"...ถ้าต้องการให้ ป.ป.ช.พิจารณาคดีได้เร็วขึ้น ต้องมีการปรับปรุงกระบวนการไต่สวนบางอย่าง เช่น การแจ้งข้อกล่าวหา การขอออกหมายจับ ซึ่งทุกวันนี้องค์อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นทุกเรื่องทุกขั้นตอนต้องนำกลับเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการหมด นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช ยังทำหน้าที่ในการบริหารบุคคลด้วย ทำให้มีภารกิจมากจน ทำให้เวลาในการพิจารณาคดีน้อยลง..."
ขณะนี้มีคดีทุจริตและคดีร่ำรวยผิดปกติที่สำนักไต่สวนและสำนักงาน ป.ป.ช.ภาคต่าง ๆ ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา แต่รอจัดเข้าระเบียบวาระหรือที่เรียกว่า "คดีค้างท่อ" (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565) กว่า 550 เรื่อง
ในจำนวนนี้เป็นสำนวนที่ตั้งไต่สวนก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บังคับใช้และตั้งไต่สวนตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2561 (ไต่สวนครบ 3 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด) และส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 หรือประมาณ 1 ปีมาแล้วประมาณ 180 เรื่อง แต่ยังไม่ได้นำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ
ส่วนสาเหตุที่มีเรื่องค้างท่อเป็นจำนวนกว่า 550 คดี เพราะการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำได้ช้ามาก โดยเฉลี่ยอย่างมาก 2-3 คดีต่อวัน ทำให้คดีที่พิจารณาเสร็จภายในกำหนด 3 ปี ตั้งแต่กฎหมายเก่ากว่า 100 คดี ค้างท่อมานานกว่า 1 ปีแล้ว จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาหลายรายพ้นจากตำแหน่งบางคนเสียชีวิต บางคนยังอยู่ในตำแหน่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรืออาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีเพื่อให้คดีขาดอายุความ
คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว เกี่ยวกับภาพรวมปัญหาคดีรอชี้มูลค้างสะสมของ ป.ป.ช. หรือที่เรียกว่า คดีค้างท่อ ในปัจจุบันที่มีเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลตัวเลขปัญหาคดีค้างท่อของ ป.ป.ช. เพิ่มเติม ดังนี้
ในบรรดาคดีค้างท่อ ของป.ป.ช. ที่มีจำนวนมากในปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ
@ ตรวจสอบเบื้องต้น
เรื่องในส่วนการตรวจสอบเบื้องต้น ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,456 เรื่อง แยกเป็น
1. เรื่องที่เสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องฯ พิจารณา 611 เรื่อง
2. เรื่องที่เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา 740 เรื่อง
3. เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการเพิ่มเติม 105 เรื่อง
ทั้งนี้ในจำนวนเรื่องค้างท่อทั้งหมด 1,456 เรื่องนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานส่วนกลาง 395 เรื่อง ส่วนหน่วยงานภูมิภาค รวม 1,061 เรื่อง หน่วยงานเขคพื้นที่ภาค 5 มีจำนวนมากที่สุด 169 เรื่อง
@ ไต่สวนข้อเท็จจริง
สำหรับข้อมูลในส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่าเป็น คดีทุจริตและคดีร่ำรวยผิดปกติที่สำนักไต่สวนและสำนักงาน ป.ป.ช.ภาคต่าง ๆ ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา แต่รอจัดเข้าระเบียบวาระ (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565) กว่า 550 เรื่อง
จากการตรวจสอบพบว่า ตัวเลขเรื่องค้างท่อในส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริง ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 889 เรื่อง แยกเป็น
1. เรื่องที่เสนอผู้อำนวยการพิจารณา 99 เรื่อง
2. เรื่องที่เสนอรองเลขาธิการฯ ป.ป.ช./ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.พิจารณา 40 เรื่อง
3. เรื่องที่เสนอประธานกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา 83 เรื่อง
4. เรื่องที่เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา หรือ เป็นเรื่องที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา แต่รอจัดเข้าระเบียบวาระ มีจำนวน 557 เรื่อง
5. เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการเพิ่มเติม 110 เรื่อง
สำหรับข้อมูลเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงค้างสะสม ในภาพรวมนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 2 มากที่สุด 155 เรื่อง
รองลงมาคือ สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 3 จำนวน 151 เรื่อง , สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 จำนวน 131 เรื่อง , สำนัก ป.ป.ช.ภาค 1 จำนวน 106 เรื่อง และ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.สกลนคร 89 เรื่อง ตามลำดับ
@ สถิติคดีเรื่องการไต่สวนของ ป.ป.ช.
ในส่วนข้อมูลสถิติคดีเรื่องการไต่สวนของ ป.ป.ช. ปี 2562-2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 3,230 คดี กรณีชี้มูลวินัย-อาญา ช่วงปี 2564 มีมากที่สุด จำนวน 844 เรื่อง
ทั้งนี้ ในส่วนรายละเอียดข้อมูลทั้งหมด สามารถแสดงผลตามอินโฟกราฟิกได้ดังต่อไปนี้
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น มีข้อเสนอไปแล้วว่า ถ้าต้องการให้ ป.ป.ช.พิจารณาคดีได้เร็วขึ้น ต้องมีการปรับปรุงกระบวนการไต่สวนบางอย่าง เช่น การแจ้งข้อกล่าวหา การขอออกหมายจับ ซึ่งทุกวันนี้องค์อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นทุกเรื่องทุกขั้นตอนต้องนำกลับเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการหมด นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช ยังทำหน้าที่ในการบริหารบุคคลด้วย ทำให้มีภารกิจมากจน ทำให้เวลาในการพิจารณาคดีน้อยลง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งเป้าหมายให้พนักงานไต่สวนมีผลงานให้ไต่สวนคดีให้แล้วเสร็จ 3 คดีต่อคน/ปี ทั้งนี้ พนักงานไต่สวนมีประมาณ 750 คน ถ้าทำได้ตามเป้าหมาย จะมีเรื่องเสร็จ กว่า 2,200 คดี
"แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีศักยภาพในการพิจารณาได้ประมาณ 1,000 คดีต่อปี ซึ่งผลก็คือจะมีเรื่องค้างท่อเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน อย่างที่เป็นปัญหาในทุกวันนี้" แหล่งข่าวระบุ
ข้อเสนอนี้เป็นประโยชน์หรือไม่? จะได้รับการตอบสนองมากน้อยเพียงใด?
เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน