“…การพัฒนาวิจัยวัคซีน Chula-Cov19 จะทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1-2 ภายในปี 2565 นี้ และจะศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในปี 2566 โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียน ภายในปี 2567…”
แม้ว่าวัคซีนป้องกันที่เราจะใช้อยู่เพื่อต่อกรกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมาแล้วเกือบ 3 ปี จะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาจากต่างประเทศ แต่สำหรับไทยเอง ก็ได้มีการพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ดำเนินการวิจัยโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยลดปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยเชื่อมั่นว่า การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ในระดับสากล
ล่าสุด อว. ได้นำเสนอความคืบหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดในประเทศไทยในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
Chula-Cov19
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดวัคซีน mRNA งบประมาณ 2,721 ล้านบาท โดยได้พัฒนาและแบ่งวัคซีนเป็น 2 รุ่น ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 1 ขณะนี้อยู่ในช่วงของการปรับแผนการศึกษา Phase1/2 ใหม่ จากการปรับกระบวนการผลิตวัคซีนที่ Bionet Asia และอยู่ระหว่างส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณา ส่วน
วัคซีนรุ่นที่ 2 จากผลการวิจัยพัฒนา พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูได้ดี ทั้งนี้จึงอยู่ระหว่างพัฒนาสูตรเป็น Bivalent vaccine เพื่อให้สอดรับกับการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวิจัยวัคซีน Chula-Cov19 จะทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1-2 ภายในปี 2565 นี้ และจะศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในปี 2566 โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียน ภายในปี 2567
Covigen
Covigen (โควิเจน) วัคซีนสัญชาติที่ฝั่งภาคเอกชน โดยบ ริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้สร้างนวัตกรรมวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA งบประมาณ 650 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ขณะเดียวกัน ได้มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว เพื่อศึกษาความปลอดภัย และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มอาสาสมัคร ทั้งนี้ มีแนวโน้มจะหยุดการดำเนินงานไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากล่าช้ากว่าวัคซีนต้นแบบชนิดอื่นๆ
Baiya SARS-CoV-2 Vax
การพัฒนาวัคซีนโควิดชนิด Recombinant vaccine จากพืช โดยพัฒนามาจากต้น Nicotiana benthamiana โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งบประมาณ 371 ล้านบาท โดยความคืบหน้าที่สำคัญคือ ผลจากการวิจัยพัฒนา พบว่า วัคซีนรุ่นที่ 1 มีความปลอดภัย แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีพอในมนุษย์ ขณะที่วัคซีนรุ่นที่ 2 (ใช้สารเสริมตัวใหม่) กระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น 20 เท่า อยู่ระหว่างการปรับสูตรเพื่อทดสอบในระยะที่ 2 ต่อไป โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 2 เดือน ในเดือนสิงหาคม 2565 และจะเริ่มศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในต้นปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่า รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียน ภายในปี 2567
Ad-5 Wuhan
วัคซีนป้องกันโควิดชนิดหยอดจมูก (Ad-5 Wuhan) พัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) งบประมาณ 300 ล้านบาท ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว โดยมีประสิทธิภาพสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและมีความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนในโรงงานต้นแบบ และจะผลักดันพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นหน่วยงานด้าน Vaccine Discovery สำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อรองรับการระบาดในอนาคตต่อไป
NDV-HXP-S
องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนาวัคซีน DNV-HXP-S ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายโดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ภายใต้งบประมาณ 67 ล้านบาท จากผลวิจัยพบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้เริ่มการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ขณะนี้ได้ทดสอบในระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนการพัฒนากระบวนการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัท GPO-MBP ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างหารือกับ อย. เพื่อการศึกษาในมนุษย์ ระยะที่ 2 และ 3 สำหรับใช้เป็นเข็มกระตุ้น โดยจะศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ภายในสิงหาคม 2565 และศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ปลายปี 2565 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียน ภายในปี 2566
ทั้งหมดนี้ คือความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย ซึ่งข้อมูลจาก อว.เปิดเผยว่า มีการพัฒนากว่า 20 ชนิด แต่ทั้งนี้มีวัคซีน 2 ชนิดที่น่าจับตา คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย NDV-HXP-S ที่พัฒนาโดย อภ. และวัคซีนชนิด mRNA ที่ศึกษาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต้องติดตามต่อไปว่าเร็วๆ นี้ จะมีวัคซีนตัวไหนที่ผลิตโดยคนไทยจะสำเร็จให้คนไทยได้ใช้