"...นับเป็นครั้งแรกที่มีการเว้นว่างเก้าอี้ประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เอาไว้ ส่วนในอนาคตนายวิษณุจะได้รับแต่งตั้งเป็นกฤษฎีกาหรือจะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้..."
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาชุดใหม่ 136 ราย โดยให้มีผลตั้งแต่ 23 ส.ค.2565 เป็นต้นไป
แม้ว่าเป็นการแต่งตั้งตามวงรอบปกติที่จะมีการดำเนินการทุก 3 ปี แต่ประเด็นที่น่าสนใจครั้งนี้อยู่ที่การแบ่งคณะกฤษฎีกาออกเป็น 14 คณะ
- โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 136 ราย
- แบ่งงานกฤษฎีกา 14 คณะ 'มีชัย ฤชุพันธุ์'นั่งหัวโต๊ะการเมืองการปกครอง
ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐนมตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในคำสั่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1/2565 เรื่องการแบ่งกรรมการกฤษฎีกาออกเป็นคณะ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เพื่อแบ่งกรรมการกฤษฎีกา 136 รายอยู่ใน 14 คณะตามความเชี่ยวชาญ
แต่ละคณะประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 ตำแหน่ง รองประธานกรรมการ 1 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือทำหน้าที่เป็นกรรมการ
ประเด็นที่น่าสนใจครั้งนี้อยู่ที่ คณะที่ 2 คือ 'กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน' ที่พบว่าเก้าอี้ 'ประธาน' ถูกเว้นว่างไว้
คำสั่งประธานกรรมการกฤษฎีกาครั้งที่ 1/2565
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2558 มีการแต่งตั้งคณะกฤษฎีกาไปแล้ว 3 ครั้ง และมีคำสั่งเกี่ยวกับแบ่งงานกฤษฎีกา 3 ชุด ดังนี้
คำสั่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2558 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
คำสั่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1/2562 ลงวันที่ 21 ม.ค.2562 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
คำสั่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1/2565 ลงวันที่ 7 ก.ย.2565 ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
พบว่า ตั้งแต่ปี 2558-2565 ก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯ กฤษฎีกาชุดใหม่ 136 ราย บุคคลที่นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 คือ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาชุดใหม่ 136 รายไม่ปรากฏชื่อ 'วิษณุ เครืองาม' อยู่ในกรรมการกฤษฎีกา
และเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีที่ 'วิษณุ เครืองาม' ไม่ปรากฎชื่อเป็นกรรมการกฤษฎีกา
จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบการเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา รวม 8 ฉบับ ดังนี้
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 ส.ค.2543 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 93 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 63
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 30 ต.ค.2546 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 108 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 72
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 ส.ค.2552 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 113 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 76
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 ต.ค.2552 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 108 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 73
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 26 ต.ค.2555 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 108 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 75
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 พ.ย.2558 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 140 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 96
- ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 ธ.ค.2561 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 139 ราย มีชื่อนายวิษณุ อยู่ในลำดับที่ 97
และฉบับที่ 8 ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 ก.ย.2565 แพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 136 ราย ไม่ปรากฎชื่อนายวิษณุอยู่ในกรรมการกฤษฎีกาแต่อย่างใด
เท่ากับว่านับตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 22 ปี เป็นครั้งแรกที่การแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาไม่ปรากฎชื่อ 'วิษณุ เครืองาม'
กรรมการกฤษฎีการายหนึ่ง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ไม่มีชื่อนายวิษณุเป็นกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสวมหมวก 2 ใบ ปฏิบัติหน้าที่ 2 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน กล่าวคือ นายวิษณุเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 ซึ่งต้องเสนอความเห็นหรือจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเสนอให้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารพิจารณา
กรรมการกฤษฎีการายเดียวกัน ยังเปิดเผยด้วยว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการเว้นว่างเก้าอี้ประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 เอาไว้ ส่วนในอนาคตนายวิษณุจะได้รับแต่งตั้งเป็นกฤษฎีกาหรือจะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวภายใน 'กฤษฎีกา' คณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดทำร่างกฎหมาย รวมถึงให้ความเห็นแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่ยังต้องติดตามดูกันอย่างใกล้ชิด