สิ่งที่ดูว่าน่าจะขัดแย้งกันอย่างไม่น่าเชื่อก็คือว่า ก่อนหน้านั้นมาตรการการแยกตัวเองออกมาคือสิ่งที่ช่วยชีวิตเราเอาไว้จากโควิด แต่ว่า ณ เวลานี้ การกลับไปสู่การใช้ชีวิต ด้วยการเสริมภูมิจากการฉีดวัคซีน รวมไปถึงการติดเชื้อนั้นดูจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นภูมิและน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรับมือกับการระบาดในระลอกถัดไป
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ นั้นมีการพูดถึงคลื่นการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.4 และ BA.5 กันมากขึ้น เนื่องจากว่าเป็นโควิดที่มีศักยภาพสูงที่สุดในเรื่องของการแพร่เชื้อ
โดยประเทศไทยเองในวันนี้ก็มีสัญญาณที่น่ากังวลเช่นกันเนื่องจากว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในทิศทางขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลตามรายงานในหน้าสื่อในต่างประเทศ พบว่าที่ประเทศสิงคโปร์ มีเว็บไซต์สื่อสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพได้ลงบทวิเคราะห์เอาไว้ว่าสิงคโปร์นั้นน่าจะผ่านการระบาดในระลอกถัดไปได้ โดยไม่ต้องมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นเช่นการล็อกดาวน์แต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
เมื่อสิงคโปร์ได้มีการยกเลิกมาตรการการห้ามรวมกลุ่มในสาธารณะในช่วงปีที่ผ่านมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าหลังจากนั้นไม่นานยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนดูเหมือนว่าจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่แล้ว
มีหลายคนได้พยายามยกตัวอย่างจากประเทศอื่นที่สามารถจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้อยู่ในระดับต่ำได้ เพราะว่าประเทศเหล่านี้นั้นใช้มาตรการการควบคุมสาธารณชนและมาตรการควบคุมชายแดนที่เข้มงวด
โดยประเทศที่ประสบความสำเร็จในการคุมโควิดในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นก็มีได้แก่ไต้หวัน ที่ดูเหมือนว่าจะสามารถปิดกั้นพรมแดนได้อย่างสมบูรณ์จากประเทศจีนนับตั้งแต่ต้นปี 2563 และอีกประเทศก็คือนิวซีแลนด์ที่ดูเหมือนว่าจะข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ประเทศนี้สามารถจะแบนนักเดินทางเข้ามาสู่ประเทศได้
แต่อย่างไรก็ตามในทวีปยุโรปและอเมริกากลับพบว่ามียอดเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นมากกว่าหลายพันรายต่อจำนวนประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งถือว่ามากถ้าเทียบกับสิงโปร์ที่มียอดผู้เสียชีวิตแค่ 150 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน,ไต้หวันมียอดผู้เสียชีวิตแค่ 36 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน และประเทศนิวซีแลนด์มียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 10 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน
ประเทศสิงคโปร์เคยมียอดผู้เสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งล้านคนในจำนวนที่สูงกว่าไต้หวันและนิวซีแลนด์ก่อนที่สองประเทศนี้จะไล่ทันในเวลาถัดมา ขณะที่ฮ่องกงนั้นก็มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดหลังเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามแต่ จากรายงานข่าวในช่วงการระบาดที่ผ่านมานั้น ข้อบ่งชี้สำคัญก็คือว่าการใช้มาตรการโดดเดี่ยวตัวเองอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถป้องกันให้เกิดการระบาดของโควิดในประเทศได้ตลอดไป และเมื่อมีการเปิดพรมแดนเกิดขึ้น (หรือว่าไวรัสอาจจะเล็ดลอดเข้าสู่ประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง) นี่จะส่งผลทำให้ประเทศนั้นๆ มียอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตของประชากรพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากมีช่องว่างของการฉีดวัคซีนและประสิทธิภาพห่างกันมากเท่าใด ก็เป็นปัจจัยทำให้ผู้เสียชีวิตพุ่งมากขึ้นตามไปด้วย โดยมีตัวอย่างให้เห็นที่น่าเศร้าที่เห็นเด่นชัดก็คือที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่พบว่าไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึง 1,200 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน
ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์นั้นเลือกที่จะหารูปแบบในการใช้ชีวิตอยู่กับโควิด ด้วยการฉีดวัคซีนประเภท mRNA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงให้ได้ในสัดส่วนของประชากรที่สูงมาก
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือว่าชาวฮ่องกงโดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้นปฏิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีน และเมื่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูงได้เล็ดรอดผ่านแนวป้องกันอันหนาแน่นไปได้ ก็ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก
@การซื้อเวลา
ต้องยอมรับประกาศหนึ่งว่ามาตรการการโดดเดี่ยวตัวเองนั้นแท้จริงแล้วเป็นแค่การซื้อเวลาสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อให้มีการเตรียมตัวตอบสนองต่อการแพร่ระบาดอย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่ว่าการโดดเดี่ยวตัวเองนั้นไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนโดยตัวมันเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน ณ เวลานี้ก็ถือว่าเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนแล้ว
โดยท้ายที่สุดนั้นประชาชนก็จะต้องได้รับภูมิคุ้มกันต่อโรคที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการฉีดวัคซีนหรือว่าการติดเชื้อก็ตาม ซึ่งในบางประเทศโดยเฉพาะในตะวันตก อาทิ ที่ประเทศสวีเดน นั้นก็พบว่าไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวประชาชนของตัวเองต่อไปได้ ประเทศเหล่านี้จึงจำต้องใช้มาตรการจำกัดโรคแบบเล็กน้อยเท่านั้น แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินต่อไป
ส่วนประเทศในภูมิภาคอื่นๆรวมไปถึงในเอเชียแปซิฟิก ที่ดูเหมือนว่าจะสามารถดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองให้ห่างออกจากโรคได้อย่างสมบูรณ์นั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าแม้ประเทศเหล่านี้จะมีเวลาเตรียมตัวต่อโรคระบาดมากขึ้นจากการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะใช้เวลาที่ได้มาเพิ่มเติมนี้ดำเนินการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด
ทำให้ประเทศที่ว่านี้เลือกที่จะไม่หันหลังกลับไปใช้มาตรการเข้มข้นอีกแล้ว เว้นแต่ประเทศจีนเท่านั้นที่ยังคงยึดมั่นในมาตรการอันเข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้สำหรับประเทศที่เลือกว่าจะไม่ใช้นโยบายโดดเดี่ยว ไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นนั้น เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผุ้ที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากทางการสิงคโปร์เข้าใจดีว่าการล็อกดาวน์ไม่สามารถคงอยู่ต่อไปได้ตลอด
โดยถ้าหากมีการล็อกดาวน์หรือการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นจริงๆ มาตรการที่ว่านี้ก็ควรจะเป็นการซื้อเวลาเอาไว้เพื่อทำให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรให้ได้มากที่สุด และด้วยวัคซีนที่ดีที่สุดที่มี
สำหรับประเทศสิงคโปร์นั้นถือว่าเป็นประเทศแรกๆที่ได้มีการรับวัคซีนประเภท mRNA ในทวีปเอเชีย และมีการฉีดให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศ
โดยสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือแม้ว่าจะมีการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการมาถึงของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นไปอีก แต่ว่าการพุ่งขึ้นของการติดเชื้อนั้นก็ยังไม่ได้ทำให้ระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์ต้องล่มสลายหรือว่ารับภาระหนักแบบที่เราเห็นในฮ่องกงแต่อย่างใด
หรือก็คือไวรัสไม่สามารถจะเจาะผ่านการใช้ชีวิตมาตรการป้องกันของสังคมได้ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ตาม แต่ว่าพวกเขาก็ยังมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจนถึงบัดนี้
ทั้งนี้มีข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตซึ่งสอดคล้องกับอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอย่างน่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับทั้งสามประเทศได้แก่ไต้หวัน,นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ โดยนิวซีแลนด์นั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 80.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากร,ไต้หวันมีการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 81.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และสิงคโปร์มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 87.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ถือว่าฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว (ไทยฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 75.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากร)
แต่ปรากฎว่าอัตราการเสียชีวิตของประเทศนิวซีแลนด์ที่เคยใช้มาตรการโดดเดี่ยวตัวเองนั้นกลับไล่ตามทันประเทศสิงคโปร์ภายในระยะเวลาประมาณสามเดือน ส่วนไต้หวัน ตัวเลขผู้เสียชีวิตไล่ทันประเทศสิงคโปร์ได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 2 เดือน
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือว่าเมื่อนิวซีแลนด์และไต้หวันเจอกับการระบาดแล้ว ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ว่านี้จะลดลงโดยเร็ว หรือสรุปก็คือว่าสถานการณ์การระบาดจะต้องไปอยู่ในจุดที่ว่าเลวร้ายมากๆจนถึงในระดับอิ่มตัวเสียก่อน แล้วสถานการณ์จึงจะดีขึ้น
โดย ณ เวลานี้ ไต้หวันเองก็มีผู้เสียชีวิตมากถึง 150 รายต่อวัน แม้ว่าประชากรทั้งหมดของไต้หวันจะน้อยกว่าสิงโปร์ถึงสี่เท่าตัวก็ตาม
อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งล้านคนเปรียบเทียบระหว่างสิงคโปร์ ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
@คลื่นการระบาดระลอกที่ 5 จะรับมืออย่างไร
ตอนนี้มีรายงานปรากฏออกมาหลายฉบับแล้วว่าจะมีคลื่นการระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ที่จะมาถึงอย่างแน่นอน และการระบาดของลอกนี้จะมาจากโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยสองสายพันธุ์ได้แก่ BA.4 และ BA.5 ที่จะส่งผลทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
ทางการสิงคโปร์นั้นจึงได้มีการเรียกร้องให้ผู้สูงอายุจำนวน 80,000 คน ที่พบว่ายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เร่งกระบวนการฉีดอย่างเร่งด่วน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าคุณมีการฉีดวัคซีนมากพอแล้ว แม้จะมีการใช้ชีวิตสาธารณะตามปกติ ถ้าหากเกิดการเพิ่มของด้วยปัจจัยจากทั้งสองสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว ไวรัสที่ว่านี้ก็ไม่น่าจะใช้สิ่งที่อันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด
สิงคโปร์เรียกร้องให้ผู้สูงอายุ 80,000 ราย เร่งไปรับฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Strait Times)
โดยสิ่งที่ดูว่าน่าจะขัดแย้งกันอย่างไม่น่าเชื่อก็คือว่า ก่อนหน้านั้นมาตรการการแยกตัวเองออกมาคือสิ่งที่ช่วยชีวิตเราเอาไว้จากโควิด แต่ว่า ณ เวลานี้ การกลับไปสู่การใช้ชีวิต ด้วยการเสริมภูมิจากการฉีดวัคซีน รวมไปถึงการติดเชื้อนั้นดูจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นภูมิและน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรับมือกับการระบาดในระลอกถัดไป
หรือสรุปก็คือว่านโยบายของสิงคโปร์ที่ถูกวิจารณ์ในช่วงแรกๆตลอดสองปีที่ผ่านมา ว่าไม่ยอมจะควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเหมือนที่อื่นๆนั้น ณ เวลานี้ นโยบายดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์แล้วชัดเจนนั่นเองว่าได้ผล
เรียบเรียงจาก:https://vulcanpost.com/793511/singapore-covid-nz-taiwan-fall-behind-death-rates/