"...ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลการสอบสวนและลงโทษ ข้าราชการอัยการ 2 ราย แรก คือ นายไพศาล เดี่ยวพันธุ์ และ นายธีรพงษ์ น้อยชิน ซึ่งเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ยังมีข้อมูลในส่วน นายนพดล หรืออัครพัชร์ เพียรพิทักษ์ ซึ่งถูกสอบสวนการกระทำความผิดถึง 4 ครั้ง ที่สำคัญมีกรณีเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดในคดีอาญาด้วย..."
เป็นประเด็นร้อนในแวดวงข้าราชการอัยการไทยอีกครั้ง!
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการอัยการพ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จำนวน 3 ราย คือ
1. นายไพศาล เดี่ยวพันธุ์ พ้นจากตำแหน่ง อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 5 สำนักงานคดีศาลแขวง ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2561 เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกลงโทษให้ออกจากราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย และจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (27/62)
2. นายธีรพงษ์ น้อยชิน พ้นจากตำแหน่ง อัยการจังหวัดประจำสานักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการบังคับคดี ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
3. นายนพดล หรืออัครพัชร์ เพียรพิทักษ์ พ้นจากตำแหน่ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสารสนเทศ สำนักงานวิชาการ ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2563 เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย และจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
แต่สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบว่า ข้อมูลเบื้องลึกสำคัญที่ทำให้ข้าราชการอัยการทั้ง 3 ราย ต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มาจากสาเหตุอะไร?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลประกาศคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พบว่า ข้าราชการอัยการทั้ง 3 ราย ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษ จากการกระทำความผิดดังต่อไปนี้
@ กรณีนายไพศาล เดี่ยวพันธุ์
ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
โดยที่ประชุม ก.อ. ครั้งที่ 12/22562 เมื่อวันที่ 26 กันยายน2562 พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นายไพศาล เดี่ยวพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้มาลงชื่อปฏิบัติงานและไม่ได้เข้าทำงาน โดยไม่พบว่ามีการลาหยุดราชการหรือแจ้งเหตุขัดข้องใด ๆ ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากไม่ปรากฎว่ามีการลาหรือแจ้งเหตุที่ไม่มาทำงาน และเจ้าหน้าที่ไม่อาจติดต่อผู้ถูกกล่าวหาได้เลย
จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 85(5)
แต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สำนวนคดีต่างๆ ในความรับผิดชอบหรือแก่ราชการ
เนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พนักงานอัยการคนอื่นรับสำนวนไปดำเนินการแทนต่อไป และในวันที่ 17, 18 และ25 ตุลาคม 2561 ผู้ถูกกล่าวหายังมีความรับผิดชอบไปว่าความที่ศาลแขวงพระนครเหนือในคดีที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จ
ประกอบกับประวัติการรับราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งแต่เริ่มเป็นนิติกรเมื่อปี พ.ศ.2538 จนสอบได้และบรรจุเป็นอัยการผู้ช่วยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่6 กุมภาพันธ์ 2562 รวมระยะเวลา 23 ปี นับว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการ
กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษจึงมีมติเอกฉันท์ลงโทษนายไพศาล สถานให้ออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 84 (3), 87 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม2561 เป็นต้นไป
@ กรณีนายธีรพงษ์ น้อยชิน
ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในข้อกล่าวหาไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการในสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 2 ตั้งแต่วันที่ 2 - 15 มกราคม 2562 วันที่ 17 มกราคม 2562 และตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้ลาตามระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยการลาหยุดราชการของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2555 และไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง
โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 2 ได้โทรศัพท์ติดต่อนายธีรพงษ์ หลายครั้ง รวมทั้งทำหนังสือแจ้งให้นายธีรพงษ์ ชี้แจงเหตุผลที่ไม่มาปฏิบัติราชการ โดยส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับแล้วหลายครั้ง
แต่ไม่ได้รับการชี้แจงจากนายธีรพงษ์ แต่อย่างใด
อันเป็นการขาดราชการติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
โดยที่ประชุม ก.อ. ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 พิจารณาแล้วเห็นว่า นายธีรพงษ์ ไม่มาปฏิบัติราชการในสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 2 ตั้งแต่วันที่ 2 - 15 มกราคม 2562 โดยไม่ได้ลาและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง แต่เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันและไม่ปรากฏว่าราชการเสียหายอย่างร้ายแรง และได้กลับมาปฏิบัติราชการอีกในวันที่ 16 และ 15 มกราคม 2562 และไม่กลับมาปฏิบัติราชการ อีกเลยตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2562 เป็นต้นมา โดยไม่ทราบสาเหตุและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่สามารถติดต่อได้
นายธีรพงษ์ จึงกระทำผิดวินัย กรณีไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการและละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 66, 85 (5) แต่เนื่องจากวันที่ 19 และ 20 มกราคม 2562 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ
การกระทำของนายธีรพงษ์ จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้งตามข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง พ.ศ.2554 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ข้อ 3 (4) ซึ่งมีการสอบสวนชั้นต้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 74 แล้ว ซึ่งประธาน ก.อ. โดยความเห็นชอบของ ก.อ. จะพิจารณาสั่งลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงก็ได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 74 วรรคสาม ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ลงโทษนายธีรพงษ์ สถานไล่ออก ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 84 (1) ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันละทิ้งหน้าที่ราชการในครั้งหลังเป็นต้นไป
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลการสอบสวนและลงโทษ ข้าราชการอัยการ 2 ราย แรก คือ นายไพศาล เดี่ยวพันธุ์ และ นายธีรพงษ์ น้อยชิน ซึ่งเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ยังมีข้อมูลในส่วน นายนพดล หรืออัครพัชร์ เพียรพิทักษ์ ซึ่งถูกสอบสวนการกระทำความผิดถึง 4 ครั้ง มีทั้งกรณีการไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสำนวนคดีจำนวนมาก การลงลายมือชื่อรับสำนวนคดี แต่ไม่ปรากฏในสารบบคดีของสำนักงานอัยการจังหวัด
ที่สำคัญมีกรณีเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดในคดีอาญาด้วย
รายละเอียดเป็นอย่างไร จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไป