เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดการตกของโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 นั้นก็คือเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านานี้เอง โดยเป็นการตกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่โดรนกำลังมุ่งหน้าไปยังสนามบินลัมเบีย บนหมู่เกาะมินดาเนา ซึ่งสาเหตุของการตกดังกล่าวมาจากการที่การสื่อสารกับโดรนนั้นถูกขัดจังหวะ ในช่วงระหว่างการบินเพื่อทดสอบระบบของโดรน
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากองทัพเรือไทยนั้นได้ตัดสินจะจัดซื้อโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV )จาก บริษัท Elbit Systems Ltd ประเทศอิสราเอล ด้วยราคา 4,060,551,936.11 บาท (สี่พันหกสิบล้านห้าแสนห้าหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยสามสิบหกบาทสิบเอ็ดสตางค์) โดยเป็นราคาที่ยกเว้นค่าอากรทางศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่นๆ ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วโดยเป็นการจัดซื้อโดรนรุ่นเฮอร์มีส (Hermes) 900 รวมทั้งสิ้นจำนวนหนึ่งระบบ
อย่างไรก็ตามการจัดซื้อโดรนดังกล่าวนั้นได้รับเสียงครหามากมายจากภาคประชาสังคมและฝ่ายการเมือง ในหลายประการด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือกรณีที่นายนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยได้ออกมาวิจารณ์เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ว่าโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ที่กองทัพเรือกำลังจะจัดซื้อนั้นมีสถิติการตกบ่อยมาก
ขณะที่ฝ่ายกองทัพเรือ โดย พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ก็ได้ชี้แจงว่าโดรนรุ่นดังกล่าวที่มีประวัติตกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 HFE (High Fuel Engine) ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบพื้นฐานของ เฮอร์มีส-900 เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการด้านยุทธการของกองทัพบกประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และสาเหตุของการตกก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบการบินด้วยความเร็วสูง (High Speed Maneuver) จนทำให้โครงสร้างมีการสั่นที่รุนแรง ซึ่งทำให้ส่วนหางเครื่องหลุดจากลำตัว และทำให้ควบคุมเครื่องไม่ได้และตกลงสู่พื้นในที่สุด ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์แต่ประการใด
จากกรณีดังกล่าวนั้นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นรายงานในต่างประเทศเกี่ยวกับประวัติการตกของโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 มานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดการตกของโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 นั้นก็คือเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านานี้เอง โดยเป็นการตกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่โดรนกำลังมุ่งหน้าไปยังสนามบินลัมเบีย บนหมู่เกาะมินดาเนา ซึ่งสาเหตุของการตกดังกล่าวมาจากการที่การสื่อสารกับโดรนนั้นถูกขัดจังหวะ ในช่วงระหว่างการบินเพื่อทดสอบระบบของโดรน
โชคดีที่ว่าไม่มีอาคาร สิ่งปลูกสร้างเสียหายหรือว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตกแต่อย่างใด เพราะว่าโดรนนั้นตกลงกลางป่า ทางการฟิลิปปินส์ก็มีการเก็บกู้โดรนเพื่อสอบสวนหาสาเหตุของการตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โดรนรุ่นเฮอร์เมส 900 ทั้งหมดนั้นถูกสั่งห้ามบินโดยทันที
และต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ก็มีความคืบหน้าล่าสุดจากทางการฟิลิปปินส์ออกมาว่าการตกที่เป็นข่าวดังกล่าวนั้นแท้จริงคือการลงจอดฉุกเฉินในพื้นที่ป่า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่โดรนได้ออกขึ้นบินในเวลา 9.30 น.เพื่อทดสอบระบบ โดยหลังจากที่ออกบินไปได้ 5 ไมล์ทะเล โดรนก็ได้ไต่ระดับสูงถึง 10,000 ฟุต และพอหลังจากที่โดรนลำนี้ผ่านกระบวนการทดสอบการทำงานของเที่ยวบินหรือที่เรียกกันว่า FCF โดรนก็ได้ไต่ระดับลงมาอยู่ที่ 5,000 ฟุต โดยอยู่ห่างจากสนามบินลัมเบียไปทางตะวันออกที่ 1.5 ไมล์ และต่อมาเมื่อเวลา 11.46 น. การสื่อสารของโดรนก็ถูกขัดจังหวะไป
มีข่าวลือว่าโดรนเฮอร์มีส-900 ที่ตกในฟิลิปปินส์นั้นมาจากการถูกโจมตี (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Search)
ทั้งนี้จากการให้การของโฆษกกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ระบุว่าโดรนนั้นได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ก็อาจจะมีการซ่อมแซมเพื่อให้โดรนกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม โดย ณ เวลานี้ ทางกองทัพฟิลิปปินส์ก็กำลังดำเนินการซ่อมแซมโดรนลำดังกล่าวอยู่
@โดรนยังคงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่ามีความสามารถในการรบ
จากรายงานข่าว รัฐบาลกรุงมะนิลาได้มีการสั่งโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 จำนวน 9 ลำ จากบริษัท Elbit ของอิสราเอลคิดเป็นมูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6,345.5 ล้านบาท) ซึ่งโดรนเหล่านี้นั้นถูกนำไปใช้ในภารกิจได้แก่การเฝ้าระวัง,ภารกิจค้นหาและกู้ภัย ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัท Elbit ได้เคยนำเสนอโดรนรุ่นนี้ในเวอร์ชั่นสำหรับภารกิจทางทะเล โดรนดังกล่าวนั้นจะมีศักยภาพในการทิ้งแพช่วยชีวิตให้กับเป้าหมายได้
ทั้งนี้การนำโดรนเฮอร์มีส-900 เวอร์ชั่นดังกล่าวไปใช้นั้นเป็นไปตามความต้องการของลูกค้ารายหนึ่งที่ไม่ระบุนาม ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
สำหรับคุณลักษณะของโดรนเฮอร์มีส-900 นั้นมีพื้นที่ความกว้างปีกอยู่ที่ 15 เมตร และมีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดอยู่ที่ 1,180 กิโลกรัม มีเพดานบินสูงสุดถึง 10 กิโลเมตร และสามารถบินได้นานติดต่อกันสูงสุด 36 ชั่วโมง โดยโดรนรุ่นนี้เป็นโดรนในประเภทเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกลหรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance)
โดรนเฮอร์มีส-900 ถูกนำไปเปรียบเทียบกับโดรนเบย์รักตา TB-2 โดรนชื่อดังของตุรเคียที่ใช้ในสงครามรัสเซียและยูเครน (อ้างอิงวิดีโอจาก Defence Learning)
ในประเทศอิสราเอล โดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ถูกพิจารณาว่ามีขีดความสามารถในการรบ อย่างไรก็ตามเวอร์ชั่นส่งออกของโดรนรุ่นนี้นั้นกลับเป็นเวอร์ชั่นที่ไม่ติดอาวุธเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับกรณีโดรนรุ่นเฮอร์มีส-450 ในเวอร์ชั่นส่งออกนั้นก็ไม่ได้ติดอาวุธอีกเช่นกัน
โดยโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ถือว่าเป็นโดรนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกองทัพทั่วโลก มีการส่งมอบโดรนรุ่นนี้ไปให้กับกองทัพของทั้งประเทศชิลี,โคลอมเบีย,บราซิล,เม็กซิโก,อาเซอร์ไบจาน และสิงคโปร์ และล่าสุดกองทัพอูกานดาก็ได้รับโดรนนี้ไปอีกจำนวน 12 ลำ
@อุบัติเหตุในปฏิบัติการณ์ของฟรอนเท็กซ์
ย้อนไปเมื่อสามปีก่อน หน่วยงานดูแลเรื่องชายแดนสหภาพยุโรปหรือ EU ที่มีชื่อว่าฟรอนเท็กซ์ (Frontex) ได้มีการใช้งานโดรนเฮอร์มีส-900 ในภารกิจเฝ้าระวังชายแดน โดยได้มีการวางโดรนรุ่นนี้ประจำการ ณ เกาะครีต ประเทศกรีซเพื่อภารกิจดังกล่าว โดยมีหน่วยงานชื่อว่าสํานักงานความปลอดภัยทางทะเลของสหภาพยุโรป (EMSA) เป็นผู้ที่รับผิดชอบในเที่ยวบินของเฮอร์มีส-900
อย่างไรก็ตามปรากฏว่าในช่วงต้นเดือน ม.ค. โดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ก็ประสบเหตุตก ณ รันเวย์ของสนามบินทิมปากิในระหว่างการร่อนลงจอด ซึ่งข้อมูลจากการสอบสวนของคณะกรรมการของ EU นั้นระบุว่าแท้จริงแล้วโดรนไม่ได้ตก แต่ว่าเป็นการลงจอดที่รุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งปัญหาการลงจอดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เซ็นเซอร์ของโดรนนั้นระบุว่ามีค่าการอ่านที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
ทั้งนี้ผลของการร่อนลงจอดที่รุนแรงมากกว่าปกติดังกล่าวก็ทำให้ลําตัวปีกและเซ็นเซอร์ของโดรนได้รับความเสียหาย แต่ว่าไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และตัวรันเวย์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้นั้น EMSA ได้มีการใช้โดรนเฮอร์มีส-900 ในภารกิจเฝ้าระวังยามฝั่ง ณ ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งการใช้โดรน ณ ไอซ์แลนด์ดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้งานโดรนจากอิสราเอลในสภาวะอากาศที่เลวร้ายและภาวะลมแรงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน
@โดรนรุ่นอื่นๆก็มีตกเหมือนกัน
ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ตกที่เกาะครีตเป็นต้นมา ทางหน่วยงานของ EU ก็ไม่ได้มีการใช้งานโดรนเฮอร์มีส-900 อีกเลย โดยเมื่อสองปีก่อนนั้น ทางฟรอนเท็กซ์ก็ได้มีการมอบสัญญาจัดหาโดรนระยะบินไกลในทะเลเมดิเตอร์ริเนียนให้กับบริษัทสัญชาติอิสราเอลอีกแห่งชื่อว่าบริษัท Israel Aerospace Industries หรือว่า IAI ซึ่งบริษัทนี้นั้นถือว่าเป็นคู่แข่งกับบริษัท Elbit และโดรนรุ่นที่ชนะการประกวดราคาให้ทำภารกิจของ EU ก็คือโดรนรุ่น Heron 1
อย่างไรก็ตามพบข้อมูลว่าประเทศเยอรมนีนั้นเคยใช้โดรนรุ่น Heron 1 ดังกล่าวนี้จำนวนสี่ลำนับในภารกิจที่ประเทศอัฟกานิสถานนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งในจำนวนสี่ลำที่ว่านี้ปรากฎว่าประสบอุบัติเหตุตกเป็นจำนวนสองครั้งได้การตกที่รันเวย์ด้วยความผิดพลาดของนักบินหนึ่งครั้ง และชนภูเขาอีกหนึ่งครั้ง
@การทดสอบ และตกก่อนส่งให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
กองทัพบกสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นลูกค้าที่โชคร้ายรายแรกของบริษัท Elbit ซึ่งในช่วงประมาณปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทได้มีการส่งมอบโดรนให้กับสวิตเซอร์แลนด์จำนวนทั้งสิ้นสองลำด้วยกัน พ่วงด้วยการติดติ้งสถานีภาคพื้นดินและศูนย์โลจิสติกส์ที่มีความจำเป็นต่อการทำภารกิจของโดรน หลังจากที่ก่อนหน้านี้การจัดซื้อนั้นมีความล่าช้าเป็นระยะเวลานานหลายปี
โดยโครงการการจัดหาโดรนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ว่านี้คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 300 ล้านฟรังก์สวิส (11,180.6 ล้านบาท) และสาเหตุที่ทำให้การจัดหาโดรนดังกล่าวมีความล่าช้าก็เนื่องมาจากการที่โดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ลำที่ควรจะถูกส่งมาประจำการยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นประสบอุบัติเหตุตกในประเทศอิสราเอลในช่วงเดือน ส.ค. 2563
สำหรับสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมีการรายงานว่าเกิดจากเบรกลมที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วโดรนผลักดันให้โดรนนั้นบินทะลุขีดจำกัดที่การบินในความเร็วสูง ส่งผลทำให้หางที่เป็นรูปตัววีของโดรนนั้นแตกออก ซึ่งนี่ส่งผลทำให้บริษัท Elbit ต้องมีการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าสำหรับแฟลบ (อุปกรร์ช่วยเพิ่มแรงยกของอากาศยาน) ของโดรนและดำเนินการทดสอบกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีการใช้งานโดรนรุ่นเฮอร์มีส-900 ภายใต้ชื่อระบบโดรนลาดตระเวน 15 (ADS-15) และมีรายงานว่าภายในช่วงก่อนสิ้นปี 2566 นั้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะได้รับมอบโดรนเฮอร์มีส-900 เพิ่มเติมอีกทั้งสิ้นจำนวนสี่ลำ
@เที่ยวบินในน่านฟ้าพลเรือน
ถึงแม้ว่าโดรนเฮอร์มีส-900 นั้นจะประสบอุบัติเหตุรุนแรงถึงสามครั้งในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้นทางสํานักงานการบินพลเรือนอิสราเอลก็ได้มีการอนุมัติใบอนุญาตถาวรให้กับโดรนเฮอร์มีส-900 เพื่อให้สามารถบินในน่านฟ้าของพลเรือนในประเทศอิสราเอลได้
ข่าวการอนุมัติให้โดรนเฮอร์มิส-900 บินในน่านฟ้าพลเรือนที่อิสราเอล (อ้างอิงวิดีโอจาก Elbit Systems)
โดยการอนุมัติดังกล่าวนั้นคาดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการมอบใบรับรองให้กับอากาศยานไร้คนขับที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้สามารถบินในน่านฟ้าพลเรือนได้ ซึ่งทางโฆษกของบริษัท Elbit ก็ได้กล่าวว่าบริษัทได้พยายามดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหกปี เพื่อจะให้ได้ใบอนุญาตที่ว่านี้มา
สำหรับโดรนที่มีการใช้ทางการทหาร ณ เวลานี้นั้น ถูกใช้เพื่อภารกิจเช่นการฝึกซ้อม ได้แก่ การประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศภาคพลเรือนเป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้โดรนรุ่นนี้ต้องมีระบบตรวจจับและหลีกเลี่ยงติดตั้งเข้าไปด้วย
โดยข้อมูลจากสํานักงานการบินอิสราเอลอ้างว่าโดรนเฮอร์มีส-900 นั้นมีการรับรองเป็นไปตามมาตรฐานของนาโตที่บังคับใช้ร่วมกันกับโดรนที่มีลักษณะใหญ่
ส่วนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีรายงานว่าหลังจากสิ้นปี 2566 เป็นต้นไปทางสวิตเซอร์แลนด์จะอนุมัติให้โดรนเฮอร์มีส-900 สามารถบินในน่านฟ้าพลเรือนของประเทศตัวเองได้
แต่อย่างไรก็ตามการที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ ระบบตรวจจับและหลีกเลี่ยงของโดรนนี้มีความจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานการบินสวิสเสียก่อน และถ้าหากโดรนได้รับการอนุมัติให้บินในน่านฟ้าพลเรือนได้ ก็หมายความว่าโดรนนี้จะสามารถนำไปใช้ในภารกิจของตำรวจ,การช่วยเหลือฉุกเฉินได้เช่นเดียวกับภารกิจเฝ้าระวังชายแดน
เรียบเรียงจาก:https://vpk.name/en/607925_the-philippine-air-force-is-investigating-the-cause-of-the-accident-of-the-hermes-900-uav.html, https://digit.site36.net/2022/05/30/third-accident-in-three-years-hermes-900-becomes-a-crash-drone/