ทั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่สหรัฐฯอาจจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้มีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ว่ามิน อ่อง หล่าย ก็มีความเชื่อว่าเขายังมีเพื่อนและพันธมิตรที่ไว้ใจได้อยู่ ซึ่งเพื่อนที่ว่านี้ก็รวมไปถึงรัสเซีย,จีน,อินเดีย,ญี่ปุ่น และประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งเป็นที่ๆเขารู้กันดีว่าในประชาคมระหว่างประเทศต่างๆนั้นเต็มไปด้วยการกระทำพูดอย่างแต่ว่าทำอีกอย่าง
ข่าวในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ในความสนใจของชาวโลก ณ เวลานี้ ก็คงหนีไม่พ้นข่าวการตัดสินใจประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนี่ทำให้ประชมคมโลกทั้งตกใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าเผด็จการทหารเมียนมา ตัดสินใจแบบนี้ทำไม
ล่าสุดทางสำนักข่าวอิระวดี ได้มีการลงบทความวิเคราะห์ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายผู้นำทางทหารของเมียนมา เอาไว้ว่าทำไมถึงได้ตัดสินใจสั่งประหารชีวิตดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ย้อนไปเมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายผู้นำทางทหารของเมียนมานั้นเดินทางไปยังรัสเซียพร้อมด้วยพระเถระระดับสูงจำนวนสององค์ เพื่อจะทำพิธีถวายเจดีย์ ณ ศูนย์วัฒนธรรม เอทโนเมียร์ เมืองคาลูก้า ใกล้กับกรุงมอสโก
โดยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็มักจะใช้เวลาส่วนมากแสดงตัวเองว่าเขาคือผู้ปกครองที่ชอบธรรม และมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในการปกป้องศาสนาพุทธของเมียนมา ซึ่งกิจกรรมโดยมากของมิน อ่อง หล่าย ก็จะเป็นการก่อสร้างพระพุทธรูป ซึ่งรวมไปถึงพระพุทธรูปปางนั่งที่อ้างว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การยกฉัตรยอดเจดีย์ต่างๆในเมียนมาเป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางศาสนาดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ปิดบังความจริงเกี่ยวกับความวุ่นวายของเมียนมาที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารแต่อย่างใด โดยมีรายงานถึงพฤติกรรมอันโหดร้ายของทหารในกองทัพเมียนมาออกมาให้เห็นเป็นระยะ
มีประเด็นที่น่านใจก็คือว่าแม้ว่ามิน อ่อง หล่าย จะพยายามทำตัวให้ดูว่าเป็นผู้ที่เคร่งศาสนา แต่ปรากฎว่าประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เขาไปเยือนรัสเซีย เขาก็ได้สั่งให้มีการประหารนักกิจกรรมจำนวนสี่ราย ซึ่งสองในสี่รายนั้นถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ ส่งผลทำให้ทั่วโลกนั้นตกตะลึงและส่งเสียงประณามกับการกระทำนี้เป็นอย่างยิ่ง
มีรายงานว่าย้อนไปเมื่อประมาณสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าการประหารชีวิต มีทีมแพทย์เข้ามาตรวจสอบสุขภาพของนักโทษที่ถูกกล่าวหาจำนวนสี่ราย ซึ่งสองรายนั้นก็คือบุคคลชื่อดังของเมียนมาได้แก่นายพโย เซยา วัย 41 ปี อดีตสมาชิกรัฐสภาของสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือว่าพรรคเอ็นแอลดี และนายก่อ จิมมี วัย 53 ปี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดัง
ส่วนอีกสองรายนั้นไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ได้แก่ นายโค ฮลา เมียว ออง และนายโค ออง ทูระ ซอว์ ซึ่งทั้งสองถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมผู้หญิงที่เชื่อกันว่าเป็นสายข่าวให้กองทัพเมียนมา
โดยเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พวกเขาทั้งหมดก็ถูกตัดสินภายใต้ศาลทหาร และถูกพิจารณาด้วยกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ก่อนที่จะถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต
ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทีมแพทย์ซึ่งได้ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพได้รายงานขึ้นไปว่าพวกเขานั้นมีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมสำหรับโทษการแขวนคอ แต่อย่างไรก็ตาม การประหารก็ดำเนินต่อไป ภายใต้การสั่งการโดยตรงจากมิน อ่อง หล่าย
ข่าวการประหารนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก PBS)
มีรายงานด้วยว่า มิน อ่อง หล่าย นั้นได้ส่งนายทหารที่ไว้ใจได้จากกรุงเนปิดอว์ ซึ่งก็คือ พล.ท.ซอ ตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาควบคุมการประหารด้วยตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าการประหารนั้นจะดำเนินการไปอย่างลับๆ ซึ่งสิ่งที่ได้มาจากการประหารนั้น ก็อาจจะสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มหัวรุนแรงในกองทัพเมียนมาซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการรัฐประหารอย่างสุดขั้วได้ แต่ทว่าการกระทำนี้ก็ทำให้ทั่วทั้งประเทศ,รวมไปถึงรัฐบาลประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนั้นมีความตกใจเป็นอย่างยิ่ง
ตามรายละเอียดในจดหมายเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกเขียนโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนของกัมพูชา และประธานอาเซียน ก็ได้มีการร้องขอให้ผู้นำทหารนั้นยกเลิกการประหารนายพโย เซยา และนายก่อ จิมมี
แน่นอนว่าทั้งมิน อ่อง หล่าย รวมไปถึงนายทหารคนสนิทต่างก็ปฏิเสธคำร้องขอจากฮุน เซน และเดินหน้าการประหารต่อไปตามที่ปรากฎเป็นข่าว
นี่ก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญอีกประการหนึ่งว่าทำไมผู้นำทหารของเมียนมาถึงละเลยคำขอของผู้นำรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเพียงไม่กี่คนที่ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มต้องการจะช่วยเหลือเขา และระบอบการปกครองของเขาให้มีความชอบธรรม ดำรงอยู่ต่อไปได้ อะไรคือสิ่งที่อยู่ในความคิดของมิน อ่อง หล่าย ณ เวลานี้ จนนำไปสู่การตัดสินประหารชีวิต และเขาคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการกระทำเช่นนี้
สิ่งที่พอจะตอบได้ก็คือว่ามิน อ่อง หล่าย นั้นต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเขายึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง และไม่สามารถจะโน้มน้าวเพื่อจะเปลี่ยนใจเขาได้
โดยนับตั้งแต่การรัฐประหาร เผด็จการทหารเมียนมาก็ได้มีการใช้กลยุทธ์การกวาดล้างอย่างเข้มข้นกับทั้งกลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามและกับกลุ่มประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เผด็จการทหารได้มีการออกคำสั่งยกเลิกการกักตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐในบ้านพักของตัวเอง และให้คุมขังเธอในเรือนจำในกรุงเนปิดอว์แทน
โดยนายพโย เซยา ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตไปนั้นก็เป็นบุคคลใกล้ชิดกับนางซูจี และเคยร่วมทริปไปประเทศจีนด้วยกันเป็นครั้งแรกในปี 2558 จึงมีการเชื่อกันว่าการตัดสินประหารชีวิตนั้นแท้จริงแล้วเป็นการส่งสัญญาณไปถึงนางซูจีโดยตรง ด้วยความหวังว่าจะทำลายจิตใจที่จะต่อสู้ของนางซูจี เพราะหลังจากที่เกิดการประหารไปได้ไม่นาน สื่อโซเชียลมีเดีย ที่อยู่ฝั่งเดียวกับเผด็จการทหารเมียนมาก็ออกมาโพสต์ฉลอง ระบุถ้อยคำว่า “สามีน้อยของนางซูจีนั้นถูกประหารชีวิตแล้ว”
มิน อ่อง หล่าย ยังพยายามที่จะดำเนินการในทุกหนทางที่จะกระชับอำนาจการปกครองประเทศของตัว ซึ่งความพยายามที่ว่านี้ก็รวมไปถึงการส่งเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์เข้าโจมตีกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่พลเรือน ซึ่งการโจมตีดังกล่าวนั้นก็รวมไปถึงการโจมตีริมชายแดนประเทศไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มเผด็จการนั้นดูเหมือนว่าจะมีความพยายามน้อยมากในการที่จะชนะใจประชาชนของตัวเอง
ดังนั้นจึงมีความเชื่อกันว่าการประหารชีวิตนั้นก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในความพยายามของเผด็จการทหารที่ต้องการจะแสดงอำนาจ ด้วยความเชื่อที่ฝังหัวทั้งตัวมิน อ่อง หล่าย และเหล่านายทหารว่าการใช้กำลังและการแสดงความครั่นคร้ามนั้นคือหนทางเดียวที่จะทำให้กองทัพสามารถจัดการกับประชาชนและฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการได้อย่างเด็ดขาด
แต่อย่างไรก็ตาม การประหารนี้ก็จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาจากฝ่ายตรงข้าม กระพือให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน แต่ดูเหมือนว่าเผด็จการทหารจะไม่สนใจในผลกระทบตามมามากนัก ซึ่งนี่ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า อาจจะเป็นเพราะความเกลียดชังส่วนตัวของมิน อ่อง หล่าย ที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามซึ่งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุทำให้เขาตัดสินใจสั่งประหารชีวิต ดังนั้นนี่ก็เหมือนกับการล้างแค้นที่เขารอคอยมานานแล้ว
มิน อ่อง หล่าย ปาฐกถาที่กรุงมอสโกเมื่อเดือน ก.ค. 2564 (อ้างอิงวิดีโอจาก AP)
ทั้งนี้ก่อนการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา มิน อ่อง หล่าย นั้นได้เคยพูดคำหนึ่งออกมาว่า “ไม่มีอะไรที่เขาไม่กล้าที่จะทำ” ซึ่งนี่เป็นการสื่อให้เห็นว่าในหัวของมิน อ่อง หล่าย นั้นคิดว่าไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมอะไรที่เขาได้ดำเนินการ เขาก็จะสามารถหลบหนีจากโทษทัณฑ์ไปได้
โดยผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา และเหล่าบรรดานายทหารชั้นสูงนั้นมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเสียงประณามและการลงโทษจากต่างประเทศต่อเมียนมานั้น ในที่สุดก็จะบรรเทาลงไปในไม่ช้า เพราะว่าในปีที่ผ่านมา มีผู้บัญชาการทหารในระดับกลางได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเขา (ต่างประเทศ) จะตะโกน กรีดร้องอย่างไรก็ได้ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาจะเหนื่อยและล้าไปเอง”
ยกตัวอย่างเช่นกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศนี้ก็อาจจะยุติการดำเนินธุรกิจต่างๆกับเมียนมาเหมือนที่เคยทำ เพราะเหตุประหารชีวิตนักโทษซึ่งเป็นนักเรียกร้องประชาธิปไตยสี่รายนี้ แต่ว่านี่ก็น่าจะเป็นทั้งหมดแล้วสำหรับมาตรการที่จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อลงโทษเผด็จการทหารเมียนมา
ในความเป็นจริงแล้ว มิน อ่อง หล่าย มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นได้รับแรงกดดันที่น้อยมากจากต่างประเทศ เพราะว่าถ้าหากเขาได้รับแรงกดดันที่หนักหนาจริง ก็คงไม่มีการสั่งการด้วยคำสั่งที่โหดร้ายให้ดำเนินการประหารชีวิต
โดยทางด้านของนายสกอต มาร์เซียล อดีตอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเมียนมาได้เคยออกมาวิจารณ์ว่าระบอบการปกครองของเมียนมานั้นถือว่าเลวร้ายที่สุดในอาเซียน นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของระบอบเขมรแดงเป็นต้นมา
ทั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่สหรัฐฯอาจจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้มีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ว่ามิน อ่อง หล่าย ก็มีความเชื่อว่าเขายังมีเพื่อนและพันธมิตรที่ไว้ใจได้อยู่ ซึ่งเพื่อนที่ว่านี้ก็รวมไปถึงรัสเซีย,จีน,อินเดีย,ญี่ปุ่น และประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งเป็นที่ๆเขารู้กันดีว่าในประชาคมระหว่างประเทศต่างๆนั้นเต็มไปด้วยการกระทำพูดอย่างแต่ว่าทำอีกอย่าง
ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามิน อ่อง หล่ายนั้น คงจะมีความยินดีที่สามารถดำเนินการประหารชีวิตครั้งนี้ไปได้ลุล่วง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะไม่มีโอกาสได้ยินเลยก็คือว่า แล้วนักเคลื่อนไหวเมียนมาที่ถูกประหารไปนั้นจะประณามอาเซียนมากน้อยแค่ไหนกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหา
เรียบเรียงจาก:https://www.irrawaddy.com/opinion/commentary/myanmar-junta-chief-motivated-only-by-cruelty-and-revenge.html