจำเลยมาเป็นข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการ ประกอบกับข้อเสนอแต่ละข้อหาใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งการที่จะให้จำเลยสั่งการเพื่อให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้นมิใช่เรื่องง่าย
เนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาความขัดแย้งและความ แตกแยก ส่วนการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจำเลยก็มิได้มีข้อสั่งการใดเช่นกัน
@ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันพึงคาดหมายได้จากจำเลยในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในภาวะเช่นนั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหานี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3)
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มิได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 28 ประกอบมาตรา 30 เพิ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงข้อหาความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ซึ่งคดีนี้คือข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ก็กำหนดเงื่อนไขไว้ในมาตรา 55 (2) ว่า ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม เว้นแต่มีหลักฐานปรากฎชัดแจ้ง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
เมื่อได้ความว่าได้มีผู้กล่าวโทษจำเลยจากการกระทำตามฟ้องโจทก์ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114, 116 และ 119 และพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559
@ พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลย
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลย ซึ่งคำสั่งของพนักงานอัยการเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด มีผลเท่ากับว่าได้มีการดำเนินการต่อจำเลยในการกระทำความผิดข้อหานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นแล้ว
เมื่อไม่ปรากฏว่าการดำเนินการของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่ชอบหรือมีกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา 55 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่มีอำนาจรับหรือยกเรื่องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) ขึ้นไต่สวนอีก
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องข้อหานี้
พิพากษายกฟ้อง.