"...จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 สำนักงาน กสทช. ได้เผยแพร่ประกาศผู้ชนะเสนอราคา จ้างประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยุติทีวีอนาล็อค ผ่านสื่อมัลติมีเดียบนรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) และบริเวณพื้นที่สถานีบริการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 9,900,000 บาท ระบุชื่อ บริษัท กรีนโพรเท็คท์ จำกัด เป็นผู้ชนะ ลงนามประกาศโดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.ปฏิบัติการแทน เลขาธิการ กสทช. ..."
ในการเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว สตง. มิได้เปิดเผยรายชื่อหน่วยงานของรัฐที่ถูกตรวจสอบโครงการฯ นี้ เป็นทางการ จึงทำให้ สำนักข่าวอิศรา ยังไม่สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐแห่งนี้ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านได้
คือ ข้อความที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายเอาไว้
ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการคำนวณราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยุติทีวีอนาล็อค ผ่านสื่อมัลติมีเดียบนรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) และบริเวณพื้นที่สถานีบริการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 9.90 ล้านบาท ของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศ ทำให้ราคาว่าจ้างงานสูงเกินจริง พร้อมสั่งการให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 7.64 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า หน่วยงานของรัฐ ที่ถูกสตง.ตรวจสอบในเรื่องนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 สำนักงาน กสทช. ได้เผยแพร่ประกาศผู้ชนะเสนอราคา จ้างประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยุติทีวีอนาล็อค ผ่านสื่อมัลติมีเดียบนรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) และบริเวณพื้นที่สถานีบริการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 9,900,000 บาท ระบุชื่อ บริษัท กรีนโพรเท็คท์ จำกัด เป็นผู้ชนะ ลงนามประกาศโดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.ปฏิบัติการแทน เลขาธิการ กสทช. (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่ง รักษาการเลขาธิการ กสทช.
นายไตรรัตน์ ชี้แจงว่า "เกี่ยวกับเรื่องนี้ สตง.แค่บอกว่าเราทำผิดวิธี ต้องมีการเรียกเงินคืนจากบริษัทฯ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการแก้ไขปัญหาไปแล้ว"
ส่วนกรณีการจัดซื้อจัดจ้างแพงเกินจริงนั้น นายไตรรัตน์ ชี้แจงว่า "ต้องขอเรียนว่าตอนนั้นจริง ๆ เราต้องซื้อตรง แต่ตอนนั้นที่เราไปถามคนขาย เขาบอกให้เราไปซื้อกับอีกเจ้าหนึ่ง เราก็เลยไปซื้อกับอีกเจ้าหนึ่งแทน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะสามารถซื้อตรงได้ตอนนั้นได้"
"คือ บริษัทวีทีไอ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ถูกไหมครับ คือ เราประสานไปที่วีทีไอว่าเราจะขอซื้อตรง เขาบอกว่าไม่ได้ต้องไปซื้อผ่านอีกบริษัทหนึ่ง เราก็ไปซื้อผ่านอีกบริษัทหนึ่ง สตง.ก็ถามว่าเขามีหลักฐานไหมว่าเราโทรไปคุยว่าเขาบอกให้ไปซื้ออีกบริษัทหนึ่งเราก็ทำตามเขา อันนี้ สตง.ก็เลยบอกว่าต้องลองถามว่าจะซื้อตรงก่อน ซึ่งเป็นการซื้อทางการ เราก็เลยถามไปใหม่ ปรากฏว่าเราซื้อตรงได้ ก็เลยกลายเป็นว่าเราทำผิดวิธี ก็ต้องไปเรียกเงินคืนจากบริษัทดังกล่าว เขาก็คืนเงินมา สรุปก็คือส่งคืนคลังไปหมดแล้ว"
"กรณีนี้สมมติว่าถ้าซื้อตรงกับวีทีไอ เราก็จะจัดซื้อในราคาสามบาท แต่ว่าถ้าไปจัดซื้อผ่านตัวแทนก็จะได้ราคาห้าบาท ก็มีส่วนต่างสองบาท ซื่ง สตง.เขาก็ให้เอาส่วนต่างสองบาทนี้มาคืน เราก็เรียกเงินคืนไปแล้ว สตง.ก็ไม่ได้มีการกล่าวว่าเราทุจริตแต่อย่างใด และเราก็ได้มีการว่ากล่าวตักเตือนพนักงานไปแล้วว่าต้องทำอะไรให้มันรอบคอบ"
เมื่อถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ติดต่อจ้างลงโฆษณาว่าคือบริษัทอะไร นายไตรรัตน์ ตอบว่า "จำรายละเอียดไม่ได้ เรื่องนี้มันนานมากแล้ว"
สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อไป