“...งบลงทุนใหม่ในปีนี้มีประมาณ 1,600 ล้านบาท และรูปแบบงบประมาณของ กทม. เป็นงบผูกพันข้ามปีค่อนข้างเยอะ แถมในปีนี้ ต้องตั้งอีก 5,000 ล้านบาท จ่ายหนี้เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ซึ่งบริหารจัดการลำบาก และในอนาคตจะค่อยๆปรับปรุงตรงนี้ลงไป…”
หลังจาก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายจับตามองคือเรื่อง ‘งบประมาณ’ โดยเฉพาะหลังจากนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่ากทม.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ระบุว่า จะเหลือเงินให้ผู้ว่าคนใหม่ใช้เพียง 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนในงบลงทุนที่เหลือจากทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรรวม 14,222 ล้านบาท
สาเหตุที่เหลือเงินเพียงแค่นี้ ก็เพราะว่า งบในส่วนต่างๆได้ผูกพัน และมีการจัดสรร เบิกจ่ายไปในรายการต่างๆเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องว่ากันใหม่กับงบประมาณปี 2566 แทน
แต่อุปสรรคก็ยังไม่ได้หายไป เพราะงบปี 2566 มีการร่างไว้แล้วตั้งแต่ผู้ว่าฯกทม.คนก่อน หลายส่วนเป็นโครงการที่ตั้งเรื่องมาแล้ว และทำให้บางโครงการที่อยู่ในนโยบายทั้ง 214 ข้อที่หาเสียงไว้ ยังไม่สามารถนำเข้างบประมาณได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องนำไปใส่ในช่วงที่มีการพิจารณาวาระ 2-3 ที่จะปรับงบประมาณอีกครั้งหนึ่งต่อไป
ซึ่ง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ก็ได้รับมอบร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 แล้ว โดยจะเริ่มพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 6-7 ก.ค.2565 โดยจะมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับชมด้วย
นอกจากนั้น ทาง กทม. ยังได้นำข้อมูลร่างงบประมาณเผยแพร่ลงเว็บไซต์ http://data.bangkok.go.th/ แล้วด้วย
งบบุคลากรมากสุด 36%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สแกนงบประมาณ กทม. ปี 2566 พบว่า งบประมาณรายจ่ายที่จัดทำในปี 2566 มียอดรวมที่ 79,825 ล้านบาท แบ่งเป็น งบรายจ่ายของ กทม. 79,000 ล้านบาท และงบรายจ่ายของการพาณิชย์ กทม. อีก 825 ล้านบาท เมื่อลงลึกถึงงบประมาณรายจ่ายของ กทม. วงเงิน 79,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบบุคลากรมากที่สุด ที่ 28,648 ล้านบาท หรือ 36.27% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาเป็นงบดำเนินการ วงเงิน 14,187 ล้านบาท หรือ 17.96% ของงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุน วงเงิน 13,294 ล้านบาท หรือ 16.83% ของงบประมาณทั้งหมด
งบกลาง-งบลงทุนปี 66 รวม 2.7 หมื่นล้าน
แม้ในข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง วิธีการงบประมาณ 2563 จะกำหนดไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่าย ข้อที่ 31 จะให้อำนาจปลัด กทม. จัดสรรงบกลางให้หน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายโดยตรงได้ตามความจำเป็น ยกเว้นรายการเงินสำรองจ่ายทั่วไปให้เป็นอำนาจของผู้ว่า กทม. ส่วนการโอนเงินจากงบอื่นๆเข้างบกลาง ก็ให้อำนาจ สภา กทม. ในการพิจารณาก่อนด้วย
แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อบัญญัติฉบับนี้ก็ให้อำนาจ ผู้ว่าฯ กทม.ในการรับผิดชอบควบคุมงบประมาณเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบด้วย โดยงบประมาณ 2 ก้อนที่น่าสนใจคือ 'งบกลาง' และ 'งบลงทุนใหม่' ซึ่งก่อนหน้านี้ นายชัชชาติกล่าวถึงภาพรวมงบประมาณปี 2566 ว่า งบลงทุนใหม่ในปีนี้มีประมาณ 1,600 ล้านบาท และรูปแบบงบประมาณของ กทม. เป็นงบผูกพันข้ามปีค่อนข้างเยอะ แถมในปีนี้ ต้องตั้งอีก 5,000 ล้านบาท จ่ายหนี้เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ซึ่งบริหารจัดการลำบาก และในอนาคตจะค่อยๆปรับปรุงตรงนี้ลงไป
เมื่อโฟกัสข้อมูลเฉพาะงบทั้ง 2 ส่วน พบว่า ในปี 2566 งบกลาง และ งบลงทุน มีวงเงินรวม 27,664 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง 14,370 ล้านบาท และงบลงทุน 13,294 ล้านบาท หากลงลึกในรายละเอียดของงบทั้ง 2 ก้อน มีรายละเอียด ดังนี้
1. งบกลาง ประกอบด้วย เงินสำรองจายทั่วไป วงเงินรวม 1,150 ล้านบาท, เงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้าง วงเงินรวม 3,005 ล้านบาท, เงินบำเหน็จลูกจ้าง วงเงินรวม 1,328 ล้านบาท, ค่าติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ วงเงินรวม 100 ล้านบาท , เงินสำรองสำหรบค่างานส่วนที่เพิ่มตามสัญญาแบบปรับราคาได้ 10 ล้านบาท, เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร วงเงินรวม 50 ล้านบาท, ค่าใช้จายเกี่ยวกับภารกิจและ/หรือนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาล วงเงินรวม 3,953 ล้านบาท, เงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่ค้างจ่ายตามกฎหมาย วงเงินรวม 1,651 ล้านบาท, เงินช่วยค่าครองชีพผู้ได้รับบำนาญของ กทม. วงเงินรวม 220 ล้านบาท และเงินสำรองสำหรับจ่ายเป็นเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กทม. วงเงินรวม 2,902 ล้านบาท
2. งบลงทุน ประกอบด้วย ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง วงเงินรวม 12,016 ล้านบาท, รายการผูกพัน/โครงการผูกพันงบประมาณ วงเงินรวม 8,745 ล้านบาท, งบกลาง วงเงินรวม 2,911 ล้านบาท และงบบูรณาการ วงเงินรวม 5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม งบประมาณเหล่านี้ ยังเป็นร่างแรกเท่านั้น ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้อีก คงต้องรอวันที่ 6-7 ก.ค.นี้ ว่า ทางสภากทม. จะพิจารณาวาระที่ 1 อย่างไร และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาใน 45 วันตามกฎหมาย ในช่วงนี้ซึ่งเป็นการแปรญัตติก่อนเสนอโหวตวาระที่ 2-3 นโยบายที่นายชัชชาติหาเสียงไว้ 214 นโยบาย จะได้บรรจุลงในงบปีนี้เท่าไหร่ กี่นโยบาย ดังนั้น ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ อย่ากะพริบตา