"...ผังเมืองใหม่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 และได้ดำเนินการประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ ระบุว่า อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป เนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น…"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ามีแนวโน้มที่จะต้องมีการปรัปปรุงผังเมืองอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และลักษณะการใช้งานบนที่ดินแปลงต่างๆ ใน กทม. มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อีกทั้งประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย ทำให้การออกแบบผังเมืองต้องเป็นไปอย่างรอบคอบกว่าเดิม
โดยเบื้องต้นมอบหมายให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กำกับดูแลสํานักการวางผังและพัฒนาเมือง เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ ขอเวลาศึกษาก่อน
ผังเมือง เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสหสาขาวิชา เช่น การวางแผน กฎหมาย สถาปัตยกรรม สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมจราจร เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อการวางแผนและผังการใช้พื้นที่ของเมือง โดยในประเทศไทย หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรหลักในการจัดทำคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนกรุงเทพมหานครได้รับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กำหนดให้มีหน่วยงานที่ดูแลจัดทำผังเมืองของตนเอง คือ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบัน กทม.ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556
โดยที่ผ่านมา สำนักผังเมืองได้ประเมินผลการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 แล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหลายประการโดยเฉพาะเรื่อง การรองรับความหนาแน่นของประชากรในหลายบริเวณเริ่มเกินมาตรฐานที่ผังเมืองรวมกำหนด และโครงการพัฒนาของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ก่อสร้างขึ้นหลายสาย และหลายโครงการมีการขยายสายทางเพิ่มมากขึ้นกว่าที่แผนงานเดิมเคยกำหนด ตลอดจนมีโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนเกิดขึ้นในหลายบริเวณ
ทั้งหมดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเมือง ประกอบกับในการวางและจัดทำผังเมืองรวมมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผังเมืองรวมที่จัดทำถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม จึงเป็นที่มาของวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้มีผังเมืองรวมที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่มีการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง กระทั่งเข้ามาของผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน นายชัชชาติ ก็เล็งเห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับสภาพการณ์และกฎหมายที่เพิ่งมีการบังคับใช้ใหม่ด้วย
ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556
ผังเมืองต้องตอบโจทย์ทิศทางเมือง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2565 นายชัชชาติ ได้ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนในหลายด้าน เช่น ผังเมือง กทม.ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นรูปผังสี มีสีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีเหลือง แบ่งการใช้งานตามประเภทสี เช่น สีแดงเป็นพาณิชย์ สีม่วงเป็นอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า หากดูผังสีดังกล่าวเหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนี้ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด
"อาจจะต้องพยายามค้นหากันต่อไปในอนาคตว่า ผังเมืองควรจะกำหนดโจทย์ทิศทางของเมืองมากกว่าจะกำหนดว่าสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้นอาจจะต้องมีแนวคิดใหม่" นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนผังเมืองใหม่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 และได้ดำเนินการประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ ระบุว่า อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป เนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับผังเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ฉบับนี้ คงต้องทบทวน ยกเลิกและปรับให้ทันสมัยขึ้น หัวใจคือกำหนดทิศทางของเมืองให้เกิดการพัฒนาและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและสูงสุด
ปรับปรุงรอบใหม่คาดแล้วเสร็จปี 67
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวม กทม.ครั้งที่ 4 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 หลังก่อนหน้านี้การร่างผังเมืองรวมดำเนินการตามกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.การผังเมือง 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) 2558 โดยขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาคือ 1. แผนผังที่แสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 2. แผนผังแสดงผังน้ำ รวมถึงต้องดำเนินการปิดประกาศและประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 9 โดยคาดหมายว่า ผังเมืองที่ดำเนินการนี้ จะประกาศใช้ในปี 2567 โดยปัจจุบัน กทม. ใช้ผังเมืองที่ประกาศใช้เมื่อปี 2556 (ดูขั้นตอนการจัดทำผังเมืองตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ด้านล่าง)
ผ่าไส้ในร่างผังเมืองปี 63
สำหรับร่างผังเมืองรวมที่จัดทำแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 เป็นการจัดทำผังเมือง กทม. ครั้งที่ 4 หลังจากก่อนหน้านี้ กทม. ใช้ผังเมืองมาแล้วครั้ง ได้แก่ ปี 2535, 2542 และ 2556 โดยตามผังเมืองใหม่ที่ร่างแล้วเสร็จ ครอบคลุมพื้นที่เขตการบริหารราชการของกทม. 1,568.737 ตร.กม. โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดข้างเคียง ดังนี้ ทิศเหนือ จดเขตจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี, ทิศตะวันออก จดเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, ทิศใต้ จดเขตจังหวัดสมุทรปราการ และอ่าวไทย และทิศตะวันตก จดเขตจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม
ในส่วนของการแบ่งประเภทที่ดิน ร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ แบ่งประเภทที่ดินละเอียดขึ้นกว่าเดิมอย่างมากในประเภทที่อยู่อาศัย (ย.) และพาณิชยกรรม (พ.) ในขณะที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.) ลดจำนวนประเภทลง และไม่มีประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.) อีกต่อไป
ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมแยกย่อยเป็น ย.1 ถึง ย.10 ฉบับนี้แยกละเอียดขึ้นเป็น ย.1 ถึง ย.15 โดยยังคงมี 3 กลุ่มตามความหนาแน่นเช่นเดิมคือ สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) และสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก)
ส่วนที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) ที่เดิมแยกย่อยเป็น พ.1 ถึง พ.5 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น พ.1 ถึง พ.8 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน โดยพิจารณาตามข้อกำหนด F.A.R. (Floor Area Ratio คือ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) พอสรุปถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสีได้พอสังเขปดังนี้
สำหรับการแบ่งประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็มีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร เช่น โรงแรม เพิ่มโรงแรมไม่เกิน 20 ห้อง หรือการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับ น้ำมัน, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ มีการจัดแบ่งประเภทใหม่หมด เพื่อให้สอดคล้องกับประเภทตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เพิ่มจากเดิม 5 ประเภท เป็น 15 ประเภท และการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภท สถานที่เก็บ, สถานีรับส่ง, กิจการรับส่งสินค้า ได้มีการแยกประเภทใหม่เป็น คลังเก็บสินค้า, คลังขนส่งสินค้า, สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ และสถานที่บริการตู้สินค้า ซึ่งยังแยกย่อยตามขนาดพื้นที่อีก รวมเป็น 12 ประเภท
ส่วนพื้นที่ในกทม. ที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทที่ดินก็มีเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของเมืองได้เป็นอย่างดี ทั้งการเปลี่ยนแปลงเป็นประเภทที่ดินที่มีความหนาแน่นมากขึ้น การเปลี่ยนประเภทที่ดินจากชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่อยู่อาศัยหรือพาณิชยกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมซึ่งลดลงกว่าเดิมมากทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ที่มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงพอสังเขปดังต่อไปนี้
ร่างผังเมือง กทม.ที่ดำเนินการเสร็จเมื่อปี 2563
1. กรณีเปลี่ยนจาก สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงเขียว (อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เป็น สีเขียว (ชนบทและเกษตรกรรม) เช่น สองฟากถนนพุทธมณฑลสาย 3, พื้นที่สีขาวทแยงเขียวทางด้านเหนือของถนนประชาร่วมใจ คงเหลือเพียงแถบตรงกลางกว้างประมาณ 2 กม., สองฟากของคลองแปดเรื่อยลงมาตามคลองลาดงูเห่า จนชนกับถนนประชาร่วมใจ เป็นต้น
2. พื้นที่สีขาวทแยงเขียวเดิมทางด้านใต้ของถนนประชาร่วมใจซีกตะวันออก ประมาณตั้งแต่เส้นขนานห่าง 500 เมตรทางตะวันออกของคลองสี่ เป็นต้น
3. เปลี่ยนจาก สีขาวทแยงเขียว เป็น สีเหลือง, สีส้ม และสีแดง เช่น สองฟากถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนกาญจนาภิเษก และถนนพุทธมณฑลสาย 2 ในเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ และเขตบางแค เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสองฟากถนนราชพฤกษ์ ในเขตตลิ่งชัน เปลี่ยนเป็น สีส้มกับสีแดง เป็นต้น
4. เปลี่ยนจาก สีเขียว เป็น สีเหลือง เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษกด้านทิศใต้ ในเขตบางขุนเทียน เป็นต้น
5. เปลี่ยนจาก สีเหลือง เป็น สีส้ม เช่น ริมถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งตะวันออก ระหว่างคลองบางเขนขึ้นไปถึงถนนแจ้งวัฒนะฝั่งใต้, พื้นที่ผืนใหญ่มากซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตวังทองหลาง เขตลาดพร้าว เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม ตั้งแต่เหนือถนนรามคำแหงและซอยวัดเทพลีลา ขึ้นไปทางเหนือจนถึงถนนรามอินทราฝั่งเหนือ และในเขตสวนหลวง ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัชไปจนถึงฟากตะวันออกของถนนศรีนครินทร์ เป็นต้น
6. เปลี่ยนจาก สีส้ม เป็น สีน้ำตาลและสีแดง เช่น ริมถนนรัชดาภิเษก ในเขตจตุจักร, ริมถนนแจ้งวัฒนะฝั่งเหนือ ในเขตบางเขน
7. เปลี่ยนจาก สีครีม (ศ.1, ศ.2) เป็น สีแดงและสีน้ำเงิน โดยพื้นที่ในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และพื้นที่ฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกจัดเป็นที่ดินประเภทสีแดง หรือสีน้ำเงิน (สถาบันราชการฯ) ตามสภาพความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหลายที่กล่าวมาเกี่ยวกับร่างผังเมืองกทม.ปี 2563 ข้างต้น ยังไม่ได้ประกาศใช้จริง ยังต้องพ่อเมืองคนปัจจุบันสกรีนและทบทวนอีกครั้ง หน้าตาของ ‘ผังเมืองชัชชาติ’ จะออกมาเป็นแบบใด คนกทม.และปริมณฑลน่าจะได้เห็นกัน อีกไม่นานเกินรอ