“…ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจ BCG มากกว่า 250 โครงการ กำลังการผลิต 6,455 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 60,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนเกือบ 380,000 ล้านบาท จากการสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศมานานเกือบ 3 ทศวรรษนับแต่เปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 2537…”
ในปัจจุบันสังคมตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น อาจเป็นเพราะผลพวงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ การละลายของธารน้ำแข็งที่ขั้วโลก เป็นต้น
หลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากการมุ่งพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียว เป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพื่อตอบสนองให้ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) จึงมีแนวคิดใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด เรียกระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ว่า BCG โมเดล เป็นการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ‘BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy’ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม ได้แก่
-
อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
-
อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ
-
อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์
-
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย (Linear Economy)
นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมามีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงถือได้ว่าเทรนด์พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพร้อมประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
นับว่าเป็นโจทย์สำคัญและเป็นแรงผลักดันให้ รัฐ และเอกชน ต้องเร่งปรับนโยบาย มุ่งสู่ 'พลังงานสะอาด' ซึ่งไม่เพียงแค่รักษาอุณหภูมิโลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับประเทศไทย นอกจากการพัฒนาโมเดล BCG ภายในประเทศแล้ว ยังได้มีการสนับสนุนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการผลักดันและสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ของโลกยุค Next Normal
ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สอดรับกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม จากการสนับสนุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่าง EXIM BANK ในการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนทุนไทยให้เข้าไปสยายปีกในต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG ในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เนื่องจากไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ทำให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าลดลงเป็นลำดับ” นายอาคม กล่าว
เวียดนาม เป็นประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทย โดยมีนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า บริการ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการคมนาคม เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและท่าเรือไซง่อนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เศรษฐกิจของโฮจิมินห์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของทั้งประเทศ
นอกจากนี้ เวียดนามมีจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเกือบ 7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แม้ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ระดับเกือบ 3% ไทยและเวียดนามเป็นพันธมิตรทางการค้ามาช้านานและมีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ SMEs ไทยในการส่งออก โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มผู้บริโภคเวียดนามตามช่วงอายุ ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย
ผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ประชากรวัยทำงานมีกำลังซื้อสูงขึ้นและชอบชอปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาด E-Commerce โตถึง 35% ต่อปี
ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 EXIM BANK ได้ขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในเวียดนามมากที่สุดในตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อคงค้างใน CLMV และ New Frontiers ทั้งหมด 51,554 ล้านบาท
อีกทั้ง เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน การส่งออกของไทยไปเวียดนามเน้นการตอบสนองความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป
ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เกษตรและประมง ธนาคาร ก่อสร้าง ค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร คลินิกเสริมความงาม ขนส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจโฆษณา โดยไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม
สำหรับหนึ่งตัวอย่างกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานสะอาด คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท Truong Thanh Quang Ngai Power and High Technology Joint-Stock Company (TTQN) บริษัทย่อยของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เป็นหนึ่งในบริษัทของคนไทยที่มาลงทุนในเวียดนาม และเป็นลูกค้า EXIM BANK มีขนาดกำลังการผลิต 49 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าประเทศเวียดนามภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงตามการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของสังคมเมือง จึงเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร ด้วยการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ในการสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างครบวงจร โดยมุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance : ESG) และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน ควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน ควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ
“ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจ BCG มากกว่า 250 โครงการ กำลังการผลิต 6,455 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 60,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนเกือบ 380,000 ล้านบาท จากการสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศมานานเกือบ 3 ทศวรรษนับแต่เปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 2537” นายรักษ์ กล่าว
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักธุรกิจไทย EXIM BANK ได้สนับสนุนการลงทุนในเวียดนามในหลายธุรกิจ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนชาวเวียดนาม ตลอดจนการขยับเข้าใกล้เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก
ทั้งหมดนี้ คือหนึ่งความร่วมมือของรัฐและเอกชนที่มุ่งต่อยอดการพัฒนา BCG เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่การเติบโตของเศรษฐกิจ