หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตามได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
วาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย
โดยเฉพาะกรณีที่มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ลงวันที่ 7 ก.ย.2561 ซึ่งปรากฎบทสนทนาตอนหนึ่ง ระหว่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่ 1 ที่มีเนื้อหาเห็นว่าควรนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครอบคลุมถึงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 ด้วย
ด้าน นายสุพจน์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผ่านรายกรเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า บันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นของจริง แต่เป็นเพียงความเห็นเริ่มแรกของคนไม่กี่คน ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นมติ กรธ.
อย่างไรก็ตาม นายสุพจน์ แสดงความเห็นส่วนตัวว่า หากตีความหลักนิติศาสตร์ กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดขั้นตอนสำคัญอยู่ในมาตรา 158 , มาตรา 159 และ มาตรา 264 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจนับวาระ 8 ปีนับตั้งแต่วันที่โปรดเกล้าฯ หลัง รธน.ปี 2560 บังคับใช้ แต่ขอให้ไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงจะถูกต้องที่สุด
- อดีตรองประธาน กรธ.เผย 8 ปี'ประยุทธ์'เริ่มนับวันโปรดเกล้าฯ รธน.60 บทสรุปต้องฟังศาล รธน.
- ไม่มีผลย้อนหลัง-ไม่นับบทเฉพาะกาล! 3 คำตอบฝ่ายกฎหมายสภาชี้‘ประยุทธ์’อยู่ครบ 8 ปีถึง 2570
แท้จริงแล้วเจตนารมณ์ของ รธน.ปี 2560 ที่เกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไร ?
จากการตรวจสอบเอกสารชื่อ 'ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560' ที่เปรียบเสมือนเจตนารมณ์ของ รธน.ปี 2560 ที่จัดทำขึ้นโดย กรธ.
โดยระบุด้วยว่านอกจากจะตั้งบอกเล่าความมุ่งหมายและความหมายแล้ว ยังจะบอกเล่าถึงเหตุผล ความเป็นมาของแนวคิดที่นำมาบัญญัติ พัฒนาการ และความมุ่งหมายล่าสุดของ กรธ.ในการจัดทำบทบัญญัติในมาตรานั้นๆ ด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมมาตราที่เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มานำเสนอ ดังนี้
มาตรา 158 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
ความมุ่งหมายของมาตรานี้ ระบุว่า บัญญัติพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี
คำอธิบายประกอบ ระบุตอนหนึ่งว่า รธน.ปี 2560 ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159 โดยกำหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด
นอกจากนี้ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจใหม่ทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้
คำอธิบายประกอบ ม.158 ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ความมุ่งหมายของมาตรานี้ ระบุว่า กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
คำอธิบายประกอบ ระบุตอนหนึ่งว่า บทบัญญัติแห่งมาตรานี้เป็นการวางหลักการใหม่เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอรายชื่อล่วงหน้า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบและเป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในการลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคการเมือง
แนวคิดในเรื่องการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองประสงค์จะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ดังนี้
1.ให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมือง ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้ใด ประชาชนจะต้องพิจารณาตัวบุคคลที่รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นโยบาย และตัวบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี
2.พรรคการเมืองต้องคัดสรรบุคคลที่จะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเข้มงวด โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
3.เป็นการป้องกันมิให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก นำบุคคลที่ประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าจะนำบุคคลเช่นนั้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประชาชนอาจไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นและพรรคการเมืองนั้นได้
มาตรา 264 ที่ถูกบัญญัติไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรง
ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม
นอกจากนี้ยังยกเว้นไม่นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบางประการที่กำหนดไว้มาบังคับใช้ เช่น เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง , เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น , เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี และ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ความมุ่งหมายของมาตรานี้ ระบุว่า กำหนดให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับ แก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ
คำอธิบายประกอบ ระบุตอนหนึ่งว่า มาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยต่อเนื่อง โดยที่ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้มีที่มาแตกต่างจาก ครม.ตามบทหลัก โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 ของ รธน.(ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 การให้ ครม.ชุดดังกล่าวเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงต้องยกเว้นไม่นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบางประการที่กำหนดไว้สำหรับรัฐมนตรีในบทหลักมาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
ทั้งหมดเป็นเจตนารมณ์ของ รธน.ปี 2560 ใน 3 มาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีช่วงเวลาใด – คิดคำนวณแบบไหน ยังคงต้องฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบสุดท้าย