"...นายเท่าพิภพ มองว่า ไม่เกินปลายปี 2565 นี้ การแก้ไข พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะต้องมีผลบังคับใช้ แต่ส่วนตัวยังกังวลในชั้นการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะส่วนใหญ่สมาชิกเป็นฝ่ายรัฐบาล หากถูกตีตก ในฐานะ ส.ส. ก็ยืนยันตามหลักการเดิมที่ได้ลงมติโหวตกัน ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว. และไม่รู้ว่าจะมีเหตุผลอะไรในการไม่เอาร่างแก้ไขฉบับนี้ เพียงเพราะไม่ชอบพรรคก้าวไกล..."
ผ่านไปแบบเหนือความคาดหมายกับการโหวตวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า' ที่มีนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอและผลักดันมาตั้งแต่แรก
ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ตามคำนิยามของพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติ 178 ต่อ 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1 พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 25 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน พรรคการเมือง 20 คน ประกอบด้วย เพื่อไทย 6 คน พลังประชารัฐ 4 คน ภูมิใจไทย 3 คน ประชาธิปัตย์ 2 คน ก้าวไกล 2 คน เศรษฐกิจไทย 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ทั้งนี้กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน
โดยการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 ที่ประชุม กมธ.เลือก นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วน นายเท่าพิภพเป็นรองประธานคนที่ 5 กำหนดเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ที่ประชุมจะเชิญหน่วยงานราชการมาให้ความเห็น ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต, คณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), กระทรวงพาณิชย์, สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
'สุราก้าวหน้า' 7 มาตราแก้กฎหมายภาษีสรรพสามิต
สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อครั้งมีการเปิดให้แสดงความเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุุไว้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีการกำหนดกรอบเนื้อหาในการออกกฎกระทรวงไว้ให้เหมาะสม ทำให้กฎกระทรวงที่ออกตามความบัญญัตินั้นกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและเงื่อนไขอื่นที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ ส่งผลให้ผู้ประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้ารายเล็กหรือรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพตามกฎหมายได้
สาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดไว้ 7 มาตรา และสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 3 ที่ระบุว่า ให้ยกเลิกข้อความ ในมาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 และและให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 153 ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้าให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
การขออนุญาตและออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามวรรคสองต้องไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้า เครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตกรณีผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องไม่กำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้ให้มีอายุ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต"
ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ 3 ข้อ ได้แก่
1.กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศฉบับเดิมให้ใช้ไปจนกว่าจะมีการบังคับใช้กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศฉบับใหม่ ซึ่งการออกกฎหมายประกอบฉบับใหม่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 180 วันนับจากวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ (มาตรา 4)
2.คำขอใดที่ยื่นขอไว้ก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยอนุโลม หากคำขอมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ (มาตรา 5)
3.ใบอนุญาตที่ออกก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ (มาตรา 6)
แม้จะผลักดันจนผ่านวาระที่ 1 ของ ส.ส.ได้แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคอีกหลากหลายประการที่จะฟันฝ่าต่อ ทั้งในการพิจารณาชั้น กมธ. การลงมติโหวตวาระ 2-3 รวมถึงปราการด่านสำคัญกับการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ซึ่ง นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในฐานะเจ้าของร่าง อยากให้สื่อมวลชนและประชาชนช่วยดูและติดตาม เพราะอาจจะมีกลิ่นตุๆ ที่จะยื้อการแก้ไข ร่างกฎหมายฉบับนี้
โดยเฉพาะการเชิญหน่วยงาน ข้าราชการต่างๆ มาให้ความเห็นประกอบในชั้น กมธ.ที่นายเท่าพิภพ มองว่า เป็นการประวิงเวลา เพื่อให้เดินหน้าช้าที่สุด ทั้งที่ข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกจัดทำขึ้นเป็นความเห็นประกอบตั้งแต่ชั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงการโหวตในวาระที่ 1 ในสภาแล้ว
กมธ.หวั่นอันตรายชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง
ที่ประชุมกรรมาธิการนัดแรกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา บรรยากาศส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดี กรรมาธิการส่วนใหญ่อยากเร่งรัดให้ผ่านโดยเร็ว ซึ่งในส่วนที่เห็นด้วยกับการเร่งผลักดันมี นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย
ส่วนข้อสังเกตในที่ประชุม คือ ความกังวลในการต้มเหล้าของชาวบ้าน นายเท่าพิภพ เห็นว่า ในเมื่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเอื้อให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมสามารถผลิตเองได้ แล้วทำไมถึงจะให้คนเหล่านี้เขาทำไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า 1 เดือนประชุม 3 ครั้งก็ควรจะเสร็จได้แล้ว หรือถ้าจะลากกันสุดๆ ไม่เกิน 2 เดือน ก็ควรจะเสร็จแล้ว
“ถามว่าชาวบ้านต้มเหล้ากันแล้วมันไม่มีคุณภาพจริงๆเหรอ จริงๆก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ชาวบ้านเขาจะใส่อะไรก็ได้ การทำเหล้าเบียร์มันไม่ได้อันตรายโดยสภาพมันอยู่แล้ว มันแค่อันตรายเพราะกลัวคนไปทำอะไรอุตริ แต่ถามจริงๆว่า อยู่ดีๆ จะมีคนกินยาฆ่าหญ้าเหรอ ผมว่าการหมักเหล้าหรือเบียร์ มันเป็นวิถีธรรมชาติอยู่แล้ว และเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ได้มีการสกัด สังเคราะห์อะไร มันก็เหมือนอาหารทั่วไป ถ้าหมักไม่ดี ติดเชื้อ มันดูก็รู้แล้วว่ามันบูดหรือเน่า” นายเท่าพิภพ กล่าว
นายพิภพ กล่าวย้ำว่า รัฐควรจะให้ความรู้กับชาวบ้านมากกว่าการจะกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องผลิตในครัวเรือน เพราะปัจจุบันไม่มีการเผยแพร่ความรู้ทางด้านนี้ ยกเว้นผู้ที่ไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) โดยตรงเท่านั้นที่มีการเผยแพร่ให้ความรู้ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐมีศักยภาพที่จะทำได้
ห่วง ส.ว.เตะถ่วง
นอกจากนี้ นายเท่าพิภพ มองว่า ไม่เกินปลายปี 2565 นี้ การแก้ไข พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะต้องมีผลบังคับใช้ แต่ส่วนตัวยังกังวลในชั้นการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะส่วนใหญ่สมาชิกเป็นฝ่ายรัฐบาล หากในชั้น ส.ว.ถูกตีตก ในฐานะ ส.ส. ก็ยืนยันตามหลักการเดิมที่ได้ลงมติโหวตกัน ที่จะส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว. และไม่รู้ว่าจะมีเหตุผลอะไรในการไม่เอาร่างแก้ไขฉบับนี้ เพียงเพราะไม่ชอบพรรคก้าวไกล แต่หากการแก้ไขครั้งนี้ถูกล้มลงไป สุดท้ายเรื่องของสุราก้าวหน้าจะยิ่งไปไกลมากกว่านี้
ส่วนปัจจัยการยุบสภาที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ นายเท่าพิภพ มองว่า หากยุบสภาจริงๆก็ดี เพราะนอกจากรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลวแล้ว ถึงเวลานั้นพรรคก้าวไกลอาจจะได้เลือกตั้งเป็นฝ่ายรัฐบาลก็จะได้แก้ไขอะไรง่ายขึ้นด้วย
ดังนั้นต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากก้าวแรกที่ผ่านการพิจารณาในวาระรับหลักการไปแล้ว ความฝันที่จะทำให้ชาวบ้านหรือคนตัวเล็กเข้าถึงและพัฒนาสูตรคราฟต์เบียร์-สุราต่างๆ จะเป็นจริงได้หรือไม่ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล