"...ให้รับผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยให้อยู่ในห้องแยกโรคเดี่ยว ที่มีห้องน้ำในตัว ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนกว่าจะทราบผล เมื่อทราบผลตรวจเชื้อเป็นผู้ป่วยยืนยันให้แอดมิท (Admit) ทุกรายในโรงพยาบาล และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ..."
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ‘ฝีดาษลิง’ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการระบาดของทวีปแอฟริกา โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ส่วนในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด
ขณะนี้ ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 28,792 ราย โดยข้อมูลที่มีรายงานพบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก B.1 เป็นส่วนใหญ่ มากกว่าสายพันธุ์ แอฟริกาตะวันตก A.2
ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,510 ราย สเปน 5,208 ราย เยอรมัน 2,887 ราย อังกฤษ 2,768 ราย และฝรั่งเศส 2,423 ราย
อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียชีวิต 6 ราย จำแนกเป็น จากประเทศสเปน 2 ราย บราซิล เปรู กานา อินเดีย ประเทศละ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีโรคประจำตัวอื่นร่วม
สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงยืนยัน 4 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3 ราย และสายพันธุ์ B.1 จำนวน 1 ราย ดังนี้
-
รายที่ 1 : ชายไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษวานร โดยมีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา และ อวัยวะเพศ ไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต (MONKEYPOX VIRUS STRAIN A.2)
-
รายที่ 2 : ชายไทยอายุ 47 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ วันที่ 14 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว 1 สัปดาห์ ก่อนมาโรงพยาบาลมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ต่อมามีตุ่มหนองขึ้นตามแขนขา ใบหน้า ศีรษะ ต่อมาไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลด้วยอาการอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ (MONKEYPOX VIRUS STRAIN B.1)
-
รายที่ 3 : ชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมนี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ จังหวัดภูเก็ต เมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ (MONKEYPOX VIRUS STRAIN A.2)
-
รายที่ 4 : หญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว เป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่งชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ตั้งแต่ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 วันต่อมาเริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขนขา แล้วลามไปทั่วร่างกาย ร่วมถึงอวัยะเพศ จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ (MONKEYPOX VIRUS STRAIN A.2)
นอกจากนี้ มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยเป็นผู้ป่วยสงสัย 36 ราย ผู้สัมผัส 44 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 7 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 35 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร รอผล 1 ราย
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษวานร MONKEYPOX) ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
'โรคฝีดาษลิง' เป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กเล็ก มีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยระยะเวลามีอาการของโรคประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเพิ่งมีรายงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในทุกราย ซึ่งระยะฟักตัว 7 - 21 วัน เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายโรคและเพื่อการติดตามอาการ
โดยเชื้อสาเหตุ คือ Monkeypox Virus ซึ่งเป็นเชื้อในกลุ่มของ Ortho Poxvirus Genus, Family Poxviridae
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
การแพร่กระจายเชื้อและการติดต่อส่วนใหญ่โดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยัน อาจมีการติดต่อทางละอองฝอยได้โดยเฉพาะหากมีการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก
ผู้ป่วยสงสัยเข้าข่ายติดเชื้อ มีอาการดังต่อไปนี้
-
ไข้ (อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) หรือ ให้ประวัติมีไข้ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ
-
มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด โดยเป็นผื่นระยะเดียวกันพร้อมกันทั้งตัว หรือ เป็นผื่นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ
ร่วมกับ มีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายในเวลา 21 วันที่ผ่านมา 1 ข้อดังต่อไปนี้
-
มีประวัติการสัมผัสที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ
-
มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ/เข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือ
-
มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่นำเข้ามาจากถิ่นระบาด เช่น ทวีปแอฟริกา
ผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิง คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอย่างน้อย 2 ห้องปฏิบัติการ จากเทคนิคการตรวจข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
-
พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี Real-time PCR จําเพาะต่อ MPXV
-
พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี DNA sequencing เพื่อหายีนที่จําเพาะต่อ MPXV
-
พบเชื้อ monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธีเพาะเชื้อไวรัส
สำหรับผู้ป่วยยืนยัน จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อจำแนกว่าเป็นผู้ป่วยนำเข้า หรือผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ โดยพิจารณาตามนิยามผู้ป่วยนำเข้า
การรักษา
ให้รับผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยให้อยู่ในห้องแยกโรคเดี่ยว ที่มีห้องน้ำในตัว ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนกว่าจะทราบผล เมื่อทราบผลตรวจเชื้อเป็นผู้ป่วยยืนยันให้แอดมิท (Admit) ทุกรายในโรงพยาบาล และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
โดยรักษาตามอาการ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน, การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานให้รายผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ Tecovirimat (TPOXX)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะถูกแยกกักนานประมาณ 21 วัน หรือ จนพ้นระยะแพร่เชื้อ คือ จนทุกรอยโรคตกสะเก็ด และสะเก็ดหลุด มีผิวหนังปกติข้างใต้
กลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่ กลุ่ม ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี , มะเร็งเม็ดเลือด ได้แก่ leukemia, lymphoma, โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ , ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ , ผู้ได้รับการรักษาด้วย alkylating agents, antimetabolites, radiation, tumor necrosis factor inhibitors , high-dose corticosteroids , ผู้ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี หรือตั้งแต่2 ปีขึ้นไป แต่มีภาวะ graft-versus-host disease หรือโรคเดิมกำเริบ , โรค autoimmune disease ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก , เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์หรือระหว่างให้นมบุตร รวมถึง ผู้ที่มีประวัติเป็น Atopic Dermatitis หรือกำลังมีโรคผิวหนังชนิด, โรคสุกใส, โรคเริม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากสาเหตุอื่นอยู่แล้ว ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากสาเหตุโรคที่เป็นก่อนหน้า และผู้ป่วยที่มีรอยโรคในตำแหน่งที่อาจเป็นอันตราย และต้องการการดูแลใกล้ชิด เช่น ที่ตา ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย-ดูแลรักษาโรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังและป้องกันตนเองด้วย ยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าฝีดาษลิงจะมีโอกาสติดเชื้อไม่สูงเท่าโควิดก็ตาม