"...เมื่อทำการสอบถามไปยังกรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก็ได้ตอบข้อหารือว่าอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินจัดสรรเพื่อการเกษตรกรรม ย่อมทำให้บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เข้าใจว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวออกโดยถูกต้อง ตนจึงสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเพื่อการเกษตร..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อเดือน ส.ค.2565 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด กับพวก คดีที่เกี่ยวกับการบุกรุกป่า 6,229 ไร่ ในพื้นที่ จ.เลย ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
คำสั่งเด็ดขาด! อสส.ไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เคฯในเครือ'เปรมชัย'คดีรุกป่า 6,229 ไร่ จ.เลย
โดย บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทในเครือตระกูลกรรณสูต ที่มี นายชัยยุทธ กรรณสูต (เสียชีวิตแล้ว) บิดานายเปรมชัย กรรณสูต , นางพิไลจิตร เริงพิทยา , นางนิจพร จรณะจิตต์ , นายเปรมชัย กรรณสูต และ นางอรเอม เทอดประวัติ เป็นกรรมการ ณ วันที่ 27 เม.ย. 2560 นายธรณิศ กรรณสูต น.ส.ปราชญา กรรณสูต และ นายปีติ กรรณสูต ถือหุ้นคนละ 15%
เหตุใดอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี บรรทัดต่อจากนี้เป็นคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการฉบับเต็ม
ข้อเท็จจริงได้ความว่า
คดีกล่าวหาว่า บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , นางพิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นางนิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนางอรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4 ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิด 25 ไร่ ร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่าในที่ดินของรัฐหรือทำสิ่งหนึ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
เหตุเกิดที่บริเวณบ้านร่องจิก หมู่ที่ 2 บ้านนาขามป้อม หมู่ที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย บ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม และบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวพันกัน เมื่อระหว่าง พ.ศ.2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงปัจจุบันทั้งเวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกัน
เหตุในคดีนี้เกิดจากผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกับพวกทำการตรวจสอบและตรวจยึดพื้นที่เกิดเหตุบริเวณสวนเกษตรภูเรือวโนทยาน เลขที่ 114 หมู่ที่ 2 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย รวมทั้งบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นป่าท้องที่บ้านร่องจิก หมู่ที่ 6 บ้านนาขามป้อม หมู่ที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม และบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวกันพัน จำนวนเนื้อที่ 6,229-2-37 ไร่
โดยได้กล่าวหาผู้ต้องหาที่ 1 , 2 , 3 และที่ 4 ว่า กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ประกอบกับมาตรา 72 ตรีต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกงาม ตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 15/2561 และสถานีตำรวจภูธรภูเรือ ตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 35/2561 , 37/2561 , 88/2561 และ 120/2561 เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
คำวินิจฉัย
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้กระบวนการในการขอออกหนังสือรับการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินทั้ง 147 แปลง ริเริ่มขึ้นจากการที่นายสมัคร สีทาสังข์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลร่องจิก และนายประเมิน คำบุญยอ หรือครูยนต์ รับราชการครูในท้องที่ตำบลร่องจิก กระทำการเป็นนายหน้าติดต่อซื้อขายและรวบรวมที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิจากผู้ครอบครองที่ดินเดิมในพื้นที่ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ และพื้นที่ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ปรากฎตามคำให้การของพยานผู้ครอบครองที่ดินเดิมหลายที่ให้การในทำนองเดียวกันว่า นายสมัครและครูยนต์เข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินเพื่อนำไปขายต่อให้กับบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 สอดคล้องกับคำให้การของนางพิไลจิตร เริงพิทยา และ นางนิจพร จรณะจิตต์ กรรมการบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ว่า นายชัยยุทธ กรรณสูต กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ในขณะนั้น ต้องการหาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร
หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ดินแล้วได้จัดให้พยานผู้ครอบครองที่ดินเดิมหลายรายตรวจสอบเอกสารหนังสือ น.ส.3 ก. ที่มีชื่อพยานหรือบิดา มารดา เป็นผู้ครอบครอง ซึ่งออกโดยการนำเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่มีชื่อของบุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งการครอบครองให้การในทำนองเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าตนเองหรือบิดา มารดา มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ไม่เคยเห็นเอกสาร ส.ค.1 ไม่รู้จักกับผู้ที่แจ้งการครอบครองดังกล่าวมาก่อน
แต่พยานหลายรายให้การยืนยันว่า ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินข้างเคียงและแบบไต่สวนผู้นำพิสูจน์จริง พยานซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินเดิมนั้นได้ลงลายมือชื่อในวันที่ทำการซื้อขายที่ดินที่กระทำขึ้น ณ บ้านของนายสมัคร และที่ทำขึ้นที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาวังสะพุง จริง แม้จะให้การว่าไม่ทราบว่าเอกสารที่นายสมัครและครูยนต์ได้จัดให้มีการลงชื่อนั้น เป็นเอกสารอะไรบ้าง เข้าใจเพียงว่าเป็นเพียงเอกสารการซื้อที่ดินก็ตาม
เห็นได้ว่า การดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก. อันเป็นเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ครอบครองเป็นการเฉพาะรายนั้น จะต้องมีเอกสารหลักฐานครอบครองการทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็น ส.ค.1 ใบเหยียบย่ำที่ดินหรือโฉนดตราจอง เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินนั้นมานานเท่าใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะสามารถออกเอกสารสิทธิหรือไม่
ตามข้อเท็จจริง นายสมัคร และครูยนต์กระทำการเป็นนายหน้าโดยเป็นคนกลางติดต่อกับผู้ครอบครองที่ดินเดิมทั้งสิ้น ตั้งแต่เริ่มสอบถามที่ดินที่จะทำการซื้อขาย ตลอดจนประสานงานในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายและรับเงินจากบริษัทผู้ต้องหาที่ 1
น่าเชื่อว่า นายสมัครและครูยนต์ร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 และอ้างเอกสารดังกล่าวยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นายสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่เกิดเหตุ และครูยนต์รับราชการครูในท้องที่เกิดเหตุเช่นกัน ย่อมจะต้องรู้จักบุคคลที่ใช้อ้างแสดงในเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน รวมทั้งชักจูงใจหรือโน้มน้าวให้ผู้ครอบครองขายที่ดินดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสมัครซึ่งเป็นถึงผู้ใหญ่บ้าน ย่อมจะต้องรู้จักสภาพพื้นที่ในปกครองของตนเป็นอย่างดีว่าเป็นที่ป่าหรือที่ดินของรัฐหรือไม่
ดังนั้น เมื่อพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าวมีผู้ครอบครองการทำประโยชน์อยู่แล้ว และบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ต้องการซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร จึงน่าเชื่อว่า นายสมัครและครูยนต์เห็นแก่ประโยชน์ในการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน จึงวางแผนและดำเนินการติดต่อขอซื้อที่ดินจากผู้ครอบครองเดิมจัดทำเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ที่มีชื่อของผู้อื่นและอ้างเอกสารนั้นต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินในขณะนั้น (ปัจจุบันถูกไล่ออกจากราชการ และอยู่ระหว่างหลบหนี) เพื่อขอออกเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในคดีนี้
เมื่อมีการออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงทำให้ที่ดินมีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นเอกสารที่ออกโดยสำนักงานที่ดินประจำจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบที่ดินทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จากนั้นจึงนำมาเสนอขายให้กับผู้ต้องหาที่ 1 สอดคล้องกับคำให้การของกรรมการบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ที่ให้การว่า นายชัยยุทธ กรรณสูต กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในขณะนั้น ประสงค์จัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร และเมื่อบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินแล้วก็ได้ทำประโยชน์โดยเพาะปลูกผลไม้เมืองหนาว ได้แก่ สวนองุ่น แมคาเดเมีย และอื่นๆ ตลอดมา
บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ได้ตรวจสอบที่มาของที่ดินดังกล่าวตามวิสัยของวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำแล้ว ดังจะเห็นได้จากพยานผู้ขายที่ดินหลายรายเข้าทำนิติกรรมซื้อขายและชำระเงินกันที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาวังสะพุง โดยมีผู้แทนของบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าได้ทำการซื้อขายที่ดินจากผู้ครอบครองที่ดินรายนั้นๆ จริง ประกอบกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็มีชื่อของผู้ครอบครองที่ดินเดิม ซึ่งเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจริง
นอกจากนี้ ผู้ต้องหาที่ 1 โดยนายชัยยุทธ กรรณสูต ยังได้มีหนังสือสอบถามไปยังกรมพัฒนาที่ดินขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบที่ดินในท้องที่เกิดเหตุว่าอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือไม่ ประการใด หรือมีมติคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ กรมพัฒนาที่ดินได้ตอบข้อหารือเป็นหนังสือที่ กษ 0806/1171 ลงวันที่ 18 เม.ย.2539 ว่า “ได้พิจารณาและตรวจสอบแล้ว ตามตำแหน่งที่ได้หมายลงในแผนที่ มาตราส่วน 1:50,000 ปรากฎว่าที่ดินอยู่ในพื้นที่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2506 ซึ่งที่ดินนอกเขตป่าไม้ดังกล่าวถือเป็นเขตที่ดินจัดสรรเพื่อการเกษตรกรรมและเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างอื่น”
ด้วยเหตุปัจจัยที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 147 ฉบับ เป็นเอกสารมหาชนที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ผู้เป็นนายหน้าจัดหาที่ดินมาขายก็รับราชการอยู่ในพื้นที่ ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ตรงกันกับชื่อของผู้ขายที่ดิน และเมื่อทำการสอบถามไปยังกรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก็ได้ตอบข้อหารือว่าอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินจัดสรรเพื่อการเกษตรกรรม ปัจจัยเหล่านี้ย่อมทำให้บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เข้าใจว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวออกโดยถูกต้อง ตนจึงสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเพื่อการเกษตร
จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าว หากบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 มีส่วนรู้เห็นกับนายสมัครและครูยนต์ ก็ไม่น่าที่จะต้องทำหนังสือสอบถามไปยังกรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการพัฒนาที่ดินโดยตรง
ทั้งสาระสำคัญของหนังสือที่สอบถามก็มีความครอบคลุมถึงมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการของฝ่ายบริหารที่ใช้ในการกำหนดนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับจัดสรรที่ดินและการอนุรักษ์ป่าไม้
นอกจากนี้พื้นที่เกิดเหตุดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่การสำรวจรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ ซึ่งในการสำรวจที่ดินเพื่อการออกโฉนด เจ้าหน้าที่ก็ได้ออกเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 แสดงให้เห็นว่า สภาพตามความเป็นจริงของพื้นที่มีสภาพของความเป็น 'ป่า' เนื่องจากมีประชาชนเข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อการเกษตรโดยทั่วไปเป็นเวลานาน และพื้นที่ดังกล่าว โดยรอบยังสามารถดำเนินการออกโฉนดอย่างถูกต้องได้
ด้วยเหตุนี้ แม้ภายหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 147 ฉบับดังกล่าวจะถูกเพิกถอนไป เป็นเหตุให้ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็น 'ป่า' ตามความหมายของ พ.ร.บ.ป่าไม้ และประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ขณะที่บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ บริษัทมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าที่ดินเกิดเหตุดังกล่าวตนได้มาโดยสุจริตและสามารถครอบครองทำประโยชน์ได้
บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 เป็นนิติบุคคลนอกพื้นที่ ย่อมไม่อาจเข้ามาดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินตั้งแต่การเริ่มรวบรวมที่ดิน ตลอดจนถึงการดำเนินกระบวนการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน เพราะที่ดินที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ดินมาก และมาจากการรวบรวมจากผู้ครอบครองที่ดินเดิมหลายราย
จึงน่าเชื่อว่าบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 มิได้มีส่วนรู้เห็นกับนายสมัครและครูยนต์ในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ถึงผู้ต้องหาที่ 4 ก็มิได้ถูกดำเนินคดีในฐานเป็นผู้สนับสนุน ในความผิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกดำเนินคดีในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแต่อย่างใด
แสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ถึงผู้ต้องหาที่ 4 ไม่ได้ร่วมกระทำผิด บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 มีเจตนามีเพียงต้องการที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น
นอกจากนี้ภายหลังจากเพิกถอนเอกสารสิทธิและคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลปกครองนั้น การที่บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ยังคงครอบครองพื้นที่เกิดเหตุอยู่ก็เนื่องมาจากบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 อยู่ระหว่างการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยการขอสัมปทานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แต่เหตุที่มีการขอถอนเรื่องการขอสัมปทานออกไปก็ด้วยเหตุที่ว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ดินแจ้งกับบริษัทว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวกำลังจะมีการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนด
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่านายสมัครเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการซื้อขายที่ดิน สอดคล้องกับการให้การของ น.ส.ปราณี นาราศี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุว่าอยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด และมาทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 มิใช่เรื่องผิดวิสัยที่บุคคลในพื้นที่จะทำงานรับจ้างให้กับบริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งทำการเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่แต่อย่างใด คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , นางพิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นางนิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนางอรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4
ข้อหา ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐมีเนื้อที่เกิน 50 ไร่ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 , 72 ตรี วรรคสอง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 22 พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 , 108 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายแล้ว ชื่อบุคคลอื่นที่ปรากฎในคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการฉบับนี้ ยังไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการถูกกล่าวหาในคดีอื่นแต่อย่างใด บุคคลดังกล่าวจึงยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ทวงคืนที่ดิน บ.เครือเปรมชัย!ดีเอสไอ-กรมป่าไม้ ลุยยึด น.ส.3 ก.จ.เลย 147แปลง 6,229 ไร่
- ทำความรู้จัก บ.ซี.พี.เค.ฯ ไร่องุ่น โรงบ่มไวน์ 6 พันไร่กลุ่มเปรมชัย จ.เลย 700 ล.
- DSI ส่งสำนวนคดี บ.ซี.พี.เค.ฯเครือเปรมชัย-พวก รุกป่า 6,948 ไร่ จ.เลย ให้อัยการ
- คำสั่งเด็ดขาด! อสส.ไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เคฯในเครือ'เปรมชัย'คดีรุกป่า 6,229 ไร่ จ.เลย