“…ภาพรวมการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนในไทย ถือว่าดีพอสมควร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ตัวเลขที่กับเป้าหมายที่จะต้องเป็นมันยังห่างกันอีกมาก เพราะฉะนั้นจะต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน…”
ในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ปัญหามลพิษ น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนกรด อุณหภูมิโลกผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน และมีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะบางทีเป็นเราเองเสียอีกที่เผลอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวิกฤตนี้ให้เกิดขึ้น อาจจะด้วยความไม่ใส่ใจหรือความไม่รู้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ทำให้สิ่งแวดล้อมบนโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง
เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยุติโครงการ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ แห่งใหม่ จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย เกิด #LetTheEarthBreath ทำให้ประเด็น ‘ภาวะโลกร้อน’ และปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง
แม้ว่านานาประเทศทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้คำมั่น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และคาดว่าในไม่ช้า เปลี่ยนไปเป็นพลังงานทดแทน หรือ พลังงานสะอาด
พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่นำมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถแบ่งตามแหล่งที่ได้มาเป็น 2 ประเภท คือ
-
พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป อาจเรียกว่า พลังงานสิ้นเปลือง ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น
-
พลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้ว สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก เรียกว่า พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน เป็นต้น เป็นพลังงานที่สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ประเทศไทย ได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2065-2070
โดยรัฐบาลมีแผนที่จะปรับในเรื่องแหล่งพลังงานของประเทศที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลก็ต้องได้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ เรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะดำเนินการให้ครบวงจร ทั้งเรื่องรถและสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลกที่ต้องเตรียมการให้พร้อม
นายวิจารย์ กล่าวถึงนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) ว่า เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน ประกอบด้วย
-
การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 %
-
การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5
-
การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30 % โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่
-
การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
“เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วง ค.ศ. 2065-2070 ของไทยนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน” นายวิจารย์ กล่าว
ทางด้าน นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า พลังงานทดแทนมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าจะแบ่งประเภทพลังงานอย่างไร โดยหลักๆ สามารถแบ่งจากพลังงานปลายทางได้ 3 ประเภท คือ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง และความร้อน โดยต้นกำหนดพลังงานได้จากหลากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล และชีวภาพ
“ในอดีตจบจวนถึงปัจจุบัน พลังงานทดแทน คือ พลังงานชีวมวล เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่น ไม้ฟืน แกลบ กากอ้อย เศษไม้ เศษหญ้า เศษเหลือทิ้งจากการเกษตร เหล่านี้ใช้เผาให้ความร้อนได้ เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพแบบของแข็ง และความร้อนที่ได้ไปปั่นไฟ ซึ่งประเทศไทยได้ลงทุนกับพลังงานชนิดนี้ไปมากพอสมควรแล้ว” นายเดชรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาว่า พลังงานชีวมวล ทำได้เฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม แต่สำหรับในเมือง พื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากนั้น ไม่สามารถทำได้
นายเดชรัตน์ กล่าวว่า ในอนาคต โซล่าเซลล์ (Solar Cell) หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะเป็นพลังงานทดแทนหลัก เพราะใช้ได้ทั่วไปและทุกพื้นที่ อีกทั้งเป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษและไม่มีวันสิ้นสุด
ส่วนลม เป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกหนึ่งชนิดที่หลายประเทศมุ่งพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากลมมีศักยภาพในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ที่เป็นพิษ และไม่มีวันสิ้นสุด เช่นเดียวกับพลังงานจากแสงอาทิตย์
แต่ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศของแต่ละแห่ง ส่งผลให้พลังงานจากลม ไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ เช่น ลมที่ประเทศทางยุโรป มีความแรงและมาอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ ลมในประเทศไทย อาจจะรู้สึกว่ามีความแรง แต่แรงเป็นแค่บางช่วง เช่น ช่วงมรสุมเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดทางพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศ ไม่เหมือนแสงอาทิตย์ ที่ทำได้ทุกที่
ฉะนั้น การใช้พลังงานจากลมในไทย จึงกระจุกตัวอยู่บางพื้นที่ เช่น ชัยภูมิ โคราช หรือตามชายทะเล ซึ่งสวนทางกับตามต้องการใช้พลังงานในพื้นที่ ทำให้ต้องส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น แต่ในขณะที่พลังงานจากแสงอาทิตย์ จุดที่ผลิตกับจุดที่ใช้อยู่จุดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันมากกว่า
“พลังงานลม มีอีกข้อจำกัด คือคาดการณ์ได้ยากกว่าแสงอาทิตย์ เรารู้ว่าไม่มีแดดจะไม่มีพลังงาน เรายังคาดการณ์ได้บ้าง เวลาเรามีแดด ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมากขึ้น เมื่อพูดตามหลักเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์ (Demand) กับอุปทาน (Supply) มาคู่กัน ส่วนพลังงานลมนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และจะหยุดเมื่อไหร่ จึงเป็นข้อด้อยในด้านการบริหารจัดการเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์” นายเดชรัตน์ กล่าว
นายเดชรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานทดแทนในปัจจุบันว่า ขณะนี้ ข้อตกลงการลดก๊าซเรือนกระจก มีความเข้มงวดจริงจังมากขึ้น หลายประเทศมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ส่งผลให้เป็นกระแสในการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ส่วนมุมของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ภาพรวมช่วงที่ผ่าน พลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศเติบโตได้ดีมาก เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี ดัชนีการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนสูงถึงกว่า 20% ขณะที่ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ติดลบประมาณ 5%
“ภาพรวมการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนในไทย ถือว่าดีพอสมควร สถานการณ์การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเติบโตถึง 8% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ตัวเลขกับเป้าหมายที่จะต้องเป็นมันยังห่างกันอีกมาก เพราะฉะนั้นจะต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน” นายเดชรัตน์ กล่าว
นายเดชรัตน์ กล่าวยกตัวอย่างการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ว่า สำหรับประเทศไทย เราสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ที่หลังคาบ้านของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังสามารถประหยัดน้ำมันได้อีก หากใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่การติดตั้งโซล่าเซลล์ในปัจจุบัน พบอุปสรรค อย่างน้อยที่สุด 3 ข้อ ดังนี้
-
ขั้นต้นการขออนุญาต สำหรับการเชื่อมต่อกับระบบสายส่ง ใช้เวลาค่อนข้างนาน และมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร
-
ราคาในการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลล่าเซลล์นั้น ค่อนข้างต่ำ
ในกรณีที่บางช่วงไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่ถูกใช้ ก็จะถูกขายให้กับภาครัฐ ส่วนในเวลากลางคืน เมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ที่จะผลิจไฟฟ้า ก็จะต้องซื้อใช้จากภาครัฐ โดยอัตราการซื้ออยู่ที่ หน่วยละ 4 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่หน่วยละ 2.2 บาท ดังนั้น แม้ว่าจะผลิตมากกว่าที่ซื้อจากรัฐ ก็จะต้องจ่ายเงินให้รัฐอยู่ดี เพราะว่าหน่วยที่ขายมีราคาน้อยกว่าหน่วยที่ซื้อใช้
- ไม่มีระบบการเงิน หรือสินเชื่อสำหรับการติดตั้งโซล่าเซลล์
ต้นทุนการติดตั้งโซลล่าเซลล์ สำหรับบ้านขนาดเล็กอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบ้านต่อหลัง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์นั้น ถือว่าคุ้มค่า เพราะการติดตั้งโซลล่าเซลล์ สามารถคืนทุนด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมูลค่าในการขายคืนให้กับรัฐอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีระบบสินเชื่อที่จะมากู้ยืมสำหรับติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ ไม่เหมือนกับการกับการซื้อบ้านหรือรถที่มีมูลค่ามากกว่า แต่มีระบบสินเชื่อในการกู้ยืม และผ่อนจ่าย
นายเดชรัตน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน นักลงทุนไทยจำนวนมาก ลงทุนธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในต่างแดน ตัวอย่างเช่น เวียดนาม เติบโตเร็วมากด้านพลังงาน จากที่ตามหลังไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน ตอนนี้พุ่งทยานแซงหน้าแล้ว เพราะนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติเข้าไปลงทุน
เป็นคำถามว่าแล้วทำไมไทยถึงตามหลัง เพราะกฎหมายและการขออนุญาตมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถลงทุนในไทยได้ บวกกับตลาด เช่น เราจะให้บ้านเรือนติดตั้งโซลาเซลล์ โดยที่นักลงทุนเข้ามาลงทุน และมีบริษัทเข้าไปติดตั้ง เราจะต้องมีราคาที่สมเหตุสมผล ราคาที่จูงใจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ รวมถึงระบบสินเชื่อ ถ้าเรามีช่องทางการเงิน ก็จะส่งเสริมการติดตั้งได้
ทั้งหมดนี้ คือนโยบายและสถานการณ์พลังงานทดแทนในประเทศไทย จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐจะมีทิศทางในเรื่องนี้อย่างไร