"...เป็นการร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตจัดหาเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ โดยกระทำการใด ๆ เพื่อให้บริษัท โบอิ้ง (The Boeing Company) เสนอขายเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ TRENT ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) เพียงยี่ห้อเดียว และจงใจหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาคัดเลือกเครื่องยนต์โดยการเปรียบเทียบเครื่องยนต์ยี่ห้ออื่นที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ที่จะทำการสั่งซื้อตามแผนวิสาหกิจของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท การบินไทย..."
"ไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดตามข้อกล่าวหา จากนี้ก็คงจะไปสู้คดีในชั้นศาลตามขั้นตอนทางกฎหมาย"
เมื่อถามว่า ที่ผ่านได้เข้าไปชี้แจงข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช. จนครบถ้วนแล้วหรือไม่ นายทนง กล่าวว่า "ผมเข้าไปชี้แจงแล้ว เข้าไปชี้แจงตั้ง 2 ครั้ง ไม่เห็นเขา (ป.ป.ช.) จะมีหลักฐานอะไร ที่จะมาบอกว่าผมทำผิดได้เลย"
เมื่อถามว่า มีความกังวลใจในการต่อสู้คดีหรือไม่ นายทนง หัวเราะ ก่อนจะตอบว่า "ผมไม่กังวลใจอะไรเลย ว่ากันไป"
"เพราะอะไรที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ใครก็คงจะมาทำอะไรเราไม่ได้ ไม่เป็นไร เราก็มีข้อมูลของเรา ป.ป.ช.ก็มีข้อมูลของเขา ก็ว่ากันไป เรื่องธรรมดา"
คือ คำชี้แจงของ นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ ที่ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาในคดีกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 ในส่วนผู้ถูกกล่าวหากลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ราย
- ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา ‘ทนง-กวีพันธ์’ คดีสินบนโรลส์รอยซ์บินไทย-'กนก อภิรดี' โดนวินัยร้ายแรง (1)
- เปิดใจ 'ทนง พิทยะ' คดีสินบนโรลส์รอยซ์ "เราไม่ได้ทำอะไรผิด ใครก็คงจะมาทำอะไรไม่ได้" (2)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวใน ป.ป.ช. ถึงข้อกล่าวหาเป็นทางการ ของ นายทนง พิทยะ และผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ ในคดีนี้ ประกอบไปด้วย นายกนก อภิรดี , นายกอบชัย ศรีวิลาศ, นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา, นายสุเทพ สืบสันติวงศ์, นายกวีพันธ์ เรืองผกา , เรืออากาศโท วีรชัย ศรีภา นาวาอากาศโท ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ เรืออากาศโท ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ และนายชาญชัย สิงห์โตโรจน์
คือ การร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตจัดหาเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ โดยกระทำการใด ๆ เพื่อให้บริษัท โบอิ้ง (The Boeing Company) เสนอขายเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ TRENT ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) เพียงยี่ห้อเดียว
และจงใจหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาคัดเลือกเครื่องยนต์โดยการเปรียบเทียบเครื่องยนต์ยี่ห้ออื่นที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ที่จะทำการสั่งซื้อตามแผนวิสาหกิจของบริษัทฯ
ซึ่งถือเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
โดยมีเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาขายเครื่องยนต์ TRENT 892 สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
เป็นเหตุให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์ดังกล่าว
และร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จัดหาเครื่องยนต์สำรอง TRENT 892จำนวน 2 เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 500 จำนวน 5 เครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600
โดยจงใจหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดหาและจ้างซ่อมเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ที่ได้รับอนุมัติจากการประชุมฝ่ายบริหารบริษัทฯ ครั้งที่ 20/2540 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 จงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 หมวด 14 การจัดหาพัสดุ การจ้างซ่อมชิ้นส่วนอะไหล่ของเครื่องบินในกิจการฝ่ายช่าง
และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER ด้วยการเสนอข้อมูลเครื่องยนต์ TRENT 884 ซึ่งมีราคาต่ำกว่าเครื่องยนต์ TRENT 892
โดยมีเจตนาเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินโบอิ้งB777-200ER และเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
เป็นเหตุให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย
เหตุเกิดที่บริษัทการบินไทย ระหว่างเดือนมีนาคม 2547 – 15 มิถุนายน 2549
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาฯ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลความผิดนายทนง กับพวก จริง แต่เรื่องนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อรับรองมติเป็นทางการอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และ นายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท และ มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ในส่วนข้อกล่าวหา ตามมาตรา 11 ปัจจุบันขาดอายุความไปแล้ว
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ อาทิ นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง แต่เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนคนอื่นๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และพ้นข้อกล่าวหา
ขณะที่การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ หากมีความคืบหน้าจะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป