เหล่านี้คือสิ่งที่ กทม.สรุปผลงานในรอบ 2 เดือนที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ 'ชัชชาติ' ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. และยังเหลือเวลาอีกมากที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า นโยบายที่เคยลั่นวาจาไว้ในช่วงหาเสียงจะเป็นอย่างไร รวมถึงประเด็นการตรวจสอบทุจริตที่เคยประกาศวาระต้านโกงไว้ก่อนหน้านี้ยังต้องถูกจับตาดูว่าจะมีการขับเคลื่อน-ผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่
เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ถูกจับตาทั้งจากกองเชียร์-กองแช่ง ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่
60 วันที่ผ่านมา ภาพการทำงานของ 'ชัชชาติ' ถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง บางความเคลื่อนไหวถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบ ขณะที่หลายประเด็นได้รับการชื่นชม โดยเฉพาะภาพของการคืนความสุขให้คน กทม.
เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และโฆษก กทม. ตั้งโต๊ะแถลงผลงานในรอบ 60 วัน ของ นายชัชชาติ โดยแบ่งการชี้แจง 6 ประเด็น ได้แก่ สาธารณสุข การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เมืองสร้างสรรค์ ฟื้นเศรษฐกิจเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา และการปลูกต้นไม้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ ดังนี้
ด้านสาธารณสุข มี 2 เรื่องใหญ่ คือ โรคโควิด-19 และ โรคฝีดาษลิง ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างปรับศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพของ กทม. โดยปรับแนวคิดใหม่ดึงภาคประชาชนและจิตอาสาในแต่ะพื้นที่เข้ามาร่วมงานกัน อย่างในช่วงวิกฤติโควิดก็มีกลุ่มเส้นด้ายคอยขับเคลื่อน ดังนั้น ศูนย์นี้จะดึงกลุ่มจิตอาสาเหล่านี้เข้ามาช่วยกันทำงาน กระบวนการอยู่ระหว่างเสนอผู้บริหารพิจารณา
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยใหม่ยังคงที่ เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลสังกัด กทม.มีทั้งสิ้น 1,148 เตียง มีเตียงว่าง 61% ส่วนยารักษาโรค เช่น ฟาวิพิราเวียร์และโมนูลพิราเวียร์ ยังมีรองรับกับผู้ป่วยได้อยู่ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกัน ได้ขยายเวลาศูนย์ฉีดวัคซีนที่ศูนย์สาธารณสุขตามพื้นที่ต่างๆทั่วกทม.ในวันเสาร์ โดยเปิดถึงช่วงบ่าย และสามารถ Walk-In เข้าไปฉีดที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) และโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่งในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. ได้ทันที
ส่วนโรคฝีดาษลิง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรก ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่วชิรพยาบาลแล้ว นอกจากนั้นได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานทางการแพทย์และร้านขายยา 190 แห่ง โดยสรุปแนวทาง และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงเรียบร้อยแล้ว
เปิดสัญญาสายสีเขียว-ขอดูกล้องวงจรปิดผ่านเว็บไซต์
นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า ส่วนการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ได้เปิดสัญญาจ้างเดินรถโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว เรียบร้อยแล้วผ่านเว็บไซด์ https://data.bangkok.go.th/dataset/1700 ส่วนการเปิดเผยสัญญาระหว่าง บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) และเอกชนคู่สัญญาคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ต้องให้ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันก่อน จึงจะมีการเปิดเผยได้
ขณะที่กล้อง CCTV ตอนนี้ปรับให้สามารถขอข้อมูลจากกล้อง CCTV ได้ภายใน 24 ชม. ขอได้สูงสุด 6 กล้อง แต่จะต้องทำตามระเบียบคือ ต้องมีบัตรประชาชน บันทึกประจำวันของสถานีตำรวจ หมายเลขกล้องวงจรปิด และวันเวลา โดยหมายเลขกล้อง CCTV สามารถตรวจสอบได้จาก http://www.bmatraffic.com/index.aspx ปัจจุบัน กทม. มีกล้อง CCTV รวม 62,000 กล้อง และจะไม่มีกล้องดัมมี่อีกต่อไป และจะจัดหาเพิ่มด้วย โดยจะหาแนวร่วมมาร่วมมือกัน นอกจากนี้ ยังมีการสานต่อเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต 5 Quick Win ที่ร่วมมือกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เช่น การห้ามรับของขวัญ, รื้อฟื้นโครงการใบอนุญาตยิ้ม เป็นต้น
'หนังกลางแปลง - ดนตรีในสวน' ปลุกชีพ กทม.
ส่วนนโยบายเมืองสร้างสรรค์ ที่เห็นชัดเจนคือ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยตลอดเดือน ก.ค. ได้ฉายภาพยนตร์ไปแล้ว 26 เรื่อง มีผู้เข้าชม 88,000 คน ร้านค้าเข้าร่วม 345 ร้าน เงินหมุนเวียน 4 ล้านบาท ถือเป็นมิติที่ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้กทม.มีชีวิตชีวา
นอกจาก ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ยังมีการประชันวงดุริยางค์กันระหว่าง กทม. และนครราชสีมา บัตรเข้าชม 1,500 ใบ ขายหมดภายใน 26 นาที และมียอดชมไลฟ์สด 10,000-20,000 คน และยอดผู้ชมย้อนหลังกว่า 900,000 คน ถือเป็นการให้ข้าราชการกทม.ได้ฝึกหัดในการทำออแกไนซ์ และยังมีงานดนตรีในสวนด้วย โดยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาจัดมาแล้ว 21 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดต้องขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆและสังคม
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการทำ Co-Working Space โดยการปรับห้องสมุดประชาชนของกทม. ให้เป็นที่ทำงานที่สามารถใช้เสียงได้ ซึ่งกำลังค่อยๆดำเนินการอยู่ และนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลในเดือน ส.ค.นี้ จะมาในธีม ‘บางกอกวิทยา’ คือ นิทรรศการการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยได้รับความร่วมมือ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.)
ด้านการฟื้นเศรษฐกิจเมือง ได้จ้างงานคนพิการครบทั้ง 7 ประเภทไปแล้ว 247 คน โดยภายในเดือนก.ย.นี้จะจ้างเพิ่มเป็น 306 คน และเป้าหมายการจ้างงานทั้งหมด 654 คน คิดเป็น 1% ของผู้ปฏิบัติงานของ กทม. ต่อมางานถนนคนเดิน มีหลายเขตได้จัดกิจกรรมแล้ว สำรวจพื้นที่การค้าเพิ่มเติม 15 ย่าน พร้อมยกระดับอาหารริมทางปลอดภัยกว่า 20,000 ร้านค้า
ทราฟฟี่ฟองดูว์ ร้องเรียน 113,881 เรื่อง
ขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา มาตรการหลักคือ การใช้ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เรื่องร้องเรียนมากที่สุด 4 อันดับคือ ถนน, น้ำท่วม, ทางเท้า, แสงสว่าง และความปลอดภัย เรื่องร้องเรียนมาแล้ว 113,881 เรื่อง แก้ไขเสร็จแล้ว 47%, กำลังแก้ไข 19% ส่งต่อหน่วยงานอื่น 30% และรอรับเรื่อง 1% ทั้งนี้ ได้เพิ่มช่องทางร้องเรียนด้านการทุจริตเรียบร้อยแล้ว อีกส่วนหนึ่งจะมีการขยายศูนย์ One Stop Service ให้ครบ 50 เขต ใน 1 ปี ตั้งใจจะเพิ่มจาก 16 เขตให้ครบทุกเขต และสุดท้าย ผู้ว่าสัญจรในเดือนก.ค. 2565 สัญจรไป 3 เขตคือ จตุจักร บางบอน และปทุมวัน
นายเอกวรัญญู กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพการรับประทานอาหารกับข้าราชการระดับล่าง แม้จะมีการวิจารณ์ว่าสร้างภาพ ขออธิบายว่า ภาพเหล่านี้เป็นการให้เกียรติคนทำงานจริงๆ ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร, นายชัชชาติได้รับทราบปัญหาที่แท้จริงจากการพูดคุย และเป็นการให้กำลังใจกัน
และเรื่องสุดท้ายการปลูกต้นไม้ ตอนนี้มียอดจอง 1.641 ล้านต้น ปลูกไปแล้ว 82,248 ต้น โดยกำลังรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานเอกชนด้วย และประชาชนสามารถปลูกต้นไม้แล้วแอดไลน์ Tommorrow Tree ทั้งนี้ ในเดือนหน้า จะมีมาตรการคัดแยกขยะระหว่างขยะจากอาหารและอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวคิดของนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษา กทม.
เหล่านี้คือสิ่งที่ กทม.สรุปผลงานในรอบ 2 เดือนที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ 'ชัชชาติ' ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. และยังเหลือเวลาอีกมากที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า นโยบายที่เคยลั่นวาจาไว้ในช่วงหาเสียงจะเป็นอย่างไร รวมถึงประเด็นการตรวจสอบทุจริตที่เคยประกาศวาระต้านโกงไว้ก่อนหน้านี้ยังต้องถูกจับตาดูว่าจะมีการขับเคลื่อน-ผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่