BA.2.75.2 นั้นมีทักษะสูงที่สุดในแง่ของการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ซึ่งหลักฐานของคำกล่าวอ้างนี้ก็มาจาก พลาสมาของเลือดถูกแยกมาในกลุ่มของผู้ที่ติดเชื้อซึ่งเคยผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว หรือที่เรียกกันว่าการติดเชื้อแบบก้าวหน้านั่นเอง ซึ่งมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆรวมไปถึงสายพันธุ์ย่อย BA.5
แม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยนั้นจะมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละวัน แต่อย่างไรก็ตาม มีข่าวที่ค่อนข้างจะน่ากังวล เมื่อศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุถึงการเฝ้าติดตามโควิด-19 เจนเนอเรชัน 3 ว่า โอไมครอน BA.2.75.2 พบแล้วในไทย 1 ราย
ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่าข้อมูลจากศูนย์จีโนมฯ นั้นเกิดขึ้นเพียงสองวันหลังจากที่มีรายงานข่าวความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโอไมครอน BA.2.75.2 ในประเทศอินเดีย
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานข่าวจากอินเดียมานำเสนอว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับ BA.2.75.2 บ้าง และควรกังวลกับไวรัสนี้แค่ไหน
มีรายละเอียดดังนี้
นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 เป็นต้นมาไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอยู่ในสายของสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนชื่อว่า BA.2.75 นั้นก็เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ถูกเฝ้าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้ยังไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ แต่คาดว่าน่าจะมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งจากการแพร่กระจายดังกล่าวนั้นทำให้เริ่มที่จะมีการสืบสวนเกี่ยวกับตัวไวรัสแล้ว ขณะที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ออกมาประกาศเตือนถึงความเสี่ยงของการที่สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ดังกล่าวนั้นมีศักยภาพในการหลบภูมิคุ้มกันได้สูง
“ยังมีลำดับพันธุกรรมที่น้อยมากเพื่อที่จะศึกษาไวรัสดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตามคาดกันว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้นั้นถูกคาดกันว่ามีการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามที่เรียกว่า RBD ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของไวรัสสำหรับการเข้าไปยึดติดกับส่วนรับในเซลล์ของมนุษย์ มันยังเป็นเรื่องที่เร็วไปที่จะรู้ว่าสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้นั้นมีทั้งศักยภาพในการหลบภูมิคุ้มกันหรือว่ามีความอันตรายมากกว่าเดิมหรือไม่” พญ.สุมยา สวามินาธาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ WHO กล่าว
แต่ปัญหาที่หนักกว่าเดิมก็คือว่าโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 นั้นกลับมีการกลายพันธุ์อีก ส่งผลทำให้เกิดสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ตามมา ซึ่งมีรายงานว่าสายพันธุ์ยอ่ยดังกล่าวนั้นมีความอันตรายเหนือกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5
1.BA.2.75 ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดมากที่สุด แต่ได้มี BA.2.75.2 ปรากฎออกมา
รายงานข่าวจากไทม์สออฟอินเดีย ระบุว่าหน่วยงานจัดลำดับทางพันธุกรรมของประเทศหรือที่เรียกกันว่า INSACOG ได้ออกมากล่าวถึงการค้นพบ BA.2.75 ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้สายพันธุ์นี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตามองจาก WHO เพราะว่ากลายเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดไปแล้วในหลายจุดของประเทศอินเดีย
โดย นพ.ราเจช คาร์ยาการ์เต ผู้ประสานงานของกระบวนการจัดลําดับทางพันธุกรรมในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า BA.2.75 นั้นมีการกลายพันธุ์ไปเป็น BA.2.75.2 หรือก็คือสายพันธุ์ย่อยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
“รัฐมหาราษฎระได้พบกับโควิดสายพันธุ์ย่อยนี้ในตัวอย่างของผู้ป่วยล่าสุด ซึ่งสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปก็คือว่าลูกหลานของโอไมครอนในรุ่นที่สองนั้นจะมายึดครองการระบาดของ BA.2.75 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ก็ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่” นพ.ราเจชกล่าวกับไทม์สออฟอินเดีย
2.BA.2.75.2 นั้นเริ่มที่จะตีตื้นตามมา
ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์ค Github มีการหารือกันของกลุ่มนักวิชาการ ระบุว่า โควิดโอไมครอน BA.2.75.2 มีลักษณะของการกลายพันธุ์อาทิ จุด R346T,จุด F486S และจุด D1199N และไวรัสนี้ถูกรายงานว่าพบเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย
อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะเป็นประเทศแรกที่มีการระบาดของ BA.2.75.2 แต่ข้อมูลการถอดพันธุกรรมชุดแรกนั้นกลับมาจากประเทศอื่น เช่นชิลี,อังกฤษ,สิงคโปร์,สเปน และเยอรมนี โดยไวรัสนี้นั้นพบว่ามีการระบาดไปยังประเทศอื่นๆอีกนอกเหนือจาก 8 ประเทศเหล่านี้ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พบการระบาดด้วยเช่นกัน
“ในตัวอย่างพันธุกรรมจำนวน 71 ตัวอย่างจากที่เมืองปูเน่ พบว่า 20 ตัวอย่างนั้นเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ขณะที่อีก 17 ตัวอย่างพบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่ามันน่าจะไล่ทันกับ BA.2.75 แล้ว” นพ.ราเจชกล่าว
นพ.ราเจชกล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามแม้ลักษณะของ BA.2.75.2 นั้นดูเหมือนกับว่าพยายามจะเป็นสายพันธุ์ที่ครองส่วนแบ่งการระบาดเป็นหลัก จากการกลายพันธุ์ที่มากกว่า แต่ว่าตอนนี้มันก็ยังไม่ได้ลดสัดส่วนของ BA.2.75 ลงแต่อย่างใด และตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่า BA.2.75.2 จะทำให้มีการติดเชื้อหรือว่าเข้าโรงพยาบาลอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน
ข้อมูลเปรียบเทียบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ (อ้างอิงวิดีโอจาก Whiteboard Doctor)
3.ไวรัสนี้นั้นสามารถเทียบเท่าได้กับ BA.4/BA.5 ได้หรือไม่
ข้อมูลจาก INSACOG ระบุว่า BA.2.75 และสายพันธุ์ย่อยนั้นครองส่วนแบ่งได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างเชื้อที่สามารถตรวจพบได้ในรัฐมหาราษฏระ
ทาง INSACOG ระบุต่อไปด้วยว่าสาเหตุที่นักวิจัยทั่วโลกนั้นเฝ้าจับตา BA.2.75.2 นั้นก็เป็นเพราะว่า BA.2.75 นั้นมีการระบาดจนแทนที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ไปแล้ว หมายความว่าสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้นั้นสามารถจะติดเชื้อได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้
ส่วน นพ.ซานเจย์ ปูจารี สมาชิกสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) ในด้านการรับมือกับโควิด-19 เป็นการเฉพาะกิจได้กล่าวว่า BA.2.75.2 นั้นดูเหมือนว่าแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเพราะว่ามันสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้
ในขณะที่ BA.2.75.2 นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นที่กังวลค่อนข้างมาก แต่นักวิจัยหลายคนได้ออกมาเตือนถึงความอันตรายของ BA.2.75.1 แทน โดย นพ.กฤษณปาล คาร์โมดิยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาชีววิทยาที่สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (IISER) กล่าวว่ายังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวอย่างใหม่ๆเข้ามาเพื่อจะได้สามารถกำหนดความอันตรายของสายพันธุ์ย่อยอื่นๆที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75 ได้
“ในอดีต สัดส่วนของ BA.2.75.2 นั้นพบว่าอยู่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มตัวอย่างเชื้อ ในขณะที่ BA.2.75.1 มีสัดส่วนอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มตัวอย่างเชื้อ อย่างไรก็ตาม เราต้องการตัวอย่างล่าสุดในช่วงเดือน ก.ย.ให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้เห็นว่า BA.2.75.2 นั้นมีความก้าวหน้าในส่วนของการระบาดอย่างรวดเร็ว” นพ.กฤษณปาลกล่าว
4.ความดื้อด้านต่อยาต้านโควิด
จากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ซานเจย์ พบว่าทั่วโลกนั้นกำลังรอให้เห็นข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับ BA.2.75.2 เพื่อจะได้รู้ถึงความอันตรายของไวรัสนี้ ซึ่งไวรัสนี้นั้นถูกคาดกันว่าจะมีความสามารถในด้านของการหลบหลีกแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 (โมโนโคลนอลแอนติบอดี)
ไม่ใช่แค่นักวิจัยจากอินเดียเท่านั้นที่แสดงความกังวล แต่นักวิจัยจากประเทศจีนก็เช่นกัน โดย นพ.ยุนหลง ริชาร์ด เชา ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักภูมิคุ้มกันวิทยาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ทวีตในลักษณะเดียวกันว่า BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ "ฉลาด" ที่สุด
“BA.2.75.2 นั้นมีทักษะสูงที่สุดในแง่ของการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ซึ่งหลักฐานของคำกล่าวอ้างนี้ก็มาจาก พลาสมาของเลือดถูกแยกมาในกลุ่มของผู้ที่ติดเชื้อซึ่งเคยผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว หรือที่เรียกกันว่าการติดเชื้อแบบก้าวหน้านั่นเอง ซึ่งมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆรวมไปถึงสายพันธุ์ย่อย BA.5” นพ.ยุนหลงทวีต
ทั้งนี้เมื่อสอบถามไปถึงประสิทธิภาพของการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี นพ.ยุนหลงกล่าวว่า BA.2.75.2 นั้นสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ อันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ที่ 486S และ 346T
5.การเรียกร้องให้มีวัคซีนชนิดใหม่เข้ามา
นพ.กฤษณปาลอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไม BA.2.75.2 นั้นถึงกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลของเขานั้นก็คือว่าวัคซีนที่มีการฉีดในประเทศอินเดียนั้นเริ่มจะล้าสมัยแล้ว และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอัปเดตวัคซีนเหล่านี้
“มีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการผลิตวัคซีนในรุ่นที่สองเพื่อที่จะรับมือกับการกลายพันธุ์ใหม่ๆหรือว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆที่เกิดขึ้น” นพ.กฤษณปาลกล่าว
ประเทศฟิลิปปินส์ประกาศจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ (อ้างอิงวิดีโอจาก UNTV)
ส่วน นพ.ซานเจย์กล่าวว่าตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปและมีข้อมูลที่น้อยเกินไปจะยืนยันได้ว่า BA.2.75.2 นั้นเป็นภัยคุกคามต่อโลก แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยืนยันว่า BA.2.75.2 คงจะไม่สร้างความรุนแรงของโควิด-19 ขึ้นมา แต่ถึงกระนั้นมันก็มีเงื่อนไขบางประการเช่นกัน
“มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าสายพันธุ์นี้หรือสายพันธุ์ย่อยอื่นๆจะครองส่วนแบ่งการระบาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามันคงจะเป็นไปได้อยากที่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นถ้าหากมีการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอ” นพ.ซานเจย์กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.idntimes.com/health/medical/alfonsus-adi-putra-2/subvarian-omicron-ba2752-makin-mengganas