นับจากที่มีการจัดตั้งศูนย์ CDC ขึ้นมานั้น พบข้อมูลว่ามีประเด็นเรื่องการร้องเรียนข้อมูลกับศูนย์แห่งนี้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 371 เรื่อง โดย 10 อันดับจังหวัดที่มีการร้องเรียนเรื่องมายังศูนย์ CDC มากที่สุดประกอบไปด้วย 1.จังหวัดขอนแก่น 79 เรื่อง 2.จังหวัดนครราชสีมา 61 เรื่อง 3.จังหวัดสุราษฎร์ธานี 57 เรื่อง 4.จังหวัดสงขลา 41 เรื่อง 5.จังหวัดนนทบุรี 28 เรื่อง 6.จังหวัดพิษณุโลก 26 เรื่อง 7. จังหวัดนครปฐม 25 8.จังหวัดเชียงใหม่ 21 เรื่อง และอันดับ 9 และ 10 ได้แก่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี มีจำนวนเรื่องร้องเข้ามาเท่ากันคือ 16 เรื่อง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564- 31 ก.ค. 2565
โดยไฮไลต์ของการแถลงข่าวส่วนหนึ่งนั้น ก็คือการแถลงผลงานของ ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) ซึ่งเพิ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์ไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอว่าในช่วงเวลาเจ็ดเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. ศูนย์ CDC ที่ว่านี้ได้มีการทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้ประเมินถึงผลสำเร็จของศูนย์นี้กันต่อไป
มีรายละเอียดดังนี้
นับจากที่มีการจัดตั้งศูนย์ CDC ขึ้นมานั้น พบข้อมูลว่ามีประเด็นเรื่องการร้องเรียนข้อมูลกับศูนย์แห่งนี้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 371 เรื่อง โดย 10 อันดับจังหวัดที่มีการร้องเรียนเรื่องมายังศูนย์ CDC มากที่สุดประกอบไปด้วย 1.จังหวัดขอนแก่น 79 เรื่อง 2.จังหวัดนครราชสีมา 61 เรื่อง 3.จังหวัดสุราษฎร์ธานี 57 เรื่อง 4.จังหวัดสงขลา 41 เรื่อง 5.จังหวัดนนทบุรี 28 เรื่อง 6.จังหวัดพิษณุโลก 26 เรื่อง 7. จังหวัดนครปฐม 25 8.จังหวัดเชียงใหม่ 21 เรื่อง และอันดับ 9 และ 10 ได้แก่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี มีจำนวนเรื่องร้องเข้ามาเท่ากันคือ 16 เรื่อง
อย่างไรก็ตามเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความสนใจของประชาชนนั้นพบว่าอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ 1.จ.สุพรรณบุรี,2.จ.ตรัง 3. จ.มุกดาหาร 4.จ.ยโสธร และ 5.จ.สมุทรปราการ
สำนักข่าวอิศราจึงได้นำเอาเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความสนใจ ในทั้ง5 จังหวัดมาไล่เรียงให้เห็นเด่นชัด พร้อมทั้งนำเสนอข่าวย้อนหลังไปถึงเรื่องร้องเรียนดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
1.จังหวัดมุกดาหาร
@เรือท่องเที่ยวปริ๊นเซสจอดทิ้งร้าง
กรณีนี้ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีสื่อมวลชนได้รายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีเทศบาลเมืองมุกดาหารจัดซื้อเรือท่องเที่ยวปริ๊นเซส แต่กลับไม่มีการใช้งานปล่อยให้เรือท่องเที่ยวดังกล่าวทิ้งร้างไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ อันเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า
ส่งผลทำให้ในวันที่ 1 ก.ค. นายอนุชา พึ่งบุญศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมุกดาหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองมุกดาหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2549 เทศบาลเมืองมุกดาหารได้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเรือท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดมุกดาหาร เฉกเช่นเดียวกับจังหวัดนครพนม โดยใช้งบประมาณในการต่อเรือดังกล่าวประมาณ 20,000,000 บาทเพื่อต่อเรือสำราญมุกดาหาร ปริ๊นเซส กว้าง 9 เมตร ยาว 39 เมตร เป็นเรือสองชั้น รองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละกว่า 200 คน ภายหลังจากที่ได้รับมอบเรือท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการนำเรือท่องเที่ยวดังกล่าวให้เอกชนมาดำเนินการสัมปทานตามวัตถุประสงค์ แต่การท่องเที่ยวทางเรือกลับไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เอกชนจึงยกเลิกสัญญา
ต่อมา เทศบาลเมืองมุกดาหาร ได้มีการนำเรือท่องเที่ยวให้เอกชนเช่าเหมาลำ เพื่อหารายได้ให้กับเทศบาลเมืองมุกดาหาร จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด 19 เป็นเหตุให้เรือท่องเที่ยวดังกล่าวไม่ได้มีการใช้งานและจอดอยู่ที่ท่าเรือ ภายในมีสภาพทรุดโทรม อย่างไรก็ตามเทศบาลเมืองมุกดาหารยังคงมีการจัดเวรยามในการดูแลรักษาตามสภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร จะได้ดำเนินการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
2.จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับที่จังหวัดสมุทรปราการนั้นมีประเด็นอยู่สองเรื่องหลักๆด้วยกันได้แก่กรณีการก่อสร้างสนามกีฬา และการสร้างหอชมเมือง มีรายละเอียดดังนี้
@สนามกีฬา สร้างเสร็จยังไม่เปิดให้บริการ
กรณีดังกล่าวนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เพจเฟซบุ๊กต้องแฉได้มีการเปิดโปงปัญหาโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ที่มีปัญหาก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบและยังคงมีปัญหาของโครงการมาอย่างยาวนาน
โดยทางเพจต้องแฉนั้นได้ระบุต่อไปว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างงานสนามกีฬาของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สมุทรปราการ ที่ได้รับงบอุดหนุนจาก อบจ. สมุทรปราการ ปีงบประมาณ 2558 และ 2559 เพื่อก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬา 4 รายการ ที่เคหะเมืองใหม่บางพลี และที่ตำบลบางปลา รวมทั้งจัดฝึกอบรม 3 กิจกรรม รวมกว่า 223 ล้านบาท
และผลตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่างานก่อสร้างสนามกีฬาในโครงการต่าง ๆ มีปัญหาความล่าช้า งานก่อสร้างหลายส่วนไม่ถูกต้องตามแบบ เช่น สระว่ายน้ำ อัฒจันทร์ที่นั่งมี 5 ชั้น แต่ทำเพียง 4 ชั้น และไม่มีเก้าอี้พลาสติก ส่วนสนามเทนนิสแบบกำหนดเป็นพื้น คสล. (โครงสร้างเหล็ก - Steel Structure) แต่ก่อสร้างเป็นพื้นแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) และยังไม่ก่อสร้างอัฒจันทร์สนามเทนนิส แต่มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างไปครบแล้ว
เพจต้องแฉระบุต่อไปด้วยว่า สตง. ยังตรวจสอบพบอีกว่า ผู้อำนวยการ กกท.สมุทรปราการ ใช้วิธีพิเศษจัดซื้อจัดจ้าง ทำสัญญาจ้างเอกชนเข้ามารับงาน จำนวน 2 ราย แต่ในขั้นตอนการตรวจสอบรับมอบงาน ไม่มีตัวแทนของ กกท.สมุทรปราการ และ อบจ.สมุทรปราการ เข้าไปรวมด้วย และไม่พบหลักประกันสัญญาที่เอกชนมอบให้ กกท.สมุทรปราการด้วย สตง. จึงได้มีการประสานงานไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน - ปปง. ให้เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย
ล่าสุดเมื่อปี 2561 เรื่องมาหยุดอยู่ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ ส่งเรื่องเรียกร้องให้ กกท.สมุทรปราการ คืนเงินจำนวน 188,820,000 บาท จากความเสียหายที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันเรื่องราวเป็นอย่างไรต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
จึงเป็นเหตุทำให้เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น นายบดินทร์ กรีธาธร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่เคหะเมืองใหม่บางพลี อำเภอบางเสาธง และตำบลบางปลาอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ดังกล่าว
@หอชมเมืองสมุทรปราการ สร้างมายังไม่เปิดใช้งาน (เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 23 ส.ค.)
กรณีนี้ปรากฎเป็นข่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. โดยมีรายงานข่าวระบุว่ามีเบาะแสจากเพจ “ต้องแฉ” และเบาะแสจากศูนย์ CDC ระบุว่า โครงการอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ หรือ “หอชมเมืองสมุทรปราการ” เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของเทศบาลนครสมุทรปราการ และ อบจ.สมุทรปราการ ช่วยกันออกแบบตั้งแต่ปี 2542 แต่ผ่านมาเป็น 10 ปีกว่าโครงการจะได้รับการดำเนินงานจริง โดยใช้งบประมาณ 593,733,000 บาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2555 แต่จนปัจจุบันผ่านมาราว 10 ปี ยังไม่เปิดใช้งาน
ทำให้นายบดินทร์ กรีธาธร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มงานป้องกันการทุจริตและกลุ่มงานปราบปรามการทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ณ อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ความตามที่ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ สัญญาก่อสร้างหลัก คือสัญญาก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เลขที่ 72/2555 งบประมาณตามสัญญาจ้างจำนวน 592,800,000 บาท และมีสัญญาต่อเนื่องที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการอีกจำนวน 7 โครงการ ดังนี้
1.โครงการตกแต่งอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ (บางส่วน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามสัญญาที่ 57/2561 จำนวน 9,750,000 บาท สถานะดำเนินการแล้วเสร็จ
2.โครงการติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารอุทยานเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ (บางส่วน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามสัญญาที่ 22/2563 จำนวน 14,000,000 บาท สถานะดำเนินการแล้วเสร็จ
3.โครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณหอชมเมืองสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามสัญญาที่ 6/2562 จำนวน 66,500,000 บาท สถานะดำเนินการแล้วเสร็จ
4.โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์เพื่อใช้ในอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ (ระบบไฟฟ้าใต้ดิน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามสัญญาที่ 9/2562 จำนวน 20,606,973 บาท สถานะดำเนินการแล้วเสร็จ
5.โครงการตกแต่งภายในอาคารอุทยานเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามสัญญาที่ 52/2562 จำนวน 400,000,000 บาท สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คงเหลือเบิกจ่ายงวด 10
6.โครงการจ้างเหมาบริการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่อุทยานเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ จำนวน 12 ราย ๆ ละ 20,900 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 2,400,234 บาท สถานะดำเนินการเบิกจ่ายทุกสิ้นเดือนตามสัญญาจ้าง
7.โครงการจ้างเหมาทำความสะอาดบริเวณอาคารอุทยานเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ จำนวน 4 ราย ๆ ละ 12,600 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 492,000 บาท สถานะดำเนินการเบิกจ่ายทุกสิ้นเดือนตามสัญญาจ้าง
โดยการลงพื้นที่ในครั้งนั้น ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ให้ข้อเสนอแนะทาง อบจ. ประสานผู้รับจ้างให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา และได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว เพื่อรวบรวม พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ก็ปรากฎเป็นข่าวว่า โครงการอุทยานการเรียนรู้ และหอชมเมืองสมุทรปราการ จะเปิดให้เข้าชมฟรีในวันอังคารที่ 23 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันอังคาร ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ถึง 31 ต.ค. 2565
3.จังหวัดตรัง
@เอกชนถมดิน รุกล้ำชายฝั่งทะเล
กรณีดังกล่าวนั้นเป็นข่าวไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อนายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 9 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง ตัวแทนกรมเจ้าท่าตรัง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง อ.กันตัง ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังได้รับการร้องเรียนว่า มีเอกชนลักลอบถมดินรุกล้ำเข้าไปในแหล่งน้ำที่ริมชายฝั่งใกล้บริเวณท่าเรือหาดยาว อ.กันตัง จ.ตรัง ทำท่าเทียบเรือแพขนานยนต์
ผลการตรวจสอบพบว่ามีการถมดินหินรุกล้ำเข้าไปในแหล่งน้ำ โดยมีการนำหิน เสาปูนซีเมนต์มาว่างเรียงกันยื่นลงไปน้ำทำท่าเทียบเรือแพขนานยนต์เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายสิ่งของขึ้นและลงเรือ ระยะพื้นที่จำนวน 210 ตารางเมตร
ซึ่งผู้แทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากันตัง ได้บันทึกแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งที่ตั้ง สถานที่เกิดเหตุ บันทึกภาพ เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชา พร้อมสั่งรื้อถอนและจะแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้รุกล้ำฯ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
จากการตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากันตัง ฝ่ายปกครอง อ.กันตังและ ป.ป.ช.ตรัง ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินรุกล้ำลำน้ำอย่างต่อเนื่อง และได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนรายหนึ่ง ได้ไปเช่าที่เอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน แล้วถมหินถมดินล้ำลงไปในทะเลเพื่อหวังสร้างเป็นท่าเรือ พร้อมสั่งรื้อถอนไปแล้ว ก่อนได้รับเรื่องร้องเรียนครั้งนี้จนนำไปสู่การตรวจสอบดังกล่าว
4.จังหวัดสุพรรณบุรี
@"อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน" กลุ่มนักธุรกิจลักลอบขุดดินจากเขา ถมอ่างเก็บน้ำสรา้งที่ดินงอก
กรณีนี้นั้นปรากฎเป็นข่าวไปเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนผ่านสื่อสถานีโทรทัศน์ ทีวีสีช่อง 3 รายการข่าวสามมิติ และได้รับแจ้งเบาะแสจากศูนย์ CDC ว่ามีการลักลอบขุดตักดิน นำมาถมขยายพื้นที่เข้าไปในอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
ทำให้ในวันที่ 24 มิ.ย. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยนายนิติศักดิ์ วงษ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สพ.1 (ด่านช้าง) ศูนย์ป่าไม้สุพรรณบุรีและส่วนจัดการที่ดิน ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำลำตะเพินเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และได้มีการผ่อนผันให้ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยก่อน พ.ศ. 2541 ได้พักอาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ในฐานะผู้ถือครองที่ดิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิยืนยันใดๆ มีเพียงเอกสารการสำรวจที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล(คทช.) ของกรมป่าไม้เท่านั้น เนื่องจากในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 อ่างเก็บน้ำลำตะเพินได้มีการระบายน้ำออกเพื่อรอรับน้ำในช่วงฤดูฝน ทำให้น้ำในอ่างตื้นเขิน ผู้ถือครองที่ดินจำนวน 4 ราย จึงมีการนำเครื่องจักร(รถแบ็คโฮ) เข้ามาขุดตักดินในพื้นที่ จำนวน 4 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 จุดที่ 2 และจุดที่ 4 ผู้ถือครองที่ดิน นำเครื่องจักรขุดตักดินจากพื้นอ่างเก็บน้ำในบริเวณข้างเคียงของแปลงมาถมปรับ ปั้นคันดิน เป็นลักษณะขั้นบันไดและขยายขอบเขตพื้นที่ของตนเข้าไปในอ่างเก็บน้ำ
จุดที่ 3 ผู้ถือครองที่ดินนำเครื่องจักรขุดดินจากบริเวณชายเขาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามพื้นที่ของตน นำมาถมปรับพื้นที่แปลงของตนซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน เพื่อให้พื้นที่สูงขึ้นโดยมิได้มีการล่วงล้ำลงไปในอ่างเก็บน้ำลำตะเพินเกินไปจากพื้นที่เดิมที่ตนมีอยู่ และจากการตรวจสอบผู้ถือครองที่ดินทั้ง 4 แปลง ยังคงเป็นบุคคลที่กรมป่าไม้เคยได้สำรวจไว้
ส่วนเอกสารการซื้อ ขาย ที่ปรากฏในข่าว ทางหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่เคยจัดทำและไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวมาก่อน ทั้งนี้หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สพ.1(ด่านช้าง) ได้แจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ถือครองทั้ง 4 รายต่อพนักงานสอบสวน สภ.องค์พระ จังหวัดสุพรรณบุรี ท้องที่เกิดเหตุแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จะได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการต่อไป
5.จ.ยโสธร
@เพจ ต้องแฉ เผยภาพจุดจอดรถบรรทุก จ.ยโสธร สร้างไว้ใหญ่โตแต่ปล่อยทิ้งร้าง
กรณีนี้นั้นมีรายงานผ่านเพจต้องแฉเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. โดยเพจต้องแฉระบุว่าได้รับการส่งข้อความ inbox มาว่าพบจุดจอดพักรถบรรทุก จังหวัดยโสธร ของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีสภาพทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งาน และบริเวณใกล้เคียงมีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก ที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้เช่นกัน จึงไม่ทราบว่าแบบนี้จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่
เพจต้องแฉระบุต่อไปว่าเบื้องต้นไม่ทราบว่าจุดจอดรถบรรทุกนี้เคยถูกใช้งานไหม ทิ้งร้างจนหญ้าขึ้นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไร และยังไม่พบแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณก่อสร้างของสถานที่นี้ว่าใช้งบไปเท่าไร แต่เท่าที่เพจต้องแฉลองค้นหาข้อมูล เหมือนว่าจุดจอดพักรถแห่งนี้ คือหนึ่งในโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะช่วยส่งเสริมการขนสินค้าระหว่างประเทศ และเพื่อความปลอดภัย กรมทางหลวงจึงสร้างจุดจอดรถบรรทุก truck rest area และจุดตรวจน้ำหนัก เพิ่ม 3 จุด ซึ่ง จุดที่ 2 คือในพื้นที่ ร้อยเอ็ด - ยโสธร
หลังจากที่เพจต้องแฉออกมาเปิดโปง ทำให้ในวันที่ 13 มิ.ย. นายอดุลย์ วันดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธร และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต พร้อมด้วยเครือข่ายชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดยโสธร ได้ลงพื้นที่ ตำบลเดิด อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งโครงการฯ “จุดจอดพักรถบรรทุกจังหวัดยโสธร สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง” โดยได้ประสานกับเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงยโสธรลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ และโทรศัพท์ประสานขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง เบื้องต้นได้รับคำชี้แจง โดยสรุปได้ดังนี้
1.จุดที่เป็นกรณีปัญหานั้น เป็นสถานีตรวจสอบน้ำหนัก มีเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน จุดชั่งน้ำหนัก จุดจอดพักรถ เป็นต้น งบประมาณในส่วนการก่อสร้างจุดดังกล่าว ประมาณ 100 ล้านบาท จากงบประมาณของโครงการทั้งหมด 1 พันกว่าล้านบาท ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด - ยโสธร ที่มาของงบประมาณจากเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ โดยกรมทางหลวงจะทยอยเบิกเงินกู้ตามความก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นงบประมาณผูกพันตั้งแต่ปี 2562 -2564
2.ที่ตั้งจุดดังกล่าว เป็นที่ดินสงวนของกรมทางหลวง ซึ่งแขวงทางหลวงยโสธร ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อขอรับงบประมาณในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ได้ส่งมอบคืนให้แก่แขวงทางหลวงยโสธร เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนที่แขวงทางหลวงยโสธร ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้แก่สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักดังกล่าว ทั้งนี้จากการชี้แจงของนายมนูญ วานิช รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แขวงทางหลวงยโสธร แจ้งว่า สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานและเปิดใช้งานภายใน 1 – 2 เดือนนี้
และทั้งหมดก็คือผลงานของ CDC นับตั้งแต่วันที่จัดตั้งศูนย์ ที่ ป.ป.ช.ได้นำมาแถลงเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา