ดังนั้นการนับระยะเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานกรณีฝ่ายกฎหมายรัฐสภา เสนอความเห็นไปยัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เห็นควรเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่มีการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง คือ วันที่ 9 มิ.ย.2562
ซึ่งอาจส่งผลให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี เมื่อถึงวันที่ 9 มิ.ย.2570
จากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากหนังสือที่นักกฎหมายนิติบัญญัติชั้น 2 ส่งถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเดือนตุลาคม 2564
ซึ่งเป็นการหาคำตอบกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 แห่งรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 ที่ระบุในวรรคสี่ ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมีได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
การพิจารณาของนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ตั้งประเด็นไว้ 3 เรื่อง ดังนี้
1.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ตาม รธน. (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 จนถึงวันที่ รธน.ปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งก็คือระหว่างวันที่ 24 ส.ค.2557 – 6 เม.ย.2560 ต้องนำมานับรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็นของนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่ง รธน. (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ”
หลักการดังกล่าวมีความเห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.2557 – 6 เม.ย.2560 ย่อมเป็นการดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ รธน.ปี 2560 จะมีผลบังคับใช้ เมื่อพิจารณาประกอบหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง (Ex Post Facto Laws) ที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีต่ออำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ซึ่งนำมาใช้กับกฎหมายทุกประเภท
ฉะนั้น รธน.ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนได้กำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ การกำหนดเงื่อนไขไว้ใน รธน.ในลักษณะเป็นการกหนดโทษให้มีผลย้อนหลังสำหรับบังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ รธน.มีผลบังคับใช้ ย่อมขัดต่อหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเช่นเดียวกัน
ประกอบกับใน รธน.ปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของ รธน.ฉบับอื่นๆ หากนำระยะเวลามารวมเพื่อนับเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังข้างต้น
ดังนั้นระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.2557 – 6 เม.ย.2560 ไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 แห่ง รธน.ปี 2560 จึงไม่สามารถนำมานับรวมระยะเวลาได้
2.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลแห่ง รธน.ปี 2560 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) บริหารราชการแผ่นดินก่อนวันประกาศใช้ รธน.ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ ถือเป็นการดำรงตำแหน่งมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็นของนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า รธน.ปี 2560 มาตรา 264 อยู่ในบทเฉพาะกาล เมื่อพิจารณาประกอบหลักวิชาการยกร่างกฎหมาย การที่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งจะมีบทเฉพาะกาลหรือไม่ จำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนว่าเมื่อร่างกฎหมายฉบับนั้นมีผลบังคับใช้แล้วจะมีผลทำให้สิทธิ หน้าที่ และประโยชน์ของบุคคล รวมถึงการปฏิบัติการหรือการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งสิ้นสุดลงหรือไม่ และหากเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องสิ้นสุดลง แต่ในขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นต้องให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไป เมื่อร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับ หรือมีอยู่ต่อไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับไว้
ประกอบกับความมุ่งหมายของมาตรา 264 เพื่อให้ ครม.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน
ฉะนั้นเมื่อประกาศใช้ รธน.ปี 2560 ย่อมส่งผลให้องคาพยพต่างๆ รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่โดยผลของการประกาศใช้ รธน. แต่การบริหารราชการแผ่นดินจะเกิดช่องว่างโดยไม่มี ครม.ไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ รธน.จะต้องมีบทเฉพาะกาล รองรับเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
อย่างไรก็ตาม มาตรา 264 รับรองการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ที่ได้รับแต่งตั้งตาม รธน.(ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของ รธน.เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งและต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลัง ครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่
กรณีที่ รธน.ปี 2560 มีเจตนารมณ์ที่จะให้นับระยะเวลาในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 จะต้องบัญญัติไว้ใน รธน.ให้ชัดเจนว่าให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังเช่นการกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้ รธน. ในมาตรา 273 จึงได้กำหนดให้เป็นไปตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ดังนั้นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 – 9 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตาม รธน.ปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158
3.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 แห่ง รธน. 2560 เริ่มนับตั้งแต่วันใด
ความเห็นของนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรีจะต้องดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
หลักการดังกล่าวมีความเห็นว่า มาตรา 158 วรรคสี่ เป็นการกำหนดเงื่อนไขของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม การกำหนดเงื่อนไขลักษณะดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นการบัญญัติกฎหมายในทางที่เป็นโทษ ซึ่งจะนำมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษมิได้
นอกจากนั้นมาตรา 158 บัญญัติอยู่ในบทหลักของ รธน.ปี 2560 ซึ่งใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีกระบวนการได้มาตามบทหลักของ รธน.ปี 2560 กล่าวคือ ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เกิดจากกระบวนการให้ความเห็นชอบของบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 หรือการให้ความเห็นชอบตามมาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตาม รธน.ปี 2560 เท่านั้น
ดังนั้นการนับระยะเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นไป