"...เมื่อนายสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผู้ฟ้องคดี และเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติสั่งซื้อฯ จึงควรต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหาย จากเงินจํานวน1,958,600,000 บาท คิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท และเมื่อ ความรับผิดอันเกิดจากการกระทําละเมิดของนายสมัครต่อผู้ฟ้องคดีเป็นความรับผิดเกี่ยวกับ ทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัว ของนายสมัครผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัคร จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่เกินกว่า ทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน..."
"ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ในฐานะทายาท นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน จํานวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 587,580,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วย อัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด"
"ทั้งนี้ หากคดีที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้เพิกถอน สัญญาซื้อขาย เรียกทรัพย์คืน ตามคดีหมายเลขดําที่ กค.155/2552 โดยศาลมีคําพิพากษา ถึงที่สุดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคําวินิจฉัย ชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดีทําให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิด ตามอัตราส่วนตามที่ศาลกําหนดให้นายสมัคร สุนทรเวช รับผิดชอบเพียงนั้น ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตกทอดแก่ตน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีในชั้นศาลปกครองชั้นต้น และในชั้นศาลปกครองสูงสุดแก่ผู้ฟ้องคดี"
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีซึ่งมีกรุงเทพมหานครเป็นโจทก์ และมีคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช เป็นจำเลยที่ 1 นางกาญจนากร ไชยลาโภ เป็นจำเลยที่ 2 - นางกานดาภา มุ่งถิ่น เป็นจำเลยที่ 3 โดยทั้งสองคนหลังนั้นเป็นลูกสาวของนายสมัคร ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจเกี่ยวกับคดีสั่งซื้อรถและเรือดับเพลิง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม ของ ศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีนี้
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดําที่ 1843/2553 หมายเลขแดงที่ 672/2557
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดก ของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ขณะเกิดเหตุ อันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้ นายสมัครดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่าง วันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2547 โดยมูลละเมิดสืบเนื่องมาจาก มีกรณีร้องเรียนกล่าวหานายโภคิน พลกุล กับพวก ซึ่งรวมถึงนายสมัคร เมื่อครั้งที่นายโภคิน ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทํา ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดีระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2548 เป็นเหตุให้มีการ จัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าวในราคาที่สูงเกินความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า นายสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กระทําละเมิดก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากเป็นการกระทําละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรม จะต้องรับผิดในผลแห่งการกระทําละเมิดนั้นหรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และตามมาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติว่า ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) กําหนดนโยบายและบริหารราชการของ กรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย (2) สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของ กรุงเทพมหานคร (3) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้ง และถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครหรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ (4) บริหารราชการตามที่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย (5) วางระเบียบ เพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย (6) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร และ (7) อํานาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น และตามข้อ 5 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 กําหนดว่า ในข้อบังคับนี้ “ผู้สั่งซื้อ” หมายความว่า ผู้มีอํานาจสั่งอนุญาตให้ซื้อ และข้อ 53 ของข้อบัญญัติ ดังกล่าว กําหนดว่า การซื้อโดยวิธีพิเศษ ให้ผู้สั่งซื้อแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษขึ้น เพื่อดําเนินการดังต่อไปนี้.... (3) ในกรณีเป็นพัสดุที่จําเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ ให้เสนอผู้สั่งซื้อเพื่อติดต่อสั่งซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ หรือสืบราคาจากต่างประเทศโดยขอ ความร่วมมือให้สถานเอกอัครราชทูตหรือส่วนราชการอื่นในต่างประเทศช่วยสืบราคา คุณภาพ ตลอดจนรายละเอียด ส่วนการซื้อโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศให้ติดต่อกับสํานักงานของ องค์การระหว่างประเทศ ที่มีอยู่ในประเทศโดยตรง เว้นแต่กรณีที่ไม่มีสํานักงานในประเทศ ให้ติดต่อกับสํานักงานในต่างประเทศได้ และข้อ 126 วรรคห้า ของข้อบังคับฉบับเดียวกัน กําหนดว่า ในกรณีจําเป็นต้องทําสัญญาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ทําเป็นภาษาอังกฤษ แต่ต้องมี คําแปลของสัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญาเป็นภาษาไทยไว้ด้วย ให้ส่งร่างสัญญาให้ สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อน เว้นแต่เป็นการทําสัญญาในกรณีที่ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครเห็นว่าเป็นสัญญาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนให้ส่งร่างให้กองกฎหมายและคดี สํานักปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาก็ได้
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาความรับผิดทางละเมิด ของนายสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจาก การจัดซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่า นายสมัครกระทําละเมิดทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อฯ โดยแบ่งการกระทําออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การริเริ่มโครงการ ขั้นตอนที่ 2 การเสนอโครงการและการอนุมัติ โครงการ ขั้นตอนที่ 3 ในการทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Agreement of Understanding หรือ A.O.U.) ขั้นตอนที่ 4 การลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) ขั้นตอนที่ 5 การทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) และขั้นตอนที่ 5 การเปิดเลตเตอร์ ออฟเครดิต (L/C)
คดีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาก่อนว่านายสมัครได้กระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ในขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่
สําหรับขั้นตอนการริเริ่มโครงการ และขั้นตอนการเสนอโครงการและการอนุมัติ โครงการ นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับเรื่องการโอนภารกิจกองบังคับการตํารวจดับเพลิง สังกัด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดี และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนอัตรากําลัง อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และหนี้สิน ของกองบังคับการตํารวจดับเพลิงไปให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2546 เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียได้มีหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งในขณะนั้น ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอโครงการขายรถดับเพลิงและอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัยในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G TO G) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐออสเตรีย และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่กํากับดูแลผู้ฟ้องคดี และเอกอัครราชทูตออสเตรียประจํา ประเทศไทยได้มีการหารือข้อราชการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัย ซึ่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทยได้นําข้อเสนอเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยและความร่วมมือด้านการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งมาจากบริษัท ของเอกชนแต่สามารถทําได้ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลมาให้พิจารณา
@ประชา มาลีนนท์
นายประชาพิจารณาเห็นว่า ข้อหารือดังกล่าวมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ฟ้องคดีด้วย จึงให้นายสมศักดิ์ คุณเงิน ซึ่งเป็น ผู้ช่วยเลขานุการของนายประชาส่งบันทึกสรุปการหารือข้อราชการลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ระหว่างนายประชากับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทย เพื่อให้นายสมัครพิจารณา ซึ่งนายสมัครพิจารณาแล้วได้ตอบรับและสนับสนุนข้อเสนอโดยให้ดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G TOG) และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ผู้ฟ้องคดีได้จัดตั้งสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรองรับภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่จะโอนมาจากกองบังคับการตํารวจดับเพลิง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2546 สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้โอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ต่อมา พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ซึ่งดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือ ที่ กท 1800/085 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 เสนอนายสมัคร เพื่อให้อนุมัติโครงการพัฒนา ระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการ ทํางานของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาในการถ่ายโอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัย โครงสร้าง สํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความจําเป็นในการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรฐานสากลของระบบการป้องกันอัคคีภัยและบรรเทา สาธารณภัย การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการดับเพลิง ความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรีย ประโยชน์ ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯ รวมทั้งข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการทําความตกลง ในรายละเอียดกับรัฐบาลประเทศออสเตรีย
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547 นายสมัครได้อนุมัติ โครงการดังกล่าว และได้มีหนังสือที่ กท 1800/256 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 ถึงนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้อนุมัติโครงการดังกล่าวและนําเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ฟ้องคดีทําความตกลงกับรัฐบาลออสเตรีย โดยมีหลักการ คือ จะต้องมีเงื่อนไขทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ร้อยละ 100 ของมูลค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขาย โดยปลอดการชําระหนี้ 2 ปี และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ ในลักษณะเงินอุดหนุนของรัฐบาลร้อยละ 60 และเป็นงบประมาณของผู้ฟ้องคดีร้อยละ 40 และนายโภคินได้มีหนังสือที่ มท 0100/6450 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 ถึงเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้นําเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระบบบริหารและ เพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
จะเห็นได้ว่า การที่นายสมัครได้พิจารณาบันทึกสรุปการหารือข้อราชการ ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ระหว่างนายประชากับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทยแล้วได้ตอบรับและ สนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยและความร่วมมือ ด้านการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือต่างๆ โดยให้ดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G TO G) เป็นเพียง การให้ความเห็นเบื้องต้นตามข้อเสนอของเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทยที่จะต้อง มีการนําเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน
ส่วนการที่นายสมัครได้อนุมัติโครงการพัฒนา ระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามหนังสือ ที่ กท 1800/085 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ก็เป็นการกําหนดรายละเอียดของโครงการ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติต่อไป ซึ่งการอนุมัติโครงการเป็นอํานาจของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น นายสมัครจึงไม่ได้กระทําการโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายในขั้นตอนการริเริ่มโครงการ และขั้นตอนการเสนอโครงการและการอนุมัติโครงการ นายสมัครจึงไม่ได้กระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในขั้นตอนนี้
สําหรับขั้นตอนในการทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Agreement Of Understanding หรือ AO.U.) นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ภายหลังจากที่นายสมัครได้มีหนังสือที่ มท 1800/256 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 ถึงนายโภคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้อนุมัติโครงการ พัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายโภคินได้มีหนังสือที่ มท 0100/6450 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 ถึงเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ขออนุมัติโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่ารัฐบาล สาธารณรัฐออสเตรียได้เสนอให้ความช่วยเหลือในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G TO G) รวมทั้งการจัดหาทุน และพร้อมรับพันธะทางการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ร้อยละ 100 ในวงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณของผู้ฟ้องคดีร้อยละ 40 (3,139,064,060 บาท) และขออนุมัติเงินอุดหนุนจากรัฐบาลร้อยละ 60 (4,708,546,090 บาท) ในงบประมาณปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2553 และมีเงื่อนไขในการทําสัญญา การชําระเงิน โดยมีระยะเวลา ปลอดการชําระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี และมีกําหนดชําระในเดือนที่ 25 และทุกๆ 6 เดือน จนถึงเดือนที่ 73 ในวงเงินรวม 156.95 ล้านยูโร จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ 1. อนุมัติโครงการ ดังกล่าวตามที่ผู้ฟ้องคดีเสนอมา และ 2. พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ฟ้องคดี ทําความตกลงกับรัฐบาลของสาธารณรัฐออสเตรีย โดยมีเงื่อนไขทําการค้าต่างตอบแทน ร้อยละ 100 ของมูลค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขาย โดยปลอดการชําระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนของรัฐบาลร้อยละ 60 และเงิน งบประมาณของผู้ฟ้องคดี ร้อยละ 40
หลังจากนั้น สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องขออนุมัติโครงการดังกล่าวไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สํานักงบประมาณ ฯลฯ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามที่นายโภคิน เสนอทั้ง 2 ข้อ และให้ดําเนินการดังนี้.... 1.2 การขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสาธารณรัฐ ออสเตรีย โดยการจัดทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) นั้น ให้ขอรับความช่วยเหลือ เท่าที่จําเป็นจริงเท่านั้น.... 1.3 ให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ คณะกรรมการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสัดส่วนและจํานวนเงินอุดหนุนของรัฐบาลต่อผู้ฟ้องคดี เพื่อการดําเนินการข้างต้น ซึ่งจะต้องขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2553 ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้วนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป... หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 นายสมัครได้มีหนังสือที่ กท 1800/818 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ถึงนายโภคิน แจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการ บริหารโครงการ และข้อเสนอข้อตกลงของความเข้าใจในเรื่องการจัดหารถดับเพลิงและอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัยแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเสนอให้พิจารณาลงนามร่วมกับเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐออสเตรียประจําประเทศไทย และ นายโภคินได้ร่วมลงนามใน A.O.U. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547
โดยมีรายละเอียดที่สําคัญ คือ ข้อ 1 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรียได้จัดทําบันทึก การซื้อและการขายรถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการบริการต่างๆ จากออสเตรีย รายละเอียดของเอกสารข้อตกลงมีดังต่อไปนี้ 1. ระยะเวลาและเงื่อนไขของการซื้อ การขาย และการเงิน ให้ดําเนินการโดยผู้ฟ้องคดี กระทรวงมหาดไทย กับบริษัทสไตเออร์ฯ ออสเตรีย โดยมีข้อตกลงซื้อขายและผนวกต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง... 2. สิ่งอุปกรณ์ต่างๆ และคุณลักษณะเฉพาะจะระบุไว้ใน ผนวก 1 ของข้อตกลงซื้อขาย... 3. รายละเอียดในการ จัดซื้อที่ได้ระบุไว้ใน ผนวก 3 ของข้อตกลงซื้อขาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับที่รัฐบาลไทยจะจ่ายเงิน ตามเงื่อนไข.... 4. รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติตามที่ได้ระบุไว้ใน ผนวก 3.4 ของข้อตกลง ซื้อขาย โดยจะต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ชนิดเพิกถอนไม่ได้ในนามของผู้ขายในวงเงิน 133,749,780 ยูโร เป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 50 บาท ต่อ 1 ยูโร โดยประมาณ) ผ่านธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารตามข้อตกลง ในสาธารณรัฐออสเตรีย ภายใน 30 วัน หลังจากการลงนามในข้อตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้ว 5. การส่งมอบสิ่งอุปกรณ์ตามข้อตกลงซื้อขายที่ระบุไว้ในผนวก 1 และผนวก 2 นั้น จะเป็นไปตามตารางการส่งมอบที่ระบุไว้
จะเห็นได้ว่า แม้นายสมัครจะได้มีหนังสือเสนอเรื่องให้ นายโภคินลงนามใน A.O.U. และนายโภคินในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนาม ใน A.O.U. ตามที่นายสมัครเสนอ โดยไม่ปรากฏว่ามีหนังสือมอบอํานาจจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ที่กําหนดให้ บุคคลที่จะเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย หากผู้ลงนามความตกลงมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ บุคคลผู้ลงนามต้องได้รับมอบอํานาจโดยหนังสือมอบอํานาจ (Full Powers) ซึ่งออกให้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ตาม แต่การลงนามใน AOU. ก็เป็นอํานาจ ของกระทรวงมหาดไทยตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547
อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าภายหลังจากที่นายโภคินได้ลงนามใน A.O.U. แล้ว นายประชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กท 0100/9836 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ว่า กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามข้อตกลงของความเข้าใจในเรื่องการจัดหารถดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยให้กับผู้ฟ้องคดีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐออสเตรียเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 แล้ว
ซึ่งต่อมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีหนังสือที่ นร 0505/11923 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 แจ้งว่าสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นําเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้ทักท้วงการลงนามใน A.O.ม. ดังกล่าว
กรณีจึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้สัตยาบัน ในการทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจแล้ว
ส่วนที่การทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจโดยมิได้ระบุ เงื่อนไขการค้าต่างตอบแทนด้วยนั้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ปรากฏว่าภายหลังจากที่มีการลงนาม ใน AOU. แล้ว กรมการค้าต่างประเทศกับบริษัทสไตเออร์ฯ ก็ได้มีการทําสัญญาการค้าต่างตอบแทน ระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 จึงมิได้มีผลกระทบต่อการทําสัญญาการค้าต่างตอบแทน แต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีการทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจก่อนที่นายสมัครได้ให้ ความเห็นชอบในร่างคุณลักษณะเฉพาะพัสดุยานพาหนะเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับ งานดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ และอนุมัติให้ใช้เอกสารคุณลักษณะเฉพาะ ดังกล่าว ทําให้การทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจไม่ได้มีการนําเอกสารคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาและมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 นั้น เห็นว่า การทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเป็นเรื่องของการวางกรอบ นโยบายระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อกําหนดความผูกพันในเรื่องการซื้อขายสินค้า
แต่การที่นายสมัคร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบในร่างคุณลักษณะเฉพาะพัสดุยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับงานดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ และอนุมัติให้ใช้เอกสารคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวเป็นเรื่องของรายละเอียดประกอบการจัดซื้อ รถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่จะต้องนําไปพิจารณา ในขั้นตอนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย ซึ่งหากการจัดซื้อไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ก็เป็นคนละขั้นตอนกับการทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ การกระทํา ของนายสมัครจึงไม่มีผลทําให้การทําบันทึกข้อตกลงความเข้าใจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงถือว่า นายสมัครไม่ได้กระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในขั้นตอนนี้
@ นายสมัคร สุนทรเวช /ภาพจาก https://positioningmag.com/8882
สําหรับขั้นตอนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA)นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ภายหลังจากที่นายโภคินได้ร่วมลงนามใน AO.U. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 แล้ว พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อํานวยการสํานักป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือที่ กท 1800/440 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2547 ถึงคุณหญิง ณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร ขอให้เสนอคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ของผู้ฟ้องคดี เพื่อพิจารณายกเว้นการไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2534 ในการจัดหารถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีตามข้อตกลงความเข้าใจ (A.O.U.) ซึ่งคุณหญิง ณฐนนท ได้เสนอให้คณะกรรมการว่าด้วย การพัสดุของผู้ฟ้องคดีพิจารณา และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของผู้ฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ 4/2547 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 25447 ได้มีมติให้สํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดําเนินการจัดหารถดับเพลิงฯ โดยวิธีพิเศษ ตามข้อ 20 (3) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 และอนุมัติยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 เฉพาะในกรณีที่ต้องดําเนินการตามข้อตกลงความเข้าใจ (AOU.) ข้อ 1 ถึงข้อ 5 เท่านั้น และพลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือที่ กท 1800/1011 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ถึงคุณหญิง ณฐนนท ขอให้เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาร่างคุณลักษณะเฉพาะ พัสดุยานพาหนะเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับงานดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ สําหรับใช้เป็นรายละเอียดในการจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งคุณหญิง ณฐนนทได้เสนอเรื่องดังกล่าว ให้นายสมัครพิจารณา และนายสมัครได้พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ใช้เอกสารคุณลักษณะเฉพาะ ดังกล่าวประกอบการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ
ต่อมา พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้เสนอร่างข้อตกลงซื้อขายยานพาหนะและอุปกรณ์ดับเพลิง ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัทสไตเออร์ฯ ให้กองกฎหมายและคดีของผู้ฟ้องคดีพิจารณา ซึ่งกองกฎหมายและคดีของผู้ฟ้องคดีเห็นว่าควรส่งร่างข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวให้สํานักงาน อัยการสูงสุดตรวจพิจารณาตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 คุณหญิง ณฐนนท จึงได้มีหนังสือที่ กท 0801/4032 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2547 ถึงสํานักงาน อัยการสูงสุดเพื่อขอให้ตรวจพิจารณาร่างข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว
ต่อมา พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือที่ กท 1800/1054 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ถึงคุณหญิง ณฐนนท ขอให้เสนอ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะและบรรเทา สาธารณภัย ดังนี้ (1) ดําเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ ภายในวงเงิน 6,687,489,000 บาท โดยวิธีพิเศษ ตามข้อ 20 (3) ของข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยใช้รายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะที่ได้รับ ความเห็นชอบแล้ว รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์จะต้องลงนามการค้าต่างตอบแทนให้เป็นไปตาม ข้อตกลงความเข้าใจตามมติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะลงนามในสัญญาจัดซื้อ (2) ขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ โดยแต่งตั้งให้พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ เป็นประธานกรรมการ... (3) ขออนุมัติเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ชนิดเพิกถอนไม่ได้ในนามของ ผู้ขายผ่านธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารตามข้อตกลงในประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย โดยวงเงินจัดซื้อและให้เป็นไปตาม A.O.U. (4) อนุมัติให้ใช้สําเนาเอกสารแทนต้นฉบับ เนื่องจาก ต้นฉบับจะอยู่ที่หน่วยงานดําเนินการ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สถานทูตออสเตรีย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ (5) ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในการประชุมครั้งที่ 28/2543 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 เรื่องที่ 6 การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ข้อ 2 ที่กําหนดให้หน่วยงานถือปฏิบัติในการนําเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเสนอที่ประชุม ผู้บริหาร ดังนี้ ข. วงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยงานรายงานเพื่อขอรับความเห็นชอบก่อน ดําเนินการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538
ซึ่งคุณหญิง ณฐนนท ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้นายสมัครพิจารณา และนายสมัครได้พิจารณาแล้วเห็นชอบให้จัดซื้อครุภัณฑ์ฯ และอนุมัติให้ดําเนินการตามที่เสนอ และพลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือที่ กท 1800/486 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ถึงเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทย ขอความอนุเคราะห์ ให้แจ้งบริษัทสไตเออร์ฯ ให้ยื่นใบเสนอราคาพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ต่อคณะกรรมการจัดซื้อ โดยวิธีพิเศษ ซึ่งบริษัทสไตเออร์ฯ ได้ยื่นใบเสนอราคาฉบับที่ Offer No. 870/04/03/58 - 2 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ถึงพลตํารวจตรี อธิลักษณ์ โดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ซื้อขาย และราคาที่ต้องชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 133,749,780 ยูโร ซึ่งต่อมา พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือที่ กท 1800/491 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ถึงบริษัทสไตเออร์ฯ ขอให้ลดราคา ที่เสนอขาย แต่บริษัทสไตเออร์ฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ถึงพลตํารวจตรี อธิลักษณ์ แจ้งว่าข้อเสนอราคาของบริษัทเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศไทยและรัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐออสเตรีย แต่ยินดีเสนออุปกรณ์อะไหล่และอุปกรณ์เครื่องมือที่จําเป็นต้องใช้ โดยไม่คิดมูลค่าเป็นจํานวนเงิน 300,000 ยูโร และเสนอรายการฝึกอบรมให้พนักงานของ ผู้ฟ้องคดี ณ โรงงานผู้ผลิต จํานวน 30 คน ระยะเวลา 10 วัน ฝึกอบรมในประเทศไทย จํานวน 50 คน ระยะเวลา 10 วัน และรับรองคณะผู้ตรวจรับรถต้นแบบในประเทศผู้ผลิตคณะละ 5 คน จํานวน 3 คณะ เป็นเวลา 10 วัน
หลังจากนั้น พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือ ที่ กท 1800/1088 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ถึงคุณหญิง ณฐนนท ขอให้เสนอเรื่องต่อ นายสมัครเพื่อพิจารณาอนุมัติให้จัดซื้อครุภัณฑ์ฯ โดยอ้างว่า คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้พิจารณาใบเสนอราคาและเอกสารประกอบต่างๆ ของบริษัทสไตเออร์ฯ แล้วเห็นชอบให้จัดซื้อ ครุภัณฑ์ยานพาหนะและบรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ โดยวิธีพิเศษ เป็นเงิน 133,749,780 ยูโร จากบริษัทสไตเออร์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) เป็นไปตามข้อตกลงความเข้าใจ (AO.U) เรียบร้อยแล้ว และร่างข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement) การจัดหารถดับเพลิง เรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ในครั้งนี้ มีลักษณะเหมือนกับข้อตกลงซื้อขาย เรื่อง การจัดหาอุปกรณ์สายขนส่ง อุปกรณ์สายช่าง ที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเคยทํากับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย จึงไม่ต้องส่งข้อตกลง ซื้อขายให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ซึ่งคุณหญิง ณฐนนท ได้เสนอเรื่องดังกล่าว ให้นายสมัครพิจารณา และนายสมัครได้พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้ดําเนินการตามที่เสนอ
หลังจากนั้น พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือที่ กท 1801/1103 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ถึงคุณหญิง ณฐนนท ขอให้ถอนเรื่องการส่งตรวจพิจารณาร่างข้อตกลงซื้อขายยานพาหนะ และอุปกรณ์ดับเพลิงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัทสไตเออร์ฯ จากสํานักงานอัยการสูงสุด และ คุณหญิง ณฐนนท ได้มีหนังสือที่ กท 1800/4238 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ถึงอัยการสูงสุด ขอถอนร่างข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว และนายสมัครได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) กับบริษัทสไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 นั้น
จะเห็นได้ว่า ในการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่ ขั้นตอนของการเสนอร่างคุณลักษณะเฉพาะพัสดุยานพาหนะเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับ งานดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย จํานวน 15 รายการ สําหรับใช้เป็นรายละเอียดในการจัดซื้อฯ การขออนุมัติให้มีการจัดซื้อฯ โดยวิธีพิเศษ การดําเนินการจัดซื้อฯ ของคณะกรรมการจัดซื้อ ด้วยวิธีพิเศษ ตลอดจนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการสืบราคาจากต่างประเทศโดยขอความร่วมมือให้สถานเอกอัครราชทูต หรือส่วนราชการอื่นในต่างประเทศช่วยสืบราคา คุณภาพ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ของรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เพื่อนํามาใช้เปรียบเทียบราคาสินค้าที่จัดซื้อ ให้ได้ราคาที่เหมาะสมหรือราคาที่ไม่สูงเกินไป อีกทั้งการที่พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ได้เสนอให้มี การถอนร่างข้อตกลงซื้อขายยานพาหนะและอุปกรณ์ดับเพลิงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัทสไตเออร์ฯ จากสํานักงานอัยการสูงสุด โดยอ้างว่ามีลักษณะเหมือนกับข้อตกลงซื้อขาย เรื่อง การจัดหา อุปกรณ์สายขนส่ง อุปกรณ์สายช่างที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเคยทํากับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ออสเตรีย ซึ่งนายสมัครได้อนุมัติให้ถอนร่างข้อตกลงซื้อขายฯ ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าเป็นสินค้า คนละชนิด คนละประเภท มีวัตถุประสงค์การใช้งานต่างกัน และไม่ได้เป็นข้อสัญญาที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนที่นายสมัครเห็นว่าสามารถพิจารณาได้เองโดยไม่ต้องส่งให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อน กรณีจึงถือว่า การจัดซื้อฯ ของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามข้อ 53 (3) และ ข้อ 126 วรรคห้า ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538
ดังนั้น การที่ นายสมัครในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมีอํานาจหน้าที่บริหารราชการของผู้ฟ้องคดี ให้เป็นไปตามกฎหมายตามมาตรา 49 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และเป็นผู้มีอํานาจสั่งซื้อตามข้อ 5 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อฯ ตามที่ พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ เสนอเรื่องผ่านคุณหญิง ณฐนนท เพื่อให้พิจารณามาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือทักท้วงถึงการกระทําดังกล่าว และยังคงอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อฯ การกระทําของนายสมัครจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สําหรับขั้นตอนการทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) และขั้นตอน การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (LC) นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ภายหลังจากที่นายสมัคร ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) กับบริษัทสไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 นายสมัครได้มีหนังสือที่ กท 1800/4322 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ถึงธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) โดยมอบหมายให้พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ เป็นผู้ดําเนินการเปิดและลงนามใน L/C แทน
แต่ในระหว่างการดําเนินการเปิด L/C นายสมัครได้หมดวาระจากตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ได้มีหนังสือที่ รกพ. 3807/2547 ลงวันที่ 23 กันยายน 2547 ถึงนายอภิรักษ์ แจ้งอนุมัติเปิด L/C (เฉพาะคราว) เป็นเงิน 133,749,780 ยูโร และขอให้ผู้ฟ้องคดียืนยันการจ่ายดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายที่ธนาคารจ่ายไปก่อน
นายอภิรักษ์จึงได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการขอเปิด L/C ดังกล่าว และต่อมา กรมการค้าต่างประเทศกับบริษัทสไตเออร์ฯ ได้มีการทําสัญญาการค้าต่างตอบแทนระหว่างกัน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 และนายอภิรักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กท 0200/1047 ลงวันที่ 30 กันยายน 2547 และหนังสือที่ กท 0200/1091 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดซื้อ รถดับเพลิงและอุปกรณ์ตามสัญญาจัดซื้อที่ได้ลงนามแล้ว
กระทั่งต่อมา นายโภคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0100/13625 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งให้ดําเนินการจัดซื้อรถดับเพลิงฯ และนายประชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0100/15392 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งให้ดําเนินการตามเงื่อนไขใน A.O.U. โดยการเปิด L/C ให้แก่บริษัทสไตเออร์ฯ โดยทันที
นายอภิรักษ์จึงได้มีหนังสือที่ กท o200/77 ลงวันที่ 10 มกราคม 2548 ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ขอเปิด L/C ตามสัญญาซื้อขายกับบริษัทสไตเออร์ฯ นั้น จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนการทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) แม้นายสมัครจะได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) กับบริษัทสไตเออร์ฯ โดยที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ได้ทํา สัญญาการค้าต่างตอบแทนกับบริษัทสไตเออร์ฯ ตามที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง แนวทาง ปฏิบัติเกี่ยวกับการดําเนินการการค้าต่างตอบแทน พ.ศ. 2547 กําหนดขั้นตอนการทําสัญญา การค้าต่างตอบแทนไว้ก็ตาม
แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการทําสัญญาการค้าต่างตอบแทน ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับบริษัทสไตเออร์ฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีอย่างใด
ส่วนในขั้นตอนการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้เปิด L/C ตามข้อตกลงซื้อขายกับบริษัทสไตเออร์ฯ แต่ก็เป็นการเปิด L/C ภายหลังจากที่นายสมัครหมดวาระการดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปแล้ว อีกทั้งการที่ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ได้เปิด L/C ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ เป็นการใช้อํานาจของนายอภิรักษ์ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงถือไม่ได้ว่านายสมัครกระทํา ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในทั้งสองขั้นตอนนี้แต่อย่างใด
@นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
คดีมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า การที่นายสมัครกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ในขั้นตอนการลงนามในข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ในฐานะทายาทโดยธรรมจะต้องรับผิดในผลแห่งการกระทําละเมิดนั้นหรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทํา ละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทํา ในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นําบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทําในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใด ให้คํานึงถึงระดับ ความร้ายแรงแห่งการกระทําและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจํานวน ของความเสียหายก็ได้ และตามมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิด ของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ และมาตรา 1601) แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว บัญญัติว่า ทายาทไม่จําต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
ข้อเท็จจริงในส่วนนี้รับฟังได้ว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้รับเรื่องร้องเรียนการทุจริต การจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ของผู้ฟ้องคดีแล้ว ได้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า ในส่วนของความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้รวบรวมการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทา สาธารณภัยของผู้ฟ้องคดีจากหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งมีการเปรียบเทียบกับการจัดซื้อๆ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2546 รวม 9 รายการ ซึ่งมีคุณลักษณะไม่ต่างจากของผู้ฟ้องคดี มีราคาโดยรวมถูกกว่าราคาที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อเป็นเงิน 4,439,984,630 บาท
การจัดซื้อฯ ของกรมตํารวจในปี พ.ศ. 2547 บางรายการ เช่น รถดับเพลิง พร้อมบันไดสูงไม่น้อยกว่า 13 เมตร มีราคา 26,552,550 บาท ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อแพงกว่า 42,653,200 บาท
ส่วนเรือดับเพลิง กรมตํารวจจัดซื้อลําละ 18,721,150 บาท ผู้ฟ้องคดี จัดซื้อลําละ 25,462,100 บาท และเปรียบเทียบราคาสินค้าของบริษัทที่ขายสินค้าในประเทศไทย ต่างก็มีราคาถูกกว่ารายการที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อ และได้ประเมินต้นทุนในการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิงของผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 พบว่า มูลค่าโครงการทั้งหมดเป็นเงิน 6,687,500,000 บาท
แบ่งเป็น ค่าโครงประธานรถดับเพลิงตัวถัง และอุปกรณ์เป็นเงิน 2,473,400,000 บาท ค่าเรือดับเพลิงเป็นเงิน 429,000,000 บาท ค่าครุภัณฑ์เป็นเงิน 206,600,000 บาท ค่าประกันภัยและขนส่งเป็นเงิน 294,800,000 บาท ค่าต้นทุนทางการเงินเป็นเงิน 1,178,000,000 บาท ซึ่งเป็นการคํานวณจากอัตราดอกเบี้ย ทั้งปัจจุบันและอนาคตตามระยะเวลาในการชําระหนี้รวม 9 งวด และค่าจ้างตามสัญญา จ้างช่วงรับสิทธิการซื้อสินค้าเกษตรเป็นเงิน 147,120,000 บาท รวมต้นทุนเป็นเงินทั้งสิ้น 4,728,900,000 บาท และผลประโยชน์ที่บริษัทสไตเออร์ฯ ได้รับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,554,600,000 บาท และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การจัดซื้อฯ ของผู้ฟ้องคดีมีค่าสินค้า ที่มีการจัดซื้อแพงทั้งโครงการประมาณ 1,958,600,000 บาท และมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง
จึงให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดตามอํานาจหน้าที่ต่อไป และให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาให้ยกเลิกการอนุมัติหรืออนุญาต เกี่ยวกับข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ระหว่างนายสมัครกับบริษัทสไตเออร์ฯ
ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามคําสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2323/2553 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2553 และคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ดําเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยได้ตรวจสอบ เอกสารที่เกี่ยวข้องจากรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และได้สอบถ้อยคําบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า การจัดซื้อฯ ของผู้ฟ้องคดียังไม่อาจสรุปความชัดเจนในเรื่องของความเสียหาย ว่ามีจํานวนเท่าใด
แต่คณะกรรมการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า หากผู้ฟ้องคดีจําเป็นต้องดําเนินการ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหารับผิดทางละเมิด เนื่องจากอายุความในการฟ้องคดีกองมรดกของนายสมัคร ให้รับผิดทางละเมิดจะครบกําหนด 1 ปี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ก็อาจใช้มูลค่า ความเสียหายจากการซื้อของแพงซึ่งประเมินโดยคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงฯ ตามหนังสือสํานักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0014/6863 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เป็นเงิน 1,958,600,000 บาท และมูลค่าความเสียหายดังกล่าวสอดคล้องกับที่สํานักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยได้แจ้งต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดว่า มีมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 1,958,600,000 บาท
และเห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ความเสียหาย ได้แก่ นายโภคิน พลกุล นายประชา มาลีนนท์ พลตํารวจตรี อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ และนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งต้องร่วมกันรับผิดคนละเท่าๆ กัน
ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีคําพิพากษาของศาล ถึงที่สุดให้ยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัทสไตเออร์ฯ และบริษัทสไตเออร์ฯได้คืนเงินทั้งหมดที่ผู้ฟ้องคดีได้จ่ายไปรวมทั้งค่าเสียหายครบถ้วนแล้ว จึงพ้นจากความรับผิด ทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดจากซื้อของแพง และผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้ยกเลิกสัญญาซื้อขายที่กระทําขึ้นกับ บริษัทสไตเออร์ฯ โดยขอให้คืนเงินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดที่ได้ชําระไปแล้วรวมเป็นเงิน 109,842,731.99 ยูโร รวมทั้งการชดใช้ค่าเสียหายและความสูญเสียทั้งปวงที่เกิดขึ้น แก่ผู้ฟ้องคดีในค่าเสียเวลาของเรือ ค่าภาษีนําเข้า ค่าธรรมเนียมศุลกากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดเก็บสินค้า ตลอดจนค่าใช้จ่ายและการสูญเสียอื่นๆ ที่เกิด แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นผลจากการที่บริษัทสไตเออร์ฯ ได้ทําการขนส่งอุปกรณ์และส่วนประกอบทั้งปวง โดยมิชอบมาประเทศไทย และยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศขอให้คืนเงินดังกล่าว แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น
จะเห็นได้ว่า แม้ในการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ต่างๆ ของผู้ฟ้องคดีไม่อาจสรุปความชัดเจนของความเสียหายที่แท้จริงว่ามีจํานวนเท่าใด แต่เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ทําการเปรียบเทียบราคา การจัดซื้อฯ ของหน่วยงานราชการอื่น ราคาสินค้าของบริษัทที่ขายสินค้าในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ถูกกว่าที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อ และเมื่อมีการประเมินต้นทุนราคาที่จัดซื้อ ผู้ฟ้องคดีได้จัดซื้อฯ ในราคาแพงกว่าประมาณ 1,958,600,000 บาท และคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสํานักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดีก็ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่มีต่อผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า มีการซื้อของแพงเกินจริงและเป็นจํานวนเงินของความเสียหายที่สอดคล้องกัน คือ เป็นเงินจํานวน 1,958,600,000 บาท
กรณีจึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้จัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริงเป็นเงินจํานวน 1,958,600,000 บาท และราคา ที่สูงเกินจริงดังกล่าว จึงเป็นความเสียหายที่นายสมัครได้กระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในขั้นตอน การลงนามข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) โดยการอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดี จัดซื้อฯ ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538
อย่างไรก็ตาม การจะให้นายสมัครรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีเป็นจํานวนเงินเท่าใดนั้น จะต้องคํานึงถึงระดับความร้ายแรง แห่งการกระทําและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจํานวน ของความเสียหายก็ได้
ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังนั้น เมื่อความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับเกิดจากการจัดซื้อฯ ที่ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ทําให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริง เป็นเงินจํานวน 1,958,600,000 บาท และการจัดซื้อฯ ยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย จึงเห็นควร กําหนดสัดส่วนความรับผิดของนายสมัครโดยเทียบเคียงแนวทางการกําหนดสัดส่วนความรับผิด ของกระทรวงการคลังตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 ที่กําหนดให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูงหรือผู้มีอํานาจอนุมัติสั่งซื้อรับผิดกรณีไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมายหรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากกําหนดราคาสูงกว่าความเป็นจริง โดยให้รับผิด ในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหาย
เมื่อนายสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผู้ฟ้องคดี และเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติสั่งซื้อฯ จึงควรต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหาย จากเงินจํานวน1,958,600,000 บาท คิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท และเมื่อ ความรับผิดอันเกิดจากการกระทําละเมิดของนายสมัครต่อผู้ฟ้องคดีเป็นความรับผิดเกี่ยวกับ ทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัว ของนายสมัครผู้ตายโดยแท้
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัคร จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่เกินกว่า ทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ทั้งนี้ ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
สําหรับดอกเบี้ยที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ร่วมกันชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าสินไหมทดแทน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชําระเสร็จ นั้น เห็นว่า โดยที่พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสีย ดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กําหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก กับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความใน มาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กําหนดตามมาตรา 37 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..” มาตรา 6 บัญญัติว่า บทบัญญัติตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิด ดอกเบี้ยที่ถึงกําหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือน ถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ และมาตรา 7 บัญญัติว่า บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกําหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกําหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่ พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ โดยผลบังคับของพระราชกําหนดดังกล่าว ดอกเบี้ยผิดนัด ที่ถึงกําหนดเวลาชําระในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกําหนดดังกล่าวใช้บังคับยังคงคิดในอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหาย ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกําหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่พระราชกําหนดดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไปต้องคิดดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความ ในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหาย และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า ในกรณี หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทําละเมิด
เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัครต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 587,540,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ทั้งนี้ ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ผู้ฟ้องคดี จึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าเสียหายจํานวน 587,580,000 บาท และดอกเบี้ย ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชําระเสร็จในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงิน ค่าเสียหายดังกล่าว
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ค่าความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับในคดีนี้เกิดจาก การกระทําละเมิดและเป็นค่าเสียหายจากการดําเนินการโครงการทั้งโครงการเป็นจํานวนเงิน ค่าซื้อสินค้าที่ผู้ฟ้องคดีได้ชําระให้แก่บริษัทผู้ขายไปแล้วทั้งสิ้นจํานวน 5,741,588.657.82 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิด ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้จ่ายชําระเงินไป มิได้เกี่ยวข้องกับการมีการฟ้องคดีอื่นหรือการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการระหว่าง ผู้ฟ้องคดีกับบริษัทผู้ขายหรือไม่ ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับชดใช้จึงมิใช่เป็นเพียง ค่าเสียหายที่เกิดจากการซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติดังคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่อย่างใด ซึ่งนายสมัครต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคําฟ้องและทําให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัครต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แทนนายสมัครแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจํานวน 956,931,442.97 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทําละเมิดของนายสมัครเกิดขึ้นในขั้นตอน การลงนามข้อตกลงซื้อขาย (Purchase/Sale Agreement หรือ PSA) โดยอนุมัติให้มีการจัดซื้อฯ ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ทําให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริง
ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทําของนายสมัครจึงไม่ได้เกิดจากการดําเนินโครงการ ทั้งโครงการเป็นจํานวนเงินค่าซื้อสินค้าที่ผู้ฟ้องคดีได้ชําระให้แก่บริษัทสไตเออร์ฯ ไปแล้วทั้งสิ้น จํานวน 5,741,588,657.82 บาท อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
@ นายสมัคร และครอบครัว /ภาพจาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=offway&month=01-2008&date=30&group=30&gblog=2
สําหรับคําแก้อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ว่า ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะการที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ เพื่อบอกเลิกสัญญาซื้อขายยานพาหนะและอุปกรณ์ดับเพลิงต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศและได้ยื่นให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC วินิจฉัย ยังไม่ปรากฏผลออกมาถึงที่สุดเป็นประการใด การพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้จึงสัมพันธ์กัน กับทั้งสองเรื่อง
จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคําสั่งจําหน่ายคดีนี้ชั่วคราวเพื่อรอผลคดีทั้งสอง เรื่องดังกล่าวให้ยุติเสียก่อน และขอให้ย้อนสํานวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาและพิพากษา ใหม่ตามรูปคดี นั้น
เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ เพื่อบอกเลิกสัญญา ซื้อขายยานพาหนะและอุปกรณ์ดับเพลิงต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และได้ยื่นให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC วินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันเกี่ยวกับ ข้อพิพาทในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้ศาลปกครองต้องรอฟังผลแห่งคําพิพากษา และคําวินิจฉัยดังกล่าว เพราะหากต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC ได้มีคําพิพากษาและคําวินิจฉัยที่มีผลทําให้ ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ศาลปกครองก็มีอํานาจกําหนดเงื่อนไข ในคําพิพากษาให้หักส่วนความรับผิดของนายสมัครที่มีต่อผู้ฟ้องคดีได้ ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่จําต้องมีคําสั่งตามคําขอผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาท นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จํานวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า จะชําระเสร็จ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคําพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ หากคดีที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้เพิกถอนสัญญา ซื้อขาย เรียกทรัพย์คืน ตามคดีหมายเลขดําที่ กค.155/2542 โดยศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคําวินิจฉัยชี้ขาด ให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดีทําให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิด ตามอัตราส่วนตามที่ศาลกําหนดให้นายสมัคร สุนทรเวช รับผิดชอบเพียงนั้น หากยังมีความ เสียหายเกิดขึ้นจากการซื้อของแพง ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีเพียงไม่เกิน ทรัพย์มรดกของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตกทอดแก่ตน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน ตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ในฐานะทายาท นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน จํานวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 587,580,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วย อัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ หากคดีที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้เพิกถอน สัญญาซื้อขาย เรียกทรัพย์คืน ตามคดีหมายเลขดําที่ กค.155/2552 โดยศาลมีคําพิพากษา ถึงที่สุดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคําวินิจฉัย ชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดีทําให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิด ตามอัตราส่วนตามที่ศาลกําหนดให้นายสมัคร สุนทรเวช รับผิดชอบเพียงนั้น ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตกทอดแก่ตน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีในชั้นศาลปกครองชั้นต้น และในชั้นศาลปกครองสูงสุดแก่ผู้ฟ้องคดี
********************************
ปิดฉากบทสรุปคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงฉาว ของกทม.อีกส่วนหนึ่ง ที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนานนับสิบปี และน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญให้กับคดีทุจริตอื่นๆ ด้วย